17 เม.ย. 2021 เวลา 02:20 • การเมือง
ทู่ซี้ยาว!
การเมืองหลังสงกรานต์ ยังคงเข้มข้น ร้อนแรงไม่มีแผ่ว เมื่อชัดเจนว่ารัฐนาวาของ “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แม้จะปรับเปลี่ยนครม.มาสู่ “ประยุทธ์2/4” แล้วก็ตาม หลังผ่านพ้นการบริหารงานไปแล้วครึ่งเทอมแรก
แต่ดูเหมือนว่าความยุ่งยาก ความยากลำบากทางการเมือง ทั้ง “ศึกนอก” และ “ศึกใน” ยังคงรุมเร้า “เรือเหล็ก” ลำนี้ ไปทุกๆทาง
เมื่อความขัดแย้งทางการเมืองระหว่าง รัฐบาล กับ “ฝ่ายค้าน” กับ “มวลชน” บนท้องถนน จับมือกันเขย่า พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ตั้งแต่กลางปี 2563 ที่ผ่านมา แต่จนถึงวันนี้ บิ๊กตู่ ก็ยังไม่ยอมลาออก ตามข้อเรียกร้องของม็อบราษฎร
ขณะเดียวกัน แม้ “6พรรคฝ่ายค้าน” จะพากันใช้ “อาวุธ” ตามกลไกฝ่ายนิติบัญญัติ ตรวจสอบ รัฐบาลทั้งเกมซักฟอกไปจนถึงการตั้งกระทู้ถาม และการใช้คณะกรรมาธิการฯ ชุดต่างๆ แต่จนแล้วจนรอด ก็ยัง “โค่น” รัฐบาลไม่ลง !
แต่กระนั้นใช่ว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลจะไร้บาดแผล ไปเสียทีเดียว แม้ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายกฯกับอีก 9 รัฐมนตรี ถึงคะแนนโหวต จะผ่านฉลุย แต่ลึกๆแล้ว จะปฏิเสธได้อย่างไรว่า ไม่มีรอยร้าว ไม่มีควันหลงเกิดขึ้น เมื่อ 6ส.ส.จาก “กลุ่มดาวฤกษ์” กับ “สมพงษ์ โสภณ” ส.ส.ระยอง รวมเป็น “7 ส.ส.”ของพรรคพลังประชารัฐ ไม่ยกมือโหวต “ไว้วางใจ” ให้กับ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย
จนกลายเป็น “ความบาดหมาง” ที่ทำให้ “บิ๊กป้อม”พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ต้องลงมาเคลียร์ใจกับ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ด้วยการตั้งกรรมการขึ้นมาสอบสวนส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐ ที่ไม่โหวตสนับสนุนศักดิ์สยาม เพราะถือว่า “ผิดมารยาท”
ยิ่งล่าสุดเมื่อ เกิดกรณีที่ศักดิ์สยาม ต้องกลายเป็น “รัฐมนตรีคนแรก” ที่ติดไวรัสโควิด ซึ่งเจ้าตัวระบุว่าติดมาจากข้าราชการหน้าห้อง ที่กระทรวงคมนาคม ในท่ามกลางข้อกังขาว่าแท้จริงแล้วจะเชื่อมโยงกับ “คลัสเตอร์ทองหล่อ” ตามที่มีกระแสข่าวว่ามีคนในรัฐบาลไปเที่ยวหรือไม่ ยิ่งทำให้ “มาดามเดียร์” วทันยา วงษ์โอภาสี แกนนำกลุ่มดาวฤกษ์ ออกโรงจี้ให้ศักดิ์สยาม เปิดเผยไทม์ไลน์ เหมือนกับประชาชนคนทั่วไป เพื่อคลายข้อสงสัย และข้อครหา
ความกินแหนงแคลงใจระหว่าง ส.ส.กลุ่มดาวฤกษ์ พรรคพลังประชารัฐ ที่ขย้ำศักดิ์สยาม แกนนำจากพรรคภูมิใจไทย จะเป็นแค่ประเด็นระหว่างบุคคล หรือจะขยายวงลุกลามออกไป จนถึง “มองหน้ากันไม่ติด” ยังเป็นเรื่องที่ต้องมองกันในช็อตต่อไป
อย่างไรก็ดี “เรือเหล็ก” ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ ทำหน้าที่เป็นกัปตันถือหางเสือ ถูกจับตาจากหลายต่อหลายฝ่ายว่าความขัดแย้ง ระหว่าง “พรรคร่วมรัฐบาล” จะเกิดแรงสั่นสะเทือนมากพอที่จะล่มเรือลงได้หรือไม่ ?
เพราะต้องไม่ลืมว่า ปัญหาเก่าที่กำลังจะวนกลับมากลายเป็น “ระเบิดเวลา” ให้กับพรรคร่วมรัฐบาล ย่อมหนีไม่พ้น วาระที่ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่วันนี้จะต้องกลับมา “นับหนึ่งใหม่” หลังจากที่ร่างแก้ไข ถูกที่ประชุมรัฐสภา “โหวตคว่ำ” ในวาระ 3 มาแล้ว
แน่นอนว่าการเดินเกมแก้รัฐธรรมนูญสำหรับพรรคฝ่ายค้าน ย่อมชัดเจนมาตั้งแต่แรกแล้วว่า ต้องการ “โละ” รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่เมื่อทำได้ยาก การเสนอข้อแก้ไขเป็นรายมาตรา ก็จะยังคงพุ่งเป้าไปที่การตัดตอน “250ส.ว.” เพื่อไม่ให้มีอำนาจโหวต ให้พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็น “นายกฯสมัยที่ 3”
สำหรับพรรคฝ่ายค้านแล้วย่อมไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดหาก จะมีความเห็น อุดมการณ์และแนวทางที่ผิดแผกไปจากฝั่งรัฐบาล แต่หากสิ่งนี้เกิดขึ้นกับ “พรรคร่วมรัฐบาล” ด้วยกันเอง คงไม่ใช่สัญญาณที่ดีนัก !
ยิ่งเมื่อพรรคพลังประชารัฐ ประกาศขอเป็น “ผู้นำ” ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยการบอกชัดว่าไม่แตะอำนาจของส.ว.ในการเลือกนายกฯ ขณะที่ “3พรรคร่วม” คือประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทยและชาติไทยพัฒนา ประกาศจับมือกันเพื่อหารือ “แสวงจุดร่วม” ในการเสนอร่าง ฯซึ่ง1ในข้อเสนอที่ต้องการให้มีการแก้ไข คือการแก้ไขให้ส.ส.เท่านั้นที่มีสิทธิเลือก นายกฯเป็นหลัก
หมายความว่าข้อเสนอของ 3 พรรคร่วมรัฐบาล “สวนทาง” กับพรรคแกนนำรัฐบาลอย่างสิ้นเชิง นั่นเพราะ เป้าหมายแตกต่างกัน สุดขั้ว !
เมื่อพรรคพลังประชารัฐ มีหน้าที่ในการพิทักษ์ รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ปกป้อง “250ส.ว.”เพื่อเปิดทางให้พล.อ.ประยุทธ์ รีเทิร์น กลับมา ขณะที่ พรรคการเมืองอื่น ๆรวมถึงพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง ต่างก็หวังผลักดัน “ตัวแทน” ของพรรคตัวเองขึ้นมาชิงเก้าอี้นายกฯด้วยเช่นกัน
และแม้สถานการณ์ที่คล้ายเข้าสู่ “จุดแตกหัก” ครั้งแล้วครั้งเล่าแต่เหตุไฉน โอกาสที่ “ฝั่งตรงข้าม”รัฐบาลจึงจะไม่มีเห็น “พรรคร่วมรัฐบาล” ออกมาประกาศ “ถอนตัว” เกิดขึ้นจริง !
“รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก” ประธานคณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย ได้วิเคราะห์ถึงการดำรงอยู่ของรัฐบาล เอาไว้อย่างสนใจว่า โดยรวมต้องยอมรับว่า ฝั่งรัฐบาลมีความได้เปรียบอยู่หลายประการ คือ ความเหนียวแน่นของสภา ทั้งในส่วนของ ส.ส. และส.ว. แม้ว่าจะมี ส.ส. ส่วนหนึ่งติติงว่ากล่าวการมี ส.ว. ทำให้เกิดปัญหา หรือมีการก่อหวอดกันบ้างในสภา แต่โดยรวมความเหนียวแน่นในสภา พบว่าเขายังอยากอยู่เป็นสภา ส.ส.แต่ละคนก็ยังอยากอยู่เป็น ส.ส. ฉะนั้นการมีแรงกระเพื่อมจากข้างนอกถึงขั้นให้เกิดการยุบสภา คงจะยากอยู่
แต่ขณะเดียวกัน หากรัฐบาลยึดหลักนี้มากเกินไป จะกลายเป็นการสร้างนัยทางการเมือง ทำให้สภาไม่อยากที่จะปลดล็อก หากปล่อยไปนานก็อาจจะเกิดปัญหาได้ เพราะแรงกระเพื่อมจะเพิ่มขึ้น และการที่รัฐบาลวางเฉยไม่ทำอะไร ก็จะกลายไปเพิ่มแรงให้กับฝั่งผู้ชุมนุม
และเมื่อถามถึงโอกาส ความเป็นไปได้พรรคร่วมรัฐบาลจะขัดแย้ง จนถึงขั้น แตกหักนั้นรศ.ดร.เจษฎ์ ฟันธงว่า ต่างฝ่ายต่างจะ “ทนอยู่กันไป” ด้วยเหตุที่ความเป็นรัฐบาลนั้นเย้ายวน ใครๆก็อยากเป็นรัฐบาล อยากเป็นส.ส.ฝั่งรัฐบาล
“ถ้าแรงกระเพื่อมถ้าไม่มากพอ ไม่สามารถทำให้โยกคลอนถึงขั้นอยู่กันไม่ได้ ก็ต้องทนอยู่กันไป อยู่เป็นรัฐบาลแบบลุ่มๆ ดอนๆ หรือมีปัญหานี้ ปัญหานั้น ดีกว่าไปเสียเงินเลือกตั้งใหม่
โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เราเชื่อว่าประเทศไทยมีระบบการเลือกตั้งแบบใช้เงินกันอยู่ คนก็ไม่อยากไปเลือกตั้ง ถ้าได้เป็น ส.ส.อยู่แล้ว ไม่อยากไปเลือกตั้งหรอก ก็ทู่ซี้กันไป อยู่กันไปดีกว่า”
เรียกว่า ทนอยู่เป็นฝ่ายรัฐบาลกันไปแบบนี้ แม้จะขัดแย้งกันบ้าง แต่จะไม่เลยเถิดไปถึงขั้น “แตกหัก” เพราะเมื่อคิดคำนวณ “จุดคุ้มทุน”กันแล้ว ต้องบอกว่าห่างไกลกันลิบลับหากจะต้องมีใคร “เจาะเรือ” ให้เกิดรอยรั่ว มีแต่จะพากัน “ตายหมู่” กันหมด !
โดย:ทีมข่าวการเมือง
โฆษณา