30 มี.ค. 2021 เวลา 13:54
คุณเป็นคนแบบไหนระหว่าง “พอใจในสิ่งที่มี” หรือ “ค้นหาสิ่งที่ดีที่สุด”
.
.
คุณใช้เกณฑ์อะไรเมื่อต้องซื้อสินค้าสักชิ้น? ต้องดีที่สุดในทุกด้าน หรือคุณสมบัติแค่พอผ่าน? ถ้าหากต้องตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง คุณยอมที่จะเหนื่อยเพื่อทำทุกอย่างให้เพอร์เฟกต์ หรือทำพอให้ผ่านเกณฑ์โดยที่คุณต้องไม่เครียดเกินไป?
.
การตัดสินใจเป็นสิ่งที่ทุกคนทำในทุกวัน ปัจจัยหลักที่ส่งผลให้เราคิดและทำในสิ่งต่างๆ คือ ประสบการณ์และทัศนคติส่วนตัว ซึ่งสามารถแบ่งลักษณะการตัดสินใจออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ ‘Maximisers’ คนที่ต้องการสิ่งที่ดีที่สุดจากตัวเลือกที่มี และ ‘Satisficers’ คนที่เน้นความสบายใจเป็นสิ่งสำคัญ
.
Maximisers: ทุกสิ่งต้องเพอร์เฟกต์
.
คนกลุ่มนี้จะใช้เวลาไปกับการคิดค่อนข้างนานและระมัดระวังมากเมื่อต้องตัดสินใจ โดยให้น้ำหนักกับตรรกะและเหตุผลมากกว่าความรู้สึก เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมที่สุด
.
แต่คนกลุ่มนี้มีข้อเสียหลักๆ คือ มักเสียเวลากับการคิดมากเกินไป เพราะต้องการให้ทุกสิ่งออกมาดีแม้ปัจจัยรอบข้างไม่เอื้ออำนวย เช่น เมื่อมีโทรทัศน์ให้เลือก 5 เครื่อง Maximisers จะคิดว่า หน้าจอต้องใหญ่แค่ไหน? หรือจะซื้อเครื่องที่ถูกที่สุด?
.
เมื่อต้องเลือกเยอะและคิดไปมาหลายตลบก็อาจจะนำไปสู่อาการ ‘Decision Paralysis’ คือ การที่รู้สึกว่ามีข้อมูลไม่มากที่จะติดสินใจได้ว่าสิ่งไหนหรืออะไรดีที่สุด หรืออาจไม่สามารถตัดสินใจได้เลย
.
‘Sally Maitlis’ ศาสตราจารย์จาก Saïd Business School ในมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดกล่าวว่า นอกจาก Maximisers จะเสียเวลาไปกับการตัดสินใจมากเกินจำเป็นแล้ว พวกเขาอาจเกิดความรู้สึก ‘Post-Decision Regret’ คือ รู้สึกเสียใจกับการตัดสินใจของตน
.
ดังนั้น เมื่อซื้อโทรทัศน์ไปแล้ว เหล่า Maximisers ก็อาจจะคิดว่า “ใช้แล้วไม่ดีอย่างที่คิดเลย รู้แบบนี้ซื้อเครื่องอื่นก็ดี” อีกทั้งงานวิจัยฉบับหนึ่งพบว่า การที่ Maximisers มีนิสัยนี้ส่งผลให้พวกเขารักความสมบูรณ์แบบจนเกินไป มักโทษตัวเอง และอาจเป็นซึมเศร้าได้ด้วย
.
Satisficers: ยังไงก็ได้ แค่นี้ก็ดีแล้ว
.
แทนที่จะเสียเวลาคิดหาสิ่งที่ยอดเยี่ยมที่สุด Satisficers ไม่ชอบที่จะคิดให้ยากและซับซ้อน และพอใจกับของที่คุณภาพพอรับได้
.
“สิ่งตรงข้ามกับความสมบูรณ์แบบคือ ความพึงพอใจ คนกลุ่มนี้รู้ว่าในหลายๆ ครั้งพวกเขาไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาทุกอย่างได้ภายในระยะเวลาจำกัด” ‘Stephanie Preston’ ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนกล่าว “ดังนั้น ‘แค่นี้ก็ดีแล้ว’ คือเอกลักษณ์ของ Satisficers”
.
แทนที่จะนั่งหาข้อมูลและเหตุผลร้อยแปดพันเก้าเพื่อเลือกอะไรสักอย่าง Satisficers มักตัดสินใจด้วยความรู้สึกมากกว่า นิสัยเช่นนี้ทำให้พวกเขาตัดสินใจได้รวดเร็ว แต่ผลลัพธ์ที่ได้อาจจะไม่ดีที่สุดในทุกครั้ง
.
เมื่อปี 2006 งานวิจัยชิ้นหนึ่งศึกษากลุ่มตัวอย่างในนักศึกษามหาวิทยาลัยที่เรียนจบแล้ว พบว่า เมื่อทำงาน เงินเดือนเริ่มต้นของกลุ่ม Maximisers สูงกว่ากลุ่ม Satisficers ถึง 20% อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่ากลุ่ม Maximisers มักไม่ค่อยพึงพอใจในงานของตนเมื่อเทียบกับ Satisficers
.
แล้วแบบไหนดีที่สุด?
.
“โดยทั่วไป Maximisers จะทำงานได้ดีกว่า แต่จะรู้สึกแย่กับตัวเองมากกว่า แม้พวกเขาจะมีโอกาสได้งานดีๆ สูง แต่ก็จะรู้สึกไม่ค่อยพอใจกับงานที่ได้” ‘Barry Schwartz’ ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านจิตวิทยาจาก Swarthmore College ในรัฐเพนซิลเวเนียกล่าว “คำถามสำคัญคือ คุณให้น้ำหนักกับความรู้สึกหรือเหตุผลมากกว่ากัน”
.
ในความเป็นจริง คนส่วนใหญ่มักยืนระหว่างสองกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีเพราะในการตัดสินใจจริงๆ นั้น เราควรที่จะให้น้ำหนักทั้งเหตุผลและความรู้สึก
.
“ในทางทฤษฎี โดยปกติคนเราตัดสินใจด้วยเหตุผลและความรู้สึก แต่เมื่อไหร่ที่ต้องตัดสินใจเรื่องที่มีความเสี่ยงสูง เราถึงจะกลายเป็น Maximisers” Preston อธิบาย “แต่คุณก็ควรคิดถึงความพึงพอใจส่วนตัวด้วยเช่นกัน ไม่อย่างนั้นแล้ว ต่อให้ผลลัพธ์ที่เกิดจะดีแค่ไหน คุณก็อาจจะไม่มีความสุขกับมัน”
.
โดยสรุปแล้ว คนเราไม่ควรจะสุดโต่งไปในทางใดทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเลือกโดยไม่คิด หรือคิดมากไปจนผลเสียต่อตนเอง แล้วคุณล่ะเป็นสายไหน มาแลกเปลี่ยนความเห็นในคอมเมนต์กัน
.
.
แปลและเรียบเรียงจาก:
อ่านเพิ่มเติม:
#MissionToTheMoonPodcast
โฆษณา