19 เม.ย. 2021 เวลา 11:00 • ประวัติศาสตร์
*** ทำไมประวัติศาสตร์ของออสเตรเลีย จึงไม่ค่อยเป็นที่กล่าวถึง? ***
อาทิตย์ก่อน ผมได้รับเชิญไปเสวนาเพื่อโปรโมทหนังเรื่อง The Nightingale ซึ่งมีฉากหลังเป็นออสเตรเลียยุคบุกเบิก ทีมงานขอความเห็นผมว่า "เพราะอะไรประวัติศาสตร์ของออสเตรเลียจึงไม่เป็นที่กล่าวถึงนัก?" ...ผมมาคิดดูก็จริง ประวัติศาสตร์ของออสเตรเลียมิได้มีการพูดกันกว้างขวางเหมือนประวัติศาสตร์ชาติอื่นๆ ทั้งที่มันมีเรื่องน่าสนใจอยู่ในนั้นมาก
ผมใคร่ครวญแล้ว คิดว่ามันอาจไม่เกี่ยวกับความเก่าแก่นัก เพราะพวกเราก็มีการพูดถึงประวัติศาสตร์สมัยใหม่กันเยอะ
...มันอาจจะเกี่ยวกับที่ออสเตรเลียมีอิทธิพลไม่มาก เมื่อเทียบกับชาติมหาอำนาจอื่นๆ ...แต่ผมเห็นชาติที่มีอิทธิพลน้อยกว่าออสเตรเลียก็มีเรื่องราวประวัติศาสตร์ให้พูดถึงกันเนืองๆ
...ผมจึงตั้งสมมุติฐานขึ้นมาอย่างหนึ่ง...
ผมคิดว่า "ประวัติศาสตร์ออสเตรเลียไม่ค่อยโรแมนติก"
ก่อนผมจะอธิบายต่อ ขอเล่าประวัติศาสตร์ออสเตรเลียในยุคบุกเบิกให้ฟังคร่าวๆ นะครับ
อนุทวีปออสเตรเลียถูกชาวตะวันตกค้นพบครั้งแรกตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 17 จนในปลายศตวรรษที่ 18 อังกฤษก็พิจารณาจะพัฒนาดินแดนแห่งนี้เป็นอาณานิคม โดยมีเหตุผลว่า:
1. ไม่อยากให้ฝรั่งเศส หรือชาติคู่แข่งอื่นยึดไปก่อน
2. อยากได้ทรัพยากรของออสเตรเลีย
3. แต่ประเด็นสำคัญหลักๆ คือ... พวกเขาอยากตั้ง "อาณานิคมของนักโทษ" ขึ้น
1
ในช่วงนั้นอังกฤษได้เข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม มีการใช้เครื่องจักรเข้ามาแทนที่แรงงานคน ...ทำให้ชาวชนบทตกงาน ต้องมาหางานทำในเมือง และถูกนายจ้างกดขี่ (เพราะตอนนั้นสิทธิของชนชั้นแรงงานยังไม่ได้รับการสนใจนัก) พวกที่ลำบากยากจนก็ต้องหาทางออกโดยการเป็นโจรขโมย ทำให้เกิดปัญหานักโทษล้นคุก
"อาณานิคมของนักโทษ" จึงเป็นนวัตกรรมของนักล่าอาณานิคม ที่บังคับเอานักโทษมาตั้งรกรากในโลกใหม่ เพื่อตอบสนองโจทย์สองประการคือ:
1. เพื่อให้มีแรงงานคนสำหรับพัฒนาอาณานิคมได้รวดเร็ว
2. เพื่อลดจำนวนนักโทษ และลดปัญหาสังคมในประเทศแม่
1
ในลักษณะนี้แม้นักโทษคนหนึ่งจะต้องโทษสถานเบา แต่ก็อาจถูกส่งไปยังโลกใหม่ ซึ่งแม้เขาจะชดใช้โทษจนครบกำหนดแล้ว ก็มักจะไม่มีปัจจัยในการเดินทางกลับบ้าน ...ทำให้ต้องกลายเป็นประชากรถาวรของโลกใหม่ เป็นการบังคับขยายอาณานิคมนั่นเอง
4
ตอนแรกอังกฤษได้ใช้อเมริกาเหนือเป็น "อาณานิคมของนักโทษ" แต่เมื่อคนอเมริการบชนะสงครามประกาศอิสรภาพในปี 1783 ทำให้อังกฤษต้องหาที่ปล่อยนักโทษแห่งใหม่
2
...แล้วพวกเขาก็เลือกออสเตรเลีย...
1
ก่อนหน้าที่ชาวยุโรปจะมาตั้งถิ่นฐานในออสเตรเลีย ดินแดนแห่งนี้มีชาวออสเตรเลียนพื้นเมือง หรือที่เราเรียกว่าชาวอะบอริจินอาศัยอยู่มาก (คำว่าอะบอริจินแปลว่าคน สัตว์ หรือพืช ที่อาศัยอยู่ในดินแดนหนึ่งๆ มาแต่แรกเริ่ม ในที่นี้หมายถึงชาวออสเตรเลียนพื้นเมืองเป็นสำคัญ)
ชาวอะบอริจินแบ่งออกเป็นหลายพวกหลายเหล่า พูดกันคนละภาษา พวกเขาอาศัยตามอยู่ป่าเขา ...ยังมิได้พัฒนาอารยธรรมไปถึงขั้นใช้โลหะ ดังนั้นเมื่อพบชาวตะวันตกเข้ามา พวกเขาจึงงุนงงอย่างมาก
2
กองเรืออาณานิคมชุดแรกของอังกฤษชื่อ The First Fleet ได้แล่นมาถึงออสเตรเลียในเดือนพฤษภาคม ปี 1787 ผู้โดยสารกองเรือนั้นประกอบด้วยนักโทษประมาณ 750 คน ทหารผู้คุมและครอบครัวประมาณ 300 คน กะลาสี, เจ้าหน้าที่, และผู้โดยสารอื่น อีกราว 300 คน
คนเหล่านี้ได้นำเชื้อโรคชนิดใหม่มาทำให้ชาวอะบอริจินซึ่งไม่มีภูมิคุ้มกันติดโรคล้มตายไปมาก ...และไม่นานพวกนักโทษก็เริ่มเข้าไปรังแกชาวพื้นเมืองเพื่อแย่งชิงทรัพยากร นำสู่สงครามระหว่างเผ่า ...ไม่สิ อย่าเรียกว่าสงครามเลย เพราะชาวอะบอริจินแทบไม่มีอะไรต่อกรชาวตะวันตกได้
...มันเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต่างหาก...
ถ้าหากชาวตะวันตกไปบุกตีดินแดนอื่น ...พวกเขามักจะเอาชนะผู้ที่ต่อต้าน ...ทำสนธิสัญญากับผู้ที่ยอมสวามิภักดิ์ ...และอ้างสิทธิ์ปกครองชนพื้นเมือง
แต่เนื่องจากชาวอะบอริจินด้อยพัฒนาเกินไปในสายตาพวกเขา ทำให้มันไม่จำเป็นต้องมีสนธิสัญญาก็ได้...
1
...และในลักษณะนี้ชาวอะบอริจินจึงไม่ได้รับการยอมรับว่ามีตัวตน หรือมีสิทธิมนุษยชนใดๆ
...อันที่จริงบางทีก็ถูกมองว่าไม่ใช่คน ...แต่เป็นสัตว์ที่พัฒนาจนเกือบเหมือนคน ...เห็นได้จากประกาศของผู้ปกครอง ที่ให้รางวัลผู้แก่ที่ล่าชาวอะบอริจินได้ เพราะชาวอะบอริจินเป็นศัตรูที่มาทำลายไร่นา
1
...หลังจากนั้นยังเกิดเรื่องผิดศีลธรรมอีกมากมาย เช่นมีชาวตะวันตกตนที่เชื่อว่าตนเป็นคนดี ได้ “ขโมย” เด็กอะบอริจินรุ่นหนึ่งไปสั่งสอนให้นับถือศาสนาคริสต์ และมีวัฒนธรรมตามแบบตะวันตก ทำให้เกิด “คนรุ่นที่ถูกขโมย” หรือ Stolen Generation ซึ่งถูกเหยียดผิวทั้งจากคนตะวันตก และคนพื้นเมืองเอง
ดังนี้ประวัติศาสตร์ของออสเตรเลียยุคบุกเบิกจึงตั้งขึ้นบนพื้นฐานของนักโทษที่ได้รับความอยุติธรรม ถูกลงโทษเกินกว่าที่ควรได้รับ ...กับชนพื้นเมืองที่ถูกพวกเขารังแกอย่างโหดร้ายทารุณ เกินกว่าจะจินตนาการ
2
...มันเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน ...จะเลือกเรื่องไหนมาแต่งตำราให้ซาบซึ้งกันได้ล่ะ?...
กลับมาที่ผมบอกว่าประวัติศาสตร์ของออสเตรเลียนั้นไม่ค่อยโรแมนติก ...คือถ้าใครตามงานผมเรื่อยๆ อาจจำได้ว่าผมเคยเขียนถึง “ชาติ” ในฐานะจินตนาการร่วมของผู้คน
2
...ใช่ครับ “ชาติ” เป็นของที่ไม่มีอยู่จริง แต่เกิดขึ้นเพราะคนเราต้องการความโรแมนติกบางอย่างมาเพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันเป็นสังคมได้
3
เพราะถ้าคนขาดความโรแมนติกเหล่านั้น ...อาจจะไม่มีใครยอมออกรบเพื่อปกป้องสังคมของตน ...คนอาจพากันคิดทรยศไปสวามิภักดิ์ชุมชนที่แข็งแกร่งกว่า...
ดังนั้นผู้ปกครองจึงต้องสร้างความโรแมนติกบางอย่างขึ้นมารวมคนเข้าไว้ด้วยกัน ...บางทีก็ใช้ศาสนา บางทีก็ใช้บารมีส่วนตัว ...แต่ส่วนใหญ่มักใช้ประวัติศาสตร์ เพราะประวัติศาสตร์เป็นเรื่องราวของชาติ ...หากขาดซึ่งประวัติศาสตร์แล้วไซร้ “ชาติ” เองก็ขาดเหตุผลในการมีอยู่ไปมาก...
ดังนั้นเรื่องราวประวัติศาสตร์ฮิตๆ ที่เราได้รับการสนับสนุนให้เรียนรู้กัน มักจะเป็นประวัติศาสตร์ที่ผูกกับชาติ และถูกทำให้ “โรแมนติก” แล้ว
สำหรับออสเตรเลียซึ่งเป็นชาติที่ไม่ค่อยมีความโรแมนติกทางประวัติศาสตร์เท่าใด พวกเขาจำต้องหาความโรแมนติกในทางอื่นมาชดเชย
ปี 2008 รัฐบาลออสเตรเลียประกาศขอโทษชาวอะบอริจินและลูกหลานต่อบาปกรรมที่เคยเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ...
นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียบอกว่ายอมรับความผิดพลาดในอดีตทุกอย่าง และต้องการพัฒนาอนาคตที่ผู้คนเคารพกัน และมีความเท่าเทียมกัน
ผมรู้ว่าพวกเขายังทำอะไรได้มากกว่านั้นอีกมาก แต่เหตุดังกล่าวก็แสดงถึงความต้องการของพวกเขา ในการสร้างความโรแมนติกชุดใหม่เพื่อเป็นเหตุผลของการคงอยู่ของชาติออสเตรเลีย
...ความโรแมนติกชุดนั้นว่าด้วยเรื่อง เสรีภาพ และ ความเสมอภาค ของชนกลุ่มต่างๆ เพื่อเป็นเหตุผลให้ทุกคนช่วยกันพัฒนาบ้านเมืองให้รุ่งเรือง และปกป้องประเทศจากการรุกรานของคนภายนอก
...และด้วยเหตุนี้ประวัติศาสตร์ของออสเตรเลียจึงถูกพูดถึงไม่มาก หรือมักพูดในเชิงให้เกิดความเข้าใจ ไม่ใช่ให้เกิดความโรแมนติก...
...มันเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่?...
::: ::: :::
(อนึ่งทั้งหมดเป็นเพียงสมมุติฐานของผม ถ้าหากท่านไหนมีข้อมูลเพิ่ม หรือคิดเห็นอย่างไรก็เชิญมาพูดคุยกันได้เลยครับ 😊
ภาพแนบ: รูป อาเธอร์ ฟิลลิป ผู้นำกองเรือ The First Fleet ได้นำนักโทษขึ้นฝั่ง และพบกับชาวอะบอริจิน
:: ::: :::
สนใจอ่านเรื่องประวัติศาสตร์ สงคราม เรื่องต่างประเทศ กดติดตาม เพจ The Wild Chronicles ได้เลยนะครับ https://facebook.com/pongsorn.bhumiwat
โฆษณา