8 เม.ย. 2021 เวลา 14:44 • ประวัติศาสตร์
• รู้จักกับธงห้าเชื้อชาติใต้หนึ่งสหภาพ
ธงชาติผืนแรกของจีนหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ธงห้าเชื้อชาติใต้หนึ่งสหภาพ (Five Races Under One Union) เป็นธงชาติผืนแรกของสาธารณรัฐจีน (Republic of China) โดยเริ่มใช้งานตั้งแต่ปี 1912 ซึ่งเป็นปีแห่งการปฏิวัติซินไฮ่ (Xinhai Revolution) อันเป็นการปฏิวัติเพื่อล้มล้างระบอบฮ่องเต้ของราชวงศ์ชิง (Qing Dynasty) ธงนี้จึงกลายเป็นธงชาติผืนแรกของจีนภายหลังการเปลี่ยนแปลงปกครอง
สำหรับรายละเอียดของธงชาติผืนนี้นั้น จะประกอบไปด้วยแถบสีจำนวนทั้งสิ้น 5 แถบ ซึ่งมีความหมายถึง 5 เชื้อชาติหลักของจีน อันประกอบไปด้วย
1
- สีแดง (ชาวฮั่น : Han)
- สีเหลือง (ชาวแมนจู : Manchu)
- สีฟ้า (ชาวมองโกล : Mongol)
- สีขาว (ชาวหุย : Hui ซึ่งเป็นชาวจีนที่นับถือศาสนาอิสลาม)
- สีดำ (ชาวทิเบต : Tibet)
ธงฟ้าเชื้อชาติใต้หนึ่งสหภาพ ธงชาติผืนแรกของสาธารณรัฐจีน (1912-1928)
ความหมายของธงผืนนี้จึงหมายถึง การที่ 5 เชื้อชาติหลักของจีนจะอยู่รวมกันเป็นหนึ่งเดียวภายใต้เอกภพของสาธารณรัฐจีน
แต่ทว่าในช่วงเวลาที่ธงผืนนี้ถูกนำไปใช้เป็นธงชาติของจีนนั้น รัฐบาลของสาธารณรัฐจีน หรือรัฐบาลเป่ยหยาง (Beiyang Government : รัฐบาลที่ตั้งอยู่ในกรุงปักกิ่ง) กลับกลายเป็นรัฐบาลที่ไร้เสถียรภาพ มีการแก่งแย่งอำนาจกันเอง ก่อให้เกิดเป็นความขัดแย้งทั่วทั้งประเทศ ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวรู้จักกันในชื่อ "ยุคขุนศึก" (Warlord Era) ซึ่งกินเวลาตั้งแต่ปี 1916 จนถึง 1928
ท้ายที่สุดเมื่อ เจียงไคเช็ค (Chiang Kai-shek) ผู้นำของพรรคก๊กมินตั๋ง (Kuomintang) สามารถรวมประเทศจีนให้เป็นปึกแผ่นได้ในปี 1928 ก็ได้มีการย้ายรัฐบาลมาอยู่ที่เมืองนานกิง (Nanjing) และประกาศเปลี่ยนธงชาติจากธงห้าเชื้อชาติใต้หนึ่งสหภาพ ให้เปลี่ยนเป็นธงที่มีชื่อว่า "ธงท้องฟ้าสีคราม ตะวันสาดส่อง ปฐพีแดง แผ่นดินอุดม" (Blue Sky, White Sun, and a Wholly Red Earth) ซึ่งก็คือธงชาติของประเทศไต้หวันในปัจจุบันนั่นเอง
1
ธงท้องฟ้าสีคราม ตะวันสาดส่อง ปฐพีแดง แผ่นดินอุดม ธงชาติปัจจุบันของสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน)
#HistofunDeluxe
โฆษณา