18 เม.ย. 2021 เวลา 02:03 • ไลฟ์สไตล์
วัตถุมงคลชิ้นเอก หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว
สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์
วัดกลางบางแก้ว จังหวัดนครปฐม เป็นวัดราษฎร์เก่าแก่สร้างมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาหรือตอนปลายของยุคอู่ทอง เดิมชื่อว่า ‘วัดคงคาราม’ หรือที่ชาวบ้านมักเรียกว่า ‘วัดกลาง’ เพราะตั้งอยู่ปากคลองบางแก้ว ในปี พ.ศ.2458 สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรม พระยาวชิรญาณวโรรส ทรงประทานชื่อใหม่ว่า “วัดกลางบางแก้ว” ตรงกับสมัยที่พระพุทธวิถีนายก (บุญ ขนฺธโชติ) เป็นเจ้าอาวาส นับแต่นั้นมาจึงใช้ชื่อวัดกลางบางแก้วเป็นทางราชการมาตราบจนปัจจุบัน
วัดกลางบางแก้ว นับเป็นวัดที่มีชื่อเสียงและเป็นที่เคารพศรัทธาของพุทธศาสนิกชนมาโดยตลอด เนื่องด้วยเจ้าอาวาสทุกรูปที่ปกครองดูแลวัด อันประกอบด้วย หลวงปู่บุญ, หลวงปู่เพิ่ม, หลวงปู่เจือ และหลวงปู่บุญช่วย เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ล้วนเป็นพระภิกษุที่ทรงไว้ซึ่งศีลาจารวัตรและปกครองดูแลพัฒนาวัดให้รุ่งเรืองอย่างสืบเนื่องเรื่อยมา ส่งเสริมพระบวรพุทธศาสนาให้คงอยู่ยืนยาวสืบไป น้อมนำให้พุทธศาสนิกชนแวะเวียนกันเข้าวัด ฟังเทศน์ฟังธรรม ร่วมทำบุญทำทานกันอย่างเนืองแน่น
หลวงปู่บุญ ขนฺธโชติ
กล่าวถึง หลวงปู่บุญ ขนฺธโชติ เจ้าอาวาสรูปแรก ท่านเป็นชาวกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร เกิดเมื่อปี พ.ศ.2391 โยมบิดา-มารดาชื่อ นายเส็งและนางลิ้ม ศึกษาร่ำเรียนอักขระสมัยเบื้องต้นกับพระปลัดทอง วัดคงคาราม (วัดกลางบางแก้ว) จนอายุ 15 ปี จึงบรรพชาเป็นสามเณร อายุได้ 22 ปี อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดกลางบางแก้ว โดยมี พระปลัดปาน วัดพิไทยทาราม (วัดตุ๊กตา) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระปลัดทอง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระอธิการทรัพย์ วัดงิ้วราย เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา ‘ขนฺธโชติ’
หลวงปู่บุญตั้งใจศึกษาพระปริยัติธรรมและพุทธาคมจนแตกฉานเชี่ยวชาญ ปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดในสมณเพศ เป็นที่เคารพศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชน จนในปี พ.ศ.2429 ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดกลางบางแก้ว ท่านได้พัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรือง ปฏิบัติสังฆกิจต่างๆ เพื่อเผยแผ่และสืบทอดพระพุทธศาสนา ตามหลักธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากนี้ ท่านยังเป็นพระนักปฏิบัติมุ่งธุดงควัตรและเจริญวิปัสสนากรรมฐาน จนได้รับการยกย่องให้เป็นพระเกจิยอดเยี่ยมแห่งยุค แม้ สมเด็จพระสังฆราช (แพ) แห่งวัดสุทัศนเทพ วราราม หรือ ท่านเจ้าคุณพระสุนทรสมาจารย์ (พรหม) วัดกัลยาณมิตร ยังให้ความเคารพศรัทธา
พระพิมพ์เศียรโล้นปรกโพธิ์สะดุ้งกลับ เนื้อผงยาจินดามณี
พระพิมพ์รัศมี เนื้อผงยาจินดามณี
สมณศักดิ์ของหลวงปู่บุญ ในปี พ.ศ.2431 เป็นพระกรรมวาจาจารย์, ปี พ.ศ.2442 เป็นเจ้าคณะอำเภอ, ปี พ.ศ.2459 เป็นพระอุปัชฌาย์ และเป็นที่พระครูสัญญาบัตรที่พระครูอุตรการบดี และดำรงตำแหน่งเจ้าคณะแขวง, ปี พ.ศ.2462 เป็นที่พระครูพุทธวิถีนายก ตำแหน่งประธานกรรมการคณะสงฆ์จังหวัดนครปฐม สมุทรสาคร และสุพรรณบุรี, ในปี พ.ศ.2472 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ในราชทินนามเดิมที่พระพุทธวิถีนายก ท่านมรณภาพในปี พ.ศ.2478 สิริอายุ 87 ปี พรรษาที่ 65
หลวงปู่บุญ เป็นพระเกจิอาจารย์ผู้โด่งดังและเป็นที่เคารพเลื่อมใสมากรูปหนึ่งของจังหวัดนครปฐม ประการสำคัญ ท่านเป็นต้นตำรับ “ยาจินดามณี” ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น "ยาวาสนา" ที่ผู้ใดได้รับประทานก็จะเกิดสิริมงคลอย่างยิ่ง และตราบจนปัจจุบันวัตถุมงคลต่างๆ ของวัดกลางบางแก้วก็ยังคงใช้ "ผงยาจินดามณี ตำรับหลวงปู่บุญ” เป็นส่วนผสมในเนื้อหามวลสาร และยังคงไว้ซึ่งพุทธคุณแก่กล้าดั้งเดิม
เหรียญปั๊มพระพุทธชินราช
เหรียญเจ้าสัว
วัตถุมงคลที่หลวงปู่บุญสร้างนั้นมีมากมาย อาทิ พระหลวงปู่บุญ เจ้าสัว รุ่นแรก, พระหลวงปู่บุญ พิมพ์เศียรโล้นสะดุ้งกลับ เนื้อผงยาจินดามณีและเนื้อดิน หรือแม้แต่เครื่องรางของขลังและเบี้ยแก้ต่างๆ ซึ่งล้วนทรงพุทธานุภาพเป็นที่ยอมรับและนิยมสะสมของบรรดาลูกศิษย์ลูกหาและนักนิยมสะสมพระเครื่องและเหรียญคณาจารย์มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เนื่องด้วยความเลื่อมใสศรัทธาในหลวงปู่บุญและพุทธานุภาพที่ปรากฏประจักษ์ แต่ที่นับได้ว่าเป็นวัตถุมงคลชิ้นเอกของท่าน ซึ่งนับวันจะหายากยิ่งและเป็นที่แสวงหาอย่างสูง นั่นคือ "เหรียญพระพุทธชินราช" ซึ่งเป็นเหรียญปั๊มรูปเหมือนที่หลวงปู่บุญสร้างเป็นครั้งแรกและครั้งเดียว ทั้งยังได้รับการยกย่องว่าเป็นเหรียญจำลองพระพุทธชินราชเหรียญหนึ่งที่มีความงดงามมาก สนนราคา ณ ปัจจุบันกระโดดไปถึงหลักแสนปลายๆ ถึงล้านแล้วครับผม
เม็ดยาจินดามณี
เหรียญพระพุทธชินราช หลวงปู่บุญ
โฆษณา