30 มี.ค. 2021 เวลา 01:00 • การเมือง
ธนกร วงษ์ปัญญา : การเมือง เสรีภาพ และสื่อมวลชน ในวันที่สังคมเห็นต่างและตั้งคำถามกับการทำงานของสื่อ
เดือนมีนาคมของทุกปี มีวันหนึ่งที่สำคัญของเหล่าบรรดาสื่อมวลชน คือวันที่ 5 มีนาคม ถือว่าเป็นวันนักข่าว ซึ่งในแต่ละปีก็จะมีการเสวนา แลกเปลี่ยน และถอดบทเรียนให้กับสื่อมวลชนต่อๆ ไป แต่ทว่าปีนี้เป็นปีที่สังคมตั้งคำถามกับความรุนแรงของรัฐในการปราบปรามผู้ชุมนุม ตลอดไปจนถึงตั้งคำถามเกี่ยวกับสื่อเลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะกับสื่อหลัก
แต่เหนือสิ่งอื่นใด มีสื่อออนไลน์หลายเจ้าที่พยายามทำงานภายใต้สภาวะแรงกดดันทั้งทางฝั่งรัฐบาลและฝั่งประชาชนที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับสื่อมวลชนต่อการนำเสนอข่าว หนึ่งในนั้นคือ “เดอะ สแตนดาร์ด” (The Standard) สำนักข่าวออนไลน์ที่มีการทำงานที่ชัดเจน โดยเฉพาะการทำงานกับข่าวในประเทศไทยที่เข้มข้น จริงจัง และให้คุณค่ากับสังคมอีกด้วย
ส่องสื่อเราเคยนำเสนอและสัมภาษณ์ “ธนกร วงษ์ปัญญา” Content Creator การเมือง กองบรรณาธิการข่าว THE STANDARD ในรูปแบบของรายการออนไลน์อย่าง “ส่องสื่อ Saturday Live” เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2563 และในปีนี้เนื่องจากสถานการณ์ต่างๆ ยังไม่คลี่คลายมากนัก ส่องสื่อจึงขอนำเสนอและคัดบางช่วงชีวิตของธนกร หรือพี่เอกของเรา เอามาเล่าในส่องสื่อ เพื่อสะท้อนมุมมองในวงการสื่ออีกแง่หนึ่งด้วย
มาติดตามในบทความนี้กันครับ
ทำไมถึงได้มาทำข่าวที่ The Standard ?
พี่เคยไปโพสต์ Facebook เล่น ๆ ว่าอยากทำข่าว แต่ไม่ได้เรียนด้านนี้ ก็มีพี่คนนึงทัก Inbox มาว่าลองคุยกันไหม และวันถัดไปก็ได้ทำงานเลย โดยเริ่มต้นที่มติชน เป็นนักข่าวทีวีก่อน ยุคนั้นผลิตให้ Workpoint จากนั้นมาทำออนไลน์ ทำหนังสือพิมพ์ ทำมติชนสุดสัปดาห์ เกือบทั้งหมดเลย จนกระทั่งกระโดดมา The Standard รวมกันก็ 9 ปีแล้ว
ทำไมพี่ถึงคิดอยากเป็นนักข่าว ?
สมัยเรียนทำกิจกรรมเยอะ ทำกิจกรรมทุกอย่าง ปี 4 เทอม 2 ลงไว้วิชาเดียว “กฎหมายล้มละลาย” เราลงไว้ให้มีหน่วยกิจให้อยู่ในมหาวิทยาลัยได้ แต่อยากใช้ชีวิตทำกิจกรรม เพราะพี่สามารถเก็บจบ 3 ปีครึ่งได้ เพราะเก็บหน่วยกิจครบหมดแล้ว แต่ขออยู่ต่อ พอทำกิจกรรมเยอะ ๆ ได้เจอผู้คน ได้สังเกตคน มันชวนตั้งคำถามในหลาย ๆ เรื่อง และการทำกิจกรรมหลายอย่างเป็นเชิงตรวจสอบตั้งคำถาม กลายเป็นชอบบทบาทแบบนี้ และอ่านหนังสือเกี่ยวกับบุคคลในวงการข่าว ทำให้เรารู้สึกชอบโดยไม่รู้ตัว และพี่เป็นคนชอบดู สส. อภิปรายตั้งแต่เด็ก ก็ซึมซับการเมืองมา
พี่ไม่เคยเรียนนิเทศศาสตร์ พี่เอาอะไรในสายที่ตัวเองเรียนมาประยุกต์บ้าง?
พี่เองเรียนนิติศาสตร์มา สิ่งที่นำมาจากสิ่งที่เรียนมีเรื่องของข้อเท็จจริงหรือหลักฐานที่ยืนยันเรื่องที่เรานำเสนอ และจริง ๆ หลายครั้งที่คนที่ไม่ได้จบสายข่าวตรง ๆ ก็ทำข่าวได้ดี โดยเฉพาะข่าวที่เกี่ยวข้องกับสายที่จบมา เช่น เรื่องกฎหมาย เศรษฐกิจ แต่ก็มีคนที่ไม่ได้เรียนในเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับเนื้อข่าว แต่มาทำข่าวได้ดีก็มี แต่ทั้งนี้ก็อาจสู้คนสายข่าวหรือเรียนนิเทศไม่ได้ในเรื่องของ Production หรือการพูดเล่าข่าว แต่คนสายกฎหมายมีแต้มต่อในเรื่องคำศัพท์กฎหมายและกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการเมือง และถ้าเรานำเสนออะไรผิดออกไป แจ้งมาหาเราได้เลย เราสนับสนุน เพราะสื่อก็ไม่ได้เข้าใจทุกเรื่อง ใครเข้าใจเรื่องอะไรหรือรู้สึกว่าเรารายงานอะไรผิดไป แจ้งมาเลย
ทำไมพี่เอกถึงเลือกทำข่าวการเมือง?
จริง ๆ ไม่เคยเครียดกับการทำงานข่าวการเมืองเลย รู้สึกว่างานคือชีวิตพี่แล้ว เพราะความชอบมันมีแรงกระตุ้น ทำให้เห็นความเคลื่อนไหวทางการเมือง ทำให้อยาก ทำให้รู้สึกเป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวเรา นักการเมือง Action แบบไหนมีผลตามมาอย่างไร Concept คือเราพยายามทำให้รู้สึกว่ามันใกล้ตัวมากขึ้น ถ้าคนส่วนมากเรียกร้องแทบตายไป นักการเมืองไม่ทำหรือทำคนละแบบ ผลก็ออกมาอีกแบบนึง แต่ถ้าทำผลก็ออกมาอีกแบบนึง มันสนุกเพราะแบบนี้แหละ เช่นคนนี้ไม่ได้พูดมาเป็นสิบปี อยู่ ๆ มาพูดคืออะไร? คนนี้เคยด่าเขา แต่วันนี้ทำไมชม ทำไมเป็นแบบนั้น เพราะมันมีผลต่อมันเป็นเรื่องที่ต้องตามต่อเรื่อย ๆ จึงเห็นที่มาที่ไป และพี่เองเป็นคนชอบอ่านคอลัมน์การเมืองในหนังสือพิมพ์ตั้งแต่เด็ก ๆ จนผู้ใหญ่ก็สงสัยว่าอ่านรู้เรื่องหรือ แต่เราสนุกกับมัน
การทำข่าวการเมืองต้องเคยมีความรู้มาก่อนไหม?
การทำข่าวการเมือง พี่ไม่สนใจเรื่องความเป็นกลาง แต่พี่สนใจความเป็นจริง และต้องละทิ้งอุดมการณ์ของตัวเองไปด้วย แต่ถ้ามีคนแย้งว่าเขาพูดแบบนั้นจริงแต่ตีความผิด หรือตกหล่นข้อมูลอีกฝั่งไปจริง ๆ เราก็ต้องไปตามมานำเสนออีกข่าวเช่นกัน ทำให้สมดุลรอบด้านมากที่สุด ถ้ามีอะไรดูแย้ง ๆ ทั้งสองฝั่งไม่ตรงกัน จึงติดตามต่อไปก็ได้ว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น พี่ไม่เคยขี้เกียจทำข่าว มีประเด็นสำคัญมาจะรีบติดตามโดยด่วน การเมืองเป็นเรื่องที่ตามได้ตลอด ทุกคนก็มีอุดมการณ์ของตัวเอง แต่ว่าเวลานำเสนอต้องละทิ้งเรื่องนี้ไป พี่จะบอกน้อง ๆ ว่าพี่ไม่สนใจเรื่องความเป็นกลาง แต่พี่สนใจความเป็นจริง ข่าวจากเราต้องเป็นความจริง ชาวบ้านจะมองอย่างไรก็ไปตัดสินใจกันเอง
เราจะทำอย่างไรไม่ให้อุดมการณ์ของเรามาปะปนกับการทำข่าว?
ถ้ามีคนมาถามว่าข่าวนี้จะเอนข้างหนึ่งหรือเปล่า พี่จะให้เขาอ่านก่อนแล้วให้ตั้งคำถามว่า มีส่วนไหนบิดเบือนจากข้อเท็จจริง จริงๆ ถ้าอ่านข่าวของเราจะพบว่าเขาก็พูดแบบนั้น เหตุการณ์เกิดแบบนั้นจริง ๆ แต่มันอยู่ที่ความรู้สึกและอารมณ์ของแต่ละคนอ่าน แต่การทำข่าวเราต้องไปฟังซ้ำ เพื่อให้รู้ว่านำเสนออะไรไปมีผลกระทบทั้งตัวสื่อเองและบุคคลในข่าว ถ้าเราพูดจริง มันก็ Impact ไปถึงผู้รับข่าวได้ เขาได้รู้ความจริงและเขาก็สามารถวิจารณ์ได้ ดังนั้นมันจะเป็นเรื่องของการนำความจริงมานำเสนอ เป็นจริงอย่างไรนำเสนอแบบนั้น ก่อนนำเสนอต้องฟังซ้ำ ถ้าไม่มั่นใจโทรถามแหล่งข่าวเลย บางครั้งเราโทรไปอาจมีการแก้ข่าวเช่นเข้าใจผิดอย่างนั้นอย่างนี้ เราก็ได้ข้อมูลเพิ่ม อีกส่วนก็ไปถามคนอีกฝั่งด้วย ทำให้มีความแข็งแรงในระดับนึง
มี Case Study อะไรที่น่าสนใจในการทำข่าวบ้าง?
Case Study นี่พออยู่ The Standard เราเรียก Session ที่ทำเป็น Session ข่าวไทย ไม่ใช่แยกเฉพาะการเมืองอย่างเดียว เราต้องทำข่าวในประเทศทุกอย่าง อย่างตอนถ้ำหลวงเราก็ต้องไป เราต้องมอนิเตอร์ข่าวเยอะมาก และสลับประเภทข่าวได้ไว ถ้ามีประเด็นที่ควรทำด่วนมากกว่า เราก็ต้องดูสื่อที่เขาเชี่ยวชาญเฉพาะสายหรือดีกว่าเราเช่นกันว่าเขาทำกันยังไง
 
ส่วนเรื่องการเมือง นำเสนอตรงไปตรงมาก็โดนหาว่าโจมตีเช่นกัน เราต้องเจรจาแสดงให้เห็นว่าเขาพูดแบบนั้นจริง ๆ เราจึงนำเสนอแบบนี้ แต่สมัยนี้ดีอย่างคือเราอัดเสียงสัมภาษณ์เป็นไฟล์ เก็บไว้ได้นาน เมื่อมีคนแย้งแม้กระทั่งเจ้าตัวที่ให้สัมภาษณ์เองก็มีหลักฐานมายืนยันได้ และการสัมภาษณ์เรื่องการเมือง บางทีฝั่งนักการเมืองก็ขอตั้งกล้องอัดของฝั่งเขาเก็บไว้เช่นกัน เพื่อสามารถเอามาเทียบกับของเราได้ว่าที่เรานำเสนอตรงกันไหม เขา Monitor เราอยู่ตลอดเช่นกัน และเราจะต้องเลี่ยงแหล่งข่าวหรือการที่อ้างว่ามีคนพูดที่ไม่สามารถตรวจสอบความจริงได้ เราทำหน้าที่ตรงไปตรงมา
อีกส่วนคือภาพข่าวก็มีผลต่อการรายงานเช่นกัน ความชัดเจน ความ Sensitive การสื่อเรื่อง เกิดจากภาพที่ถ่ายออกมา บางภาพถ่ายมาแต่ไม่ได้นำเสนอ เก็บไว้ให้ทีมงานได้ดูก็มี
มีชิ้นไหนรู้สึกว่าทำยากที่สุด?
ตอนที่สัมภาษณ์คุณวรัญชัย โชคชนะ ตอนแรกนัดที่ข้างถนน สัมภาษณ์หน้าศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งลำบากมาก ต่อมาได้ย้ายไปสัมภาษณ์ในตึกกระทรวงยุติธรรม โดยปกติคนทั่วไปไม่สามารถใช้สถานที่ได้ แต่เขาบอกว่ามากับเขาเข้าได้ พอเข้าไปทุกคนต้อนรับแบบจะทำอะไรก็ทำเลย แต่กว่าจะได้สัมภาษณ์นี่ มีทั้งโทรศัพท์เข้า และแกจะฟังวิทยุก่อน เพื่อจับประเด็นข่าวจากวิทยุ แล้วดูว่าพรุ่งนี้มีหมายอะไรจะได้เตรียมตัว และขอคุยก่อนสัมภาษณ์อีกเป็นชั่วโมง แถมให้ซ้อนรถจักรยานยนต์ถ่ายรูปอีก และเรื่องข่าวการเมืองเขาเป๊ะมาก จำได้หมดว่าสื่อไหนรายงานข่าวนี้
มีเรื่องอะไรที่ Sensitive บ้าง?
ไทยนี่ขึ้นชื่อเรืองนี้มาก เป็นประเทศที่ Sensitive มาก บางอย่างนำเสนอตรง ๆ ก็ไม่ชอบ แบบสมมติทำข่าวขายเหล้าวันแรก ก็ยังต้องเบลอเหล้า แต่เบลอไปใคร ๆ ก็รู้ว่าขายเหล้า (หัวเราะ) จะเบลอทำไม แต่ก็ต้องทำ แต่ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ที่ Sensitive ต้องตรวจสอบให้ดีจริง ๆ ไม่ใช่แค่ข่าวการเมือง มีทั้งข่าวเด็ก ข่าวอาชญากรรม และข่าวหลายประเภทเช่นกัน บางทีก็ลืมเบลอ และเมื่อมีคนแย้งก็ไม่เคยโกรธเลย บางกรณีเราต้องไปประสบเองเพื่อให้รู้ว่าความจริงเป็นอย่างไร เช่น ไปตรวจ HIV เองเลยเพื่อได้ฟังแพทย์อธิบายว่าเป็นอย่างไรต่างจาก AIDS อย่างไร ทำให้เราสามารถนำไปประกอบการเขียนข่าวเหล่านี้ได้
หรือกรณีกราดยิงโคราช เราต้องคุยกับกองบรรณาธิการตลอด เพื่อยืนยันแม้บางเรื่องเป็นเรื่องที่ได้ยินจริง แต่ว่ายังไม่ได้รับการยืนยัน แม้กองบรรณาธิการให้คำตอบไม่ได้ เราต้องเทียบกับสื่ออื่นดูว่าส่วนใหญ่นำเสนอยังไง ใช้คำพูดอย่างไร และตอนที่ทำงานเราต้องตัดสินใจไวและรอบคอบ ตอนทำกราดยิงโคราชนี่เรากำลังพักผ่อนอยู่ก็กลายเป็นว่าต้องตัดสินใจยกกองไปทำข่าวนี้ด่วนทันที เพราะพักผ่อนในสถานที่ใกล้จุดเกิดเหตุมาก
 
การทำข่าวที่ Sensitive มาก เราต้องเอาตัวเองไปลงพื้นที่ และเอาน้อง ๆ ที่อยู่ในทีมที่มีความถนัดด้านนั้น ๆ มาช่วย ซึ่งเราก็เคยพลาดนะ แม้แต่เรื่องเล็กน้อย เช่น ลืมเบลอภาพ จนโดน Facebook แบน เพราะภาพเด็กอาบน้ำ แต่จริง ๆ ก็ไม่ได้อนาจารขนาดนั้น
ทำข่าวในประเด็นความละเอียดอ่อนอย่างไร?
อย่างกรณีกราดยิงโคราช ต้องดูสถานการณ์หน้างานก่อนว่า ตรงไหนไม่ควรไป ตรงไหนปลอดภัย ไม่ปลอดภัยอย่างไร ไม่ควรเอาตัวเองไปเสี่ยง ถ้าข่าวต้องแลกกับชีวิต เอาชีวิตตัวเองให้รอดก่อนดีกว่า และต้องคุยกับเจ้าหน้าที่ ชาวบ้านในพื้นที่ด้วย เข้าไปในจุดที่นักข่าวส่วนใหญ่อยู่ การแต่งตัวให้ดูน่าเชื่อถือก็เช่นกัน แต่บางกรณีมันรีบจนไม่ได้เตรียมตัว และการทำข่าวที่เสี่ยงภัยควรมีอุปกรณ์ป้องกันตัวเอง ตอนนั้นยอมรับเรารีบไปเลยไม่มี พอกลับมาเราได้บอกกับกองบรรณาธิการ ซึ่งเขาก็ให้ซื้อเลย และให้คนที่เชี่ยวชาญด้านนี้มาอบรม
มีวิธีการหาแง่มุมเล่นประเด็น Sensitive อย่างไร?
เรามีมุมอื่นให้นำเสนอ อย่านำเสนอแต่สิ่ง Sensitive โดยตรง สิ่งเหล่านี้มัน Educate คนดูมากกว่าแค่ Report ได้ไหม สามารถคุยหรือแตกประเด็นอะไรได้ไหม และบางเรื่องเราก็ไม่ได้เชี่ยวชาญ เราก็ถามพี่น้องสื่อมวลชนที่เขาเชี่ยวชาญกว่าเช่นกัน
อนาคตคิดว่าสื่อออนไลน์จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น แทนที่สื่อเดิมไหม ?
อาจจะไม่ 100% แต่เห็นแนวโน้มว่ามีอิทธิพลจริง ๆ อย่างตอนพี่เคยอยู่มติชน มติชนมีความเป็นหนังสือพิมพ์ แต่แตกไลน์มาทำออนไลน์ พอมาทำ The Standard มันคือ Pure Online และที่พี่ย้ายมาอยู่ The Standard เพราะต้องการเปลี่ยนบรรยากาศการทำงาน และก็มีคนตั้งคำถามเราว่าจะหารายได้มาเลี้ยงองค์กรได้หรือ จะมีความเชื่อถือหรือ เพราะช่วงนั้นมีหลายเว็บทำให้ดึงมาตรฐานสื่อออนไลน์ลงไป แต่พี่ว่ามันมีแนวโน้มได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ยังตอบยากอยู่ว่าใน 5-6 ปีนี้จะมาแทนที่สื่อเดิมได้ไหม? แต่มันมีทิศทางไปในทางที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ เช่น ตอนนี้ The Standard มีรายได้เลี้ยงองค์กรชัดเจน แต่เราทำงานหนักมาก 3 ปีเหมือนทำงาน 10 ปี กว่าจะมาถึงตรงนี้ได้ เพราะเราอยากได้การยอมรับและน่าเชื่อถือ เราเคยทำผิดพลาดก็มีแต่เราต้องแก้ไขปัญหาเหล่านั้น The Standard ไม่ได้ต้องการไปเซ็ตมาตรฐานให้ใคร เราต้องการให้มาตรฐานเป็นที่เราอยากไปถึงกันเอง
เรื่องสื่อออนไลน์ จริง ๆ มองให้เห็นภาพก็เหมือน Podcast ที่ไม่สามารถแทนที่วิทยุได้ แต่ว่าจับกลุ่มผู้ฟังอีกรูปแบบ เนื้อหาไม่ต้องทันเหตุการณ์ ทันเวลามาก หรือเป็นคอนเทนท์ที่ฟังซ้ำได้เรื่อย ๆ แต่ถ้าเราต้องการเนื้อหาสดใหม่ ณ เวลานั้น เราก็ต้องเปิดวิทยุฟัง มันเป็นส่วนผสมกัน แต่ทีวีอาจถูกทดแทนได้ เพราะมีหลายอย่างที่มาแย่งจอทีวีเอง เช่น Netflix และบริการรูปแบบเดียวกันที่เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งมันก็ดูบนทีวีได้ ที่เมื่อจ่ายเงินดูจะไม่มีโฆษณาคนก็พร้อมจ่าย สื่อทีวีเดิมเองก็มาลงช่องทางอื่นมากขึ้น แต่ทีวีอาจจะยังอยู่ได้เมื่อมีคอนเทนท์ที่แปลกใหม่ กระดาษอาจยังคงมีในฐานะ Classic ไม่ Mass แบบแต่ก่อนแล้ว แต่วิทยุตายยากสุดเลย
Mass กับ Niche มันมีตรงกลางไหม?
Mass กับ Niche นั้นควรอยู่ในจุดกึ่งกลางระหว่างกัน เรื่อง Niche บางครั้งก็กลายเป็น Mass ได้ หรือเรื่องที่ตั้งใจให้ Mass ก็อาจจะ Niche ก็ได้ และขึ้นอยู่กับ Platform และรูปแบบ Content อย่าง The Standard มีหลายรูปแบบในคอนเทนท์เรื่องเดียวกัน เช่นมี Video, Key Message, Infographic เพื่อให้เข้าใจข่าวง่ายขึ้น เรามี Key Message ให้รู้ประเด็นหลักที่ควรรู้ในข่าวนี้ เพื่อให้ Mass มากขึ้น แต่เราก็มีเนื้อข่าวปกติให้อ่านเช่นกัน
บทสัมภาษณ์โดย กฤตนัน ดิษฐบรรจง และ ณัชธนัท จุโฬทก
คิดถึงเรื่องสื่อ เปิด #ส่องสื่อ
ติดต่อโฆษณา ad@modernistthai.com
โฆษณา