30 มี.ค. 2021 เวลา 19:09 • ประวัติศาสตร์
วัยเด็ก ~ หัวไทร
พ่อย้ายอีกครั้งไป อ. หัวไทร จ. นครศรีธรรมราช เพื่อไปเป็นนายอำเภอที่นั่น สมัยนั้นกระทรวงมหาดไทยมีนโยบายให้ข้าราชการในกระทรวงมหาดไทยมีการสลับบทบาทการทำงานจากกรมหนึ่งไปยังอีกกรมหนึ่งได้ตามความเหมาะสมที่ผู้บังคับบัญชาเห็นควร พ่อจึงมีบทบาทเป็นตำรวจบ้าง ปลัดและนายอำเภอบ้าง พ่อเป็นตำรวจชำนาญการสอบสวน สมัยเมื่อทางการให้อำนาจนายอำเภอสอบสวนผู้ต้องหาได้ พ่อก็ถูกย้ายไปทำหน้าที่นั้น ช่วงนั้นที่นครศรีธรรมราชมีผู้ว่าลำดับที่ 14 และ 15 คือ ขุนรัฐวุฒิวิจารณ์(สมวงษ์ วัฏฏสิงห์) [ดำรงตำแหน่งระหว่าง
13 มีนาคม 2489 - 6 กันยายน 2489] และ
นายแม้น ออนจันทร์ [ดำรงตำแหน่งระหว่าง 8 ตุลาคม 2489 - 1 กันยายน 2493]
พ่อเป็นนายอำเภอหัวไทร 2 ปี คือปี 2489-2490
เป็นปีวิปโยคที่เด็กอายุ 5 ขวบจำได้ไม่รู้ลืม
ฉงนว่าเหตุใดคนทั้งเมืองจึงใส่ชุดดำ รำ่ให้ และหม่นหมอง
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ในหลวงรัชการที่ 8 เสด็จสวรรคตเพราะต้องพระแสงปืน ณ.ห้องพระบรรทม บนชั้น 2 พระที่นั่งบรมพิมาน พระบรมมหาราชวัง
ในวันที่ 9 มิถุนายน 2489 เวลา 9:20 น.
ร.8 เสด๊จกลับไทยครั้งที่ 2 วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2488
พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ จัดขึ้นในวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2493
ยุวกษัตริย์พระชนมายุ 13 ชันษา เมื่อเสด็จกลับไทยครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2481
การไว้ทุกข์ของราษฏรที่ถวายความอาลัยพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศได้สิ้นสุดลงเมื่อการถวายพระเพลิงจบสิ้น
ทุกชีวิตในแผ่นดินก็กลับมาดำเนินไปตามปกติ
แม้กระนั้นความรู้สึกสูญเสียอันใหญ่หลวงในประวัติศาสตร์ชาติไทยครั้งนี้.
ก็มิได้จางหายไปจากใจของทุกคน
หน้าใหม่ของชีวิตผ่านเข้ามาในชีวิตของเด็กวัย 5ขวบ
การได้พูดคุยภาษาท้องถิ่นกับเพื่อนวัยเดียวกัน และผู้เกี่ยวข้อง ทำให้ทักษะ “ แลงใต้” คล่องแคล่ว เพราะเป็นวัยที่จดจำ และเรียนรู้ได้เร็ว
( แต่เมื่อย้ายไปภาคเหนือ ก็ลืมภาษาใต้เสียสิ้น กลับได้ “อู้กำเมือง”แทน)
การรู้ภาษาทำให้สนุกกับการดู การละเล่นพื้นเมืองของภาคใต้ คือ “ หนังตะลุง”
“นายหนัง” จะเชิดตัวหนังบนจอผ้าสีขาว ที่มีแสงไฟส่องอยู่เบื้องหลัง เป็นการเล่นแสงเงาของตัวหนังต่างๆ เช่น ตัวพระ ตัวนาง ยักษ์หรือ ฤาษี ฯลฯที่แกะสลักอย่างงดงามบนหนังวัว สะท้อนภาพและสีสันให้ผู้ชมทีนั่งกับพื้นหน้าจอ แหงนคอตั้งบ่าได้ชม เสียงพากย์ของนายหนังที่ใช้บทกลอนสำเนียงพื้นถิ่น สร้างความบันเทิงให้ผู้ชมเป็นอย่างยิ่ง
โดยเฉพาะ ตัวตลกในหนังตะลุง เช่น ไข่นุ้ย เท่ง ยอดทอง ไม่เคยเลือนไปจากความทรงจำของเด็ก ๆ
Product
stock
Product
https://sites.google.com/site/hnangtalungnkhrsrithrrmrach/
หนังตะลุงนครศรีธรรมราช
ทุกครั้งที่มีหนังตะลุงมาแสดงที่สนามหญ้ากว้างใหญ่หน้าบ้านพัก
ที่ใช้สารพัดประโยชน์ เช่น เล่นฟุตบอล จัดงานของทางราชการ
เป็นโอกาสที่เด็กไม่เคยพลาด แม้จะต้องคอยกว่า 2 ชั่วโมงกว่าหนังตะลุงจะลงโรง เด็กก็สนุกกับการไปนั่งคอยหน้าจอตั้งแต่พลบค่ำ ฟังเสียงเพลงโหมโรง และอร่อยกับขนมที่ชาวบ้านนำมาขายไปพลาง ๆทั้งได้เห็นการเตรียมตัวของคณะหนังตะลุงก่อนลงเล่นด้วย
สิ่งที่ติดตาเด็กอีกอย่างคือ ผู้หญิงชาวบ้านจะทูนของไว้บนหัวไม่ว่าของจะหนักแค่ไหน เธอเหล่านั้นก็เดินคอแข็ง ตัวตรง และแกว่งแขนตามปกสบาย รูปร่างชะลูด ผิวคล้ำ ใบหน้าคมคาย ทำให้เธอดูราวนางงามเดินบนเวทีประกวด
บ้านพักนายอำเภอหัวไทร อยู่ติดกับที่ว่าการอำเภอชั่วเดินไปไม่ถึง 10 ก้าวจากบ้านพักที่เป็นชั้นเดียว แต่พื้นบ้านสูงประมาณท่วมหัว ใต้ถุนเรือนพอก้มหัวลอดเข้าไปได้. เสาเป็นปูนหล่อแข็งแรง หลายสิบต้น บ้านกว้างขวาง มีห้องใหญ่หลายห้อง มีชานต่อไปถึงห้องครัว ที่แยกจากเรือนใหญ่
เมื่อไปอยู่ใหม่ๆ มีคนเอา “ม้า” มาให้ แม่บอกให้ผูกไว้ใต้เรือน
คนบอกทำหน้าลึกลัก สักครู่ลงไปหยิบ กระออมตักน้ำที่สานด้วยเส้นไผ่ เปลาเส้นเล็ก ๆ. แล้วอาบด้วยน้ำมันยางหรือยาชันเพื่อกันน้ำที่ตักรั่ว มีหูจับเป็นไม้ 2 ชิ้นไขว้กัน ปัจจุบันใช้กาบหมากหรือใบจากขึ้นรูปคล้ายกันกับภาชนะตักน้ำมีคนนำมาให้แม่วันนั้นที่เคยได้เห็น
แม่จึงถึงบางอ้อ ว่าม้าที่เอามาให้ หมายถึงภาชนะตักน้ำจากบ่อ ห้วย คลองของคนเมืองคอน ภาษาท้องถิ่นออกเสียงคล้าย “หมา” แต่แม่ฟังเป็น “ม้า”
ความจริงคำนี้เป็นคำมลายู มาจากคำว่า Timba แต่คนคอนออกเสียง ว่า “ตีหมา”
ความสนุกในวัยเด็ก คือ ทำสิ่งที่อยากทำ โดยไม่ได้นึกถึงผลรับ คือ วิบากกรรม ที่จะเกิดขึ้นติดตัวไป
หน้าที่ว่าการอำเภอจะมีสระบัวใหญ่อยู่ด้านหน้า บัวหลวงสีขาวและชมพูบานสะพรั่ง พี่ชาย 2 คนจะเอาไม้ไผ่ยาวๆ สอยฝักบัวมาแกะกิน และสอยดอกบัวมาให้ตามคำขอของน้องสาว
มีอยู่วันหนึ่งที่พี่สอยได้งูตั้งท้องติดไม้มาด้วย พี่ช่วยกันเอาก้อนหินทับหัวงูไว้ และจัดการรีดท้องงูที่ป่องด้วยความอยากรู้
เป็นภาพที่จำได้ติดตา คือ สิ่งที่ถูรีดออกมาจากท้องงู คืองูตัวเล็ก ๆ ที่ขดอยู่ในวุ้นใส ๆ
ผลของวิบากกรรมที่ร่วม ที่เกิดขึ้นภายหลังคือ โดนงูเขียวหางไหม้ฉกกัดที่หน้าแข้งซ้าย เป็นแผลอยู่จนปัจจุบันนี้. ครั้งนั้นแม่ปฐมพยาบาลขั้นต้น โดยการเอาด่างทับทิมยัดแผล และเอาพื้นรองเท้าตบที่แผลให้เลือดเสียออกหมดจึงล้างแผลและใส่ยาแดง
แผลที่ไม่เคยหายในชีวิต คือ ความกลัวงูและ การจมน้ำ
 
เรื่องเกิดเมื่อหนีพ่อแม่ไปเล่นน้ำในคลองชลประทานที่อยู่เหนือที่ว่าการอำเภอเพียงเล็กน้อย
แอบไปเองคนเดียว ก้าวลงน้ำ ก็ดิ่งลงไปเพราะว่ายน้ำไม่เป็น ตะเกียกตระกาย ดีว่าไคว้คว้ากอหญ้าที่ขึ้นอยู่หนาริมตลิ่งได้กอหนึ่ง ช่วยตัวเองออกมาจากการจมน้ำได้ มิฉะนั้น คงจบเรื่องแล้วในวันนั้น
1
ไม่เคยบอกเล่าเหตุการณ์นี้ให้ใครรู้ แต่ที่รู้แก่ใจคือ ความกลัวการจมน้ำนับแต่นั้นมา
ที่ว่าการอำเภอหัวไทรสมัยพ่อเป็นนายอำเภอนั้น เป็นอาคารไม้หลังไม่ใหญ่มากแต่สวย ทาสีเขียวอ่อน ๆ แต่สีดูเก่าและตกสะเก็ด. มีลายฉลุรอบชายคา หน้าต่างบานเกล็ดเป็นบานกระทุ้ง มีบันไดขึ้น 2 ด้าน ซ้ายและขวาภายใต้พื้นไม้ของอาคาร ( อยู่ในร่ม) เมื่อขั้นบันได 5 ขั้นนั้นแล้วจะเจอชานกว้างที่มีม้านั่งไม้รอบชานที่เปิดโล่ง เป็นชานพักที่นั่งเล่นได้รอบ ก่อนจะขึ้นบันไดเดี่ยวอีกตอนไปยังบริเวณที่ทำการอำเภอ
ตอนเย็น ๆ ถ้าพ่อไม่ได้ออกท้องที่ พ่อจะพาลูก ๆ มานั่งเล่นที่ม้านั่งรอบชานที่มองเห็นท้องฟ้าและทิวทัศน์ได้รอบ
พ่อจะใช้สิ่งรอบตัวมาสอนเรา เช่น เห็นนกบินไปมาบนท้องฟ้า
พ่อจะท่องและให้พวกเราท่องตาม เช่น
1. ยามจนคนเคียดแค้น ชิงชัง
ยามมั่งมีคนประนัง. นอบน้อม
เฉกพฤกษ์ดกนกหวัง บินสู่ เสมอนา
ปางหมดผลนกพร้อม พรากสิ้นบินหนี
 
2) ปลาร้าพันห่อด้วย. ใบคา
ใบก็เหม็นคาวปลา. คละคลุ้ง
คือคนหมู่ไปหา. คบเพื่อน พาลนา
ได้แต่ร้ายร้ายฟุ้ง. เฟื่องให้เสียพงศ์
3) เสียสินสงวนศักดิ์ไว้. วงค์หงส์
เสียศักดิ์สู้ประสงค์. สิ่งรู้
เสียรู้เร่งดำรง. ความสัตย์ ไว้นา
เสียสัตย์อย่าเสียสู้. ชีพม้วยมรณา
4) โคควายวายชีพได้. เขาหนัง
เป็นสิ่งอันคงยัง. อยู่ไชร้
คนเด็ดดับสูญสัง- ขารร่าง
เป็นชื่อเป็นเสียงได้. แต่ร้ายกับดี
พ่อจะสอนพวกเราท่องโคลงโลกนิติ(ระเบียบแบบแผนแห่งโลก)และอธิบายความหมายของโคลงให้เราเข้าใจ ให้สำนึกและจดจำไปใช้เมื่อเติบใหญ่ พ่อได้เล่าถึงกวีผู้แต่งโคลงสุภาษิตกินใจเหล่านั้นว่า คือ
สมเด็จฯกรมพระยาเดชาดิศร
ผู้ได้ชำระโคลงโลกนิติ ที่เป็นโคลงสุภาษิตสอนใจ. อันมีมาแต่สมัยอยุธยา(รวบรวมไว้หลายฉบับจากคำภีร์ต่างๆ ทั้งจากบาลีและสันสกฤต เช่น คัมภีร์โลกนิติ คัมภีร์ธรรมนิติ หิโตปเทศ ธรรมบท )ได้คัดเลือกและรจนาให้ไพเราะ 408 บทในปี พ.ศ.2374 ในสมัย ร .3. [ปรากฏในจารึกบนแผ่นศิลาวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม 30 บท]
สมเด็จพระเจ้าบรมวงค์เธอ
กรมพระยาเดชาดิศร (11พ.ค. 2336 - 4 ก.ย.2402)
ประวัติย่อ อำเภอหัวไทร
สมัย ร.2 พ.ศ.2354เรียก ชื่ออำเภอ ว่า “ที่พังไกรท้ายวัง”
[อ้างอิง: “จาก 9 อำเภอ เมื่อ ร.ศ.116… “ โดย ผศ. ฉัตรชัย ศุกะกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช.ในสาร
นครศรีธรรมราช ร้อยเรื่องเมืองนคร ]
เมื่อเริ่มจัดตั้งการปกครองส่วนภูมิภาค เป็นมณฑลเทศาภิบาลในสมัย ร.5 ร.ศ.116 พ.ศ.2440
มณฑลนครศรีธรรมราช มีพระยาสุขุมนัยวินิต ( ปั้น สุขุม)เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑล มีรายงานจากมณฑลเข้าไปกระทรวงมหาดไทยระบุว่า
“ข้าวเปลือกข้าวสารในแขวงอำเภอเขาพังไกร และอำเภอเบี้ยซัดมีมาก ซึ่งราษฎรนำมาจำหน่ายที่ปากน้ำพนัง ลงเรือไปสิงคโปร์บ้าง เมืองแขกบ้าง กรุงเทพฯบ้าง…”
และ “ อำเภอเขาพังไกรได้ขุดคลองขึ้นสองแห่ง คือแห่งหนึ่งที่ลำคลองสายแม่น้ำพนัง ไปออกทะเลสาปที่บ้านระโนด ซึ่งเป็นทางสำหรับไปมาระหว่างเมืองสงขลากับเมืองนครศรีธรรมราช… คลองนี้เรือเดินไปมามาก เพราะไปเมืองสงขลาและพัทลุงได้ตลอด”
เมื่อครั้ง ร.5 เสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ.124 พ.ศ. 2448 ทรงบันทึกไว้เมื่อเสด็จถึงปากพนังเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ร.ศ.124 ว่า
“ต่อโรงสีไฟขึ้นไปไม่มากนักถึงปากแพรก ซึ่งเป็นแม่น้ำสองแยก ๆ หนึ่งแยกไปตามทะเลถึงตำบลทุ่งพังไกร ซึ่งเป็นที่นาอุดมดี…นาทั้งมณฑลนครศรีธรรมราชไม่มีที่ไหนสู้…ลำน้ำนั้นเรือกลไฟขนาดศรีธรรมราชขึ้นไปได้ตลอดถึงพังไกร...”
และพระองค์ยังกล่าวถึงการจะตั้งโรงสีไฟ 10 โ่รงเพื่อสีข้าวที่คาดว่าจะผลิตได้อย่างเต็มที่จากท้องที่นาแถบนั้น
แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่นาลุ่มน้ำปากพนัง
ต่อมาปี พ.ศ. 2460 อำเภอเขาพังไกร ได้ย้ายไปตั้งอยู่ที่ หมู่ 1 ต.หัวไทรในสมัยหลวงอนุสรสิทธิกรรม ( บัว ณ นคร) และได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ อำเภอหัวไทร” เรียกชื่อตามสถานที่ตั้ง
ครั้งแรกตั้งอำเภอชั่วคราวที่ใกล้กับวัดกลาง ต.ฉลอง ต่อมีอีก2 ปีก็ย้ายไปตั้งที่บริเวณวัดปากแพรก (ตลาดปากแพรก)บริเวณที่มีคลองสองสายคือ คลองท่าเรือรี และคลองท่าควายไหลมาบรรจบกัน
ต่อเมื่อถึงปี 2480 มีนายนาค ศรีวิสุทธิ์เป็นนายอำเภอ ได้ย้ายอำเภออีกครั้งเป็นครั้งที่ 2 มาตั้งที่หมู่ 8 ต.หัวไทร บริเวณนี้เดิมเป็นบริเวณวัดหัวไทร. ที่ว่าการอำเภอถูกย้ายไปตั้งอีกฝากของทางหลวงแผ่นดินสายนครฯ - หัวไทร มีตำบลในปกครอง 8 ตำบล คือ หัวไทร ทรายขาว
ท่าซอม เขาพังไกร หน้าสตน บ้านราม และบางนบ
ต่อมาปี 2546 ย้ายที่ตั้งอำเภอใหม่ มาอยู่ที่ หมู่ 11 ต.หัวไทรในปัจจุบันด้วยเหตุผลที่ตั้งอำเภอเดิมนั้นแคบไม่สามารถขยายอาคารเพิ่มเติมได้ แต่ยังคงเรียกชื่ออำเภอหัวไทรเช่นเดิม
 
การทำงานของพ่อที่หัวไทร คงจะไม่ราบรื่นนัก คนดุ โจรผู้ร้ายชุกชุม
การรลักลอบค้าข้าวส่งออกนอกมีมาก
พ่อจะพกปืน Revolver .38 ติดกายไว้เสมอ
เด็กๆจะได้ยินพ่อพูดกับแม่ เรื่อง “ กินสินบาท คาดสินบน” และ “ ฉัอราษฎร์ บังหลวง” อยู่บ่อยๆ
เราเห็นพ่อแม่ ผลัดกันนอนคนละเวลา พ่อเข้านอนหัวค่ำ เที่ยงคืนพ่อจะตื่น แม่จะทำงานและระแวดระวังตอนพ่อพักผ่อน และแม่จะเข้านอนตอนพ่อตื่นมาระแวดระวังต่อจนเช้า จะมีน้าเรืองที่มาอยู่ด้วยอีกคนที่ผลัดเปลี่ยนอยู่ยามกัน เรามาคิดออกเมื่อโตแล้วว่า ชีวิตตอนนั้นของพ่อคงไม่ปลอดภัย จึงต้องดำเนินชีวิตเช่นนั้น
พ่อที่ได้รับคำสั่งขึ้นเหนือ ไปเป็นนายอำเภอแม่ทะ จ.ลำปาง วันเลี้ยงส่งพ่อที่จัดตรงสนามหญ้าเล็ก ๆ หน้าที่ว่าการอำเภอที่อยู่ใกล้บ้าน
ตอน 2 ทุ่ม เราเห็นพ่อรีบเดินกลับบ้านทั้งๆที่งานยังไม่เลิก เพราะเริ่มงานตอนพลบค่ำ
มารู้ตอนโตจากแม่ว่า พ่อโดน “ ยาสั่ง” ที่ใส่ไว้ในแก้วเหล้าที่พ่อดื่ม พ่อมีอาการจึงรีบเดินกลับบ้าน แม่ฝนยาแก้พิษที่เป็นเปลือกไม้หลายชนิดให้พ่อกิน
พ่ออาเจียรจนหมดท้องหมดใส้
พ่อจึงรอดปลอดภัยเพราะรู้ตัวทัน
แม่ยังนำถุงผ้าสีแดงที่ใส่เปลือกไม้แก้พิษเหล่านั้นให้เราดูเมื่อเล่าเรื่องภายหลังก่อนแม่เสียไม่นาน และให้เราเก็บรักษาต่อ
เราไม่แปลกใจเลยที่แม่สามารถแก้วิกฤติหลายครั้งที่เกิดกับคนในครอบครัวได้ เพราะแม่มีตาทวดและพ่อเป็นหมอ
คงมีการขัดแย้งในการทำงานของพ่อ ๆ จึงโดนหมายป้องเอาชีวิตเช่นนั้น
จำได้ว่าวันย้ายจากหัวไทรครอบครัวเราทุกคนลงเรือที่มีประทุน ลำใหญ่พอควร คล้ายเรือกระแซง ปนเอี้ยมจุ๊นล่องมาตามลำน้ำ ฝนตกตลอดทาง ท้องฟ้ามืดมัว
ไม่รู้เวลาว่าเดินทางนานกี่วัน เพราะเราตื่นมาทีไร ฝนก็ยังตก มืดคลึ้มอยู่ตลอด จนกระทั่งขึ้นท่าที่อำเภอปากพนัง
ตอนนั่งรถไฟด่วนสายใต้ คนยัดเยียดกันในโบกี้ชั้นโท แทบไม่มีทางเดิน พ่อส่งเราที่ตัวเล็กผอมแม้อายุ 6 ขวบแล้วขึ้นไปนอนบนชั้นวางของเหนือหัวที่เป็นตะแกรงขดลวด มองเห็นพ่อต้องยืนและให้แม่นั่งผลัดกันไปมาเพราะมีที่อยู่ที่เดียว พี่ 2 คนและน้าสำราญที่มาอยู่กับพ่อหลังน้าเรืองกลับแล้ว คุมพี่ ๆนั่งบ้างยืนบ้างที่นั่งแถวถัดไป ตามทางเดินและท้าวแขนที่นั่ง ก็จะมีคนยึดที่เต็มไปหมด
ตอนบ่าย ๆ ของวันต่อมา เรามองออกนอกหน้าต่าง ตามเส้นทางรถไฟที่วิ่งไป เรามองเห็นผลห้อยเป็นพวงระย้าสีแดงสวยงามมากมายบนต้นที่เรียงรายเป็นระยะทางไกล
ภาพสวยนั้นค่อยๆมัวลง และจางหายไปจากสายตา เพราะความเร็วของรถไฟที่วิ่งตอนนั้น
เป็นภาพจำที่ไม่เคยลืม
ตอนนั้น เราไม่เคยรู้จักและเคยลิ้มลองผลไม้ชนิดนี้เลยนะเจ้า “เงาะ”
เมื่อรถไฟถึงสถานีหัวลำโพงแล้วพ่อพาครอบครัวไปพักกับ “มหา” พ่อเรียกเพื่อนพ่อสมัยเรียนธรรมศาสตร์ ซึ่งเปิดสำนักงานทนายความที่ท่าพระจันทร์ติดกับรั้วธรรมศาสตร์. 1 คืน
ตอนเย็นวันรุ่งขึ้น พ่อพาขึ้นเรือเมล์แดง สองชั้นวิ่งขึ้นไปถึงจังหวัดสิงห์บุรี
เรือออกราว 5-6 โมงเย็น จำได้ว่าเราตื่นตาตื่นใจกับการดูบ้านเรือนสองฝั่งริมน้ำเจ้าพระยาที่เรือวิ่งผ่าน สักพักเราก็หลับไป ตื่นอีกทีก็เช้าแล้ว
พ่อพามาพักที่บ้านที่พ่อสร้างไว้ที่อำเภออินทร์บุรี เมื่อครั้งยังเป็นปลัดซ้ายอยู่ที่จังหวัดสิงห์บุรี
พ่อให้คนแจวเรือรับจ้างข้ามฝากที่ชื่อว่า “ หมอเหล็ง” ที่ไม่มีบ้านอยู่ มาอยู่เฝ้าดูแลที่และบ้านที่ตลอดเวลากว่า 10 ปีที่พ่อย้ายไปทำงานตามจังหวัดต่างๆ โดยให้อยู่ในที่ว่าง ไกลออกไปจากตัวบ้านชั้นเดียวที่ปลูกแบบบังกะโล
ความจริงแกไม่ได้เป็นหมอ แต่แก “หัวหมอ” เพราะแกฟ้องพ่อเอาที่ดินของพ่อโดยอ้างแกครอบครองดูแลมากว่า 10 ปี ในที่สุดพ่อต้องแบ่งที่ดินให้แก
เป็นการตอบแทนความเมตตาทีพ่อมีให้
แกตอบแทนพ่ออย่างที่คิดไม่ถึง
เพราะพ่อวางใจและไม่คิดทำใดใดในแง่กฎหมาย เช่นสัญญา ทั้ง ๆ ที่พ่อรู้กฎหมาย
พ่อจึงให้ชื่อแกว่า “ หมอเหล็ง”
ระหว่างสัปดาห์ที่อยู่บ้านอินทร์บุรี. ตอนเย็นที่ลงอาบน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านหน้าบ้าน พ่อจะสอนพี่ ๆว่ายน้ำ
พ่อผูกลูกมะพร้าวแห้งสองลูกเข้าด้วยกันเพื่อเป็นทุ่นให้พี่ชายสองคนเกาะว่ายเพื่อฝึก. ส่วนเราเล็กและกลัวน้ำมากพ่อจับเราให้นั่งในถังไม้กลมๆลอยน้ำ ดูน่าสนุกแต่เราผวาตลอดเวลาที่พ่อพาลูก ๆ ไปอาบน้ำและว่ายน้ำ พ่อไม่รู้ถึงปมในใจของเราเรื่องกลัวน้ำ
กงเกวียนกำเกวียน
กงเวียนหมุนเล่นล้อ. รอยกง
เปรียบเฉกกรรมหมายตรง. สู่เจ้า
ใครทำก่อกรรมคง คืนสู่ ใครแล
กรรมย่อมตามรอยเข้า แก่ผู้กอบกรรม
 
อ้างอิง : ศูนย์เทคโนโลยี่ทางการศึกษา ภาษาไทย ภาษาทอง
 
30/03/2564
:
โฆษณา