2 เม.ย. 2021 เวลา 13:29 • กีฬา
ITALIAN JOB : วัตฟอร์ด, กรานาดา และ อูดิเนเซ 1 เจ้าของ 3 สโมสรที่รวมพลังเพื่อทีมเดียว | MAIN STAND
อูดิเนเซ, กรานาดา และ วัตฟอร์ด 3 ทีมนี้ ส่งนักเตะให้กันใช้ไปมา ๆ ไม่ต่ำกว่า 40 ครั้ง พวกเขาทำแบบนั้นไปเพื่ออะไร ? ในเมื่อไม่มีทีมไหนประสบความสำเร็จจริง ๆ จัง ๆ เลย
นี่คือเรื่องราวการทำงานแบบ อิตาเลียน จ็อบ ของตระกูลนักธุรกิจจาก อิตาลี ที่มีสโมสรระดับลีกสูงสุดใน 3 ลีกดังอยู่ในมือ
ทว่ายิ่งมากความก็กลายเป็นยิ่งมากเรื่อง ... จนตอนนี้ว่ากันว่า "ของกำลังจะเข้าตัว" พวกเขาแล้ว
มรดกของครอบครัว
เรื่องราวของการประสบความสำเร็จในแง่ธุรกิจนั้น บางครั้งมันก็เกี่ยวกับอิทธิพลของครอบครัว และตระกูล ปอซโซ่ ในประเทศอิตาลีก็เป็นเช่นนั้นมาตลอดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง
Photo : Perfume Soceity
ปอซโซ่ นั้นเป็นตระกูลพ่อค้า ทำธุรกิจค้าไม้มาอย่างยาวนาน และเป็นคนหัวธุรกิจที่แท้จริง ที่ไม่เคยหยุดแค่ธุรกิจเดียว หลายชั่วอายุคนผ่านไป ปอซโซ่ เริ่มขยับขยายกิจการด้วยการซื้อบริษัทขายเครื่องใช้ไฟฟ้า จนร่ำรวยไปกันใหญ่ พวกเขาขยับฐานการผลิตและขยายจาก อิตาลี ไปยังประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่าง สเปน และนั่นคือจุดเริ่มต้นของความรุ่งโรจน์และมั่งคั่งของตระกูลนี้
มันเหมือนกับคำว่า "ต้องรวยแค่ไหนถึงจะพอ ?" คำถามนี้ช่างตอบได้ยากยิ่ง บางครั้งคนรวยขนาดที่ใช้เงินทั้งชีวิตก็ไม่หมด ยังคงต้องการทำงาน ทำเงิน ต่อไปเรื่อย ๆ อย่างไม่มีหยุด เมื่อเข้าสู่ยุค 80s พวกเขากระโดดเข้าสู่วงการฟุตบอล จามเปาโล ปอซโซ่ ตัดสินใจหาทีมฟุตบอลที่จะสร้างธุรกิจอันใหม่ขึ้นมา โดยใช้ความหลงใหลเป็นกุญแจนำทาง
เขาเข้าเจรจากับบอร์ดบริหารของสโมสร อูดิเนเซ และจบเรื่องทุกอย่างอย่างง่ายดาย ตระกูล ปอซโซ่ กลายเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลครั้งแรกในปี 1986 และหลังจากนั้น พวกเขาก็ทำมันอย่างเอาจริงเอาจัง แม้จะไม่ใช่ธุรกิจที่ทำเงินเป็นอันดับ 1 ในมือของพวกเขาก็ตาม
"ผมจะไม่โกหกใคร ฟุตบอลไม่ใช่ธุรกิจที่จะทำให้เรารวยมหาศาลและสามารถเป็นธุรกิจหลักได้ แต่ผมขอยืนยันได้เลยว่า เราจะทำธุรกิจนี้ด้วยความสนุกและพาสโมสรไปยังทิศทางที่ถูกต้อง" จามเปาโล ปอซโซ่ ว่าเช่นนั้น
Photo : Repubbica
บางครั้งพวกเขาก็สนุกเกินไป ... แฟนบอลของ อูดิเนเซ อาจจะคิดแบบนั้น
1
หลังจากการเข้ามาทำทีมในปี 1986 อูดิเนเซ ออกแนวทรง ๆ ทรุด ๆ แต่ประเด็นสำคัญมันไม่ใช่แค่นั้น ด้วยความที่ยังใหม่ในธุรกิจนี้ ตระกูล ปอซโซ่ นำความวุ่นวายเข้ามาในการบริหารทีม พวกเขามีเรื่องพัวพันเกี่ยวกับการพนันภายในชื่อคดี "Totonero" ซึ่งทำให้ทีมถูกปรับลดชั้นไปเล่น เซเรีย บี และหลังจากนั้นพวกเขาจึงเริ่มทำทุกอย่างให้ถูกต้อง ด้วยการค่อย ๆ เริ่มสร้างทีมขึ้นมาใหม่ ด้วยการลงทุนที่มากกว่าเดิม และไม่เอาแต่มัวเอาความสนุกเข้าว่า
ประกอบกับช่วงเวลานั้นมีนักธุรกิจรุ่นลูกอย่าง จีโน่ ปอซโซ่ เข้ามาบริหารงานแทน จากนั้นพวกเขาจึงได้รู้ว่าการทำทีมฟุตบอลให้ประสบความสำเร็จนั้น นอกจากจะได้เงินกลับมาแล้ว พวกเขายังได้ความนับหน้าถือตา และคำชื่นชมมากกว่าธุรกิจอื่น ๆ ที่ครอบครัวนี้เคยทำทั้งหมด
จีโน่ ปอซโซ่ ผู้ดูแลด้านฟุตบอลแต่เพียงผู้เดียว
หลังจากตกต่ำอยู่พักใหญ่ การเข้ามาของ จีโน่ ปอซโซ่ ในช่วงต้นยุค 90s คือการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง นักธุรกิจหนุ่มรุ่นใหม่ มีความหลงใหลในฟุตบอลระดับสูงส่ง และมีเป้าหมายจะทำให้ทีมกลายเป็นทีมแถวหน้าของประเทศ
1
Photo : Prabook
"ฟุตบอลของตระกูลเราเริ่มต้นจากความหลงใหล เมื่อพ่อผมซื้อ อูดิเนเซ ผมต้องการให้เราเป็นส่วนหนึ่งกับชุมชนท้องถิ่น และต้องการช่วยเหลือสโมสรด้วย" จีโน่ ว่าถึงปรัชญาการสร้างทีมของเขา
1
อูดิเนเซ ในยุคของ จีโน่ ปอซโซ่ ถือว่าดีต่างกันกับยุคของรุ่นพ่ออย่าง จามเปาโล คนละขั้ว เขาลงทุนกับระบบเยาวชน และแมวมอง เพื่อให้ได้นักเตะที่ดีและตรงกับที่ทีมต้องการ โดยเฉพาะในช่วงปี 2007 นั้นเป็นช่วงที่ อูดิเนเซ ประสบความสำเร็จมากที่สุด
พวกเขามีนักเตะที่ดีอย่าง อเล็กซิส ซานเชซ, อันโตนิโอ ดิ นาตาเล, เมาริซิโอ อิสลา, ควัดโด อาซาโมอาห์ และ ซุลเลย์ มุนตารี ที่คุมทีมโดย ฟรานเชสโก้ กุยโดลิน และสามารถทำทีมจบอันดับ 3 ได้ไปฟุตบอล ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สโมสร
การได้รับความเชิดชูจากแฟนบอล เป็นที่กล่าวถึงในตัวผู้บริหารหัวสมัยใหม่ ทำให้ จีโน่ ปอซโซ่ เกิดรู้สึกว่าเขาควรจะมีทีมฟุตบอลเพิ่มขึ้นอีกสักทีม ...
Photo : Goal
หลังจากนั้น 2 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เขาไปใช้ชีวิตที่ บาร์เซโลนา เพื่อประกอบธุรกิจหลักของครอบครัว จีโน่ ก็ได้เข้าพบกับบอร์ดบริหารของสโมสร กรานาดา ทีมเล็ก ๆ ในดิวิชั่น 2 ของประเทศสเปน ที่ขาดทุนอย่างหนัก และว่ากันว่าพร้อมจะขายสโมสรในราคาที่ถูกมากเพียงราว ๆ 12 ล้านยูโรเท่านั้น
1
จีโน่ ปอซโซ่ ที่มีเงินถุงเงินถังจึงซื้อทีมนั้นไว้ และเริ่มเข้าสู่การบริหารทีมฟุตบอลแบบใหม่ คือการใช้เทคนิคส่งนักเตะจากทีมหนึ่งไปอีกทีมหนึ่ง เหมือนกับโยกเงินจากกระเป๋าซ้าย ย้ายไปกระเป๋าขวา อย่างไรอย่างนั้น
กลยุทธ์ดังกล่าวถือว่าง่ายดายมาก เริ่มจากทีมแม่หรือทีมที่ได้รับความคาดหวังในแง่ธุรกิจสูงที่สุดในมืออย่าง อูดิเนเซ กว้านซื้อนักเตะที่มีแววดี อายุยังน้อย มาเป็นนักเตะในสังกัด และหากนักเตะคนนั้นยังไม่เก่งกาจพอที่จะยึดตัวจริงในทีม อูดิเนเซ ที่เต็มไปด้วยนักเตะดี ๆ ณ เวลานั้นได้ดาวรุ่งที่ซื้อมา ก็จะโดนปล่อยตัวไปยัง กรานาดา ที่เล่นในดิวิชั่น 2 ของสเปน เพื่อช่วยทีมรองให้ทำผลงานได้ดีตามเป้า อีกทั้งนักเตะยังได้เพิ่มศักยภาพให้ตัวเองด้วยการเพิ่มประสบการณ์ไปในตัวด้วย
โอเดียน อิกาโล คือหนึ่งในนักเตะประเภทดังกล่าว เขาย้ายมาอยู่กับ อูดิเนเซ ตั้งแต่อายุ 18 ปี จากสโมสร ลิน ในนอร์เวย์ จากนั้น อูดิเนเซ ก็ปล่อยเขาไปเล่นกับ กรานาดา ถึง 4 ฤดูกาล ที่สำคัญเขาช่วยให้ กรานาดา ขึ้นสู่ลีกสูงสุดของประเทศเป็นครั้งแรกในรอบ 35 ปีและอยู่ยาวใน ลา ลีกา ได้ถึง 3 ฤดูกาลติดต่อกัน
Photo : Goal
อูดิเนเซ ยังคงอยู่บนเส้นทางทีมระดับกลางค่อนบนของประเทศ ขณะที่ กรานาดา ก็ทำเงินได้มากขึ้นจากความสำเร็จที่ห่างหายไปนาน ณ เวลานั้นมันเป็นการลงทุนแบบ วิน-วิน ดังนั้นแฟน ๆ ของทั้ง กรานาดา และ อูดิเนเซ ต่างก็รักใคร่ชอบพอในตัวของ จีโน่ ปอซโซ่ เป็นอย่างมาก
เป็นอีกครั้งที่ต้องถามคำถามที่หลายคนอยากจะรู้คำตอบ "คนเราต้องรวยขนาดไหน ยิ่งใหญ่เพียงใด พวกเขาจึงจะเลิกไขว่คว้าหาสิ่งที่ใหญ่กว่า ?" จีโน่ ปอซโซ่ กำลังมือขึ้นในธุรกิจฟุตบอล และเขารู้ดีว่าลีกอิตาลี และสเปนนั้น แม้จะพอทำเงินได้บ้าง แต่เรื่องรายรับและความนิยมไม่มีทางเท่า พรีเมียร์ลีก ของอังกฤษเป็นแน่แท้ ... ดังนั้นพวกเขาจึงเล็งสโมสรใหม่สักสโมสร เพื่อขอขึ้นไปร่วมแบ่งเค้กที่หอมหวานที่สุดก้อนนี้
วัตฟอร์ด ... ทีมพลิกเกม
ย้อนกลับไปช่วงเวลานั้น มันเป็นปี 2012 ณ ตอนนั้น วัตฟอร์ด เป็นทีมที่ใกล้จะสิ้นเนื้อประดาตัวเต็มที พวกเขาขาดทุนยับเยิน ติดหนี้ธนาคาร และร้องหาใครสักคนให้ช่วยดึงมือพวกเขาก่อนที่ตัวเองกำลังจะจมน้ำ ... ใครก็ได้ที่ล้างหนี้ให้ คนนั้นมาเอาสโมสรนี้ไปได้เลย จะให้พูดแบบนั้นก็คงไม่ผิดนัก
Photo : ABC
โมเดลการซื้อ วัตฟอร์ด ของ จีโน่ ปอซโซ่ คล้าย ๆ กับตอนที่ซื้อ กรานาดา พวกเขาได้ทีมในช่วงเวลาที่ทีมอยากจะขายทิ้งไม่ต่างกับให้ฟรี ดังนั้นจึงประหยัดเงินได้มากโข เมื่อการเทคโอเวอร์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สำเร็จ พวกเขาก็เดินตามโมเดลเดิมอีกครั้ง และครั้งนี้พวกเขาจะทุ่มมากกว่าเดิม เพราะเดิมพันบนพรีเมียร์ลีกนั้นมีค่าตอบแทนที่คุ้มสำหรับการเสี่ยงครั้งสำคัญ
"เราเชื่อว่าวัตฟอร์ดจะกลายเป็นโปรเจกต์ชั้นนำของเราในอนาคต นี่คือตลาดที่ใหญ่มาก เราจะเติบโตด้วยศักยภาพของฟุตบอลอังกฤษ" จีโน่ ปอซโซ่ ว่าเช่นนั้น การซื้อ วัตฟอร์ด ครั้งนี้ ทำให้ตระกูล ปอซโซ่ เป็นตระกูลแรกในโลกที่มีสโมสรในมือมากที่สุดถึง 3 สโมสร
ภารกิจสร้าง วัตฟอร์ด ใหม่เกิดขึ้นทันที จากทีมที่เคยใช้นักเตะท้องถิ่นและแทบไม่มีนักเตะต่างชาติเก่ง ๆ เลย ตระกูล ปอซโซ่ จัดให้ตามสไตล์ อิตาเลียน จ็อบ ด้วยการดึงเอา จานฟรังโก โซล่า อดีตนักเตะอิตาลีของ เชลซี เข้ามาคุมทีม จากนั้นก็เริ่มทำการ "ยำ" ทีมขึ้นมาใหม่ ด้วยการเอานักเตะเกรดบีของทั้ง อูดิเนเซ และ กรานาดา อย่างละนิดอย่างละหน่อยมาผสมเป็นทีมใหม่ที่วัตฟอร์ดแห่งนี้
Photo : Goal
ตลาดซื้อขายซัมเมอร์ฤดูกาล 2012-13 ตลาดเดียว วัตฟอร์ด ได้นักเตะเข้ามาเสริมทัพทั้งหมด 14 คน เป็นนักเตะจาก อูดิเนเซ ทั้งหมด 8 คน และเป็นนักเตะจาก กรานาดา อีก 4 คน แน่นอนว่าทุกดีลเป็นการยืมตัวทั้งหมด โยกเงินจากกระเป๋าซ้าย เอาไปใส่กระเป๋าขวา ประโยคนี้ยังคงคลาสสิกสำหรับวิธีการทำงานของตระกูล ปอซโซ่ เสมอ
เท่านั้นยังไม่พอ หลังจากฤดูกาลนั้นจบลง นักเตะจากทั้ง อูดิเนเซ และ กรานาดา ทั้งหมดที่ยืมตัวมา ก็กลายเป็นนักเตะของ วัตฟอร์ด ทั้งหมด ด้วยการซื้อขายที่มีมูลค่า "0 ปอนด์" กล่าวคือ เหมือนกับการยกนักเตะให้กันฟรี ๆ ไปเลย พวกเขาไม่ต้องเสียเงินสักแดงเดียว
การทำทีม วัตฟอร์ด ถือว่าเป็นอะไรที่จริงจังมาก ตระกูลปอซโซ่ โดยเฉพาะ จีโน่ ปอซโซ่ นั้นถึงกับย้ายถิ่นฐาน มาซื้อบ้านและอยู่ในกรุงลอนดอน ไม่ไกลจากที่ตั้งสโมสรกันทั้งครอบครัว เพื่อทำให้การเลื่อนชั้นเกิดขึ้นให้เร็วที่สุด จากนั้นพวกเขาก็ทำสำเร็จจนได้ ในฤดูกาล 2014-15 ที่สามารถคว้ารองแชมป์ของ เดอะ แชมเปี้ยนชิพ เลื่อนชั้นสู่ลีกสูงสุดอย่างเต็มภาคภูมิ และเป็นอีกครั้งที่ตระกูลปอซโซ่ได้รับการสรรเสริญจากแฟนบอล ...
"ผมคิดว่าแฟน ๆ ของวัตฟอร์ดส่วนใหญ่รักและมองว่า ปอซโซ่ คือผู้ช่วยชีวิตสโมสรแห่งนี้ในวันที่เขาเข้ามา" ไมค์ พาร์คิน หัวหน้าแฟนบอลกล่าวในช่อง พอดแคสต์ ของเขา
Photo : The Guardian
"เขามาเพื่อช่วยให้วัตฟอร์ดเปลี่ยนโฉมหน้าไปใหม่อย่างที่เราเห็นในทุกวันนี้ ผมไม่แน่ใจว่าจะมีคนไม่ชอบพวกเขาหรือเปล่า แต่ผมคิดว่ามันหาได้น้อยมาก เชื่อเถอะถ้าพวกเขาไม่เข้ามา เราไม่ได้ลืมตาอ้าปากกันเร็วแบบนี้หรอก เขาทำดีไว้ที่อูดิเนเซ และกำลังพาวัตฟอร์ดไปในทิศทางที่ถูกต้อง ผมคิดว่าแบบนั้น"
ความรักครั้งที่ 3 เกิดขึ้นที่ ลอนดอน ... จาก อูดิเนเซ กรานาดา มายัง วัตฟอร์ด เรื่องมันดูเหมือนจะอบอุ่นดี แต่ขึ้นชื่อว่าความรักแล้วว่ากันว่า "ความรักเป็นเรื่องระหว่าง 1 กับ 2" ถ้ามี 3 เข้ามา ความวุ่นวายจะบังเกิด และทำให้คนที่เล่นเกมรักครั้งนี้ต้องพบกับประสบการณ์ความเครียดแบบที่ไม่เคยเจอ
จากม้าชั้นดี ... ตอนนี้ต้องจับปูใส่กระด้ง
ขณะที่แฟนบอล วัตฟอร์ด กำลังดีอกดีใจ แฟนบอลของ อูดิเนเซ ก็รู้ชะตากรรมทันทีว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับพวกเขา ...
ในปี 2016 ตระกูล ปอซโซ่ ขายสโมสร กรานาดา ให้กับ เจียง ลี่จาง นักธุรกิจชาวจีน ดังนั้นเท่ากับว่า หาก จีโน่ ปอซโซ่ ยังทำทีมแบบมี 2 ทีมในมือ ทีมหนึ่งเป็น A และทีมที่ทำเงินได้น้อยกว่าจะต้องเป็นทีม B ไม่ต้องสงสัยเลยว่าพวกเขาจะลงทุนกับใครมากกว่ากันระหว่าง วัตฟอร์ด และ อูดิเนเซ
แฟนบอลของ อูดิเนเซ รู้ทันที พวกเขากำลังจะเป็นเหมือนที่ กรานาดา เคยเป็น นั่นคือสโมสรลูกของ วัตฟอร์ด ที่ต้องมอบนักเตะที่ดีที่สุดของตัวเองไปให้ และเอานักเตะที่ วัตฟอร์ด ไม่ได้ใช้ มาใส่ทีม ซึ่งพวกเขารับไม่ได้
Photo : The Guardian
มันคือการแบ่งความรัก และมอบความสำคัญทั้งหมดไปให้ วัตฟอร์ด ขณะที่ อูดิเนเซ นั้นมีหน้าที่แค่ประคองตัวบนลีกสูงสุด ไม่มีอีกแล้ววิสัยทัศน์อันทะเยอทะยานเพื่อไปฟุตบอลยุโรปแบบครั้งอดีต และความทรงจำในสมัยที่ตระกูล ปอซโซ่ มีทีมฟุตบอล 3 ทีมในครอบครองก็พรั่งพรู ...
"แฟน ๆ ของ อูดิเนเซ เริ่มโกรธ และ แค้นตระกูล ปอซโซ่ นับตั้งแต่ปี 2013 ที่พวกเขาย้ายสำมะโนครัวไปอยู่ที่ลอนดอน เพราะเดิมที อูดิเนเซ เป็นลูกรักอันดับ 1 พวกเขาถูกให้ความสำคัญสูงสุดมาโดยตลอด แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว พวกเขากำลังจะเป็นที่ 2 ไปตลอดกาล" เมซาเจโร่ เวเนโต นักข่าวชาวอิตาลี อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในใจของแฟน อูดิเนเซ
โอเดียน อิกาโล ถูกส่งตัวไปโด่งดังกับ วัตฟอร์ด เช่นเดียวกับ มาเตจ์ วีดรา ขณะที่ กรานาดา ก็ต้องส่งมอบปีกที่ดีที่สุดในทีมอย่าง อิซัค ซัคเซสส์ ให้กับ วัตฟอร์ด เช่นกัน ทุกอย่างมันชัดเจนว่า อูดิเนเซ กับ กรานาดา ไม่ต่างอะไรกับกับการเป็น วัตฟอร์ด B และ C ดี ๆ นี่เอง
"จีโน่ ปอซโซ่ เปรียบเสมือนผู้อำนวยการกีฬาของทั้ง 3 ทีม เขาตัดสินใจทุกอย่าง เขามีมือดีที่ตัวเองไว้ใจนั่งอยู่ในตำแหน่งบริหารของแต่ละสโมสร แต่คนที่เขาไว้ใจที่สุดอยู่ที่ลอนดอน สถานที่ที่โดดเด่นทั้งภูมิศาสตร์และเศรษฐกิจ มันเป็นโลกที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง" วินเซนโซ่ กาดิโญ่ แมวมองของ อูดิเนเซ กล่าว
Photo : Watford Observe
"เขาเป็นคนที่สมบูรณ์แบบมาก รอบคอบในการวางแผน และซื่อสัตย์กับสิ่งที่ลูกน้องคาดหวัง แต่การมีทีม 3 ทีมทำให้มีสิ่งใหม่หลายสิ่งเกิดขึ้น เขามีข้อเรียกร้องที่มากขึ้น และถ้ามีใครสักคนที่อยู่ภายใต้การปกครองของเขาทำผิด เขาจะหั่นทิ้งทันที เขาไม่อยากเสียเวลากับคนที่ไม่ได้สร้างประโยชน์ให้ตัวเอง"
ขณะที่ฟุตบอลอิตาลีและสเปนมีส่วนแบ่งทางการตลาดน้อย และ วัตฟอร์ด ยังคงได้ส่วนแบ่งค่าลิขสิทธิ์ต่าง ๆ มากมายในพรีเมียร์ลีก ความเป็นลูกรักลูกชังก็มากขึ้น ปอซโซ่ แทบไม่ได้กลับไปที่ อิตาลี ที่เป็นบ้านเกิดเท่าไรนัก ขณะที่ผู้เล่นของ วัตฟอร์ด นั้นพูดในสิ่งที่ตรงกันข้าม พวกเขาบอกว่า "เจ้านายใจดีและเป็นคนใส่ใจทีมมาก ๆ"
"ความสัมพันธ์ของผมกับ จีโน่ ปอซโซ่ เหมือนพ่อกับลูก" อิซัค ซัคเซสส์ ว่าเช่นนั้น ขณะที่ ทรอย ดีนี่ย์ กัปตันวัตฟอร์ด ก็พูดตรงกันว่า "เขามาที่นี่ทุกสัปดาห์ เข้ามาพูดคุยและต้องการเห็นสิ่งใหม่ต่าง ๆ เกิดขึ้นที่นี่"
วัตฟอร์ด ในยุคของ ปอซโซ่ กลายเป็นทีมที่ดีขึ้นจริง ๆ พวกเอาตัวรอดในการตกชั้นมาได้สบาย ๆ หลายปี เข้าถึงรอบชิงชนะเลิศ เอฟเอ คัพ ในฤดูกาล 2018-19 ทว่าสิ่งต่าง ๆ ดำเนินมาบนสิ่งที่แปลกใหม่ที่สุด เมื่อสถานการณ์ COVID-19 ระบาดทั่วโลก และฟุตบอลก็ได้รับผลกระทบเต็ม ๆ แฟนบอลไม่เข้าสนาม รายรับน้อยลง และทำให้เจ้าของทีมหลายทีมต้องปวดหัวกับตัวเลขที่ขาดหายไปแบบที่ไม่เคยมี
Photo : Watford Observe
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ ปอซโซ่ ที่มีทีมในมือถึง 2 ทีม วุ่นหนัก ... อูดิเนเซ หนีตกชั้นในฤดูกาล 2019-20 แต่โชคดีที่รอดมาได้หวุดหวิด ขณะที่ วัตฟอร์ด ไม่โชคดีอย่างนั้น พวกเขาตกชั้นในนัดสุดท้ายของฤดูกาล ต้องไปเล่นในลีกรอง และทำให้ทีมต้องการรายรับ และขาดทุนมากยิ่งกว่าเดิมอีก
ณ ตอนนี้กับสถานการณ์ในเบื้องต้น พวกเขาขายผ้าเอาหน้ารอดไปก่อน นักเตะดี ๆ ของ วัตฟอร์ด ที่มีค่าเหนื่อยสูงถูกโยกไปยัง อูดิเนเซ เพื่อใช้งานไปพลาง ๆ แบบยืมตัว ทั้ง เคราร์ด เดโลเฟว, โรแบร์โต เปย์เรรา, และ เซบาสเตียน โพรเดิล เป็นต้น
สถานการณ์ตอนนี้ จีโน่ ปอซโซ่ จะต้องโชว์กึ๋นในการทำทีมฟุตบอลของเขาอีกครั้ง เนื่องจากไพ่ในมือของเขาตอนนี้ไม่มีใบไหนที่สามารถทิ้งลงไปและกินเรียบทั้งสำรับได้เลย หนำซ้ำ ยิ่งถือไพ่นานเขาก็จะยิ่งขาดทุนมากขึ้นในสถานการณ์โรคระบาดที่ไม่รู้จะออกหน้าไหน ... จาก 3 เหลือ 2 และไม่แน่จากนี้ไป จาก 2 ทีมอาจจะเหลือ 1 ทีมในเร็ว ๆ นี้ก็ได้ และถ้าวันนั้นมาถึง แฟน ๆ อูดิเนเซ อาจจะได้หลุดพ้นจากการเป็น วัตฟอร์ด B แบบที่พวกเขาเกลียดชังก็เป็นได้
บทความโดย ชยันธร ใจมูล
แหล่งอ้างอิง
โฆษณา