20 เม.ย. 2021 เวลา 04:52 • ความคิดเห็น
🔖ไทยขึ้นอันดับ 1 อาเซียนของการฆ่าตัวตาย🔖
ยอดผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุช่วง 7 วันอันตราย สงกรานต์ปี 2564 มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 2,365 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 2,357 คน และเสียชีวิตทั้งสิ้น 277 คน
ยอดผู้เสียชีวิตสะสมจากการระบาดของโรคโควิด-19 จนถึง วันที่ 19 เมษายน 2564 มีจำนวน 101 คน
ส่วนสถิติการฆ่าตัวตายของคนไทยจากข้อมูลของ world populationreview.com ได้ขยับเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน และเป็นอันดับที่ 32 ของโลกแล้ว
ตัวเลขการฆ่าตัวตายของคนไทยในปี 2019 ต่อประชากร 1 แสนคนคือ 14.4 คน สูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน
cr: Voice TV มองโลกมองไทย
จากข้อมูลในกราฟจะเห็นได้ว่าสถิติการฆ่าตัวตายของคนในโลกอยู่ในอัตราที่สูง และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นอีกจากผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19
เราจะเคยชินกับข้อมูลที่ว่าคนญี่ปุ่นมีการฆ่าตัวตายในอัตราที่สูงอยู่แล้ว พอมีวิกฤตโรคระบาดก็กดดันทำให้สถิติการฆ่าตัวตายยิ่งสูงขึ้นอีก
จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการของญี่ปุ่นพบว่าสถิติการฆ่าตัวตายของคนญี่ปุ่นในปี 2020
มีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย 20,919 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2019 +3.7%
ส่วนผู้ที่เสียชีวิตจากโควิด-19 คือ 3,460 คน ซึ่งน้อยกว่าการฆ่าตัวตายถึงประมาณ 6 เท่า
ซึ่งจากข้อมูลผู้ที่ฆ่าตัวตายเป็นส่วนใหญ่คือผู้หญิงและเด็ก ทั้งนี้ญี่ปุ่นก็ยังมีสถิติการฆ่าตัวตายน้อยกว่าประเทศเกาหลีใต้ซึ่งอยู่ในภูมิภาคเดียวกัน
ซึ่งสาเหตุหลักก็น่าจะมาจากวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 นั่นเอง
อัตราการฆ่าตัวตายในผู้หญิงชาวญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นถึง 14% ปัจจัยสำคัญนอกจากโรคโควิด-19แล้ว ปัญหาทางเศรษฐกิจ ภาวะความเครียด และความรุนแรงในครอบครัว ก็มีส่วนกระตุ้นให้อัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นด้วย
ผู้หญิงในประเทศญี่ปุ่นต้องแบกรับภาระในครอบครัวมาเป็นเวลายาวนาน และปัจจุบันมีภาวะการว่างงานเพิ่มมากขึ้น การจ้างงานลดลง มีการถูกเลิกจ้าง แต่ภาระการเลี้ยงดูลูกและค่าใช้จ่ายต่างๆยังคงต้องรับภาระเหมือนเดิม ทำให้เกิดความเครียด นำไปสู่การตัดสินใจฆ่าตัวตาย
สำนักข่าว NHK รายงานตัวเลขการปลดคนงานเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ในเดือน เมษายน-ธันวาคม 2020
🔻ผู้หญิง ถูกปลดจากงาน 26%
🔻ผู้ชาย ถูกปลดจากงาน 19%
สะท้อนภาพความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างการฆ่าตัวตายและสภาพสังคม ไม่ใช่เรื่องเฉพาะตัวเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพส่วนบุคคลเพียงอย่างเดียว
นอกจากนั้นปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ปัญหาการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศชายและหญิงก็กดดันให้คนที่ถูกเลือกปฏิบัติมีสภาวะความเครียดสะสมเกิดขึ้น
สำหรับการนำเสนอหรือการวิเคราะห์สาเหตุการฆ่าตัวตายในประเทศไทยยังไม่ค่อยได้รับความสนใจมากนัก จะเห็นได้ว่าข่าวการที่ไทยขึ้นสู่อันดับ 1 ของอาเซียนในเรื่องนี้ก็ถูกวิเคราะห์อย่างละเอียดและนำเสนอโดยสื่อของประเทศสิงคโปร์
สถิติการฆ่าตัวตายในกลุ่มประเทศอาเซียนปี 2019
cr: Voice TV มองโลกมองไทย
ประเทศฟินแลนด์เป็นประเทศที่ได้รับการจัดอันดับว่าเป็นประเทศที่ผู้คนมีความสุขที่สุดในโลกในปี 2020 และอยู่ในตำแหน่งนี้มาแล้วถึง 8 ปี
แต่อัตราการฆ่าตัวตายของคนฟินแลนด์กลับสูงเป็นอันดับ 23 ของโลก ซึ่งสวนทางกันกับการเป็นประเทศที่มีความสุขที่สุด
มีนักวิเคราะห์ให้ความเห็นไว้ว่าสาเหตุน่าจะมาจากสภาพภูมิอากาศ การมีฤดูหนาวที่ยาวนาน การไม่ค่อยได้เห็นสภาพอากาศที่แจ่มใส แสงแดดมีน้อย ทำให้จิตใจเศร้าหมอง ทำให้เห็นรอยยิ้มได้น้อยลง อารมณ์เชิงบวกก็น้อยลงตามไปด้วย
เนื่องจากประเทศฟินแลนด์มีเนื้อที่กว้าง ประชากรกระจายตัว และนโยบายของภาครัฐก็ส่งเสริมให้คนฟินแลนด์อยู่แต่กับบ้านอยู่กับครอบครัวเป็นหลัก
มีการวิเคราะห์ว่าความเหลื่อมล้ำทางด้านเทคโนโลยีก็มีส่วนกดดันให้คนฟินแลนด์รู้สึกเปรียบเทียบตนเองกับคนที่ประสบความสำเร็จมากกว่า
ถึงแม้สวัสดิการของคนฟินแลนด์จะดีมากแต่ก็จะถูกกดดันให้ต้องออกไปทำงาน คนที่ไม่มีงานจะต้องถูกนำเข้าสู่กระบวนการ reskill เพื่อให้ต้องออกไปทำงาน อีกทั้งความรู้สึกโดดเดี่ยวและ ไลฟ์สไตล์เฉพาะของคนแถบภูมิภาคนี้ก็มีส่วนให้เกิดภาวะเครียดได้เช่นเดียวกัน
🔻สำหรับข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทย ในปี 2018 อัตราการฆ่าตัวตายของคนไทยทั้งประเทศอยู่ที่ 6.34 คนต่อประชากรแสนคน
🔻คนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จ
เป็นชาย 4,137 คน (80%)
เป็นหญิง 810 คน (20%)
🔻ผู้ที่ทำร้ายตนเองจนเสียชีวิต
345 รายต่อเดือน หรือ
11.5 คนต่อวัน
🔻เดือนที่การฆ่าตัวตายมากที่สุดคือเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคม
🔻ช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 (มกราคม-มิถุนายน)
มีผู้เสียชีวิต 2,551 คน เพิ่มขึ้น +22% จากปี 2019
🔻เฉลี่ยเดือนละ 425 คน หรือ วันละ 14.17 คน
ประชากรกลุ่มที่เปราะบางจะเกิดการฆ่าตัวตายคือ
🔻ผู้ที่มีปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว
🔻ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ กลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง ปัญหาสุขภาพจิต ปัญหาโรคซึมเศร้า
🔻กลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง ปัญหาหนี้สินท่วมท้น ประสบปัญหาการขาดทุน ล้มละลาย หรือปิดกิจการเป็นต้น
สำหรับการให้บริการปัญหาสุขภาพจิตของภาครัฐก็มีการให้คำปรึกษาทางสายด่วนแต่ก็มีบุคคลากรไม่มากเพียงพอทำให้ผู้ใช้บริการต้องรอสายนาน
สำหรับปัญหาการฆ่าตัวตายนี้เป็นเรื่องที่ยังไม่ได้มีการสร้างระบบขึ้นมารองรับอย่างจริงจัง เพียงแต่ให้ญาติพี่น้องดูแลกันไปตามสภาพความเป็นอยู่ของแต่ละคนเท่านั้น
คนที่มีปัญหาสุขภาพกายนั้นเราสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ระดับหนึ่งแล้ว ปัจจุบันมีร้านขายยาที่พร้อมจะให้บริการครอบคลุมทุกพื้นที่
เรามีคลีนิค เรามีสถานพยาบาลในชุมชน มีโรงพยาบาลของภาครัฐและโรงพยาบาลของภาคเอกชนที่พร้อมจะให้บริการผู้ป่วยทางกายได้อย่างดีพอสมควร
แต่สำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต การให้บริการเชิงระบบอย่างนั้นยังทำได้ไม่เป็นรูปธรรมนัก ด้วยเหตุผลที่ว่าอาการป่วย หรือการมีปัญหาทางสุขภาพจิตนั้นไม่ได้สร้างปัญหาหรือวินิจฉัยได้ชัดเจนเหมือนโรคทางกาย
การจะแยกแยะปัญหาจึงทำได้ยากพูดง่ายๆก็คือคนป่วยกับคนไม่ป่วยนั้นแยกแยะค่อนข้างยากต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความชำนาญพอสมควรจึงจะระบุให้ชัดเจนลงไปได้
ดังนั้นคนที่มีปัญหาสุขภาพจิตจะรู้อีกทีก็เป็นผู้ป่วยจิตเวชไปแล้ว นั่นหมายถึงอาการจะหนักแล้วต้องเข้าไปรับการบำบัดทันที อย่างนี้การแก้ปัญหาก็จะล่าช้าเกินไป
การฆ่าตัวตายมักมีสาเหตุมาจากความเครียดที่สะสมซึ่งต้องใช้เวลายาวนานกว่าจะถึงฟางเส้นสุดท้าย
ดังนั้นคนใกล้ตัวจึงมีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะสามารถรู้ล่วงหน้าได้ถึงความผิดปกติเชิงพฤติกรรมของผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตได้ก่อนใคร
เมื่อสังเกตเห็นความผิดปกติต้องรีบปรึกษาคนที่มีส่วนร่วม ทั้งพ่อแม่ ครูอาจารย์ เพื่อนฝูง จะได้ร่วมกันป้องกันแก้ไขหาสาเหตุเพื่อไม่ให้เกิดการตัดสินใจฆ่าตัวตายได้ทันท่วงที
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
-Voice TV รายการมองโลกมองไทย
-สำนักข่าว NHK ประเทศญี่ปุ่น
-กระทรวงสาธารณสุขประเทศไทย
-กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ ประเทศญี่ปุ่น
โฆษณา