20 เม.ย. 2021 เวลา 00:17 • สุขภาพ
นักรบเสื้อกาวน์
Volume: ฉบับที่ 40 เดือนเมษายน 2564
Column: Behind the Scene
Writer Name:
นางสาวจุไรรัตน์ จันทร์ขจรศรี หอผู้ป่วยอายุรกรรมพิเศษ งานการพยาบาลอายุรศาสตร์ ฝ่ายการพยาบาลโรงพยาบาลรามาธิบดี
“สถานการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่มีเเหล่งกำเนิดมาจากค้างคาวที่แพร่กระจายมาจากตลาดค้าสัตว์ป่า ซึ่งข้อมูลที่เราติดตามกันมาพบว่าผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้โลกก็ยังคงพยายามหามาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่”
เสียงรายงานข่าวจากโทรทัศน์ทำให้ฉันต้องละสายตาจากหน้าจอโทรศัพท์ ในฐานะที่ฉันเป็นพยาบาลเมื่อฟังข่าวเเล้วก็รู้สึกกังวลกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยไปด้วย
รุ่งเช้าวันหนึ่งในเดือนมีนาคม หัวหน้าหอผู้ป่วยได้แจ้งข่าวสารเหมือนเช่นทุก ๆ วัน แต่วันนี้ไม่ใช่ข่าวสารทั่วไปต่างจากที่เคยเป็นมา “ถ้ายอดผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทางหอผู้ป่วยของเราจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเพื่อรองรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาโดยเฉพาะ”
ด้วยสถานการณ์ไวรัสโคโรนาที่ระบาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้รับการขนานนามอย่างเป็นทางการว่า COVID-19 ส่งผลให้ช่วงบ่ายของวันต่อมาหัวหน้าหอผู้ป่วยของพวกเราได้เรียกประชุมด่วนอีกครั้ง
“เราจำเป็นจะต้องย้ายผู้ป่วยที่มีอยู่ในตอนนี้ไปรักษาต่อเนื่องที่หอผู้ป่วยอื่นอย่างเร่งด่วนนะคะ” หัวหน้าของพวกเราแจ้ง
ในที่สุดสิ่งที่คาดการณ์ไว้กลับมาถึงเร็วกว่าที่ฉันคิด พวกเราย้ายผู้ป่วยทั้งหมดไปรักษาต่อที่หอผู้ป่วยอื่น และช่วงเย็นวันนั้นทีมหัวหน้าฝ่ายการพยาบาลโรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ประชุมเกี่ยวกับสถานการณ์ยอดผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ และขออาสาสมัครพยาบาลเพื่อไปดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อ COVID-19 โดยต้องไปดูแลผู้ป่วยที่โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์
“ฉันอยากไปดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อ COVID-19 แต่จะมีใครไปกับฉันบ้างนะ” ฉันคิดในใจ
ฉันดีใจยิ่งนักที่เพื่อนร่วมงานคนสนิทจะไปกับฉันด้วยและรู้สึกดีใจเพิ่มขึ้นไปอีก เมื่อผลสรุปออกมาว่ามีพยาบาลหลายคนขออาสาไปทำงานดูแลผู้ป่วย COVID-19 เป็นจำนวนมาก เหล่าจิตอาสาที่ไปทำงานในครั้งนี้เหมือนแค่ย้ายสถานที่ทำงานเท่านั้น แต่เพื่อนร่วมงานยังเป็นทีมเดิม
ฉันรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมดูแลผู้ป่วยในสถานการณ์โรคระบาด มีโอกาสได้ทำความดี ทำคุณประโยชน์ให้กับสังคมและประเทศชาติ ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 คำสอนของท่านยังคงตราตรึงอยู่ในใจและได้ทำตามปณิธานของสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลที่ได้กล่าวไว้ว่า “ขอให้ถือผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง”
ผู้หญิงตัวเล็ก ๆ อย่างฉันในฐานะพยาบาล นี่จึงเป็นโอกาสที่ฉันจะได้เป็นทหารหญิงจะได้ต่อสู้กับโรคระบาดที่เข้ามารุกรานประเทศไทย ซึ่งคนส่วนใหญ่เรียกฉันว่า “นักรบเสื้อกาวน์”
หลังจากที่ได้พักร่างกายไป 1 วัน พวกเราก็เดินทางมาโรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ ทำการเตรียมความพร้อมในหอผู้ป่วยเพื่อรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อโดยมีทีมฝ่ายการพยาบาลมาช่วยวางแผนระบบการพยาบาลและให้กำลังใจพวกเราเป็นอย่างดี
ถ้าถามฉันว่ากลัวไหมที่ต้องมาดูแลผู้ป่วย COVID-19 ที่เป็นโรคระบาดไปทั่วโลกในตอนนี้ พวกเรามีการศึกษาระบาดวิทยาของโรคที่สามารถป้องกันการติดต่อได้โดยการสวมชุด PPE (อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล) การล้างมือ การใช้เจลแอลกอฮอล์ ซึ่งหัวหน้างานการพยาบาลอายุรศาสตร์พยายามจัดสรรอุปกรณ์ป้องกันให้อย่างเต็มที่ วางระบบเพื่อให้พวกเราได้รู้สึกมั่นใจในมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยโรคระบาด และมั่นใจในทีมผู้บริหารทุกท่านว่าจะไม่ทอดทิ้งพวกเราอย่างแน่นอนไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะสิ่งที่ฉันได้รับคือกำลังใจและความไว้วางใจ
“แล้วฉันต้องดูแลผู้ป่วยไปถึงเมื่อไหร่กัน โรคระบาดนี้จะจบลงเมื่อไหร่” ฉันคิด
มาตรการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ การสวมหน้ากากอนามัย กินร้อน ช้อนใครช้อนมัน งดไปสถานที่ชุมชน ส่วนผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศต้องกักตัว 14 วัน แต่พวกเราในฐานะทีมดูแลผู้ป่วยตกลงไว้ว่าถ้าเดินทางไปต่างจังหวัดหลังกลับมาจะต้องกักตัว 14 วัน เพื่อเป็นการรับผิดชอบสังคมและป้องกันการกระจายเชื้อโดยที่ไม่รู้ตัว
“อ้าว!! แล้วพวกเราจะไปเที่ยวต่างจังหวัดได้ไหม จองตั๋วเครื่องบินแล้ว จองที่พักแล้ว จองไว้ตั้งแต่ยังไม่มีโรคระบาด” ฉันคุยกับเพื่อนที่จะไปเที่ยวด้วยกัน
“ล้มเลิกเลยแล้วกัน สถานการณ์ในตอนนี้มันเริ่มแพร่ระบาดหลายจังหวัดแล้ว เพราะเมื่อกลับมาก็ต้องกักตัวอีก 14 วัน จะต้องขาดกำลังคนในการดูแลผู้ป่วยไปอีกหลายคน และถ้าติดเชื้อมาคงไม่คุ้ม” สิ่งที่วางแผนมาเป็นปีต้องพังทลายลง พวกเราก็เป็นบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดเหมือนคนไทยทุกคน
เช้าวันรุ่งขึ้นต้องเริ่มทำงานเลย เนื่องจากสถานการณ์ผู้ป่วยที่มีมากขึ้นและมีความจำเป็นที่ต้องได้รับการรักษา สิ่งที่ฉันมองเห็นในตัวของเพื่อนร่วมงานมีแต่ภาพแห่งรอยยิ้มและความเต็มใจ ยินดี ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่าพฤติกรรมและแววตาแห่งความหวาดกลัว พวกเราให้การพยาบาลเฝ้าระวังการแพร่กระจายเชื้ออย่างเคร่งครัดตามมาตรฐานที่ได้เรียนรู้มา
ภาพของผู้ป่วยคนแรกที่ฉันเห็นนั้น คือภาพของผู้ป่วยที่หิ้วกระเป๋าเดินตามเจ้าหน้าที่ที่สวมชุด PPE (อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล) และเดินภายในตำแหน่งที่มีเชือกกั้นไว้ ผู้ป่วยต้องรับแรงกดดันจากสายตาของบุคคลทั่วไปที่พบเห็นในระหว่างที่เดินทางมายังหอผู้ป่วย จากภาพข่าวที่เห็นตามโทรทัศน์ คนทั่วไปมักมีความหวาดกลัวและรังเกียจผู้ป่วยที่ติดเชื้อ ดังนั้น ผู้ป่วยที่มารับการรักษาก็คงเผชิญกับสายตาเเบบนั้นเช่นเดียวกัน และฉันไม่อยากให้ผู้ป่วยต้องประสบกับสายตาเช่นนั้น นอกจากสายตาเเห่งความเป็นมิตรและความไว้วางใจ
ผู้ป่วยจำเป็นต้องอยู่ในห้องของตัวเอง โดยมีกฎว่าห้ามออกนอกห้องเพื่อลดการกระจายของเชื้อโรค ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ภายในห้องจะมีผู้ป่วยอีก 1 คน ฉันเห็นแววตาและคำถามแห่งความกังวลใจไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเจ็บป่วย ครอบครัว การงาน ความเบื่อหน่าย ความอึดอัดจากการถูกจำกัดพื้นที่ เนื่องด้วยสถานการณ์ที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในทุกวันและโรคที่ผู้ป่วยเป็น จึงต้องให้คำเเนะนำเกี่ยวกับข้อจำกัดหลายประการเพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยและผู้ดูเเล แต่จากท่าทีของพวกเขาที่ฉันสังเกตเห็น ทำให้ฉันอยากจะบอกพวกเขาว่า “พวกเราจะอยู่เคียงข้างคุณเสมอ”
บ่อยครั้งที่เราดูเเลผู้ป่วยเเล้วสิ่งที่ได้รับตอบกลับมาเกินความคาดหมาย ไม่ว่าจะด้วยคำพูด สายตา และการกระทำ
“คุณพยาบาลเหนื่อยไหม” แค่ได้ยินคำถาม ก็หายเหนื่อยแล้ว
“คุณพยาบาลไม่กลัวหรือครับ” เพราะพวกเรารู้ว่ามันแพร่กระจายได้อย่างไร เราก็สามารถป้องกันตัวเองได้
“ขอบคุณนะครับที่ดูแลพวกผม” ไม่เป็นไรพวกเรายินดี ขอให้หายไวไว เช่นกัน
“ทานข้าวหรือยังคะ ดิฉันสั่งพิซซ่ามาฝาก ทานให้อร่อยนะคะ” เเค่นี้ก็รู้สึกอิ่มใจแล้ว เเละน้ำใจคนไทยมากล้นจนแทบไม่รู้ว่าจะเลือกรับประทานอะไรดี
สิ่งที่ฉันได้รับกลับมาจากผู้ป่วยเป็นสิ่งที่ฉันจดจำได้ดี ยากที่จะลืมได้และเหมือนเป็นกำลังใจที่ให้พวกเราได้ดูแลผู้ป่วยต่อไป
ผลจากการที่ได้ดูแลผู้ป่วยทำให้พวกฉันรู้สึกดีใจและภูมิใจมากที่เป็นทีมพยาบาลกลุ่มแรกของโรงพยาบาลรามาธิบดี ที่ได้รับความไว้วางใจและโอกาสในการดูแลผู้ป่วย COVID-19 ที่กำลังระบาดไปทั่วโลก อีกทั้งยังได้ความรู้ ความเข้าใจของโรค และการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 ที่เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยไปด้วยกัน
ฉันขอบคุณทีมงานการพยาบาลอายุรศาสตร์ ทีมผู้บริหารที่ให้ความไว้วางใจเเละให้โอกาสพวกเราร่วมต่อสู้กับโรคระบาดไปด้วยกัน ขอบคุณเพื่อนร่วมงาน ครอบครัวที่เข้าใจ และขอบคุณน้ำใจจากประชาชนที่ส่งกำลังใจและความห่วงใยมาให้เสมอ
สถานการณ์นี้จะอยู่ไปนานแค่ไหนขึ้นอยู่กับคนไทยทุก ๆ คนกับความมีวินัยในตนเอง รู้จักรับผิดชอบสังคม มีน้ำใจ และความสามัคคี ซึ่งทั้งหมดนั้นจะทำให้เราก้าวผ่านไปได้พร้อมกัน
โฆษณา