9 เม.ย. 2021 เวลา 03:16 • สุขภาพ
ประเทศไหนบ้าง อนุญาตให้เอกชนจัดซื้อวัคซีนต้านโควิด-19 เองได้
1
นี่คือภาพรวมบางส่วน หลังจากทางการในหลายประเทศเริ่มมีแนวทางในการอนุญาตให้ภาคเอกชนสามารถจัดซื้อจัดหาวัคซีนต้านโควิด-19 ได้โดยตรง เพื่อเสริมเกราะป้องกันโรคระบาดให้กับประชาชน รวมถึงคนภายในองค์กร เพื่อช่วยรัฐบาลกลางรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศ
6
โคลอมเบีย เป็นหนึ่งในประเทศที่ทางการอนุญาตให้ภาคเอกชนสามารถจัดซื้อวัคซีนต้านโควิด-19 เองได้ แต่มีข้อแม้ว่า วัคซีนเหล่านั้นจะต้องฉีดให้กับประชาชนฟรี โดยตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ได้อย่างน้อย 70% ของประชากรทั้งหมดราว 35 ล้านคนภายในปีนี้ ซึ่งได้เริ่มฉีดวัคซีนไปแล้วราว 2.4 ล้านโดส ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
3
เม็กซิโก อีกหนึ่งประเทศในแถบลาตินอเมริกาก็เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนและส่วนท้องถิ่นจัดซื้อวัคซีนได้เอง ภายใต้เงื่อนไขบางประการ เช่น ต้องแจ้งรายละเอียดการจัดซื้อ ปริมาณวัคซีนที่ได้รับและที่ใช้ไป รวมถึงแจ้งแผนงานทั้งหมดกับรัฐบาลกลางและกระทรวงสาธารณสุข เพื่อไม่ให้กระทบกับเป้าหมายระดับชาติ ทั้งยังจะต้องเป็นวัคซีนที่ได้รับการรับรองและอนุมัติการใช้งานเป็นกรณีฉุกเฉินจากทางการแล้วเท่านั้น
ขณะที่ ปากีสถาน เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ทางการอนุญาตให้ภาคเอกชนจัดซื้อวัคซีนต้านโควิด-19 เองได้ เริ่มมีการจำหน่ายวัคซีนเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเมืองการาจี ที่วัคซีนส่วนใหญ่จำหน่ายหมดแล้วอย่างรวดเร็ว เป็นวัคซีน Sputnik V ของรัสเซีย สนนราคา 12,000 รูปีปากีสถานต่อ 2 โดส (ราว 2,460 บาท) ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นชาวปากีสถานที่ยังไม่ได้รับสิทธิ์ฉีดวัคซีนฟรีจากทางรัฐบาล เนื่องจากยังสงวนไว้ให้กับกลุ่มเสี่ยงอย่างเจ้าหน้าที่ทางด้านสาธารณสุขและผู้มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
1
เพื่อนบ้านของไทยอย่างมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียเอง ก็เตรียมอนุญาตให้ภาคเอกชนสามารถจัดซื้อวัคซีนต้านโควิด-19 เองได้เช่นกัน โดยทางการมาเลเซียจะเริ่มอนุญาตให้ประชาชนสามารถจ่ายเงินซื้อวัคซีนจากภาคเอกชนได้ ควบคู่ไปกับมาตรการฉีดวัคซีนที่ผลักดันโดยหน่วยงานรัฐ ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2021 ซึ่งทางการมาเลเซียตั้งเป้า ฉีดวัคซีนให้ได้อย่างน้อย 80% ของประชากรภายในปีนี้ ส่วนทางการฟิลิปปินส์ก็เตรียมอนุญาตภาคเอกชนเช่นเดียวกัน แต่ทางรัฐบาลจะไม่รับผิดชอบกับผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการเข้ารับวัคซีนต้านโควิด-19 จากภาคเอกชนแต่อย่างใด ตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ได้ 70% ของจำนวนประชากรทั้งหมดภายในปี 2021
ด้านอินโดนีเซีย ประเทศที่เดินหน้าฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ให้กับพลเมืองมากที่สุดในเชิงปริมาณของย่านอาเซียนขณะนี้ ฉีดไปแล้วกว่า 13.45 ล้านโดส พลเมืองราว 4.43 ล้านคนรับวัคซีนครบแล้วทั้งสองโดส โดยทางการอินโดนีเซียอนุญาตให้ภาคเอกชนสามารถจัดซื้อวัคซีนต้านโควิด-19 มาฉีดให้กับพนักงานหรือบุคลากรภายในองค์กรของตนเองได้ โดยจะต้องฟรี เพื่อช่วยรัฐผลักดันการสร้างกลุ่มประชากรที่มีภูมิคุ้มกันภายในประเทศ ตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ได้อย่างน้อย 181.5 ล้านคน จากประชากรทั้งหมดราว 270 ล้านคน (คิดเป็นราว 67%)
1
ในขณะที่ ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีของไทย ย้ำรัฐบาลไม่ได้ผูกขาดการจัดซื้อวัคซีนต้านโควิด-19 และไม่ได้ปิดกั้นที่เอกชนจะนำเข้าวัคซีนแต่อย่างใด ชี้ปัญหาหลักมาจากความต้องการทั่วโลกสูงกว่าการผลิตหลายเท่า ประกอบกับวัคซีนจากผู้ผลิตทุกรายในเวลานี้เป็นการใช้แบบกรณีฉุกเฉิน (Emergency Use) นั่นคือ หากเกิดอะไรขึ้นจากการใช้วัคซีนกับประชาชน รัฐบาลจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ไม่ใช่บริษัทผู้ผลิต จึงทำให้ขณะนี้เกือบทุกประเทศทั่วโลก รัฐบาลจะเป็นผู้จัดหาและนำเข้าวัคซีน โดยถือว่าวัคซีนเป็นสินค้าสาธารณะ (Public Goods) ยังไม่มีประเทศใดที่ให้ซื้อวัคซีนต้านโควิด-19 ได้เองแบบเชิงพาณิชย์ (Commercial) และยังมีประเด็นที่รัฐบาลต้องระมัดระวังอีกคือ เมื่อกระจายการสั่งซื้อไปยังเอกชนแล้ว อาจจะต้องบริหารจัดการอย่างรัดกุม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาว่าประชาชนได้รับวัคซีนปลอม โดยทั่วโลกมียอดจองวัคซีนต้านโควิด-19 รวมสูงถึง 9,600 ล้านโดส
1
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- ภาพรวมล่าสุด การฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ทั่วโลกและย่านอาเซียน https://thestandard.co/worldwide-coronavirus-vaccine-injection/
- เช็กประสิทธิภาพวัคซีนต้านโควิด-19 ล่าสุดในประชาคมโลก https://thestandard.co/coronavirus-vaccine-quality-check/
2
เรื่อง: ณรงค์กร มโนจันทร์เพ็ญ
อ้างอิง:
โฆษณา