22 เม.ย. 2021 เวลา 15:56 • สุขภาพ
"ตำรับยาน้ำมันรุฝีกุตะณะราย"
ปรุงเฉพาะราย ท้าทายความพยายาม
#ตำรับยาน้ำมันรุฝีกุตะณะราย
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา
เพื่อนๆ คงได้เห็นรูปภาพใน Facebook
ที่ผมกำลังปรุงน้ำมันในกระทะทองเหลือง
กระทะใหญ่ จัดเต็ม
ซึ่งในวันนั้น ผมก็ยังไม่ได้บอกว่าผมทำอะไร
เพียงแต่บอกว่า... "ไว้จะมาเล่าให้ฟัง"
และต่อไปนี้คือที่มาที่ไป
ของการปรุงตำรับยาน้ำมันที่ได้เห็นในวันนั้นครับ
มีผู้ไข้หญิง รายหนึ่ง
มาหาด้วยอาการ ร่างกายผ่ายผอม
กินอาหารไม่ได้ นอนไม่หลับ
ไอเวลากลางคืน ตึงแน่นในทรวงอก
สอบถามได้ความว่า เป็นโรคปอด
แต่ก็ไม่รู้ว่า เป็นโรคปอดชนิดใด
เพราะหมอปัจจุบันไม่ได้แจ้งรายละเอียด
บอกเพียงแต่ว่า ปอดไม่ดี
ซึ่งรักษามาแล้วกว่า 5 ปี กินยาเดิมมา 5 ปี
แต่อาการไอก็ยังไม่ลดลง น้ำหนักก็ไม่เพิ่มขึ้น
จึงมาปรึกษา และเลือกการรักษาแบบแผนไทย
เมื่อได้ซักประวัติผู้ไข้มากขึ้น
อีกทั้งยังได้ซักถามกับคนในครอบครัวด้วย
ผมจึงได้วินิจฉัยว่า เป็นโรคโบราณอย่างหนึ่ง
ที่เรียกว่า "ฝีกุตะณะราย" ครับ
ตอนแรกเลย ยังไม่มียาที่ตรงตัว
จึงจ่าย "ตำรับยาแก้กษัยปลวก"
พร้อมด้วย "พิกัดยาสัตตะโกฐ" ไปก่อน
และบำรุงกำลังผู้ไข้ด้วย "ตำรับยากำลังราชสีห์"
จ่ายตำรับยาดังกล่าว ประมาณ 3-4 อาทิตย์
น้ำหนักของผู้ไข้ ก็เพิ่มขึ้นตามลำดับ
เฉลี่ยแล้ว อาทิตย์ละ 1 กิโลกรัม
จากการสอบถามคนในครอบครัวของผู้ไข้
ก็ได้ข้อมูลว่า การไอในเวลากลางคืนลดลง
กินอาหารได้มากขึ้น แลดูมีพละกำลังมากขึ้น
เข้าสู่สัปดาห์ที่ 5
ได้ถามผู้ไข้ ว่าประสงค์จะกินยาต้มหรือไม่
โดยได้แจ้งฤทธิ์ของการกินยาต้มนี้ไปว่า
จะทำให้ผู้ไข้อาเจียน เป็นเสมหะและเสลดมากขึ้น
และอาจจะมีกำลังลดลงในช่วงแรก
จากนั้น ถ้าผ่านพ้นกระบวนการนี้
ก็จะจ่าย ตำรับยารุฝี ต่อไป...
ซึ่งผู้ไข้ก็ประสงค์ที่จะกินยาต้มนี้
และญาติของผู้ไข้ ก็เห็นตามกัน
จึงได้จ่าย "ตำรับยาต้มแก้ฝีกุตะณะราย"
โดยให้ผู้ไข้กินยาต้มนี้ไป 1 อาทิตย์
ปรากฏว่ามีการอาเจียนเสมหะเหนียวออกมา
เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้
และพละกำลังก็ลดลงพอสมควร
ในระหว่าง 1 อาทิตย์ที่ผู้ไข้กินยาต้ม
ก็ได้คุยกับผู้ไข้และญาติผู้ไข้
ว่าถ้าประสงค์จะรักษาในลำดับต่อไป
จะปรุงยาให้เป็นการ "เฉพาะราย"
ซึ่งยาที่จะจ่ายในตำรับต่อไป เป็นยาน้ำมัน
ที่กระบวนการในการทำยุ่งยากและซับซ้อน
อีกทั้ง วิธีการกินก็ยุ่งยากเช่นกัน
ตำรับยานี้มีชื่อว่า
#ตำรับยาน้ำมันรุฝีกุตะณะราย
ผู้ไข้ ก็ตกลงที่จะกิน
จึงได้แจ้งฤทธิ์ของการกินตำรับยาน้ำมันนี้
ให้กับผู้ไข้และญาติผู้ไข้ได้รับฟัง
ซึ่งทุกฝ่ายก็เห็นพ้องและตกลงร่วมกัน
จึงเริ่มกระบวนการปรุงตำรับยาน้ำมันนี้ขึ้นมาครับ
วิธีการปรุง "ตำรับยาน้ำมันรุฝีกุตะณะราย"
ก่อนอื่นเลย ได้เตรียม
แก่นมะหาด แก่นปรู แก่นมะเกลือ
แก่นสัก แก่นแสมทะเล สิ่งละ 1 กิโลกรัม
นำไปต้มเคี่ยวกับน้ำ 2-3 เท่าของตัวยานั้นๆ
ต้มแยกกันทีละอย่าง
โดยเคี่ยวให้เหลือสิ่งละ 1 ทะนาน แล้วพักไว้
(1 ทะนาน ก็เท่ากับ 1 ลิตร)
น้ำมันเริ่มงวดแล้ว
จากนั้น คั้นน้ำกะทิจาก มะพร้าวไฟ 1 ลูก
แล้วนำกะทิที่ได้ไปหุงกับน้ำเครื่องยาต่างๆ
ที่เคี่ยวไว้ในข้างต้น จนเหลือแต่น้ำมัน แล้วพักไว้
หลังจากนั้นจึง เอาเม็ดในลูกสลอด 33 เม็ด
นำไปคั่วกับน้ำปลาร้าปากไห
คั่วจนน้ำปลาร้าแห้ง มีสีเหลือง เอาไปบดเป็นจุณ
แล้วเอาไปปรุงรวมในน้ำมันที่พักไว้
ก็เป็นอันเสร็จครับ
เคี่ยวจนเหลือแต่น้ำมัน
สรรพคุณของตำรับยาน้ำมันนี้ คือ
เป็นยารุฝีกุตะณะราย และรุสรรพฝีทั้งปวงได้
ส่วนวิธีกิน ก็ยุ่งยากไม่แพ้วิธีการทำ
แต่ขอสงวนเอาไว้นะครับ
เพราะเป็นศิลปะการจ่ายยาของหมอแต่ละบุคคล
"ตำรับยาน้ำมันรุฝีกุตะณะราย" นี้
กินแล้วจะมีการรุ (ถ่าย) มากหน่อย
และอาจจะมีอาการอ่อนเพลียร่วมด้วย
จึงบอกให้ผู้ไข้เตรียมน้ำมะพร้าวอ่อนไว้กิน
รวมทั้งได้จ่ายยาบำรุงกำลัง
เพื่อบำรุงร่างกายในยามร่างกายอ่อนเพลียไปด้วย
วันแรกที่ผู้ไข้กินตำรับยาน้ำมันนี้
ผู้ไข้ก็ได้โทรมาเล่าให้ฟังว่า ถ่าย 4 ครั้ง
และก็มีอาการอ่อนเพลีย
แต่ก็ได้รับการดูแลจากคนในครอบครัวอย่างใกล้ชิด
จากวันแรกที่จ่ายยาไป จนถึงวันนี้
ก็ยังไม่เสร็จกระบวนการรักษา
ผู้ไข้ยังอยู่ในช่วงกินตำรับยาน้ำมันนี้อยู่
โดยมีกำหนดกลับมาพบกันในเร็วๆ นี้ ครับ
อย่างที่ได้กล่าวไปในข้างต้นว่า...
"ตำรับยาน้ำมันรุฝีกุตะณะราย"
ปรุงเฉพาะราย ท้าทายความพยายาม
มันไม่ใช่เรื่องที่เกินจริงครับ
ผมพยายามปรุงยาน้ำมันนี้อยู่ 2 วัน
ใช้เวลาเคี่ยวน้ำมัน ทั้งหมด 3 ชั่วโมง
เหลือน้ำมันจริงๆ เท่าที่รูปภาพที่ลงไว้ครับ
และในที่สุด
ก็ไม่ใช่แค่คนปรุงยาที่ต้องพยายามอยู่ฝ่ายเดียว
ผู้ไข้ และ ญาติผู้ไข้ ก็ต้องพยายามด้วย
ผู้ไข้ ก็ต้องพยายามอดทนกับฤทธิ์ของยา
และกระบวนการกินที่ยุ่งยาก
ส่วนญาติผู้ไข้ ก็ต้องพยายามดูแลผู้ไข้อย่างใกล้ชิด
ซึ่งเป็นความโชคดี
ที่ในเคสนี้ ญาติผู้ไข้ดูแลผู้ไข้เป็นอย่างดีตั้งแต่ต้น
และการรักษา ก็ยังคงดำเนินต่อไป...
ท้ายนี้ ขอขอบคุณ
นู๋มนต์ มณฑิรา กับ คุณ นที ไทยานนท์
ที่เอื้อเฟื้อมะพร้าวไฟมาให้ ทั้งทำยาและทำพันธุ์
แล้วก็ น้องจิ๊บ Thida Jibu ที่มาช่วยแกะเม็ดสลอด
ขอบคุณนะครับ
หวังว่าข้อความด้านบนนี้
จะเป็นประโยชน์ต่อคนที่ได้ผ่านมาอ่าน
การปรุงยานี้ ค่อนข้างยุ่งยากซับซ้อน
อาจจะดูไม่คุ้มค่าทั้งเวลาและแรงกายในการทำ
แต่สำหรับการเป็นหมอคหนึ่ง
ถ้าในท้ายที่สุด หากประสบความสำเร็จในการรักษา
หรือทำให้ผู้ไข้ ดีขึ้นได้บ้าง
จากการป่วยเรื้อรังมาเป็นเวลา 5 ปี
ผมก็คิดว่า "มันคุ้มค่า" สำหรับผมแล้วครับ :)
โฆษณา