19 เม.ย. 2021 เวลา 00:15 • การเมือง
มองไทย มองพม่า และมองตัวแบบ “เสรีประชาธิปไตย” ผ่านเลนส์ทฤษฎีการปกครองแบบผสม
ถ้าพิจารณาการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองของไทยภายใต้กรอบความคิด “unilinear” การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทย พ.ศ. 2475 ย่อมเข้า ข่ายการเปลี่ยนแปลงในเชิงพัฒนาการความก้าวหน้า นั่นคือ การสิ้นสุดของระบอบโบราณอย่างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบ “ประชาธิปไตย” ซึ่งจะ “เสรี” แค่ไหนใน พ.ศ. 2475 ก็ต้องพิจารณาจากเกณฑ์ของความเป็น “เสรี ประชาธิปไตย” ซึ่งก็ยังมีเกณฑ์ในลักษณะที่เป็นเกณฑ์พื้นฐาน (basic) และ เกณฑ์ในลักษณะที่ก้าวหน้า (advance)
และแน่นอนว่าหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จะพบกับปรากฏการณ์ทางการเมือง ที่ศาสตราจารย์ ดร. ยศ สันตสมบัติ เรียกว่าอาการ “การแกว่งไปแกว่งมา” หรือ “เหวี่ยงไปเหวี่ยงมา” (momentum) ซึ่งปรากฏการณ์ที่ว่านี้ ถ้าวินิจฉัย (diagnose) ภายใต้กรอบ แนวคิดแบบ “unilinear” ที่เชื่อในแบบแผนพัฒนาการความก้าวหน้า (progress) ก็อาจจะลงความเห็นได้ว่าเป็นอาการถดถอย (regress) หรือ “ถอยหลังเข้าคลอง” เป็นอาการที่ไม่พึงประสงค์และไม่ควรจะเกิดขึ้น
ขณะเดียวกัน ยศก็ได้กล่าวถึง กรอบคิดที่เกิดจากการศึกษาสังคมการเมืองพม่าของนักมานุษยวิทยาชั้นนำ ชาวอังกฤษอย่าง Edmund Leach ที่อ้างถึงลักษณะเฉพาะตัว (uniqueness) ของ การเมืองพม่า นั่นคือ ปรากฏการณ์การแกว่งตัวไปมา (oscillation) ของ ขั้วอำนาจทางการเมือง ซึ่ง ยศ เห็นว่า หากนำตัวแบบเฉพาะดังกล่าวของ Leach มาพิจารณาการเมืองไทย ก็จะพบข้อมูลเชิงประจักษ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงการแกว่ง ไปมาระหว่างเผด็จการกับประชาธิปไตยวนเวียนไปมาตลอดระยะเวลาแปดสิบกว่า หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองที่มีการทำรัฐประหารเป็นช่วงๆ
ยศ จึงชี้ชวนให้ตั้ง คำถามกับการใช้กรอบแนวคิดแบบ “unilinear” ในการพิจารณาศึกษาการเมือง ไทย
ขณะเดียวกัน หากเชื่อหรือสมาทานในตัวแบบเฉพาะของปรากฏการณ์การแกว่งตัวของอำนาจการเมือง ยศ ก็ตั้งคำถามต่อความชอบธรรมในการพยายามทำวิจัยในโครงการแนว “ออกแบบประเทศไทย” (redesigning Thailand) ว่าจะเป็น ประโยชน์เพียงใด หากในที่สุดแล้ว ความเป็นจริงหรือเงื่อนไขของการเมืองไทย (หรือพม่าด้วย) คือ การต้องดำรงอยู่ในลักษณะของการแกว่งตัวไปมาดังกล่าวนี้ตลอดไป
ผู้เขียนเห็นว่า การตั้งประเด็นข้อสงสัยและการนำเสนอของ ยศ ทำให้เห็นกรอบแนวคิดใหญ่ ๆ ที่ขัดแย้งแตกต่างกันนั่นคือกรอบมุมมองในแบบ “unilinear” และกรอบ มุมมองในแบบ “ลักษณะเฉพาะตัว” (uniqueness) ในแบบการแกว่งตัวไปมาของอำนาจทางการเมือง (oscillation) ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในทางวิชาการทางสังคมศาสตร์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อประเด็นปัญหาเรื่องดุลอำนาจ ทางการเมืองของไทย ผู้เขียนตระหนักว่า มุมมองทั้งสองนี้มีทั้งจุดอ่อนและจุดแข็ง ซึ่งก็เป็นที่รับรู้กันอยู่แล้วในหมู่นักวิชาการทางสังคมศาสตร์ นั่นคือ จุดแข็งของมุมมองแบบ “unilinear” อยู่ที่การมีอยู่ของสิ่งที่เรียกว่า “มาตรฐานความ ก้าวหน้าที่เป็นสากล” ของสังคมมนุษย์ ส่วนข้อเสียก็คือส่วนกลับของข้อดี นั่นคือ หากสังคมใดดำรงอยู่อย่างแตกต่างจาก “มาตรฐานความก้าวหน้า” ที่มักจะถูกกำหนดขึ้นโดยประเทศตะวันตกที่เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจการเมือง ก็จะถูกพิพากษาว่า “ด้อยพัฒนา” “ล้าสมัย” “ต่ำกว่ามาตรฐาน” และ “ถดถอย”
ส่วนจุดแข็งของมุมมองในแบบ “uniqueness” คือ การยอมรับในความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งวัฒนธรรมในที่นี้กินความหมายที่กว้างขวางที่สุด โดยรวมถึงวิถีเศรษฐกิจสังคมและการเมือง ส่วนจุดอ่อนคือ การไม่สามารถ กำหนดมาตรฐาน วิถีหรือแบบแผนที่ดีหรือที่ควรจะเป็นหรือเกิดขึ้นสำหรับสังคมมนุษย์โดยรวมได้เลย และภายใต้มุมมองแบบเฉพาะตัวที่ว่านี้ ไม่สามารถประเมินได้ว่า การแกว่งตัวไปมาของอำนาจทางการเมืองบ่งบอกถึงความก้าวหน้า (progress) หรือความถดถอย (regress) แต่ประการใด
ขณะเดียวกัน ยิ่งกว่านั้น ลักษณะ เฉพาะตัวที่ว่านี้ไม่ได้มีเพียงแค่ปรากฏการณ์การแกว่งตัวไปมาของอำนาจทางการเมืองที่ Leach พบในการเมืองพม่าหรือที่เราอาจจะมองการเมืองไทยเท่านั้น แต่ลักษณะเฉพาะตัวทางการเมืองของสังคมต่างๆ ในโลกนี้อาจจะแตกต่างหลากหลายกันไปในรูปลักษณ์ต่างๆ
1
ขณะเดียวกัน หากนำกรอบมุมมองทั้งสองมา พิจารณาในรายละเอียดทางประวัติศาสตร์อย่างจริงจังและระมัดระวัง จะพบข้อสังเกตที่น่าสนใจ อย่างในกรณีของกรอบมุมมองในแบบ “unilinear” ที่ปรากฏ ในงานของ นักรัฐศาสตร์อย่าง Francis Fukuyama ที่มองว่าระบอบการเมืองการปกครองต่างๆ อาทิ ระบอบ พระมหากษัตริย์ที่สืบสายโลหิต, ฟาสซิสม์ และคอมมิวนิสม์ ล้วนวิวัฒนาการมาสู่ เป้าหมายสุดท้ายเดียวกัน นั่นคือระบอบเสรีประชาธิปไตย (liberal democracy)
แต่ขณะเดียวกัน ระบอบเสรีประชาธิปไตยก็ยังมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ดังที่กล่าวไปข้างต้นแล้วอันได้แก่ ระบอบประธานาธิบดี ระบอบรัฐสภาที่มี พระมหากษัตริย์เป็นประมุข และระบอบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี โดยมี สหรัฐอเมริกา อังกฤษและฝรั่งเศสเป็นต้นแบบของระบอบทั้งสามนี้ตามลำดับ โดยระบอบประธานาธิบดีถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในประเทศที่เพิ่งเกิดใหม่อย่าง สหรัฐอเมริกา ด้วยเหตุผลที่สหรัฐอเมริกาปฏิเสธรูปแบบการปกครองที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่สืบสายโลหิต ไม่ว่าจะเป็นระบอบที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญหรือระบอบรัฐสภาที่มีอังกฤษเป็นต้นแบบ ทั้งนี้มิพักต้องพูดถึง ระบอบพระมหากษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์
ส่วนอังกฤษนั้นได้ผ่าน สงครามกลางเมืองระหว่าง ค.ศ. 1642-1649 และมีการปฏิวัติโค่นล้มสถาบัน พระมหากษัตริย์ไปแล้ว และอังกฤษยังได้ผ่านช่วงเวลาที่ปกครองโดยสามัญชน ที่คล้ายกับตำแหน่งประธานาธิบดีมาแล้ว แต่ในที่สุดก็ต้องฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์กลับขึ้นมาอีกและพัฒนาไปสู่ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ
ส่วนฝรั่งเศส หลังการปฏิวัติ ค.ศ. 1789 ได้ผ่านช่วงเวลาของการปกครองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระบอบที่อำนาจอยู่สภาประชาชนโดยไม่มีตำแหน่ง ผู้นำฝ่ายบริหาร หรือระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญแบบอังกฤษ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จนั่นคือขาดเสถียรภาพและประสิทธิภาพทางการเมือง จนในที่สุดมาลงเอยด้วยระบอบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี
จากตัวแบบหลักสามแบบที่แตกต่างกันแต่อยู่ร่วมกันภายใต้ชื่อ “เสรีประชาธิปไตย” เราจะสามารถใช้กรอบมุมมอง “unilinear” ในการอธิบาย ตัวแบบการปกครองทั้งสามนี้ได้อย่างเต็มปากเต็มคำแค่ไหนและเพียงไร โดยไม่ คำนึงถึง “ลักษณะเฉพาะตัว” ของแต่ละประเทศ ?
นอกเสียจากว่าจะมีเหตุผล ข้อโต้แย้งว่า ในที่สุดแล้วตัวแบบที่แตกต่างกันทั้งสามนี้จะต้องลงเอยด้วยตัวแบบใดตัวแบบหนึ่งเท่านั้น อย่างที่มีการให้เหตุผลว่าในที่สุดแล้วสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐสภาหรือที่เรียกว่าระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ จะต้องสิ้นสุดลงและลงเอยด้วยระบอบประธานาธิบดีหรือระบอบกึ่งรัฐสภา กึ่งประธานาธิบดี เพราะระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นเพียงระบอบในช่วงของการเปลี่ยนผ่านจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่เป้าหมาย สุดท้าย นั่นคือระบอบเสรีประชาธิปไตยที่ปราศจากซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์
แต่กระนั้นก็มีการให้เหตุผลข้อโต้แย้งว่า การปกครองในแบบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องเป็นเพียงแค่ทางผ่านจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไปสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ แต่การปกครองแบบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญสามารถเป็นระบอบการปกครองที่มีคุณค่าเฉพาะในตัวระบอบเองที่แตกต่างจากคุณค่าของระบอบประชาธิปไตยในรูปแบบอื่น ๆ แต่กระนั้น ก็ยังสามารถบรรลุหลักการของเสรีประชาธิปไตยได้ และถือได้ว่าอยู่ภายใต้ระบอบเสรีประชาธิปไตยร่วมกัน ซึ่งหลักเสรีประชาธิปไตยนี้ถือกำเนิดขึ้นในบริบทสมัยใหม่ และมีความแตกต่างอย่างสำคัญและชัดเจนจากประชาธิปไตยกรีกโบราณที่เอเธนส์
ดังนั้น จากที่กล่าวมานี้ กรอบมุมมองในแบบ “unilinear” ก็ยังมีความถูกต้องชอบธรรมอยู่ในระดับหนึ่ง
ในอีกด้านหนึ่ง การยึดกรอบมุมมองในแบบ “ลักษณะเฉพาะตัว” (uniqueness) ในแบบของการแกว่งไปมาของอำนาจ ทางการเมืองระหว่างเผด็จการกับประชาธิปไตยที่พบได้ในพม่าหรือในไทยด้วย ก็ตามนั้น หากยืนยันตามมุมมองดังกล่าว คำตอบที่ได้ก็คือ สังคมพม่าและไทย จะไม่มีทางวิวัฒน์ไปสู่ระบอบเสรีประชาธิปไตยได้เลย
ขณะเดียวกัน ก็อาจมีผู้ตั้งคำถามว่า การแกว่งไปมาของอำนาจทางการเมืองนั้นได้เริ่มเกิดขึ้นเมื่อใด ถ้าไม่ใช่ในยุคสมัยใหม่ที่แนวคิดหลักการเสรีนิยมเริ่มมีอิทธิพลในสังคมดังกล่าวแล้ว เท่านั้น ? ซึ่งหมายความว่าสภาวการณ์การแกว่งตัวนี้เกิดขึ้นจากการเริ่มเปลี่ยนแปลงหรือเคลื่อนตัวจากระบอบเก่าไปสู่ระบอบใหม่แล้วเท่านั้น ยกเว้น เสียแต่ว่าสภาวการณ์การแกว่งตัวนี้ดำเนินเกิดขึ้นมาในระบอบเดิมก่อนแล้ว ในฐานะที่เป็น “ลักษณะเฉพาะตัว” ของสังคมการเมือง ดังนั้น การจะยึดถือ เฉพาะกรอบมุมมองในแบบ “ลักษณะเฉพาะตัว” เท่านั้นในการอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองของพม่าหรือไทยก็ไม่ถือว่ามีความชอบธรรมทั้งหมดเสียทีเดียวเช่นกัน
ดังนั้นผู้เขียนเห็นว่าในการศึกษาการเมืองการปกครองของแต่ละสังคม จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะนำมุมมองทั้งสองแบบ นั่นคือ “unilinear” และ “uniqueness” มาพิจารณาทำความเข้าใจ ขณะเดียวกัน ผู้เขียนเห็นว่า มีทฤษฎีเกี่ยวกับระบอบหรือรูปแบบการปกครองที่ช่วยให้เราเข้าใจปรากฏการณ์ หรืออาการ “การแกว่งตัวไปมา” ในการเมืองการปกครองของสังคม ทฤษฎีที่ว่า นี้คือทฤษฎีระบอบการปกครองแบบผสม (the theory of the mixed constitution)13 และแม้ว่าทฤษฎีการปกครองแบบผสมจะถือกำเนิดขึ้นจากทฤษฎี การเมืองกรีกโบราณ แต่ก็ถูกมองว่ามีอิทธิพลจวบจนถึงการเมืองสมัยใหม่ ดังที่ Kurt von Fritz ได้อ้างว่า “ไม่มีส่วนใดในทฤษฎีการเมืองโบราณที่จะมีอิทธิพล ต่อทฤษฎีและภาคปฏิบัติทางการเมืองในยุคสมัยใหม่มากเท่ากับทฤษฎีรูปแบบ การปกครองแบบผสม (mixed constitution)”
ทฤษฎีการปกครองแบบผสมนี้มีรากฐานความคิดจากการพิจารณาจัดแบ่งตัวแบบหรือแบบอันบริสุทธิ์สมบูรณ์ (pure form) ของรูปแบบการปกครองออกเป็น 3 แบบ อันได้แก่ 1. รูปแบบการปกครองที่อำนาจทางการเมืองอยู่ที่คนๆเดียว (the One) 2. รูปแบบ การปกครองที่อำนาจทางการเมืองอยู่ที่กลุ่มคน (the Few) และ 3. รูปแบบ การปกครองที่อำนาจทางการเมืองอยู่ที่มหาชน (the Many)
และภายใต้มุมมองของทฤษฎีการปกครองแบบผสมพบว่า รูปแบบการปกครองในแต่ละแบบทั้งสามแบบนี้มีปัญหาในด้านเสถียรภาพและความมั่นคง และมักเกิดปรากฎการณ์ที่อำนาจทางการเมืองแกว่งตัวไปมาระหว่างการที่อำนาจอยู่ที่คน ๆ เดียว, กลุ่มคน และมหาชน อันนำไปสู่กรอบคิดเรื่องวัฎจักรของรูปแบบการปกครอง (the cyclical change of constitutions) ที่อำนาจทางการเมืองแกว่งวนไปมาในสาม รูปแบบดังกล่าว ซึ่งจากการพิจารณาการจัดแบ่งรูปแบบการปกครองและการเล็งเห็นปัญหาความไร้เสถียรภาพที่เป็นผลมาจากประสบการณ์ทางการเมืองการปกครองของชนชาวกรีกโบราณ ทำให้ “นักรัฐศาสตร์คลาสสิก” เสนอทฤษฎีรูปแบบการปกครองแบบผสมที่ยอมรับให้มีการแชร์อำนาจกันระหว่างคนๆเดียว, กลุ่มคนและมหาชน และหาทางที่ให้เกิดสมดุลพอดีและการจัดวางให้ส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นแกนของระบอบโดยผันแปรไปตามเงื่อนไขของบริบททางสังคมเศรษฐกิจของแต่ละประเทศมากกว่าที่จะเทอำนาจไปที่ส่วนใดส่วนหนึ่งไปเลย อันจะทำให้ยุติหรือลดทอนสภาวะการแกว่งหรือเหวี่ยงตัวอย่างรุนแรงทางการเมืองลงไปได้
บทความพิเศษ
โดย:ไชยันต์ ไชยพร
โฆษณา