22 เม.ย. 2021 เวลา 02:04 • ท่องเที่ยว
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา (2)
ชั้นบนของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ... จะมีห้องเครื่องทองซึ่งไม่ให้ถ่ายรูป ด้านนอกมีการจัดแสดงพระพิมพ์ที่ค้นพบจากกรุวัดต่างๆในกรุงเก่า มีตั้งแต่แผ่นเล็กเท่าฝ่ามือ ไปจนถึงใหญ่ประมาณหนึ่งฟุต พระเครื่องที่เด่นๆคือ
1. พระพิมพ์ปางลีลา เป็นปางที่สวยงามอ่อนช้อยมาก ปางนี้ได้รับความนิยมตั้งแต่สมัยสุโขทัย
2. พระแผง ที่ประกอบด้วยพระองค์เล็กๆเป็นแผงใหญ่
3. พระพิมพ์พระรัตนไตรมหายาน ประกอบด้วยพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และพระนางปรัชญาปารมิตา
4. พระพิมพ์พระพุทธเจ้าสามองค์ แทนกายทั้งสามองพระพุทธเจ้าคือ นิรมาณกาย สัมโภคกาย และธรรมกาย
เครื่องปั้นดินเผาภาพพระบฏเขียนสี ธรรมาสน์ไม้แกะสลัก
***ตู้พระธรรมลายรดน้ำใบหนึ่งมีลวดลายที่น่าสนใจ คือ “ลายพุทธจักรวาลไตรภูมิ” ประกอบด้วยเขาพระสุเมรุเป็นแกนกลาง มหาสมุทร และทวีปต่างๆตามความเชื่อเรื่อง ไตรภูมิ ซึงได้แก่ กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ.
“พระคิริมานนทสูตร” อธิบายเกี่ยวกับจักรวาลไว้ว่า เบื้องล่างสุดใต้ชั้นลมลงไปเป็นความว่างเปล่าหาที่สุดมิได้ และเบื้องบนสุดเหนือพรหมโลกขึ้นไปก็เป็นความว่างเปล่าหาที่สิ้นสุดมิได้เช่นกัน
แต่ละจักรวาลประกอบด้วย เขาสิเนรุเป็นแกนกลาง เชิงเขามีทวีปใหญ่ 4 ทวีป ทวีปน้อย 2000 ทวีป เบื่้องล่างมีมหานรก 8 ขุม และนรกบริวาร บนเขาสิเนรุมีสวรรค์ 6 ชั้น มีพรหมโลก ประกอบด้วย รูปภูมิ 16 ชั้น และอรูปภูมิอีก 4 ชั้น โดยโลกมนุษย์ เป็นเพียงทวีปหนึ่งใน 4 ทวีปใหญ่เท่านั้น เรียกว่า "ชมพูทวีป"
.ภูเขาจักรวาลที่โอบล้อมจักรวาลนั้นเป็นภูเขาทิพย์ สูง ๘๒,๐๐๐ โยชน์ จึงเรียกรวมสรรพสิ่งในขอบเขตของภูเขาลูกนี้ว่า “จักรวาล” และมีจักรวาลจำนวนมาก จึงมีขอบของเขาจักรวาล ๓ จักรวาลที่สัมผัสกัน ระหว่างจักรวาลทั้งสามนั้นจึงมีช่องว่าง เรียกว่า "โลกันตนรก" แปลว่า "นรกที่อยู่ระหว่างโลกธาตุ"
พระสูตรเดิม (จูฬนีสูตร) กล่าวถึงเขาสิเนรุว่า ยอดเขาสิเนรุเป็นที่ตั้งของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ส่วนสวรรค์ชั้นอื่นๆ รวมไปถึงมหาทวีปทั้งสี่ ก็ตั้งอยู่รายล้อมขุนเขาแห่งนี้
สวรรค์ 6 ชั้น ได้แก่ จตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานนรดี และปรนิมมิตวสวตี เรียงตามลำดับความสูงจากน้อยไปมาก สวรรค์ชั้นจตุมหาราชิกา ปกครองโดยท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 องค์
สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีพระอินทร์เป็นผู้ปกครอง และมี ‘พระจุฬามณีเจดีย์’ พระเจดีย์ที่บรรจุพระเกศาของเจ้าชายสิทธัตถะ สวรรค์ตั้งแต่ชั้นยามาเป็นต้นไปจะอยู่สูงกว่าดวงอาทิตย์ ทำให้ต้องอาศัยแสงสว่างจากแก้วทิพย์วิมานและรัศมีของเทพเท่านั้น
พรหมโลก คือภพภูมิที่อยู่เหนือขึ้นไปจากสวรรค์ ผู้ที่สำเร็จฌานเมื่อตายก็จะเข้าถึงชั้นนี้ โดยพรหมโลกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ “รูปาวจรภูมิ” มี 16 ชั้น พรหมในภูมินี้จะมีกายทิพย์ รูปร่างใหญ่โตงดงามเกินพรรณา และ “อรูปาวจรภูมิ” มี 4 ชั้น ที่พรหมจะเหลือเพียงดวงจิตไม่มีรูปร่าง
***Credit : EJeab Academy ตู้พระธรรม พิพิธภัณฑ์แห่งชาติเจ้าสามพระยา
พระพุทธรูป และประติมากรรมเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาที่จัดแสดงบนชั้นที่สองของพิพิธภัณฑ์
เครื่องทองของอยุธยา
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 1893-2310) ถือได้ว่าเป็น “ยุคทอง” ของไทย ... “ทอง” ทั้งในความหมายว่าเจริญรุ่งเรือง และในความหมายตรงๆตัวว่าเป็นยุคที่นิยมใช้ทองมากที่สุด
ชาวต่างชาติที่เข้ามาติดต่อค้าขายและการทูตกับกรุงศรีอยุธยา มักจะบันทึกไว้ในจดหมายเหตุต่างๆ ถึงความมั่งคั่งร่ำรวย และการใช้ทองชองชาวกรุงศรีอยุธยา เช่น
บาทหลวงเดอ ซัวสี ผู้ช่วยทูตแห่งราชสำนักพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเดินทางเข้ามาเจริญพรพรนาชไมตรีเมื่อ พ.ศ. 2228 สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2199-2231) ได้กล่าวถึงพระศรีสรรเพชญ์ว่า เป็น พระพุทธรูปสูงประมาณ 42 ฟุต กว้าง 14 ฟุต หุ้มทอแงคำหนาถึง 3 นิ้วฟุตทั้งองค์
ทั้งในโบสถ์ วิหาร ในพระอารามหลวงต่างๆ ล้วนแต่ประดิษฐานพระพุทธรูปทองคำ สูงประมาณ 17-18 ฟุตอีกหลายองค์ พระพุทธรูปซึ่งประดับด้วยเครื่องทองนั้นมีอีกนับร้อยๆองค์
ต่อมาอีก 2 ปี ... ในพ.ศ.2230 มงซิเออร์ ชิมง เดอ ลาลูแบร์ อัครราชทูตแห่งราชสำนักพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเดินทางเข้ามาเจริญพรพรนาชไมตรีเช่นกัน ก็ได้กล่าวว่า .. พระพุทธรูปและรูปหล่อที่ทำด้วยทองในกรุงศรีอยุธยามีมากมายเหลือคณานับ ช่อฟ้า ใบระกา เพดาน โบสถ์ วิหาร ยอดปรางค์ ปราสาท เจดีย์ ล้วนแต่หุ้มทองคำดูพราวตาไปหมด
มงซิเออร์ ชิมง เดอ ลาลูแบร์ ยังกล่าวถึงความนิยมใช้ทองคำมาประดับตกแต่งกานของชาวอยุธยาว่า .. เด็กหนุ่มสาวลูกผู้ดีจะสวมกำไลข้อมือ กำไลแขน กำไลข้อเท้า ทำด้วยทองคำหรือกาไหล่ทอง ทั้งยังสวมแหวนทองและตุ้มหูทองอีกด้วย
โยส เซาเตน ผู้จัดการบริษัทอินเดียตะวันออก แห่งประเทศฮอลันดา ประจำพกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยของพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ. 2153-2171) กล่าวว่า ... หญิงสาวชาวสยามนิยมปักปิ่นทองและสวมแหวนทองที่นิ้วมือ
นิโคลาส์ แชรแวส หมอสอนศาสนาชาวฝรั่งเศสที่เข้ามายังกรุงศรีอยุธยาราว พ.ศ.2226 สนมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช บรรยายาว่า ... ผู้มีอันจะกิน โดยเฉพาะขุนนาง นิยมใช้ผ้านุ่งที่ทอสอดด้วยเส้นทองแล่งและเส้นเงินแล่ง สวมสนับเพลวตัดด้วยผ้าเนื้อดีไว้ข้างใน มีปลายขาต่ำกว่าหัวเข่า ชายปักด้วยดิ้นเงินและดิ้นทองอย่างสวยงาม ผู้ชายนิยมสวมแหวนนากหรือแหวนทองหลายนิ้ว
Ref : นิตยสาร อสท เดือนพฤษภาคม 2548
ห้องที่สำคัญที่สุดคือ ห้องที่อยู่ปลายโถงทั้งสองอัน ได้แก่ ห้องมหาธาตุและ ห้องราชบูรณะ ซึ่งจัดแสดงเครื่องทองมากมาย
เครื่องทองชิ้นสำคัญๆสมัยกรุงศรีอยุธยาส่วนใหญ่สูญไปเมื่อครั้งเสียกรุงครั้งที่สอง
แต่ .. ภายหลังเมื่อเกิดเหตุการณ์ “กรุแตก” ในปี พ.ศ. 2499 และ 2500 เราจึงมีโอกาสได้ชื่นชมฝีมือช่างทองชั้นสูงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นว่างามวิจิตรอย่างไร กรุที่ว่านั้น คือกรุ “วัดมหาธาตุ” และกรุ “วัดราชบูรณะ”
กรุที่ว่าแตกนั้น คือห้องบรรจุพระบรมธาตุและสิ่งของมีค่าที่ถวายเป็นพุทธบูชา ซึ่งซ่อนอยู่ในปรางค์ประธานของทั้งสองวัด ...
การพบสิ่งของมีค่าอยู่ภายในกรุของปรางค์หรือเจดีย์ เพราะคนไทยมีธรรมเนียมที่เรียกว่า “ประจุพระ” คือเมื่อก่อสร้างพระเจดีย์สำเร็จแล้ว มีพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และจะมีสิ่งของมีค่าอื่นๆที่ถวายเป็นพุทธบูชา หรือพระพุทธรูปใหญ่น้อยแบบหล่อ หุ้ม บุ ดุน และพิมพ์ ถือเป็นการต่ออายุพระพุทธศาสนา บรรจุตามลงไปด้วย
ของที่เป็น “เครื่องประจุพระ” ส่วนหนึ่งเป็นของที่ทำขึ้นเพื่อพิธีนี้โดยเฉพาะ เช่น เครื่องราชูปโภคจำลอง ต้นไม้เงินทอง พระพิมพ์ แผ่นลานทอง ฯลฯ แต่ก็ยังมีเครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องประดับ ของมีค่าต่างๆที่มีผู้ศรัทธาอุทิศถวายร่วมด้วยอีกเป็นจำนวนมาก ถือว่าไดบุญกุศลสูง เพราะเป็นการร่วมสร้างพระธาตุเจดีย์
ดังนั้น กรุที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุจึงมิได้มีเพียงสิ่งอันควรเคารพเท่านั้น แต่ยังกลายเป็น “กรุมหาสมบัติ” ไปในตัวด้วย
ห้องมหาธาตุ ... จัดแสดงเครื่องทอง และพระบรมสารีริกธาตุที่พบอยู่กับกรุบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ มีแผนภาพอธิบายให้เข้าใจถึงลักษณะการประดิษฐานพระธาตุที่ถือกันว่าสำคัญที่สุดของอาณาจักรอยุธยา อีกทั้งยังได้จัดแสดงผอบทั้งเจ็ดชั้นที่บรรจุพระธาตุ และที่สำคัญที่สุดคือ จะได้เห็นองค์พระธาตุอีกด้วย
ห้องราชบูรณะ ... จัดแสดงศิลปวัตถุที่ค้นพบภายในกรุของวัดราชบูรณะ ซึ่งเป็นทองคำและอัญมณีทั้งหมด อันมีพระแสงขรรค์ชัยศรี แผ่นทองดุนลายนูนประกอบกันเป็นองค์จำลองของตัวพระปรางค์ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ขนาดย่อส่วน กรองพระศอ สังวาลทับทรวง สร้อยพาหุรัด ทองพระกร ซึ่งเป็นทองประดับอัญมณี จุลมงกุฎใช้ครอบมุ่นมวยผมของบุรุษ ส่วนของสตรีนั้นเป็นเส้นทองขนาดเล็กมาก ถักเป็นตาข่ายโปร่งครอบศีรษะของสตรี
หมวดเครื่องราชูปโภคย่อส่วน มีทั้งเป็นรูปภาชนะต่าง ๆ เช่น ผอบ กระปุก ถาด พาน หีบ ภาชนะ รูปหงส์ทั้งตัว ตลับขนาดเล็กเป็นแมลงทับและช้างทรงเครื่องนั่งหมอบ ชูงวงเป็นพวงอุบะหรือช่อดอกไม้ เครื่องทองเหล่านี้ นอกจากความงดงามในเชิงศิลปะแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นความมั่งคั่งของราชสำนักอยุธยาอีกด้วย
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปกับ พี่สุ
ท่องเที่ยวทั่วโลก กับพี่สุ
ซีรีย์เที่ยวเจาะลึก ประเทศนอร์เวย์
Iceland ดินแดนแห่งน้ำแข็งและเปลวไฟ
Lifestyle & อาหารการกิน แบบพี่สุ
สถานีความสุข by Supawan
โฆษณา