22 เม.ย. 2021 เวลา 11:36 • ธุรกิจ
ประสบการณ์การทำธุรกิจในแดนมังกร ตอน 3
ผมถอดรหัสคำบรรยายของท่านธนากรฯ ที่พูดไว้ในงานสัมมนาของสโมสรโรตารี่ บางรัก เมื่อต้นเดือนเมษายน ที่ผ่านมาไปก่อนหน้านี้ ปรากฏว่ามีผู้สนใจสอบถามตอนใหม่มาเป็นจำนวนมาก ไปติดตามกันต่อเลยครับ ...
ท่านธนากรฯ เล่าต่อว่า ในอดีต โรงงานผลิตจักรยานยนต์ของซีพีในเซี่ยงไฮ้ผลิตไม่ทันขาย เรื่องการตลาดไม่สำคัญ ผลิตอะไรก็ขายได้ ไม่มีเรื่องการคิดคำนวณต้นทุน มีแต่เรื่องการจัดสรรและกระจายสินค้า แต่ยุคนี้ทำแบบนั้นไม่ได้แล้ว
ขณะเดียวกัน คุณสมบัติบางอย่างต้องสร้างและสั่งสมไว้ นอกเหนือจากการหาพื้นที่ที่เหมาะสม การบริหารที่ทันสมัย ทำสินค้าที่ดีมีคุณภาพ และนำเอาเทคโนโลยีดีๆ เข้าไปลงทุนแล้ว อีก
สิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือ การมีมิตรภาพที่ดีกับรัฐบาลจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอดีต
ย้อนกลับไปเมื่อราว 30 ปีก่อน ซีพีเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานผลิตจักรยานยนต์ที่เมืองลั่วหยาง มณฑลเหอหนาน ซึ่งต่อมาบริษัทนี้กลายเป็นกิจการที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงที่สุดในเมืองนี้
ทำให้รัฐบาลตระหนักถึงความเป็นมืออาชีพ และความจริงใจที่มีต่อท้องถิ่น ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน ซึ่งอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ซีพีได้มีโอกาสเข้าไปทำโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ลั่วหยางในเวลาต่อมา
ตลอด 40 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน จีนได้พัฒนาไปมาก สิ่งสำคัญก็คือ จีนพยายามแก้ไขปัญหาความยากจน และประสบความสำเร็จไปเมื่อปีที่ผ่านมา โดยทำให้คนจีนหลุดพ้นจากเส้นแบ่งแห่งความยากจนที่กำหนดไว้ 4,000 หยวนต่อปี
นอกจากความช่วยเหลือของภาครัฐในทางตรงแล้ว จีนยังทำเรื่องเหล่านี้อย่างสร้างสรรค์ โดยให้แนวนโยบายแก่กิจการของรัฐและใช้มาตรการด้านภาษีมาช่วย
จีนให้คนรวยช่วยคนจน โดยเอารัฐวิสาหกิจจากเมืองที่เจริญแล้วไปลงทุนในพื้นที่ที่ยากจน เช่น ให้ SAIC ไปซื้อโรงงานที่เจิ้งโจว ซึ่งช่วยให้เจิ้งโจวเจริญขึ้นมาด้วย
ส่วนหนึ่งของก้นบึ้งทางความคิดก็คือ พรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลจีนต้องการให้ประเทศเติบโตอย่างเท่าเทียมกัน ไม่เหลื่อมล้ำมาก มีข้าวกิน มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ใกล้เคียงกัน เพื่อจะได้ปกครองง่าย
ขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนก็ลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน จีนมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงถึง 39,000 กิโลเมตร ซึ่งนับว่ายาวที่สุดในโลก
จีนใช้เวลาไม่นาน พัฒนาขีดความสามารถในด้านการผลิตจนกลายเป็นประเทศที่เชี่ยวชาญด้านรถไฟความเร็วสูงของโลก ออกไปประมูลงานในสหรัฐฯ และยุโรป โดยอาศัยการเรียนรู้เทคโนโลยีจากต่างประเทศ
เช่น เครื่องยนต์ก็ซื้อมาจากคาวาซากิของญี่ปุ่น และระบบการควบคุมด้านอิเล็กทรอนิกส์ก็ซื้อมากจากซีเมนของเยอรมนี
นอกจากนี้ จีนยังมีถนนทางด่วน “มอเตอร์เวย์” มีความยาว 155,000 กิโลเมตร เป็น​อันดับ 1 ของโลก สิ่งเหล่านี้ในด้านหนึ่งก็ทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้ คนมีงานทำ และสร้างเวทีให้แก่ผู้ประกอบการในประเทศ
ในช่วงราว 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนทุ่มเทกับการพัฒนารถไฟฟ้าอย่างจริงจัง ปัจจุบัน จีนผลิตรถไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วนถึง 40% ของโลก
คำถามคือปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร
“เพื่อให้เกิด จีนชดเชยมหาศาลเลย” จีนตั้งเป้าที่จะผลิตรถไฟฟ้าถึง 7 ล้านคันภายในปี 2025 เมื่อถึงตอนนั้นต้นทุนรถไฟฟ้าจะเท่ากับของรถระบบสันดาป ทำให้อนาคตเราจะได้ใช้รถยนต์ราคาถูกแน่
จีนได้รับประโยชน์ตอบแทนผ่านการลดการนำเข้าน้ำมัน ขณะเดียวกัน การใช้ไฟฟ้าในช่วง 5 ทุ่มถึงตี 5 ก็เป็นเสมือนการใช้ไฟฟ้าฟรี เพราะปกติก็ไม่ค่อยมีใครใช้ หรือใช้น้อยมาก ต้องสิ้นเปลืองไปอยู่แล้ว
ถ้าใช้รถยนต์ระบบสันดาปต่อไป คนจีนก็ต้องเผชิญปัญหา PM2.5 ทำให้คนจีนต้องประสบปัญหาโรคหลอดลมอักเสบ และต้องหาซื้อยาจากต่างประเทศมาใช้ ขณะที่รถไฟฟ้าไม่มีมลภาวะ ทำให้ประหยัดเงินไปได้มาก
ประการสำคัญ จีนต้องการจะก้าวเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าโลก เพราะจีนไม่มีทางก้าวแซงผู้ผลิตยานยนต์ชาติตะวันตกและญี่ปุ่นที่ทำมาก่อนนับ 100 ปีได้ แต่ในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า จีนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นแชมป์โลกได้
นอกจากนี้ จีนยังมองไกลถึงเรื่องการใช้ประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากรที่มีอยู่ ในกรณีของรถยนต์ รัฐบาลจีนประเมินว่า จีนมีอัตราการใช้ประโยชน์จากรถยนต์เพียงแค่ 15% เท่านั้น และลดความเหลื่อมล้ำของรถยนต์แต่ละยี่ห้อ ดังนั้น การใช้รถยนต์ร่วมกัน (Car Pool) คือคำตอบ เหมือนที่เราเห็นในธุรกิจจักรยานร่วม (Bike Pool)
ดังนั้น เราจึงเห็นจีนพยายามผลักดันเรื่องเศรษฐกิจแบ่งปัน (Shared Economy) ซึ่งรถไฟฟ้า และรถไร้คนขับ จะเป็นแนวทางที่จีนจะนำมาพัฒนาใช้ในวงกว้างในอนาคต
ด้วยเหตุผลเหล่านี้ รัฐบาลจีนจึงอุดหนุนอย่างเต็มที่ จากการสำรวจราคาขายปลีกรถไฟฟ้ายี่ห้อหนึ่งในจีนพบว่าอยู่ที่ราว 70,000 หยวน แต่ต้นทุนอยู่ที่ 120,000 หยวน
เท่ากับว่ารัฐบาลจีนชดเชยถึงคันละ 50,000 หยวนเพื่อช่วยพัฒนาการผลิตแบ็ตเตอรี่ แต่การชดเชยเช่นนี้จะค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป
นอกจากนี้ รถยนต์ไฟฟ้าก็ใช้ป้ายทะเบียนรถพิเศษเป็นสีเขียว ได้สิทธิประโยชน์ในเรื่องที่จอดรถฟรี และได้ป้ายทะเบียนทันที ไม่ต้องรอคิว รวมทั้งประหยัดค่าธรรมเนียมเบี้ยประกันภัยไป 50%
ขณะเดียวกัน จีนก็เปิดกว้างในการพัฒนาเศรษฐกิจ จีนก็พยายามเปิดตลาดภายในประเทศแก่สินค้าต่างชาติ
ในอดีต จีนมีงานแสดงสินค้าทั่วในหลายหัวเมืองทั่วจีนเพื่อส่งเสริมการส่งออก อาทิ “แคนตันแฟร์” (Canton Fair) ที่กวางโจว ซึ่งถือเป็นงานแสดงสินค้าที่ใหญ่สุดในโลก
แต่ปัจจุบันจีนก็มีงานแสดงสินค้านำเข้าระหว่างประเทศ (China International Import Expo) หรือที่เรียกกันติดปากว่า CIIE ที่เซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้านำเข้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อให้ชาวต่างชาตินำสินค้ามาขายในตลาดจีน ซึ่งเป็นการมองการณ์ไกลมาก เพราะถ้าจีนส่งออกอย่างเดียว ก็ไปไม่รอดในที่สุด
แม้กระทั่งเรื่องวัคซีนโควิด-19 ก็เป็นตัวอย่างของความร่วมมืออันดีที่จีนเป็นพันธมิตร​ที่มีน้ำใจ โดยหยิบยื่นโอกาสให้นานาประเทศ รัฐบาลจีนแสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่า วัคซีนที่ผลิตขึ้นเป็นวัคซีนของชาวโลก ไม่ใช่ของชาวจีนเท่านั้น
โดยท่านธนากรฯ เปิดเผยว่า ในโอกาสที่จีนมีการประชุมสองสภาเมื่อเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา ท่านได้รับเชิญให้ไปพูดเรื่องวัคซีนและแพร่ภาพผ่าน CCTV ซึ่งในท่อนหนึ่งท่านก็พูดถึงการให้ความช่วยเหลือที่จีนจัดสรรวัคซีนให้แก่ไทย 200,000 โดส ถือเป็นสิ่งที่สะท้อนความเป็นพี่น้องกันระหว่างสองประเทศ
นี่ขนาดวัคซีนในจีนเองก็ผลิตไม่พอใช้ แต่จีนก็จัดสรรไปให้ความช่วยเหลือกับอินโดนีเซีย และอีกหลายประเทศ นี่เป็นแนวทางของจีนต้องการพัฒนาความร่วมมือกับนานาประเทศ
ต่อประเด็นคำถามที่ว่า จีนเอาเงินที่ไหนมาลงทุนมากมาย
ท่านธนากรฯ เล่าประสบการณ์ที่น่าสนใจว่า ในอดีต รัฐบาลจีนมีเงินทุนจำกัด แต่ก็แก้ปัญหาเหล่านี้อย่างสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดความเจริญอย่างเป็นรูปธรรม โดยการเปิดให้เอกชนเข้าไปร่วมมือกับภาครัฐในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก และเก็บค่าบริการเป็นการตอบแทน เช่น ลี กาชิงเคยไปสร้างสะพานที่ซัวเถา และเรียกเก็บค่าผ่านสะพาน
และจากนี้ไป จีนกำลังพัฒนาเศรษฐกิจคล้ายที่ญี่ปุ่นเคยทำมา “จีนเดินคล้ายญี่ปุ่น” แต่ญี่ปุ่นตลาดภายในประเทศมีขนาดเล็ก เมื่อผลิตแล้วก็ส่งออกไปขายในตลาดโลก
และต่อมาญี่ปุ่นก็ออกไปลงทุนในต่างประเทศ ญี่ปุ่นจึงมีระดับการพึ่งพาตลาดต่างประเทศสูงมาก ดังนั้นเศรษฐกิจโลกก็คือเศรษฐกิจญี่ปุ่นนั่นเอง
จีนทำเรื่องนี้ผ่านการกำหนดนโยบายเส้นทางสายไหม และเส้นทางสายไหมทางทะเล (One Belt One Road) และใช้เรื่องนี้เป็นแนวทางในการออกไปลงทุนในต่างประเทศ บนพื้นฐานของความร่วมมือและผลประโยชน์ร่วม
“จีนเปรียบเป็นแม่น้ำสายใหญ่ ขณะที่ประเทศอื่นเป็นแม่น้ำสายเล็ก และใช้น้ำจากแม่น้ำสายใหญ่อัดเข้าไปในแม่น้ำสายเล็ก เศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ ก็จะเติบโตขึ้นเอง” ท่านธนากรฯ เปรียบเปรย
การลงทุนของจีนจะหลั่งไหลออกสู่ต่างประเทศอย่างมาก รวมทั้งไทย ประการสำคัญ จีนในวันนี้มีความพร้อมในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเงินทุน เทคโนโลยี และอื่นๆ เมื่อธุรกิจจีนมาลงทุนที่ไทย เราจึงต้องพยายามพัฒนาความร่วมมือกับจีนเพื่อเติบโตไปด้วยกัน
ตอนหน้าผมจะพาไปไขความลับเกี่ยวกับโอกาสทางเศรษฐกิจของไทยในจีน การแก้ไขปัญหาเรื่องคน และแง่มุมจากประเด็นคำถามของผู้เข้าร่วมสัมมนากันครับ ...
#ธนากร เสรีบุรี
#สมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน
#ซีพี
#ลั่วหยาง
#เจิ้งโจว
#CIIE
#รถไฟฟ้า
โฆษณา