11 เม.ย. 2021 เวลา 06:25 • ธุรกิจ
“ฮาร์วาร์ด” มหาลัยเอกชนที่มั่งคั่งที่สุดในโลก
จากสถาบันสอนศาสนา สู่องค์กรที่มีทรัพย์สินล้านล้าน
เชื่อว่าผู้คนส่วนใหญ่รู้จักชื่อของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเคยได้ยินแค่ชื่อตามสื่อต่างๆ เคยเห็นผ่านตาตามละคร ซีรี่ส์ หรือภาพยนตร์ หรืออาจจะเคยมีประสบการณ์เรียนในสถาบันแห่งนี้
ฮาร์วาร์ด ขึ้นชื่อว่าเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่อยู่ระดับหัวแถวของโลก ทั้งในเรื่องความเก่าแก่ของสถาบันรวมทั้งชื่อเสียงทางวิชาการ ที่เป็นที่ยอมรับของผู้คนทั่วโลกหากใครสำเร็จการศึกษาจากสถาบันแห่งนี้ การันตีการมีงานทำในตำแหน่งที่สูง รายได้สูง ทันทีเสมือนเป็นใบเบิกทางไปสู่ความสำเร็จในชีวิตที่เหนือระดับกว่าผู้ที่จบมหาวิทยาลัยทั่วไป
🔵 "ฮาร์วาร์ด" ไม่ใช่มหาวิทยาลัยของรัฐ
หลายคนอาจไม่ทราบว่า ฮาร์วาร์ดไม่ใช่สถาบันการศึกษาของรัฐบาล ที่นี่นับเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่อยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า "ไอวีลีก" (Ivy League) เป็นชื่อของกลุ่มการแข่งขันของมหาวิทยาลัยเอกชนเก่าแก่ 8 แห่งที่ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ ซึ่งได้เริ่มรวมตัวกันเป็นกลุ่มไอวีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2478
1
มหาวิทยาลัยที่รวมตัวกันเป็นไอวีลีกนี้ยังมีลักษณะร่วมที่คล้ายคลึงกันคือ มีความเป็นมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียง มีผู้เลือกเข้าเรียนมากที่สุดในสหรัฐฯ และในโลก เป็นมหาวิทยาลัยที่อยู่ในลำดับต้นๆ ของการจัดอันดับทั้งในสหรัฐฯ และระดับโลก มีเงินกองทุนขนาดใหญ่มาก มีจำนวนนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่จำกัด โดยมหาวิทยาลัยในกลุ่มไอวีลีกมี 8 มหาวิทยาลัยเรียงตามลำดับอายุได้ดังนี้
🔹️มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University – พ.ศ. 2179)
🔹️มหาวิทยาลัยเยล (Yale University – พ.ศ. 2244)
🔹️มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย (University of Pennsylvania – พ.ศ. 2283)
🔹️มหาวิทยาลัยปรินซ์ตัน (Princeton University – พ.ศ. 2289)
🔹️มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University – พ.ศ. 2297)
🔹️มหาวิทยาลัยบราวน์ (Brown University - พ.ศ. 2307)
🔹️วิทยาลัยดาร์ตมัธ (Dartmouth College – พ.ศ. 2312)
🔹️มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ (Cornell University – พ.ศ. 2408)
1
สำหรับฮาร์วาร์ด ยังคงได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของสหรัฐอเมริกา โดยนิตยสารยูเอสนิว และได้รับการจัดอันดับโดยไทมส์ไฮเออร์เอดูเคชันซัปพลีเมนต์ สื่อด้านการศึกษาจากอังกฤษ ที่รายงานอันดับสถาบันอุดมศึกษาทุกปี ให้เป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดอันดับ 5 ของโลกในปี พ.ศ. 2562-2563
โดยบุคคลผู้มีชื่อเสียงของโลกที่เป็นลูกศิษย์ในสถาบันแห่งนี้ ได้แก่ ประธานาธิบดีสหรัฐถึง 8 คน คือ จอห์น แอดัมส์, จอห์น ควินซี แอดัมส์, จอห์น เอฟ. เคนเนดี, แฟรงกลิน รูสเวลต์, ธีโอดอร์ รูสเวลต์, รัทเทอร์ฟอร์ด บี. เฮส์, จอร์จ ดับเบิลยู. บุช และบารัก โอบามา
รวมไปถึงเจ้าพ่อไมโครซอฟท์ และมหาเศรษฐีของโลกอย่าง บิล เกตส์ ที่ก็เป็นศิษย์เก่าสถาบันแห่งนี้แม้จะเรียนไม่จบก็ตาม แต่ด้วยความสำเร็จในชีวิตในฐานะนักธุรกิจ ทางมหาวิทยาลัยได้ประสาทปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้
1
🔵 ก่อตั้งจากการเป็นสถาบันสอนศาสนาคริสต์
ในยุคแรกของการก่อตั้งมีจุดประสงค์ที่จะสร้างนักบวชเพื่อให้สามารถเผยแพร่ศาสนาตามแนวทางของลัทธิของตนได้ ซึ่งเป็นคณะนักบวชศาสนาคริสต์ที่เรียกตนเองว่า "เพียวริตัน" ซึ่งอพยพมาจากประเทศอังกฤษ โดยเริ่มต้นในชื่อว่า "เดอะ นิว คอลเลจ" ในปี พ.ศ. 2179 ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ก่อนจะเปลี่ยนชื่อและยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยที่มีระบบมาตรฐานตามลำดับในช่วง 200 กว่าปีต่อมา
1
ฮาร์วาร์ดมีชื่อเสียงมากในเรื่องคุณภาพทางวิชาการ คุณภาพของอาจารย์ที่สอนและคุณภาพของนักศึกษา โดยศิษย์เก่าและอาจารย์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้รับรางวัลโนเบลรวมกัน 75 รางวัล และรางวัลพูลิตเซอร์ 15 รางวัลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 มีคณาจารย์เข้าไปเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของรัฐบาลหลายคน และได้ผลิตผู้บริหารองค์การทางธุรกิจที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก ทำให้นักธุรกิจหรือผู้ประสงค์ที่จะประสบความสำเร็จทางธุรกิจจากทั้งในและนอกประเทศได้เข้ามาเรียนกันมาก
การที่สถาบันแห่งนี้เป็นแห่งบ่มเพาะคนเก่งระดับหัวกะทิของโลก ทำให้ฮาร์วาร์ด ได้รับการบริหารจัดการที่ยอดเยี่ยมที่สุดในเรื่องของ ระบบการเงินและการบริหารสินทรัพย์
1
ในแต่ละปีจะมีผู้บริจาคให้กับฮาร์วาร์ดหลายหมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จระดับสูง เงินเหล่านี้นอกจากจะไปพัฒนาการเรียนการสอนของสถาบันแล้ว มันยังถูกนำไปใช้ในการลงทุนด้านอื่นๆ อีกมากมายให้งอกเงินดอกผล
ฮาร์วาร์ด และมหาวิทยาลัยเยล ซึ่งเป็นกลุ่มมหาวิทยาลัยเดียวกัน ได้จัดสรรหุ้นประมาณครึ่งหนึ่งของการจัดสรรการลงทุน โดยเป็นหุ้นพื้นฐานที่ดี และลงทุนในระยะยาวซึ่งไม่ใช่เพียงแค่เข้าซื้อและถือเพื่อลงทุนเท่านั้น แต่ยังได้มองหาวิธีที่จะใช้ประโยชน์สูงสุดจากประสิทธิภาพของตลาดทุน ผ่านหุ้นต่างๆ ที่สถาบันถืออยู่
2
🔵 มองการลงทุนของฮาร์วาร์ด ที่ไม่ใช่แค่ลงทุนกับการศึกษาอย่างเดียว
ฮาร์วาร์ดเข้าไปถือหุ้นในบริษัทเอกชนขนาดใหญ่หลายแห่ง และบางบริษัทก็เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อีกด้วย แทนที่จะถือหุ้นผ่านตลาดหุ้นเพียงอย่างเดียว ซึ่งมองว่าหุ้นบริษัทเอกชนเหล่านี้มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่เหนือกว่าหุ้นสามัญทั่วๆ ไป ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการในการสร้างผลกำไรจากการดำเนินธุรกิจ แม้ฮาร์วาร์ดจะถือหุ้นใหญ่ หรือมีอำนาจในการตัดสินใจ แต่ในการบริหารงานก็จะให้มืออาชีพที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาบริหาร ซึ่งบริษัทหลักๆ ที่มุ่งเน้นไปลงทุนมักเป็นบริษัทที่มีแนวโน้มการเติบโตที่แข็งแกร่งไม่ว่าจะบริษัทเก่าหรือใหม่ก็ตาม
2
ไม่ว่าจะทำผ่านภาครัฐ เอกชน หรือร่วมทุน เป็นที่ชัดเจนว่า ฮาร์วาร์ดมีส่วนสำคัญของเงินบริจาคที่เชื่อมโยงกับผลกำไรขององค์กรอีกด้วย
จากกลยุทธ์การลงทุนของฮาร์วาร์ดคือ ความสำคัญของการกระจายความเสี่ยง โดยทั่วไปแล้วจะเลือกลงทุนในหุ้นบริษัทในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ทรัพยากรธรรมชาติ และพันธบัตรนอกเหนือจากหุ้น สิ่งเหล่านี้สามารถให้ความคุ้มครองความเสี่ยงในระดับหนึ่งแก่พอร์ตการลงทุนในช่วงที่เกิดเหตุการณ์เลวร้ายต่อตลาดหุ้น เช่น ภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรืออัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ฮาร์วาร์ดมีทรัพย์สินประมาณ 1 ใน 3 เป็นพันธบัตรทรัพย์สินสินค้าโภคภัณฑ์และเงินสด
การกระจายการลงทุนยังปรากฏในรูปแบบอื่นด้วย เช่น การลงทุนในหุ้นสาธารณะในต่างประเทศ ฮาร์วาร์ดเป็นเจ้าของพันธบัตรหลายประเภททั้งภาคเอกชนภาครัฐ และมีการป้องกันเงินเฟ้อในทุกกรณี แม้ว่าความเอนเอียงที่มีต่อหุ้นจะชัดเจน แต่การบริจาคจะกระจายการลงทุนก็เพื่อให้สามารถได้รับผลตอบแทนที่สมเหตุสมผลในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน และยังคงทำให้มีกำไรอยู่เสมอไม่ว่าเศรษฐกิจจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม
ซึ่งฮาร์วาร์ดได้ชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่มีเงินกองทุน (Endowment) สูงที่สุดในโลก คือ 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.1 ล้านล้านบาท ซึ่งนับเป็น 1 ใน 3 ของงบประมาณประเทศไทยในปัจจุบัน
4
จาก 385 ปีที่แล้วที่ฮาร์วาร์ดก่อตั้งโดยกลุ่มนักบวชอพยพ ที่แม้แต่หนังสือตำรับตำราเรียนยังต้องรอการบริจาค สู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่มีคลังรายได้และสินทรัพย์มากที่สุดในโลก มันสะท้อนความเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาขององค์กรแห่งนี้ หากมองในมุมการทำธุรกิจแล้ว ฮาร์ดวาร์ดก็เหมือนกับบริษัท แต่เป็นบริษัทที่ลงทุนกับการศึกษา พัฒนาคนด้วยความรู้แล้วเมื่อทรัพยากรคนที่มีความรู้ได้ออกไปสร้างดอกผลภายนอก สุดท้ายมันก็วนกลับมาให้ตัวของสถาบันถูกพัฒนาไปด้วย
ถ้าตัดคำว่าสถาบันการศึกษาออกไป ฮาร์วาร์ดคือบริษัทที่ประสบความสำเร็จที่สุดในกลุ่มธุรกิจของตัวเอง ทั้งในแง่ของการผลิตสินค้าป้อนสู่ตลาด และในแง่ของกลยุทธ์การพัฒนาองค์กรนั่นเอง
โฆษณา