9 เม.ย. 2021 เวลา 03:43 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ธปท. วาด 3 ฉากทัศน์เศรษฐกิจไทย ห่วงโควิด-19 ระลอก 3 ทำนักท่องเที่ยวต่างชาติชะลอเดินทาง กดดัน GDP ปีนี้ติดลบ 0.5%
การระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 แม้จะเกิดขึ้นหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ประชุมกันไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 แต่ในการประชุมครั้งดังกล่าว ที่ประชุมได้คาดการณ์ผลกระทบทางเศรษฐกิจเผื่อไว้บ้างแล้ว
โดยรายงานนโยบายการเงินฉบับล่าสุดระบุว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูง ขึ้นกับการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นสำคัญ สาเหตุเพราะรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติคิดเป็นสัดส่วนของ GDP สูงถึง 11% และธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว มีสัดส่วนการจ้างงานถึง 20% ของการจ้างงานทั้งหมด
กนง. ประเมินว่า หากสถานการณ์โควิด-19 ยืดเยื้อกว่าที่ประเมินไว้ การระบาดอีกระลอกและการกลายพันธุ์ของไวรัสอาจทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติฟื้นตัวช้ากว่าคาด โดย กนง. ได้วิเคราะห์ฉากทัศน์ หรือ Scenario ของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทยไว้ 3 กรณี โดยพิจารณาจากประสิทธิผลของวัคซีนโควิด-19 และระยะเวลาที่ใช้ในการกระจายวัคซีน ซึ่งส่งผลต่อการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว และกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม
สำหรับปี 2564 ประเมินว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจอยู่ในช่วง 1 แสนคน ถึง 3 ล้านคน ส่งผลให้ประมาณการเศรษฐกิจไทยอยู่ระหว่างหดตัว 1.7% ถึงขยายตัว 3%
โดยกรณีฐานประเมินว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2564 อยู่ที่ 3 ล้านคน ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 3% ซึ่งในกรณีนี้ประเมินว่า การกระจายวัคซีนในต่างประเทศรวมถึงไทยในปี 2564 มีประสิทธิผลและมีความคืบหน้า ภาครัฐสามารถผ่อนปรนเงื่อนไขการกักตัวนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ตั้งแต่ไตรมาส 2 และยกเว้นการกักตัวให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนและมีเอกสารรับรองการปลอดเชื้อโควิด-19 ได้ในไตรมาส 4
ขณะที่ในปี 2565 คาดว่าสัดส่วนผู้ได้รับการฉีดวัคซีนในไทยและต่างประเทศจะเพิ่มขึ้น จนไทยสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้โดยไม่ต้องมีเงื่อนไขการฉีดวัคซีนและการตรวจเชื้อในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ทำให้ประเมินว่านักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2565 อยู่ที่ 21.5 ล้านคน ส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัว 4.7%
กรณีเลวร้าย (Worst Case) ประเมินว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่ฟื้นตัวจนถึงสิ้นปี 2564 ทำให้เศรษฐกิจหดตัวต่อเนื่องจากปี 2563 ภายใต้ข้อสมมติ 1. เกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ในไทยช่วงครึ่งหลังของปี 2564 และการจัดหา รวมถึงการกระจายวัคซีนของไทยล่าช้ากว่าคาด ทำให้ต้องเลื่อนการเปิดประเทศโดยไม่มีเงื่อนไขการกักตัวออกไป
มาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศและสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศของจีน อาจกระทบต่อการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนซึ่งเคยเป็นตลาดหลักของไทย
การกลายพันธุ์ของไวรัสในหลายประเทศที่ทำให้วัคซีนด้อยประสิทธิภาพลง ส่งผลกระทบให้ความต้องการท่องเที่ยวลดลง
โดยในกรณีที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2564 และ 2564 อยู่ที่ 1 แสนคน และ 10 ล้านคน ตามลำดับ จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยหดตัว 0.5% ในปี 2564 และจะกลับมาขยายตัว 3.5% ในปี 2565
สำหรับกรณีเลวร้ายที่สุด (Worst Case) ประเมินว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะฟื้นตัวช้ากว่ากรณีฐานค่อนข้างมาก ภายใต้ข้อสมมติว่า ไวรัสกลายพันธุ์รุนแรงในหลายประเทศ ทำให้วัคซีนด้อยประสิทธิภาพลงจนไม่สามารถลดอัตราเจ็บป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตได้ จึงต้องพัฒนาวัคซีนขึ้นใหม่และเริ่มฉีดได้ในช่วงต้นปี 2565 ส่งผลให้การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเลื่อนเป็นช่วงครึ่งหลังของปี 2565
นอกจากนี้ความล่าช้าของการพัฒนาวัคซีนจะกระทบเศรษฐกิจไทยผ่านการส่งออก เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าชะลอตัวลงจากมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดและกระทบห่วงโซ่การผลิต ในกรณีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2564 และปี 2565 จะอยู่ที่ปีละ 1 แสนคน ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2564 และ 2565 หดตัว 1.7% และ 0.3% ตามลำดับ
ทั้งนี้ ธปท. จัดทำฉากทัศน์กรณีเลวร้ายที่สุดเพื่อใช้ในการประเมินภาวะวิกฤตและผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงิน รวมถึงเพื่อเตรียมมาตรการรองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น
ภายใต้สถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูงและมีปัจจัยอีกมากที่ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว กนง. จะติดตามการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างใกล้ชิด เนื่องจากส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยจะประเมินความคืบหน้าการกระจายวัคซีนทั้งในต่างประเทศและในไทย การกลายพันธุ์ของไวรัสและประสิทธิภาพของวัคซีน สถานการณ์การระบาดในต่างประเทศและในไทย รวมถึงความคืบหน้าของการเปิดประเทศเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อทบทวนการวิเคราะห์ฉากทัศน์เป็นระยะ
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
เรื่อง: THE STANDARD WEALTH
โฆษณา