8 เม.ย. 2021 เวลา 04:16 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เราสามารถออกแบบสมองด้วยตัวเองได้ ด้วย Self-Directed Neuroplasticity
ก่อนหน้านี้ เราเชื่อกันว่าสมองจะหยุดพัฒนาเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ แต่จริง ๆ แล้วสมองของเราเปลี่ยนแปลงและปรับตัวอยู่ตลอดเวลา และเราก็สามารถเหนี่ยวนำให้สมองเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่เราต้องการได้ด้วย
1
❶ รู้จัก Self-Directed Neuroplasticity
ในสมองของเราจะมีเซลล์ประสาทที่เรียกว่านิวรอน เชื่อมต่อกันเป็นโครงข่ายเพื่อส่งสารสื่อประสาท โดยเส้นทางการเชื่อมต่อที่ว่านี้ เราเรียกกันว่านิวรอนพาธเวย์หรือวิถีประสาทครับ
พอเราลืมตาดูโลก สมองก็จะพัฒนาไปเรื่อย ๆ สร้างวิถีประสาทที่ซับซ้อน ซึ่งแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล ทั้งนี้เมื่อหลายสิบปีก่อน นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าสมองของเราจะหยุดพัฒนาเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผลการศึกษาในยุคปัจจุบันพบว่าสมองของเราไม่ได้หยุดพัฒนาครับ หากแต่ยังคงเปลี่ยนแปลงและปรับตัวไปตามสภาพแวดล้อมและสิ่งเร้าตลอดชีวิต ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ เราเรียกว่า Neuroplasticity
แต่จะดีกว่าไหม หากเราไม่ปล่อยให้สมองเปลี่ยนแปลงไปเองตามเวรตามกรรม แล้วเรามาควบคุมเสียเอง ด้วยการจัดการโครงข่ายวิถีประสาทใหม่ หรือที่เรียกว่า Self-Directed Neuroplasticity
❷ เข้าใจ Hebb’s Rule
แต่ก่อนที่เราจะไปออกแบบสมองใหม่กัน เราไปรู้จัก Hebb’s Rule กันก่อนครับ
Hebb’s Rule บอกว่าวิถีประสาทของเราจะแข็งแรงขึ้น หากเราใช้วิถีประสาทเส้นนั้นซ้ำ ๆ ให้ลองนึกถึงเวลาเราขับรถเข้าออฟฟิศตอนเช้าทุกเช้า เราก็จะชินกับเส้นทางนั้นไปโดยปริยาย
ในทางกลับกัน หากเราไม่ค่อยได้ใช้วิถีประสาทเส้นนั้น มันก็จะค่อย ๆ เลือนรางไป เหมือนเวลาเราลาออกจากงาน แล้วไม่ค่อยได้ขับรถเข้าออฟฟิศเหมือนเมื่อก่อน เราก็จะไม่ค่อยคุ้นชินกับเส้นทางนั้นอีกต่อไป
เช่นเดียวกันครับ ความคิดหรือพฤติกรรมของเรา เช่น เป็นคนชอบคิดมาก ชอบวิตกกังวล สูบบุหรี่เมื่อเครียด ก็มาจากการที่เราใช้วิถีประสาทเส้นนั้นซ้ำ ๆ เดิม ๆ จนวิถีประสาทนั้นแข็งแรง เกิดเป็นความคิดและพฤติกรรมที่ดูเหมือนแก้ไขไม่ได้ . . . แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราแก้ได้ครับ
❸ ถึงเวลาออกแบบสมอง
สิ่งแรกที่เราต้องทำคือ ตระหนักรู้ครับ เราต้องตระหนักให้ได้ก่อนว่าเรามีปัญหาอะไร และต้องการเปลี่ยนแปลงอะไร จากนั้นก็ดูต่อว่าต้นสายปลายเหตุมันเป็นอย่างไร เพื่อจะได้เปลี่ยนวิถีประสาทไปในทิศทางที่ต้องการได้
เหมือนกับขับรถไปออฟฟิศ แล้วรู้สึกว่าเส้นทางเดิมรถติดมาก เลยต้องการเปลี่ยนเส้นใหม่ เราก็ต้องเปิดแผนที่ดู แล้วดูว่าเราจะเปลี่ยนไปเส้นไหนได้บ้าง
สมมติเราเป็นคนชอบเครียด พอเครียดแล้วชอบช้อปปิ้ง เราก็มาดูต่อว่าเราอยากแก้ไขตรงไหน
ถ้าอยากแก้ไขตั้งแต่เรื่องเครียด ก็อาจจะลองดึงตัวเองออกมาจากสถานการณ์ที่ทำให้เครียดซ้ำ ๆ หรือถ้าทำไม่ได้ ก็อาจจะเปลี่ยนความคิดในหัว มองความเครียดเป็นเกมที่ท้าทายการแก้ปัญหา ฯลฯ เพื่อเลี่ยงการส่งข้อมูลตามวิถีประสาทเดิม
หรือถ้าอยากหยุดช้อปปิ้งเวลาเครียด คราวหน้าเมื่อเครียด ก็ลองเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นแทน แล้วทำต่อเนื่องเรื่อย ๆ จนเรามีวิถีประสาทเส้นใหม่ที่แข็งแรงขึ้น แล้ววิถีประสาทเส้นเดิมก็ค่อย ๆ เลือนรางไปครับ
โดยรวม ๆ แล้ว มันคือการที่เราเล็งเห็นถึงปัญหา ไม่ปล่อยให้ตัวเองจมดิ่งไปกับปัญหาซ้ำ ๆ เดิม ๆ แล้วลุกขึ้นมาปฏิวัติตัวเอง แก้ไขหรือเบี่ยงเบนพฤติกรรมและความคิด แล้วทำต่อเนื่องซ้ำ ๆ จนสมองเราสร้างวิถีประสาทและโครงข่ายประสาทใหม่ในแบบที่เราต้องการ
========================
ℹ #TheColumnist - ขอบคุณสำหรับการกดไลค์ กดติดตาม และเป็นกำลังใจให้พวกเราในการแบ่งปันข้อมูลข่าวสาร และแนวคิดใหม่ ๆ นะครับ
โฆษณา