8 เม.ย. 2021 เวลา 14:02 • สุขภาพ

การฉีดวัคซีนล่าช้า ปัญหาระดับภูมิภาค

การระบาดระลอกที่สามของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ทำให้เกิดการตั้งคำถามมากขึ้นเรื่องแผนการฉีดวัคซีนในไทย เพราะคนไทยเบื่อหน่ายกับสภาวะโรคระบาดเต็มทน แต่ก็ยังไม่เห็นวี่แววว่า จะมีการฉีดวัคซีนจนคนส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกัน (herd immunity) ได้ในเร็วๆ นี้
แต่สิ่งที่อยากจะชี้ให้เห็นคือ ความล่าช้าในการฉีดวัคซีน เป็นปัญหาระดับภูมิภาคที่สาหัสเลยทีเดียว
Image cr https://www.flickr.com/photos/30478819@N08/50714722137
ก่อนอื่น เราลองมาดูข้อมูลของการฉีดวัคซีนในอาเซียนและเอเชียตะวันออก โดยตัวเลขต่อไปนี้ คือ จำนวนโดสที่ได้รับการฉีด ต่อประชากร 100 คน:
Singapore: 27
Indonesia: 5.0
Malaysia: 2.6
South Korea: 2.1
Cambodia: 1.8
Japan: 1.0
Philippines: 0.8
Myanmar: 0.7
Laos: 0.6
Thailand: 0.5
Brunei: 0.1
Taiwan: 0.1
Vietnam: 0.1
(ข้อมูลจาก New York Times Vaccine Tracker)
หากดูเผินๆ ก็จะรู้สึกว่า ไทยก็เกือบบ๊วยอยู่ แต่เราลองมาตั้งข้อสังเกตดู
นอกจากสิงคโปร์แล้ว หลายๆ ประเทศก็ต้องนับว่าฉีดวัคซีนด้วยความเร็วใน "ระดับเดียวกัน" ซึ่งดูเหมือนจะช้ามาก เมื่อเทียบกับประเทศเช่นสหรัฐอเมริกาหรือสหราชอาณาจักร ที่มีการฉีดวัคซีนไปแล้วเกิน 50 โดสต่อประชากร 100 คน
แต่ก็ต้องคำนึงว่า ไม่มีประเทศไหนในภูมิภาคนี้ที่มีสภาวะโรคระบาดรุนแรงเท่าอเมริกาหรืออังกฤษ ซึ่งทำให้ความจำเป็นของการฉีดวัคซีนอย่างครอบคลุมประชากรทั้งหมดให้ได้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
ส่วนสิ่งที่น่าสนใจกว่าคือ ทำไมถึงประเทศที่ร่ำรวยและมีความพร้อมกว่าประเทศไทย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ยังฉีดวัคซีนได้ด้วยความเร็วแทบจะเท่าไทย (และสำหรับไต้หวัน ช้ากว่าด้วยซ้ำ!)
คำตอบคือ ทุกประเทศเผชิญปัญหาเรื่องการจัดซื้อวัคซีนคล้ายๆ กัน
• ญี่ปุ่น: รัฐมนตรีที่ดูแลเรื่องวัคซีน นาย โคโน ทาโร่ กล่าวว่า ญี่ปุ่นจำเป็นต้องพึ่งวัคซีนที่นำเข้าจาก EU ซึ่งยังมาไม่ถึง แต่ก็ยังหวาดเสียวเรื่องที่ประเทศในยุโรปกำลังปิดกั้นการส่งออกวัคซีน
• เกาหลีใต้: รัฐบาลตัดสินใจพึ่งวัคซีนจากโครงการ COVAX แต่ว่าการนำเข้าล่าช้า เพราะว่าอินเดียได้จำกัดการส่งออกวัคซีน AstraZeneca ที่ผลิตในอินเดีย
• ไต้หวัน: การฉีดวัคซีนค่อนข้างล่าช้า โดยตอนนี้ยังมีเพียงการฉีดวัคซีน AstraZeneca ซึ่งนำเข้ามาแล้ว 117,000 โดส ส่วนดีลที่พยายามทำกับ Pfizer ปีที่แล้วล่มเพราะ "แรงผลักดันจากภายนอก"
ประเทศเหล่านี้ล้วนเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการนำเข้าวัคซีนสูงกว่าไทย แต่ก็ยังเผชิญปัญหาไม่มากก็น้อย เพราะเผชิญกับกำแพงที่กั้นการส่งออกในประเทศผู้ผลิต
ในอาเซียนกันเอง ประเทศเพื่อนบ้านเราก็ประสบปัญหา เช่น เวียดนามต้องขอร้องอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ให้มาช่วยเรื่องการนำเข้าวัคซีน โดยวัคซีนจาก COVAX ของเวียดนามก็ล่าช้าเช่นกัน ในตอนนี้เวียดนามวางแผนว่าจะฉีดวัคซีนให้แค่หนึ่งในห้าของประชากรทั้งหมดภายในปีนี้เท่านั้น
ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า การฉีดวัคซีนที่ล่าช้าของไทยในตอนนี้ และความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาวัคซีน Sinovac เป็นหลักก่อน ไม่ใช่เรื่องแปลก
แต่ก็แน่นอนว่ายุทธศาสตร์วัคซีนของไทยยังจำเป็นต้องตั้งคำถามอยู่อีกมาก เพราะว่าข้อแตกต่างคือ เรายังชี้ได้ชัดเจนว่า ทำไมประเทศอื่นถึงล่าช้า ระหว่างที่ประเทศไทยยังไม่สั่งวัคซีนในจำนวนที่มากพอต่อประชากรเลยด้วยซ้ำ และสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ รัฐ 'สอบตก' ในด้านการสื่อสารเรื่องวัคซีนให้กับประชาชน
แต่สถานการณ์เรื่องวัคซีนของไทยยังไม่ได้อยู่ในขั้นวิกฤติเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค และปัญหานี้น่าจะคลี่คลายได้ เมื่อไทยเริ่มผลิตวัคซีนในประเทศ และเมื่ออเมริกากับยุโรปฉีดวัคซีนได้ในระดับที่น่าพึงพอใจ จนสภาวะโรคระบาดเริ่มคลาย และสามารถส่งออกวัคซีนมาที่ประเทศที่คลาดแคลนได้มากขึ้นนั่นเอง
[ อ่านผลงานอื่นๆ ของผมได้ที่ kenlwrites.com และติดตามได้ที่ทวิตเตอร์ @kenlwrites ]
โฆษณา