24 เม.ย. 2021 เวลา 03:30 • ศิลปะ & ออกแบบ
เส้นแบ่งของ “การลอกเลียนแบบ” และ “ได้แรงบันดาลใจ” คืออะไร ? แล้วจะปกป้องผลงานของเราได้อย่างไร
1
“Good artists copy, great artists steal” คำกล่าวของสตีฟ จอบส์
ที่ดัดแปลงมาจาก “Good artists borrow, great artists steal”
ซึ่งเป็นคำพูดของ ปาโบล ปิกัสโซ ศิลปินชาวสเปนชื่อดัง
ความหมายของผู้ที่เปรียบเสมือนนักสร้างสรรค์แห่งยุคทั้งสองนี้ก็คือ
มันไม่ใช่เรื่องผิด ที่การสร้างผลงานจะต้องอาศัย “แรงบันดาลใจ”
โดยศิลปินที่ได้แรงบันดาลใจมาพัฒนาผลงาน
แต่ถ้าผู้คนก็ยังคงจำได้ว่า ผลงานเหล่านั้นมีที่มาจากแหล่งใด
ก็เปรียบได้กับการ “ยืม” หรือ “ก๊อบปี้” ผลงานคนอื่น ซึ่งก็จะเป็นได้เพียง “ศิลปินที่ดี” เท่านั้น
แต่ถ้าอยากเป็น “ศิลปินที่ยิ่งใหญ่” จะนำแรงบันดาลใจที่ได้มาต่อยอดให้กลายเป็นเอกลักษณ์ของเรา
จนทำให้ผลงานเหล่านั้นกลายมาเป็นของเราโดยสมบูรณ์
ซึ่งก็เหมือนการ “ขโมย” ผลงานของคนอื่น ให้กลายมาเป็นของเราโดยที่ไม่มีใครรู้นั่นเอง
สำหรับปัญหาการลอกเลียนแบบผลงาน น่าจะเป็นเรื่องที่พบเจอบ่อยครั้งในวงการงานออกแบบ
ซึ่งบางครั้งมันอาจเป็นเรื่องบังเอิญจริง ๆ ที่ผลงานของเราจะไปคล้ายกับผลงานของผู้อื่น
แต่บางครั้งมันก็ดูเหมือนจะเป็นการลอกเลียนแบบอย่างชัดเจน
เส้นแบ่งของเรื่องนี้อยู่ที่ตรงไหน ?
แล้วเราจะสามารถป้องกันผลงานของเราจากการถูกคัดลอกอย่างไร ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
แอนดี วอร์ฮอล ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นเจ้าพ่อแห่งศิลปะ Pop Art ผู้ฝากผลงานที่ไม่ว่าใครก็รู้จัก
อย่างรูปที่เป็นแพตเทิร์นหลากสี ของกระป๋องซุป Campbell’s หรือรูปมาริลีน มอนโร
อย่างไรก็ตามเขาเคยถูกมองว่า ไปลอกเลียนแบบมาจากศิลปินชาวญี่ปุ่นท่านหนึ่ง
เธอคนนั้นก็คือ ยาโยอิ คุซามะ หรือเจ้าแม่ลายจุด
ซึ่งมีผลงานโดดเด่นในด้านงานวาดแบบแพตเทิร์นเช่นเดียวกัน
โดยภาพยนตร์เรื่อง “Kusama: Infinity” ได้เล่าเอาไว้ว่า
ในปี 1964 ยาโยอิ คุซามะ ได้จัดแสดงนิทรรศการ Aggregation: One Thousand Boats Show
ซึ่งเป็นการนำรูปเรือจำนวนมาก มาติดตามผนังและพื้น จนกลายเป็นลวดลายแพตเทิร์น
หนึ่งในผู้ชมที่เข้ามาดูผลงานชิ้นนั้นของเธอก็คือ แอนดี วอร์ฮอล
ซึ่งเขาก็ได้กล่าวเอาไว้ว่า “ผลงานชิ้นนี้มันมหัศจรรย์มาก และฉันก็ชอบมันมากเลย”
และในเวลาต่อมา แอนดี วอร์ฮอล ก็ได้จัดงานนิทรรศการในปี 1966
โดยผลงานของเขาเป็นงานแสดงแพตเทิร์นรูปวัวติดอยู่ตามผนังเต็มไปหมด
ยาโยอิ คุซามะ จึงได้ให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า
“ฉันประหลาดใจมาก ที่เขานำสิ่งที่ฉันทำ ไปลอกเลียนในงานแสดงของเขา”
แต่สุดท้ายแล้ว เหตุการณ์นี้ก็ไม่ได้เกิดการฟ้องร้องแต่อย่างใด
เพราะจริง ๆ แล้วการที่จะเอาผิดผู้อื่น ต้องมาจากความต้องการของเจ้าของผลงานด้วย
และหลาย ๆ ครั้งก็มักไม่เกิดขึ้น เพราะผลลัพธ์ที่ได้อาจไม่คุ้มกับสิ่งที่ต้องเสียไป
ไม่ว่าจะเป็นเวลาหรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี
อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีของแอนดี วอร์ฮอล
ก็มีคนมองว่าเขาไม่ได้ลอกเลียนแบบ แต่ได้รับ “แรงบันดาลใจ” จากคนอื่นเท่านั้น
1
ซึ่งเรื่องนี้ก็คงตัดสินอย่างชัดเจนไม่ได้ว่าสรุปแล้วใครถูกหรือผิดกันแน่ ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน
แล้วถ้าเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับผลงานของเราบ้าง เราควรจะจัดการอย่างไร ?
โดยปกติผลงานที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาจะถูกคุ้มครองโดยอัตโนมัติทันที
และการคุ้มครองนั้นจะมีอายุถึง 50 ปี หลังจากที่เจ้าของผลงานเสียชีวิต
หรือถ้าเป็นในกรณีที่ผลิตผลงานแบบนิติบุคคล
งานลิขสิทธิ์จะได้รับความคุ้มครองสูงสุด 50 ปีหลังจากวันแรกที่ได้ทำการเผยแพร่
1
นั่นหมายความว่าจริง ๆ แล้วแค่เราปล่อยผลงานออกมา
เราก็ถือเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ผลงานนั้นทันที โดยที่ไม่ต้องไปจดทะเบียนที่ไหน
แต่หลังจากที่เลยระยะเวลาที่กฎหมายคุ้มครองแล้ว
ผลงานเหล่านั้นก็จะถือเป็นสิทธิ์ของสาธารณะ
อย่างในกรณีภาพผลงานศิลปะชื่อดังของวินเซนต์ แวน โก๊ะ ชื่อ The Starry Night
ก็เป็นอีกหนึ่งผลงานที่ถูกนำมาวาดใหม่ หรือนำมาทำเป็นลวดลายบนสินค้ามากมาย
ซึ่งการกระทำในลักษณะนี้ ก็ไม่ได้เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของวินเซนต์ แวน โก๊ะ แต่อย่างใด
เนื่องจากผลงานนี้ถูกปล่อยออกมาตั้งแต่ปี 1889 และวินเซนต์ แวน โก๊ะ ก็เสียชีวิตในปีต่อมา
เท่ากับว่า ผลงานนี้ลิขสิทธิ์ได้หมดอายุไปแล้ว ทำให้ผู้คนทั่วไปสามารถนำผลงานนี้มาใช้งานได้
1
แต่สำหรับกรณีเจ้าของผลงานที่เห็นผลงานของตัวเองถูกลอกไปแล้วอยากจะฟ้องร้อง
ก็จำเป็นต้องศึกษากฎหมายให้ดีเสียก่อน
เพราะหากผู้ที่ลอกเลียนแบบไปนั้น ใช้เพียงส่วนหนึ่งของผลงาน
และนำไปต่อยอด โดยที่ไม่ได้ส่งผลเสียต่อเจ้าของผลงาน ก็อาจจะไม่สามารถฟ้องร้องได้
เผลอ ๆ อาจจะถูกอีกฝ่ายฟ้องกลับมา จนกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้
แต่ทั้งนี้หากเจ้าของผลงานตั้งใจนำผลงานของตัวเองมาใช้ในเชิงพาณิชย์ หรือเชิงการค้าอยู่แล้ว
การจดลิขสิทธิ์ก็ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นนำผลงานเราไปใช้
โดยสามารถจดทะเบียนกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้
แต่การคุ้มครองจะอยู่แค่เพียงในประเทศเท่านั้น
1
หากต้องการป้องกันไม่ให้ถูกเลียนแบบในต่างประเทศ
ก็จำเป็นต้องจดลิขสิทธิ์ในประเทศนั้น ๆ ด้วย
ซึ่งที่ผ่านมาก็มีตัวอย่างข่าวการลอกเลียนแบบผลงาน จนเกิดกรณีการฟ้องร้องขึ้น
อย่างในกรณีล่าสุดที่กระเป๋ารุ่นหนึ่งของแบรนด์ Guess มีหน้าตาที่เหมือนกับ
Bushwick Birkin กระเป๋ารุ่นดังของแบรนด์ Telfar เป็นอย่างมาก
ส่งผลให้แบรนด์ Guess ต้องถอดกระเป๋ารุ่นนั้นออกจากชั้นวางขายทั้งหมด
หรือในกรณีที่ Nike ฟ้อง MSCHF ข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์และทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง
เนื่องจากมีการนำรองเท้ารุ่น Air Max 97 มาดัดแปลงเป็น Satan Shoes
โดยการเติมเลือดคน 1 หยด ลงไปในพื้นรองเท้า
ทั้ง ๆ ที่ MSCHF ก็เคยนำรองเท้ารุ่นนี้ของ Nike มาดัดแปลงแล้วก่อนหน้านี้
โดยทำเป็น Jesus Shoes ที่เติมน้ำจากแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ในประเทศจอร์แดน
และทาง Nike ก็ไม่ได้มีการเคลื่อนไหวใด ๆ กับเรื่องนี้
ทำให้เห็นได้ว่าการเอาผิดเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย
และที่สำคัญคือยังต้องเป็นความต้องการของเจ้าของผลงานเองด้วย
ซึ่งในยุคปัจจุบันที่โลกมีทั้งเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ต
ทำให้ใคร ๆ ก็สามารถมีพื้นที่ในการสร้างสรรค์ผลงานของตัวเอง
และยังเข้าถึงข้อมูลที่จะนำมาเป็นแรงบันดาลใจได้ง่ายขึ้น
แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นการยาก สำหรับการป้องกันไม่ให้เกิดการลอกเลียนแบบ
อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ที่คิดจะใช้โอกาสนี้หาประโยชน์จากผลงานอื่น
แม้กฎหมายหรือใครจะเอาผิดกับเราไม่ได้ แต่เราก็ย่อมรู้ตัวของเราเอง
ซึ่งสุดท้ายแล้ว ก็กลับมาที่คำกล่าวของสตีฟ จอบส์ และปาโบล ปิกัสโซ
การลอกผลงานคนอื่นมา เราก็จะเป็นได้แค่ “ศิลปินที่ดี”
แต่ถ้าเรายังไม่ทำให้หลุดออกจากผลงานคนอื่น ก็จะไม่สามารถก้าวไปเป็น “ศิลปินที่ยิ่งใหญ่” ได้..
โฆษณา