16 เม.ย. 2021 เวลา 04:19 • ประวัติศาสตร์
*** การลุกฮือ 8888” หรือที่ชาวพม่าเรียกว่า “ชิต เล โลง ***
2
สถานการณ์ที่เมียนมาร์ในปัจจุบัน ทำให้ชวนนึกถึงเหตุการณ์หนึ่งเมื่อนานมาแล้วในพม่าเมื่อราว 30 ปีก่อน…
เหตุการณ์นั้น มีผู้คนบาดเจ็บล้มตายนับหมื่น จากการลุกฮือต่อต้านเผด็จการ
เหตุการณ์นั้น ทำให้เกิดวีรสตรีขึ้นมาจากหญิงสาวผู้สูญเสียบิดาและพลัดจากบ้านเกิดเมืองนอนไปหลายปี
2
และเหตุการณ์นั้น คือฐานรากของความวุ่นวายในพม่า ณ ปัจจุบัน
เหตุการณ์ดังกล่าว มีนามว่า “การลุกฮือ 8888” หรือที่ชาวพม่าเรียกว่า “ชิต เล โลง” (เลขแปดเรียงสี่)
1
นับตั้งแต่ปี 1962 เป็นต้นมา พม่าอยู่ในการปกครองของรัฐบาลพรรคเดียว นำโดยนายพลเน วิน แห่งพรรคโครงการสังคมนิยมพม่า (BSPP) ใช้นโยบายสังคมนิยมแบบพม่า (Burmese Way to Socialism) ยึดกิจการทุกอย่างเป็นของรัฐ พึ่งตัวเองอย่างเดียว ไม่ติดต่อประเทศภายนอก รวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ใช้นโยบายเลือกปฏิบัติ เน้นสร้างอำนาจแก่ชนชาติพม่าซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ ชนกลุ่มน้อยอื่นๆ จึงไร้สิทธิไร้เสียง
7
ตอนนั้นมหาวิทยาลัย และ สถานที่ทำงาน ตลอดจนอาชีพทหาร และข้าราชการจะให้โอกาสชนชาติพม่าก่อน พรรคการเมือง (ที่มีอยู่พรรคเดียว) ก็มักรับแต่ชาวพม่า ทำให้ชนกลุ่มน้อยโกรธแค้น
2
ชนกลุ่มน้อยว้า กะฉิ่น ไทยใหญ่ จีนฮ่อ และอื่นๆ รวมกันฝ่ายโปรคอมมิวนิสต์ มีกองกำลัง 15,000 คน นอกจากนี้ยังมีกองกำลังกระเหรี่ยงและกองกำลังรัฐฉานซึ่งมีขนาดรองลงมา ประมาณการว่า รวมๆ แล้ว กลุ่มต่อต้านอาจมีกำลังทหารถึง 40,000 กระจายคนอยู่ใน 19 กลุ่ม
2
รัฐบาลพม่าทุ่มงบปราบปรามคนเหล่านี้ ทำให้ไม่มีเงินไปพัฒนาประเทศ เป็นปัญหาคาราคาซัง เพราะต่างไม่มีใครยอมใคร จนทางการพม่าติดหนี้นับล้านเหรียญ
ส่งผลให้เกิดเรื่องที่เป็นชนวนของการลุกฮือ...
วันที่ 5 กันยายน 1987 นายพลเน วิน ประกาศเลิกใช้ธนบัตรจ๊าดหลายชนิด โดยเลิกแล้วก็กลายเป็นกระดาษไปเลย ยากที่จะแลกคืนหรือเปลี่ยนเป็นธนบัตรอื่นๆ เป็นการปล้นประชาชนซึ่งๆ หน้า ทำให้คนโกรธกันมาก บอกว่าเงินที่ตัวเองออมมา หายไปกับสายลม
5
นักศึกษาลุกฮือขึ้นทั่วเมือง มหาวิทยาลัยเลยโดนปิดไปรอบหนึ่ง และในขณะเดียวกันที่เมืองมัณฑะเลย์ พระสงฆ์และผู้ใช้แรงงานก็จุดไฟเผาอาคารราชการและรัฐวิสาหกิจ แม้สื่อจะไม่ได้นำเสนอเรื่องนี้มากนัก แต่ประชาชนก็รู้กัน และจัดตั้งกลุ่มใต้ดินขึ้น
3
เหตุการณ์แย่ลงไปอีกเมื่อพม่าได้รับสถานะประเทศด้อยพัฒนาที่สุดจาก UN ในเดือนธันวาคมปีนั้น มีการประท้วงด้วยความรุนแรงหลายครั้งตามต่างจังหวัดของพม่า
3
แต่เหตุของจริง เริ่มต้นจากการที่นักศึกษาต่อยกัน...
1
ภาพแนบ: นายพล เน วิน
วันที่ 12 มีนาคม 1988 นักศึกษาจากสถาบันเทคโนโลนีแห่งย่างกุ้ง ทะเลาะกับลูกขี้เมาของนักการเมืองพรรค BSPP ครั้นลูกนักการเมืองทำร้ายเด็กมหาลัยแล้วโดนจับไป ก็ได้รับการปล่อยตัวออกมาโดยปราศจากข้อหา นักศึกษาคนอื่นๆ เลยรวมตัวกันประท้วงที่สถานีตำรวจ ก่อนจะเกิดการปะทะ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหนึ่งคน
1
เหตุการณ์นี้สร้างความโกรธแค้นให้แก่เหล่านักศึกษาทั่วทั้งประเทศ พวกเขาเริ่มประท้วง ก่อนขยายไปเรื่องอื่นๆ รวมทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการคอร์รัปชั่นของรัฐบาล ทำให้เกิดการปะทะระหว่างประชาชนและเจ้าหน้าที่ตามมามากมาย
1
การชุมนุมครั้งรุนแรงที่สุด เกิดขึ้นในวันที่ 16 มีนาคม ณ ริมทะเลสาบอินยา ทั้งคนของกองทัพและตำรวจเข้ามาจัดการนักศึกษา โดยทั้งซ้อม ทุบตี หมายจะฆ่าให้ตายโดยไม่มีการประนีประนอม
3
จากนั้นมหาวิทยาลัยก็โดนปิดยาว แต่การชุมนุมยังมีขึ้นอีก จนลามไปทั่วทั้งประเทศ ประชาชนธรรมดาและเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนมากเสียชีวิต รัฐบาลเริ่มคุมสถานการณ์ไม่ได้ ทำให้นายพลเน วิน ประกาศยินยอมลาออกในวันที่ 23 กรกฎาคมปีนั้น
นายพลเน วิน บอกว่า จะยอมให้รัฐบาลมีหลายพรรค ทว่าเขากลับเลือกผู้สืบทอดอำนาจไว้แล้ว ได้แก่นายพล เส่ง ลวิน ซึ่งเป็นคนสั่งการปราบม็อบเมื่อวันที่ 16 มีนาคม ผู้คนเลยไม่พอใจยิ่งกว่าเดิม เหมือนปากว่าตาขยิบ
1
ภาพแนบ: พระสงฆ์ที่มาร่วมประท้วง
นายพลเส่ง ลวิน หมายปราบม็อบด้วยกำลัง แต่กลุ่มนักศึกษาหากลัวไม่ พวกเขานัดชุมนุมใหญ่กันในวันที่ 8 เดือน 8 ปี 1988 เพราะเป็นฤกษ์มงคล
5
การชุมนุมเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคมที่ย่างกุ้ง นอกจากนักศึกษา ยังมีประชาชนทั่วไป พระ หมอ ครู และทหารจากกองทัพมาร่วมประท้วงด้วย แม้ในวันที่ 3 สิงหาคม รัฐบาลจะประกาศกฎอัยการศึก ห้ามชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และห้ามออกจากบ้านตั้งแต่ 2 ทุ่ม - ตี 4 แต่ประชาชนก็ไม่สะทกสะท้านแต่อย่างใด
4
การชุมนุมใหญ่เกิดขึ้นตามหมายกำหนดในวันที่ 8 เดือน 8 ทั่วทั้งพม่า ไม่ว่าจะเป็นชนกลุ่มไหน นับถือศาสนาใด ทำอาชีพอะไร อายุเท่าไหร่ ต่างก็ลุกขึ้นมารวมพลังเป็นหนึ่งเดียว ถัดต่อมาอีกสี่วัน แทนที่การชุมนุมจะสงบ กลับเพิ่มขนาดจนรัฐบาลตะลึง นายพลเส่ง ลวิน ตัดสินใจเรียกทหารมาเสริมทัพ
2
ทหารใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างโหดเหี้ยม สั่งยิงกระสุนจริงโดยไม่ยิงขึ้นฟ้าหรือยิงแก๊สน้ำตาขู่ล่วงหน้า บ้างบุกไปในโรงพยาบาล ฆ่าแม้กระทั่งหมอและพยาบาลที่รักษาผู้บาดเจ็บจากการชุมนุม เมื่อสิ้นสุดเหตุปะทะ ทางการพม่าออกมาบอกว่า มีผู้เสียชีวิต “เพียง” 95 คน และบาดเจ็บ 240 คน ขณะที่สื่อต่างชาติประมาณว่ามีจำนวนเยอะกว่านั้นมาก
2
หลังความรุนแรงผ่านพ้น นายพลเส่ง ลวิน ประกาศลาออกกะทันหันในวันที่ 12 สิงหาคม ทิ้งให้ผู้ชุมนุมสับสน แต่ก็ยินดี เพราะสถานการณ์เบาลง เจ้าหน้าที่ต่างๆ ไม่บ้าเลือดจัดการประชาชนเช่นไม่กี่วันก่อน
2
ทางด้านนายพล เน วิน ที่ยังอยู่เบื้องหลัง เล็งว่าเห็นสถานการณ์ระยะยาวคงไม่สงบลงง่ายๆ เลยผลักดันให้ ดร. หม่อง หม่อง ซึ่งเป็นพลเรือนในพรรค BSPP ขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศ เพื่อลดแรงต่อต้านลง
3
การประท้วงกลับมาอีกครั้ง 22 สิงหาคม 1988 ที่เมืองมัณฑะเลย์ มีผู้ร่วมชุมนุมนับแสนจากหลากหลายอาชีพ ส่วนที่รัฐฉานมีการเดินขบวนของชนกลุ่มน้อย แต่ยังไม่มีเหตุการณ์รุนแรงอะไรบานปลายเช่นสมัยนายพลเส่ง ลวิน
แต่แล้วในวันที่ 26 สิงหาคมนั้นเอง หญิงสาวผู้จะเปลี่ยนโฉมหน้าพม่าไปตลอดกาลก็ปรากฏตัวขึ้น…
อองซาน ซูจี บุตรสาวของนายพลอองซาน ผู้กอบกู้พม่าในกาลอดีต ออกมาปราศรัยต่อหน้าฝูงชน ณ เจดีย์ชเวดากอง เธอบอกประชาชนว่าให้แสดงพลังโดยสันติวิธีเพื่อสู้กับรัฐบาล สุนทรพจน์ของเธอจับใจผู้คน ไม่ใช่แค่ในพม่า แต่รวมถึงทั่วโลก โดยเฉพาะโลกตะวันตก ทำให้เธอกลายเป็นสัญลักษณ์ของการดิ้นรนต่อสู้ในพม่านับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
2
ภาพแนบ: อองซาน ซูจี
ล่วงถึงเดือนกันยายน สมาชิกสภาจำนวน 968 คน จาก 1080 คน โหวตให้รัฐบาลประกอบด้วยพรรคการเมืองหลายพรรคได้แต่ BSPP จะเป็นผู้จัดการเลือกตั้งเอง ทำให้หลายฝ่ายไม่พอใจ และขอมีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง ทว่า BSPP ปฏิเสธ
2
การชุมนุมจึงเกิดขึ้นอีกครั้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในวันที่ 12 กันยายน แต่คราวนี้ ทั้งตำรวจทั้งทหารก็มาอยู่ฝั่งประชาชน กลุ่มผู้ชุมนุมตั้งเป้าหมายไว้ 3 ข้อ ได้แก่
6
ชุมนุมทุกวันให้รัฐบาลเปลี่ยนใจ
สนับสนุนทหารแปรพักตร์
ให้ UN หรือสหรัฐมาสนใจและส่งกองกำลังมาแทรกแซง
1
มีทหารจำนวนหนึ่งย้ายฝั่ง ส่วนใหญ่มาจากทัพเรือ แต่ก็ไม่มากนัก และอเมริกาก็ส่งตัวแทนมาเจรจาให้ปรับปรุงการปกครอง เพราะเห็นตัวอย่างจากการประท้วงในฟิลิปปินส์และเกาหลีใต้ที่รุนแรงมา ทว่าก็ไม่ได้เกิดผลอะไรอย่างมีนัยสำคัญ
การชุมนุมเริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ประชาชนเรียกร้องความเปลี่ยนแปลง แต่แล้วกลับมีการปฏิวัติยึดอำนาจเกิดขึ้นในวันที่ 18 กันยายน โดยคณะทหาร นำโดยนายพลซอ หม่อง ซึ่งจัดตั้งสภาคณะกรรมการฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งชาติ (SLORC) ขึ้น
ประชาชนต่างลุกฮือขึ้นมาต่อต้านการกระทำนี้ นายพล ซอ หม่อง จึงโต้ตอบโดยสั่งยิงผู้ชุมนุมไม่เลือกหน้า และยึดประเทศกลับมาเป็นของตนเบ็ดเสร็จในวันที่ 21 กันยายน ช่วงนี้มีชาวพม่าและชนกลุ่มน้อยหนีมาประเทศไทยมากมาย
1
มีคนมากมายถูกฆ่าทั้งฝั่งผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่รัฐ รัฐบาลพม่าบอกว่ามีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ทั้งซีรีย์จำนวน 350 คนซึ่งน่าจะต่ำกว่าความจริงมาก
1
ไม่มีใครทราบยอดผู้เสียชีวิตที่แท้จริงคือเท่าไร แต่ว่ากันว่าอาจมีนับหมื่นคน
2
เรื่องราวของการชุมนุมครั้งนี้ ละเลงด้วยเลือดตลอดมา และจบลงด้วยเลือดเช่นกัน
ภาพแนบ: นายพล ซอ
ในสถานการณ์สิ้นหวัง วันที่ 27 กันยายน 1988 อดีตทหารกองทัพ 4 นาย และพลเรือนอีก 2 คน รวมทั้งออง ซาน ซูจี ได้ร่วมกันก่อตั้งพรรคสันนิบาติชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือ NLD ขึ้น อองซานซูจี อายุน้อยที่สุด แต่ได้รับการยอมรับไม่น้อยกว่าใคร
แน่นอนว่าพรรคการเมืองนี้ เกิดขึ้นมาต่อต้านสภาคณะกรรมการฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งชาติ ทว่ายังไม่ทันได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ซูจี กลับโดนสั่งกักบริเวณอยู่แต่บ้านพักตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี 1989
1
ถึงกระนั้น เมื่อถึงการเลือกตั้งในปี 1990 พรรค NLD ก็ได้รับคะแนนล้นหลาม โดยได้ไป 392 ที่นั่ง จากทั้งหมด 485 ที่นั่ง ทำให้กองทัพโกรธมาก และสั่งไล่ล่าพวก NLD
1
กว่าอองซาน ซูจี จะออกมาจากการกักบริเวณได้ ก็ล่วงถึงปี 2010 และเธอก็ลงเลือกตั้งในการเลือกตั้งซ่อมของพม่าในปี 2012 เป็นครั้งแรก แน่นอนว่าเธอได้รับเลือกจากประชาชนถล่มทลาย
จากนั้น ในการเลือกตั้งสามัญเมื่อปี 2015 แม้กฎหมายจะกันเธอไม่ให้เป็นประธานาธิบดี แต่เธอได้เป็นรัฐมนตรีประจำทำเนียบประธานาธิบดีพม่า ซึ่งสถานะไม่ต่างกันในที่สุด
ออง ซาน ซู จี และพรรค NLD ของเธอยังได้ครองพม่าต่อไปแม้ผ่านการเลือกตั้งอีกครั้งเมื่อปี 2020 ทว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 เธอและพรรคพวกกลับโดนผู้บัญชาการทหารสูงสุด นายพลมิน อ่อง หล่าย ยึดอำนาจตามที่ทราบกัน
1
::: ::: :::
เหตุการณ์การลุกฮือ 8888 นี้แม้ไม่สำเร็จในวันนั้น แต่ก็ทำให้เกิดผลระยะยาว เพราะมันทำให้รัฐบาลทหารต้องพยายามปรับตัว ยอมกระจายอำนาจมากขึ้น นอกจากนั้นยังเป็นตัวอย่างให้บรรดาผู้รักประชาธิปไตยกล่าวขวัญถึงอยู่เสมอ
1
มันยังคงเป็นที่จดจำ บ่อยครั้งถูกนำมาใช้เปรียบเทียบกับการลุกฮือในขณะนี้
และนี่คือเรื่องราวการต่อสู้จากอดีตที่ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน…
ภาพแนบ: การรำลึกเหตุการณ์ 8888
:: ::: :::
สนใจอ่านเรื่องประวัติศาสตร์ สงคราม เรื่องต่างประเทศ กดติดตาม เพจ The Wild Chronicles ได้เลยนะครับ https://facebook.com/pongsorn.bhumiwat
1
โฆษณา