14 เม.ย. 2021 เวลา 01:19
สุขภาพการเงิน...สร้างได้
1. รายได้ของ"กิจการ" และของ"เจ้าของ" ควรแยกให้ชัดเจน
อาการแบบนี้ เราติดหรือยังนะ?
ช่วงนี้หลายคนคงมีคำถามแบบนี้อยู่ในใจ แต่พูดออกไปก็กลัวคนรอบข้างจะรีบกระโดดออกห่าง หลายคนเลยหันมาใส่ใจกับสุขภาพของตัวเอง ไม่ให้ตัวเราต้องเจ็บป่วยไปกับโรคภัยต่างๆ
การดูแลสุขภาพไม่ได้มีแต่สุขภาพกายและสุขภาพใจนะครับ ผมได้อ่านบทความของคุณช่อ เจ้าของเพจ "ลงทุนในบัญชีและภาษี" ที่เป็นเสมือนสารานุกรมขนาดย่อมๆ ทางด้านบัญชีและภาษีสำหรับคนทำธุรกิจ บทความของคุณช่อเรื่อง "มาตรวจสุขภาพกิจการผ่านงบการเงินกันเถอะ" ทำให้นึกถึงเรื่องพื้นฐานเกี่ยวกับสุขภาพการเงินของบุคคลที่มีรายได้จากธุรกิจครับ
1
Credit:Unsplash.com
ปัจจุบันคนหันมาทำธุรกิจกันมาก ธุรกิจส่วนตัวหลายแห่งเลือกยื่นภาษีแบบบุคคล และไม่ได้เก็บรวบรวมค่าใช้จ่ายอย่างครบถ้วน เพราะใช้วิธีการหักค่าลดหย่อนแบบเหมาตามประเภทของธุรกิจ ขณะที่บางกิจการเลือกยื่นภาษีแบบนิติบุคคลและต้องจัดทำบัญชีเพื่อใช้ยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่การทำบัญชีก็ไม่ได้แยกระหว่างเงินได้นิติบุคคลและเงินได้บุคคลออกจากกัน
เจ้าของกิจการจะรู้ได้อย่างไรว่าธุรกิจที่ทำอยู่มีกำไรหรือขาดทุน รวมถึงสภาพคล่องที่หดหายไปเกิดจากปัญหาอะไร เมื่อต้องบริหารจัดการเงินของธุรกิจและส่วนตัวเลยเกิดปัญหาแยกไม่ออกว่าเกิดจากอะไรกันแน่
กิจการ A และ กิจการ B มีรายรับเท่ากัน แต่มีค่าใช้จ่ายต่างกันทำให้งบการเงินแตกต่างกัน กิจการ A ขาดทุน 1 แสน ขณะที่กิจการ B กำไร 1 แสน ถ้าเราเป็นเจ้าของกิจการ A คุณคิดว่ากิจการของคุณขาดทุนหรือไม่
ความแตกต่างมาจากค่าใช้จ่ายของเจ้าของที่ไม่ได้แยกออกมา กิจการ A มีค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจรวม 6 แสนบาท และมีค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลอีก 5 แสนบาท ขณะที่กิจการ B มีค่าใช้จ่ายทางธุรกิจ 6 แสนบาทเท่ากัน แต่มีค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล 3 แสนบาท ถ้าเราเป็นเจ้าของกิจการ A เราจะแก้ปัญหายังไง แค่เพียงเราบริหารค่าใช้จ่ายส่วนตัวก็อาจแก้ปัญหาได้หรือไม่
เราสามารถพบเจอเจ้าของกิจการ A และเจ้าของกิจการ B ได้ทั่วไป ทั้งสองคนก็อาจไม่รู้ว่าตัวเองใช้จ่ายเงินไปเท่าไหร่ เพราะไม่ได้แยกเงินทั้งสองวัตถุประสงค์ขาดออกจากกัน วิธีง่ายๆ คือการกำหนดรายได้ของเราให้ชัดเจนและแยกออกมาเพื่อบริหารจัดการตามวัตถุประสงค์ของเงินแต่ละก้อน เมื่อมีความชัดเจน เราก็จะรู้ว่าเราใช้จ่ายได้มากน้อยแค่ไหน
คุณเอไม่ได้แบ่งรายได้ของตัวเองออกจากธุรกิจ และรวมค่าใช้จ่ายต่างๆ เป็นค่าใช้จ่ายของธุรกิจด้วยเพราะคิดว่าเป็นธุรกิจของตัวเอง
ครบปีธุรกิจมีรายได้รวม 1 ล้านบาท มีค่าใช้จ่าย 8 แสนบาท (รวมค่าใช้จ่ายของคุณเอจำนวน 3 แสนบาท) งบการเงินของธุรกิจมีกำไร 2 แสนบาท
คำถาม : คุณเอ ควรจะบอกว่าตัวเองมีรายได้เท่าไหร่?
ข้อ ก. 1 ล้านบาท
ข้อ ข 5 แสนบาท
ข้อ ค 3 แสนบาท
ข้อ ง 2 แสนบาท
ข้อ จ 0 บาท
3
เจ้าของแผนการเงินที่มีแหล่งรายได้จากการทำธุรกิจส่วนตัว บ่อยครั้งที่เกิดความสับสนระหว่างรายได้ของธุรกิจ กับรายได้ของเจ้าของ บางคนนำรายได้ของธุรกิจมาใช้เป็นรายได้ของตัวเองด้วยความเข้าใจผิด
รายได้ของธุรกิจคือรายรับที่ธุรกิจได้รับจากการดำเนินงาน ธุรกิจมีรายได้มาก ไม่ได้หมายความว่าเป็นธุรกิจที่ดี หากมีรายรับน้อยกว่ารายจ่าย เพราะสิ่งที่ทำให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้คือ กำไร และสภาพคล่องของธุรกิจ หากวันหนึ่งธุรกิจได้รับผลกระทบขึ้นมาก็เท่ากับกระทบกับคุณเอโดยตรงเพราะสภาพคล่องที่ผูกติดกันระหว่างคุณเอและธุรกิจ ทำให้ไม่มีแหล่งรายได้สำรอง และไม่มีสภาพคล่องส่วนบุคคล
แล้วถ้าแยกรายได้บุคคล ออกจาก รายได้ธุรกิจล่ะ?
สมมุติว่าธุรกิจของคุณเอ มีรายได้รวม 1 ล้านบาท และคุณเอ ทำการแยกการเงินธุรกิจและส่วนตัวด้วยการรับเงินเดือนปีละ 3 แสนบาท เมื่อถึงสิ้นปีธุรกิจมีกำไร 2 แสนบาท แบ่งเป็นเงินปันผลของคุณเอ 1 แสนบาท อีก 1 แสนที่เหลือใช้เป็นเงินทุนของกิจการ
การแยกธุรกิจและบุคคลออกจากกันทำให้เราเห็นได้ว่าธุรกิจนี้ มีรายได้ 1 ล้านบาท มีกำไร 2 แสนบาท เท่ากับมีสัดส่วนกำไรต่อรายได้ 20% หรือมีค่าใช้จ่ายคิดเป็น 80% ของรายได้
ขณะที่ คุณเอ มีรายได้จากเงินเดือน 3 แสนบาท และเงินปันผล 1 แสนบาท รวม 4 แสนบาท คุณเอสามารถบริหารค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องกับรายรับของตัวเอง รวมทั้งนำเงินออมไปลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนเป็นแหล่งรายได้เพิ่มเติม
คุณเอแยกรายได้ส่วนบุคคลออกจากรายได้ธุรกิจแม้จะเป็นรายได้จากจุดเริ่มต้นเดียวกัน แต่เมื่อคุณเอบริหารจัดการหรือวางแผนการเงินให้สอดคล้องกับเงินแต่ละก้อน จะทำให้คุณเอจึงมีรูปแบบของรายได้มากกว่ารายได้จากธุรกิจ กรณีเกิดปัญหากับธุรกิจในอนาคต คุณเอได้แยกส่วนของตัวเองออกจากธุรกิจแล้ว ผลกระทบจึงเกิดกับธุรกิจเป็นหลัก
การแยกกระเป๋าเงินส่วนตัวออกจากกระเป๋าเงินกิจการ เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสุขภาพทางการเงินสำหรับผู้ที่มีรายได้จากธุรกิจส่วนตัว เราแบ่งเงินได้ง่ายๆ ตามวัตถุประสงค์หรือหน้าที่ เช่น เป็นเงินค่าจ้าง(ตัวเรา)หรือเงินเดือนให้ตัวเอง เงินหมุนเวียนในธุรกิจประเภทต่างๆ นำมาทำบัญชีเพื่อการบริหารจัดการ และยังใช้ประกอบการทำบัญชีทางธุรกิจของนิติบุคคล
1
ในทางบัญชี เงินที่ถูกไปใช้โดยที่ไม่มีหลักฐาน อาจจะทำให้เกิดบัญชีลูกหนี้กรรมการขึ้นมาได้ คนที่เป็นเจ้าของธุรกิจก็ต้องมีหน้าที่นำเงินมาคืนบริษัท และยังส่งผลให้ขาดเงินสดในการบริหารธุรกิจในวันข้างหน้าอีกด้วย
เครดิต : สารนุกรมทางบัญชีและภาษี จากเพจลงทุนในบัญชีและภาษีครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา