21 เม.ย. 2021 เวลา 12:37 • สุขภาพ
วัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้ชื่อว่าเป็น “ความหวังของมนุษยชาติ” ในการพลิกฟื้นการใช้ชีวิตตามปกติก่อนหน้าที่จะเกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลกกลับมาได้อีกครั้ง
เพราะเชื่อกันว่าวัคซีนสามารถสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นในร่างกาย ซึ่งจะนำไปสู่สภาวะ “ภูมิคุ้มกันหมู่” หรือ “เฮิร์ดอิมมูนิตี” ที่มากเพียงพอต่อการยับยั้งหรือจำกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นี้ได้
นั่นไม่ได้มีความหมายเพียงแค่การใช้ชีวิตประจำวันเท่านั้น หากแต่ยังมีความหมายถึงความเป็นอยู่ของผู้คน เมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ตั้งแต่โรงงานการผลิต เรื่อยไปจนถึงการจับจ่ายใช้สอยหรือการท่องเที่ยว สามารถกลับมาดำเนินไปได้อีกครั้ง ซึ่งสำคัญใหญ่หลวงนัก
แต่การกระจายวัคซีนในทุกประเทศทั่วโลกคือความท้าทายใหญ่โตไม่แพ้กัน เนื่องจากวัคซีนโดยรวม มีจำนวนจำกัด แต่ความต้องการวัคซีนมีสูง ผลก็คือเกิดปรากฏการณ์ “ความเหลื่อมล้ำทางวัคซีน” ขึ้นอย่างช่วยไม่ได้ ทั้งในระดับประเทศและในระดับโลก
จนถึงขณะนี้ มีประชากรรวมทั่วทั้งโลกได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไปแล้วเพียง 6.42 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ในเวลาเดียวกัน มีหลายประเทศที่ดำเนินโครงการกระจายวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว ฉับไว และมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ อิสราเอล สหราชอาณาจักร ชิลี และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
1
พร้อมกันนั้นก็มีอีกมากมายหลายประเทศที่ยอดรวมการฉีดวัคซีนต่ำเตี้ยเรี่ยดิน เพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้นหรือในบางกรณี ไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ อย่างเช่นกรณีของไทย เป็นต้น
อิสราเอล ที่มีประชากรราว 9 ล้านคน เริ่มต้นโครงการฉีดวัคซีนในราวเดือนมกราคมที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้สามารถฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรได้ถึง 62 เปอร์เซ็นต์ ภายในเวลาเพียง 3 เดือนเศษ
ปรากฏการณ์อันเป็นผลมาจากการฉีดวัคซีนของอิสราเอล คือ ทุกอย่างเริ่มกลับคืนสู่สภาพปกติ โรงเรียน, มหาวิทยาลัย เริ่มเปิดการเรียนการสอนได้แล้ว แม้กระทั่งการจัดคอนเสิร์ตหรือกิจการที่มีคนรวมตัวกันมากๆ ตั้งแต่ภายในผับ บาร์ เรื่อยมาจนถึงภัตตาคารและเทศกาลต่างๆ ก็หวนคืนมาอีกครั้ง
ที่สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในการได้ชัยชนะเหนือโควิด-19 ได้ชัดเจนที่สุดในกรณีของอิสราเอลคือการประกาศยกเลิกมาตรการสวมหน้ากากป้องกันในที่สาธารณะ
สหรัฐอเมริกา ภายใต้การนำของประธานาธิบดี โจ ไบเดน พลิกฟื้นสถานการณ์เลวร้ายในการรับมือกับการแพร่ระบาดของผู้นำคนก่อนได้อย่างน่าสนใจ ยอดผู้ติดเชื้อ ยอดเสียชีวิตลดน้อยลงอย่างมาก ทางการของหลายรัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการเข้มงวดลง เครื่องยนต์เศรษฐกิจกลับมาสตาร์ตใหม่ได้อีกครั้ง
โจ ไบเดน เปลี่ยนแปลงแนวทางการรับมือโควิดไปจากรัฐบาลเดิมไม่น้อย แต่ความแตกต่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือการเร่งระดมฉีดวัคซีนแบบสายฟ้าแลบ จนครอบคลุม 39 เปอร์เซ็นต์ของประชากรในเวลาเพียง 3 เดือนเศษๆ ที่ผ่านมา
1
แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาเตือนว่า วัคซีนป้องกัน ไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญเพียงลำพังในการกำหนดสถานการณ์เหล่านั้นแต่อย่างใด
บทเรียนที่แตกต่างอย่างสุดขั้ว ปรากฏให้เห็นแล้วด้วยซ้ำไป ในกรณีของประเทศชิลี ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการกระจายวัคซีนมากที่สุดในทวีปอเมริกา
ชิลี มีประชากร 18 ล้านคน เริ่มโครงการกระจายวัคซีนเมื่อ 24 ธันวาคม เมื่อถึง 17 เมษายนที่ผ่านมา สามารถฉีดวัคซีนให้กับประชากรได้มากถึง 40.5 เปอร์เซ็นต์แล้ว
สัดส่วนต่อจำนวนประชากรสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก สูงกว่าสหรัฐอเมริกาด้วยซ้ำไป
ปัญหา คือ ยอดติดเชื้อใหม่ในชิลียังพุ่งสูงไม่หยุด จนในที่สุดรัฐบาลจำเป็นต้องประกาศ “ล็อกดาวน์”ใหม่อีกครั้ง
ทำไม อิสราเอลกับชิลี ถึงต่างกันสุดขั้วเช่นนั้น?
นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ ให้เหตุผลหลายอย่างไว้เป็นคำตอบต่อกรณีที่ชิลีมียอดการติดเชื้อพุ่งสูงและเร็วทั้งๆ ที่มีการฉีดวัคซีนมากมายเช่นนี้
ตั้งแต่การแพร่ระบาดระลอกใหม่ในชิลีนี้ส่วนใหญ่แล้วเป็นสายพันธุ์กลายพันธุ์ที่ “นำเข้า” มาจากบราซิล (พี1 และ พี2) เรื่อยไปจนถึงการที่ชาวชิลี ออกเดินทางท่องเที่ยวไปมาทั่วประเทศ
ที่สำคัญที่สุดในทรรศนะของผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาอย่าง ศาสตราจารย์ ลอเรนซ์ ยัง จาก วอร์วิค เมดิคัล สคูล มหาวิทยาลัยวอร์วิคของอังกฤษ คือ โครงการวัคซีนของทางการชิลี ส่งผลให้เกิด ความรู้สึกว่า “ปลอดภัยปลอมๆ” ขึ้น ส่งผลให้ชาวชิลีระมัดระวังตัวน้อยลง ไม่รักษาระยะห่างและไม่เข้มงวดกับมาตรการที่เคยทำกันมา
“ผมคิดว่าชิลี เป็นอุทาหรณ์ที่ดีของอันตรายจากการพึ่งพาวัคซีนมากจนเกินไป วัคซีนน่ะดีอยู่แล้ว แต่ด้วยตัวมันเองมันไม่มีทางเป็นหนทางแก้การระบาดครั้งนี้ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นในชิลีถือเป็นคำเตือนที่ชัดเจนอย่างยิ่ง”
ศาสตราจารย์ สตีเฟน กริฟฟิน จากสำนักการแพทย์ของมหาวิทยาลัยลีดส์เห็นด้วยกับข้อสรุปของนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยวอร์วิค และเสริมด้วยว่า
“คุณยังจำเป็นต้องจัดการให้การแพร่ระบาดอยู่ในการควบคุมในระหว่างดำเนินกระบวนการกระจายวัคซีน ถ้าไม่ทำหรือทำไม่ได้ ลำบากแน่นอน”
ในขณะที่ชิลีเป็นตัวอย่างที่ดีของการหลงทะนงตัวเพราะวัคซีน อิสราเอล กลับเป็นตรงกันข้าม
สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญของอิสราเอลแสดงออกให้เห็นเป็นตัวอย่างแก่นานาประเทศในวิกฤตหนนี้ คือ ความจำเป็นที่ต้องมี “การเตรียมพร้อมและมีแผนรองรับอยู่ตลอดเวลา”
อิสราเอลผ่อนปรนกฎเกณฑ์เข้มงวดต่างๆ ในไม่นานหลังเริ่มโครงการฉีดวัคซีนก็จริง แต่เป็นการผ่อนปรนอย่างมีหลักการและมีแผนเชิงปฏิบัติการรองรับอยู่ตลอดเวลา
ลินดา โบลด์ ศาสตราจารย์ด้านสาธารณสุขประจำมหาวิทยาลัยเอดินบะระ ยกตัวอย่างให้เห็นว่าควบคู่ไปกับการฉีดวัคซีน อิสราเอล ก็ประกาศใช้ “ระบบกรีนพาส” ที่แสดงว่าผู้ถือเคยติดเชื้อและหายแล้วหรือเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว ซึ่งเท่ากับแสดงว่ามีภูมิคุ้มกันการติดเชื้อใหม่แล้วนั่นเอง
นั่นช่วยให้มหาวิทยาลัยและโรงเรียน หรือกิจการอื่นๆ ทั้งหลายสามารถกรองคนที่เข้ามาทำการเรียนการสอนหรือทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อิสราเอลยังใช้มาตรการ “กรอง” ประชากรของตนอย่างต่อเนื่อง แต่แทนที่จะตรวจหาเชื้อแบบพีซีอาร์ กลับใช้การตรวจหาโควิด แอนติบอดี ที่ง่ายกว่า เร็วกว่า ช่วยให้เปิดรับนักท่องเที่ยวได้ก่อนใคร โดยไม่ต้องใช้การกักกันโรค
ไม่นานหลังเริ่มการกระจายวัคซีน อิสราเอลก็เริ่มแผนงานเป็นขั้นตอนว่าด้วยกระบวนการฉีดวัคซีนให้กับเด็กโต ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการ “คิดและวางแผน” ล่วงหน้าไปไกลมากกว่าที่หลายประเทศทำกันอยู่
สุดท้ายผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายระบุว่า การ “ค้นหา” เพื่อ “กัก” และ “กรอง” ผู้ที่ติดเชื้อยังคงจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง แม้ว่าการกระจายวัคซีนจะดำเนินไปรวดเร็วแค่ไหนก็ตามที
อิสราเอล เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้ทำได้ ถ้าหากคิดจะทำและไม่ย่ามใจเหมือนในกรณีของชิลีนั่นเอง
โฆษณา