22 เม.ย. 2021 เวลา 09:01 • ประวัติศาสตร์
เวนิสวาณิช: ทำไม “เครื่องเทศ” เปลี่ยนโลก?
“เวนิสวาณิช” เป็นที่มาจากคำแปลบทละครเรื่อง “The Merchant of Venice” ที่ประพันธ์โดยนักเขียนในตำนานอย่าง วิลเลียม เชค สเปียร์ โดยคำว่า “วาณิช” นั้นแปลว่า “พ่อค้า” จึงทำให้คำว่า “เวนิสวาณิช” แปลว่า “พ่อค้าแห่งเวนิช”
1
แล้วทำไมต้องเป็นพ่อค้าแห่งเวนิส ทำไมไม่เป็นพ่อค้าเชินเจิ้น ไม่ก็พ่อค้าจตุจักร หรือ คลองถมล่ะ? เหตุผลก็เพราะว่าเมืองเวนิสถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในเมืองแห่งการค้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกยุคกลาง (สาธารรัฐเวนิส ดำรงอยู่ตั้งแต่ศตวรรษที่ 7-16) จากการเป็นเมืองท่าศูนย์กลางที่เชื่อมต่อยุโรปกับตะวันออกกลางและตะวันออกไกล
นอกจากของหายากอย่างทองคำ อัญมณี และผ้าไหม อีกอย่างที่เป็นตัวแปรสำคัญในการก้าวสู่ความร่ำรวยของเวนิสก็คือ “เครื่องเทศ” ที่มีแหล่งที่มาจาก อินเดีย และตะวันออกไกล
แล้วทำไมชาวยุโรปจึงติดใจเจ้าเครื่องเทศพวกนี้นักหนา? เครื่องเทศขายดีและเป็นที่ต้องการของชาวยุโรปอย่างมาก เพราะด้วยเงื่อนไขทางภูมิศาสตร์ที่ตั้งอยู่ห่างไกลจากเส้นศูนย์สูตร แถบทวีปยุโรปจึงมีอากาศที่หนาวเย็น ทำให้ไม่มีเครื่องเทศที่รสชาติจัดจ้านเท่ากับอินเดียหรือตะวันออกไกลที่อยู่ในเขตร้อน สิ่งนี้แหละคือ ปัจจัยหลักของการติดอกติดใจเครื่องเทศอย่างงอมแงมของชาวยุโรป
แต่ต้องเล่าก่อนว่า “เครื่องเทศ” เป็นของที่แปรรูปมาจากส่วนต่าง ๆ ของพืชหลากหลายชนิด และนำมาปรุงใส่เมนูอาหารต่าง ๆ สร้างมิติแห่งรสชาติอันซับซ้อนให้กับมื้ออาหาร ทำให้การกินเป็นเรื่องน่าอภิรมย์ขึ้นไปอีก
แล้วทีนี้ อะไรล่ะที่ทำให้ “เครื่องเทศ” มีรสชาติที่พึงปรารถนา คืองี้... พืชต่าง ๆ ก็มีวิถีการเอาตัวรอดเพื่อดำรงเผ่าพันธ์ุของตัวเอง เช่น การสร้างหนาม, การมีเปลือกที่แข็ง หรือการมีลำต้นที่สูงจากพื้นดิน ทั้งหมดเพื่อป้องกันศัตรูพืช
นอกจากวิธีการป้องกันตัวทางกายภาพแล้ว พืชบางชนิดยังพัฒนา “Chemical Defenses” หรือการป้องกันตัวด้วยสารเคมี เกิดเป็นพิษตามส่วนต่าง ๆ บ้างอยู่ที่ลำต้น ราก หรือผลของมัน เพื่อทำให้อะไรก็ตามที่มากินมันเข้าไปต้องตาย หรือบาดเจ็บ จนหลาบจำไม่กล้ามากินอีก แต่นั่นก็เป็นผลข้างเคียงเฉพาะกับแบคทีเรีย แมลง หรือสัตว์ตัวเล็ก ๆ เท่านั้น แต่ถ้าพืชที่มีพิษพวกนี้เข้าปากมนุษย์ ผลข้างเคียงมากที่สุด ก็เป็นเพียงแค่ “รสชาติ” เท่านั้น
1
ย้อนกลับไปที่ภูมิศาสตร์ของเหล่ายูโรเปียน ที่เป็นภูมิภาคที่มีอากาศเย็นไปจนถึงหนาวแบบติดลบ ทำให้เมื่อล่าสัตว์มาได้ กินไม่หมด วางทิ้งไว้ ก็ไม่เน่าเสียง่าย ๆ ในขณะที่ภูมิศาสตร์ของอารยธรรมที่มีอุณภูมิร้อนกว่า เก็บรักษาอาหารได้ยากยิ่งกว่า เมื่อถึงหน้าร้อน เนื้อที่ล่ามาได้ก็จะเน่าเสียอย่างรวดเร็ว
1
สาเหตุมาจากแบคทีเรีย หรือรา จะเติบโตได้ดีมากในที่ที่อุณหภูมิสูงกว่า ทำให้อารยธรรมเหล่านั้นต้องค้นหาและเรียนรู้ที่จะถนอมอาหารให้อยู่ได้นาน จนกระทั่งไปรู้สรรพคุณของพืชที่ช่วยชะลอการเน่าเสียได้ จึงเกิดเป็น วิธีการถนอมอาหารด้วยพืชชนิดต่าง ๆ จนใช้ไปใช้มา มันอร่อย ทำให้เหล่าชุมชนในเขตร้อน ค้นพบรสชาติใหม่ ๆ มากมายจากพืชที่สร้างพิษขึ้นมาเพื่อป้องกันตัวเอง ที่เราเรียกว่า “เครื่องเทศ”
1
เมื่อรสชาติที่หลากหลายเกิดขึ้น พร้อมกับที่โลกเชื่อมต่อกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยนักเดินทาง พ่อค้า และ นักสำรวจ จึงทำให้เครื่องเทศแพร่หลายจากชุมชนฝั่งตะวันออกไปสู่ทวีปยุโรปในที่สุด และนี่ล่ะ คือจุดเริ่มต้นของ “กำไร” มหาศาล ของหนึ่งในเมืองท่าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างเวนิส!
เครื่องเทศและสินค้าจากตะวันออกไกลนำพาความมั่งคั่งมาสู่เมืองท่าแบบเวนิสอย่างมหาศาล จนกระทั่งเกิดเป็นชนชั้นพ่อค้าเต็มไปหมด ที่คอยขนของจากที่หนึ่งมาแลกเปลี่ยนกับอีกที่หนึ่ง แล้วทำกำไรวนไปเรื่อย ๆ
ราคาเครื่องเทศระหว่างตะวันออกไกล กับในยุโรปนั้นต่างกันอย่างมาก จนทำให้การเดินทางไปกลับแค่ไม่กี่เที่ยวก็สร้างความมั่งคั่งที่อาจจะทำให้มีกินมีใช้ไปอีกหลายปี ราคาที่พ่อค้าชาวเวนิสขายให้กับคนภาคพื้นยุโรปนั้นต่างกันจากราคาที่รับซื้อในตะวันออกไกลถึง 3,000 กว่าเปอร์เซ็นต์ นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญของการพยายามผูกขาดเส้นทางการค้าเครื่องเทศไว้แต่เพียงคนเดียว เวนิสมีอิทธิพลเหนือเมืองท่าสำคัญ ๆ ในทะเลอีเจียน (ทะเลที่ขั้นระหว่างกรีซกับตุรกี) และเส้นทางคาราวานในตะวันออกกลาง
จนเวนิชเป็นแรงบันดาลใจ (หรืออาจจะแรงอิจฉา) ให้กับเมืองท่าสำคัญอื่น ๆ ในยุโรปตะวันตกอย่าง อัมเตอร์ดัม โปรตุเกส และสเปน เคยมีความพยายามโค่นล้มอิทธิพลของอิตาเลียและเมืองเวนิส ในเส้นทางการค้าเครื่องเทศในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและทะเลอีเจียน แต่ก็ไม่สำเร็จ ทำให้โปรตุเกสต้องคิดค้นวิธีใหม่และเส้นทางใหม่เพื่อไปให้ถึงอินเดีย โดยไม่ผ่านเขตอิทธิพลของเวนิส และนั่นคือการร่องเรือลงใต้ไปเรื่อย ๆ อ้อมทวีปแอฟริกากระทั่งผ่านแหลมกู๊ดโฮปไปได้ จนถึงอินเดียในที่สุด
นี่เป็นเหตุผลสำคัญเลยว่าทำไมโปรตุเกสจึงเป็นประเทศที่แยกขาดกับสเปน ทั้ง ๆ ที่อยู่ติดสเปนและเล็กกว่ามาก ส่วนสำคัญเป็นเพราะวิทยาการเดินเรือที่ก้าวหน้ากว่า นักสำรวจที่เดินทางไปอินเดียได้ก่อน และเมืองท่าอันยิ่งใหญ่อย่างลิสบอนนี่เอง ด้วยเส้นทางที่ไปถึงอินเดียโดยตรงทำให้ราคาเครื่องเทศของโปรตุเกสสามารถต่อสู้กับทางเวนิสได้ ด้วยต้นทุนที่ถูกกว่าทำให้ความมั่งคั่งไหลมารวมกันที่โปรตุเกสในที่สุด
1
ด้วยความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของโปรตุเกส ผลักดันให้ราชสำนักของพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 5 แห่งสเปนต้องทำอะไรสักอย่าง ไม่งั้นราชอาณาจักรของพระองค์จะน้อยหน้าอาณาจักรที่เล็กกว่าอย่างโปรตุเกส..
จนมันทำให้พระองค์หวนนึกถึงนักเดินเรือคนหนึ่งที่เคยเสนอแผนอันบ้าบิ่นไว้ว่า “เราจะเดินทางไปตะวันออก ด้วยการไปทางตะวันตก” ใช่แล้ว เขาคนนั้นคือ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส เขาเชื่อว่าโลกนั้นเป็นทรงกลม และเรื่องหลังจากนี้ที่ทุกคนคุ้นเคย “ทวีปอเมริกา” ที่ตอนแรกคิดว่าเป็นอินเดีย “เกาะคิวบา” ที่เข้าใจผิดว่าเป็นญี่ปุ่น โลกใหม่สำหรับชาวยุโรปได้ถูกค้นพบแล้ว ทรัพยากรและการค้นพบทองจากทวีปใหม่ ทำให้สเปนยิ่งใหญ่ไม่แพ้โปรตุเกส
เรื่องราวการเดินเรือที่นำความมั่งคั่งมาสู่ทั้งโปรตุเกสและสเปน ผลักดันให้หลาย ๆ ประเทศไม่ว่าจะเป็น อังกฤษ ฝรั่งเศส และชาวดัตช์ พัฒนาวิทยาศาสตร์และการเดินเรือจนปูทางไปสู่ยุคแห่งการล่าอาณานิคมในที่สุด
แล้วทั้งหมดนี่ ถ้าทุกคนยังไม่ลืม มันเริ่มต้นมาจากการแย่งชิงส่วนแบ่งในการค้าขาย “เครื่องเทศ” และรสชาติที่แสนจัดจ้านของมัน รู้แบบนี้แล้ว ประโยคที่ว่า “เรื่องกิน เรื่องใหญ่” คงจะจริงอย่างที่เขาว่า...
เวนิสวาณิช: ทำไมเครื่องเทศเปลี่ยนโลก?
Writer & Illustrator: Chatchai Pumpuang
ติดตามเรา
โฆษณา