9 เม.ย. 2021 เวลา 13:30 • สุขภาพ
ไทยตรวจหาโควิด-19 ได้วันละเท่าไร ‘น้ำยา’ หมด หรือบริหาร ‘เตียง’ ไม่ได้
1
ขณะนี้โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งในกรุงเทพมหานครเริ่มประกาศงดตรวจหาโควิด-19 เหตุผลมีทั้ง ‘น้ำยาหมด’ และ ‘เตียงเต็ม’
ซึ่งถ้าเป็นอย่างแรกก็แสดงว่าประชาชนไปตรวจหาเชื้อจำนวนมาก ทำให้น้ำยาที่เตรียมไว้ไม่เพียงพอ หรือบางคนก็ตั้งคำถามว่า ทำไมถึงไม่มีการสำรองน้ำยาไว้
1
แต่กรณีนี้เพจหมอแล็บแพนด้าให้ข้อมูลว่า เป็นเพราะโรงพยาบาลที่ตรวจเจอผลบวกจะต้องรับรักษาผู้ป่วยรายนั้นด้วย จนตอนนี้เตียงเต็มแล้ว เลยต้องงดตรวจไป ซึ่งหากเป็นเช่นนี้จริงภาครัฐควรเข้าไปประสานงานส่งต่อผู้ป่วย และขณะเดียวกันก็ต้องรีบสร้างโรงพยาบาลสนามไว้รองรับ
ในขณะที่เพจ The Coverage ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตั้งข้อสังเกตว่า การประกาศนี้เกิดขึ้นหลังจากการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงทุกคน ทุกระบบหลักประกันสุขภาพ สามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคได้ ‘ฟรี’ ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชนทุกแห่ง
สรุปแล้วไทยตรวจหาโควิด-19 ได้วันละเท่าไร โรงพยาบาลเอกชน ‘น้ำยา’ หมด หรือรัฐบริหาร ‘เตียง’ ไม่ได้?
อ่านเพิ่มเติม:
สำหรับขีดความสามารถในการตรวจหาเชื้อของไทย ปัจจุบันมีห้องปฏิบัติการที่ผ่านการรับรองของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จำนวน 277 แห่ง โดยอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 107 แห่ง (ภาครัฐ 43 แห่ง, ภาคเอกชน 64 แห่ง) และต่างจังหวัด 170 แห่ง (ภาครัฐ 133 แห่ง, ภาคเอกชน 37 แห่ง) โดยตั้งแต่เมษายน 2563 กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถตรวจได้ 20,000 ตัวอย่างต่อวัน โดยแบ่งเป็นกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดอย่างละครึ่ง
1
ส่วนจำนวนน้ำยาไม่มีข้อมูลที่อัปเดต ล่าสุดคือเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2563 ในการแถลงเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์โควิด-19 อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แถลงว่า มีการสำรองน้ำยาประมาณ 5 แสนชุด และเคยมีการประชาสัมพันธ์ว่าเป็นน้ำยาที่ผลิตใช้เองในประเทศ
ตั้งแต่เริ่มเปิดบริการจนถึงวันที่ 4 เมษายน 2564 มีการตรวจหาเชื้อทั้งหมดประมาณ 3.4 ล้านตัวอย่าง โดยเป็นภาคเอกชนประมาณ 1.4 ล้านตัวอย่าง (ที่ผ่านมาการระบาดหลายครั้งก็เริ่มตรวจพบจากโรงพยาบาลเอกชน) ส่วนในสัปดาห์ที่แล้วทั้งประเทศมีการส่งตรวจประมาณ 111,000 ตัวอย่าง
แต่สำหรับการระบาดในกรุงเทพมหานครสัปดาห์นี้ เพจ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักประชาสัมพันธ์ รายงานผลการตรวจเชิงรุกสถานบันเทิงย่านทองหล่อตั้งแต่วันที่ 3-8 เมษายน ว่าตรวจพบเชื้อ 399 ราย (19.6%) จากการตรวจทั้งหมด 3,112 ตัวอย่าง โดยส่งตรวจเพียง 69 ตัวอย่างในวันล่าสุด
สังเกตว่าอัตราการตรวจพบเชื้อสูงมาก ในขณะที่จำนวนการตรวจค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับการระบาดที่ตลาดบางแคที่มีการส่งตรวจวันละ 1,000 ตัวอย่างขึ้นไป และขีดความสามารถในการตรวจเชิงรุกเคยเพิ่มเป็นวันละ 5,000-10,000 ตัวอย่างได้ในการระบาดที่สมุทรสาคร
ถ้า ‘น้ำยาหมด’ หรือไม่เพียงพอกับการตรวจขึ้นมาจริง คงจะต้องมีการจัดลำดับความสำคัญ เพื่อให้ ‘ผู้ที่มีความจำเป็น’ ได้รับการตรวจก่อน ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) เคยออกคำแนะนำเมื่อเดือนมีนาคม 2563 โดยแบ่งออกเป็น 4 ระดับ (Tier) ได้แก่
ระดับที่ 1 ผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ที่มีอาการ
ระดับที่ 2 ผู้มีความเสี่ยงสูงที่มีอาการ ได้แก่ ผู้ที่อาศัยในบ้านพักคนชรา, ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี, ผู้มีโรคประจำตัว และบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า
ระดับที่ 3 แรงงานสำคัญ (Critical Infrastructure Workers) ที่มีอาการ, บุคลากรทางการแพทย์/ด่านหน้าที่ไม่มีอาการ, ประชาชนทั่วไปที่มีอาการเล็กน้อยในพื้นที่ระบาด และประชาชนอื่นๆ ที่มีอาการ
ระดับที่ 4 ประชาชนทั่วไปที่ไม่มีอาการ
สังเกตว่า CDC ให้ความสำคัญกับผู้มีความเสี่ยงต่ออาการรุนแรง และผู้ประกอบอาชีพที่มีความจำเป็นต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมก่อนประชาชนทั่วไป ส่วนบุคลากรทางการแพทย์มีความจำเป็นต่อระบบสาธารณสุข ประกอบกับให้ความสำคัญกับผู้ที่มีอาการก่อนผู้ที่ยังไม่มีอาการ ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับประเทศไทยได้ คือผู้ที่มีอาการควรได้รับการตรวจหาเชื้อ ส่วนผู้ที่ไม่มีอาการยังไม่จำเป็นต้องตรวจ ถึงแม้จะเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดก็ให้กักตัวจนครบ 14 วันแทน เพราะตามคำแนะนำของ CDC ผู้สัมผัสที่กักตัวจนครบ 10 วันแล้วไม่มีอาการจะมีโอกาสแพร่เชื้อต่ำมาก
ทั้งนี้ผู้ป่วยโควิด-19 ส่วนใหญ่มีอาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการ และมักหายได้เองโดยไม่ต้องรับประทานยาต้านไวรัส จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มียาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโควิด-19 แต่ถ้ามีวิธีการรักษาอื่นที่สามารถลดความรุนแรงของโรคได้ ซึ่งใช้กับผู้ป่วยที่เริ่มมีภาวะปอดอักเสบแล้ว
ด้วยจำนวนการตรวจหาเชื้อที่เพิ่มขึ้น ถึงแม้จะไม่เกินขีดความสามารถในการตรวจ แต่ทำให้เกิด ‘ภาวะคอขวด’ ในการรายงานผล เพราะตัวอย่างจะไปรวมกันที่ห้องแล็บ จากเดิมที่สามารถรายงานผลได้ภายใน 24 ชั่วโมง ก็อาจเพิ่มขึ้นเป็น 2-3 วัน ผู้ติดเชื้อจริงอาจได้รับการวินิจฉัยล่าช้า
ดังนั้นผู้ที่มีความกังวลว่าจะติดเชื้อหรือไม่ ควรทำความเข้าใจเกณฑ์การตรวจหาเชื้อของกรมควบคุมโรคก่อน เพราะถ้าเข้าเกณฑ์ก็จะสามารถขอรับการตรวจได้ ‘ฟรี’ ที่โรงพยาบาลของรัฐ โดย สปสช. จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ ส่วนผู้ที่ยังไม่เข้าเกณฑ์ก็ถือว่ามีโอกาสติดเชื้อต่ำ จึงยังไม่จำเป็นต้องตรวจ
ผู้ที่เข้าเกณฑ์ตรวจหาโควิด-19 ฟรีประกอบด้วย 2 ส่วนคือ 1. อาการ + 2. ประวัติเสี่ยง
อาการ ได้แก่ ไข้ (หรือไม่มีไข้ก็ได้) ไอ เจ็บคอ น้ำมูก จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย หรือหายใจลำบาก (แต่ถ้าแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคปอดอักเสบสามารถตรวจหาเชื้อได้โดยไม่จำเป็นต้องมีประวัติเสี่ยง)
ประวัติเสี่ยง ได้แก่
เดินทางมาจากหรืออาศัยอยู่ในพื้นที่เกิดโรคในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา
สัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน
ไปในสถานที่แออัด เช่น ตลาดนัด ห้างสรรพสินค้าที่พบผู้ป่วยยืนยัน
ทำงานใน SQ/ASQ
อย่างไรก็ตาม ตามแนวทางของกรมควบคุมโรค หากแพทย์ผู้ตรวจรักษาสงสัยว่าผู้ป่วยเป็นโควิด-19 ก็สามารถใช้ดุลยพินิจในการส่งตรวจหาเชื้อได้ ถึงแม้จะไม่เข้าเกณฑ์ปัจจัยเสี่ยง
สำหรับ ผู้ที่มีประวัติเสี่ยง แต่ยังไม่มีอาการ ควรปรึกษาหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
อ่านเพิ่มเติม: https://thestandard.co/opinion-check-covid-19-free/
เรื่อง: THE STANDARD TEAM
โฆษณา