23 เม.ย. 2021 เวลา 14:12 • กีฬา
ก่อนลงสนาม ปรับสภาพลมหายใจเพื่อชีวิตใหม่ที่ “ฟิต” แอนด์ “เฟิร์ม”
ก่อนลงสนาม ปรับสภาพลมหายใจเพื่อชีวิตใหม่ที่ “ฟิต” แอนด์ “เฟิร์ม”
โดย ช้างศึก x Play Now Thailand
#ChangsuekFITandFIRM
การเล่นฟุตบอลซึ่งผู้เล่นต้องวิ่งต่อเนื่องกันนานถึง 90 นาที ทั้งวิ่งหนีตัวประกบ วิ่งทำทาง วิ่งไล่บอล ฯลฯ ต้องอาศัยทั้งความฟิต (fit) และความเฟิร์ม (firm) ของร่างกาย ข้อดีคือทำให้ปอดแข็งแรง ไม่เหนื่อยง่าย และช่วยทำให้การทำงานของระบบหายใจเป็นปรกติ
ในทางกลับกันหากร่างกายมีระบบการหายใจเป็นปรกติ ไม่หายใจติดขัด ก็ย่อมส่งผลดีกลับถึงร่างกาย เช่น ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายเกิดการเผาผลาญพลังงาน ช่วยทำให้ระบบการทำงานของหัวใจและหลอดเลือดแข็งแรง
หลายคนคงเคยสังเกตว่าเมื่อลมหายใจของเราไม่ปรกติ หรือเวลาที่เรารู้สึกเครียด อึดอัด อ้างว้าง ไม่สบายใจ ก็ส่งผลกระทบไปถึงร่างกายให้ล้มป่วยได้เช่นกัน
ที่กล่าวมาเพื่อที่จะชี้ว่า ตัวตนของเรามีสามสิ่งสัมพันธ์ คือ ร่างกาย จิตใจ และลมหายใจ ที่สามารถส่งผลถึงกันและกันได้
โดยทั่วไปแล้วปอดของเรามีความจุประมาณ 3,800-5,000 มิลลิลิตร แต่การหายใจของคนทั่วไปในยุคสมัยนี้มีลักษณะ “ตื้น” และ “เร็ว” ถึงขนาดทำให้มีอากาศเข้าไปในปอดแค่ 500-600 มิลลิลิตรต่อการหายใจแต่ละครั้ง
หากเราลองพยายามหายใจเข้าให้เต็มปอดจะสามารถเพิ่มอากาศได้ถึงประมาณ 2,000 มิลลิลิตร
ส่วนการหายใจออก คนทั่วไปมักมีลมหายใจออกประมาณ 600 มิลลิลิตร แต่ถ้าเราใช้ความพยายามหรือตั้งใจมากๆ เวลาหายใจออกก็จะได้ลมหายใจออกเพิ่มอีก 1,200 มิลลิลิตรเลยทีเดียว
จะเห็นว่าการหายใจแบบตื้นและเร็วทำให้มีลมเข้าและออกจากปอดน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ขณะที่การหายใจแบบลึกลมจะไหลเข้าปอดได้มากกว่าถึง 5-6 เท่า เราจึงควรพยายามฝึกหายใจให้ “ลึก” และ “ยาว” เพื่อให้ร่างกายได้รับประโยชน์จากการหายใจอย่างเต็มที่ จะช่วยเพิ่มความแข็งแรง และต้านทานต่อโรคภัยไข้เจ็บ
ทุกวันนี้สภาพสังคมและการดำเนินชีวิตทำให้คนเราเครียดกันมาก ส่งผลข้างเคียงให้เป็นโรคมะเร็ง โรคหัวใจ หอบหืด ความดัน เบาหวาน ระยะหลังผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพพยายามค้นหาวิธีการต่างๆ เพื่อให้หายขาดจากโรคหรือป้องกันไม่ให้มีอาการรุนแรงเพิ่มขึ้น ผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งต้องการหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่เป็นสารเคมี จึงนำการแพทย์ทางเลือกหรือการแพทย์แผนตะวันออกมาช่วยเสริมการบำบัด แนวทางที่สำคัญคือการทำสมาธิ ฝึกหายใจในรูปแบบชี่กง ไทเก๊ก โยคะ
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนยอมรับว่า การฝึกหายใจมีประโยชน์อย่างยิ่ง สามารถช่วยบำบัดโรคหรืออาการต่างๆ เช่น โรคทางเดินหายใจ แพ้อากาศ หอบหืด โรคเครียด โรคซึมเศร้า อาการนอนหลับยาก ปวดศีรษะไมเกรน ความดันโลหิตสูง
มีการศึกษาทางการแพทย์ระบุว่าการหายใจให้ช้าลงช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค ตัวอย่างที่เห็นชัดคือลดความดันโลหิต โดยระบุว่าหนึ่งในวิธีที่ช่วยลดความดันโลหิตในผู้ที่ยังมีอาการไม่มาก คือการหายใจอย่างมีประสิทธิภาพ นั่นคือการหายใจที่มีอัตราต่ำกว่า 10 ครั้งต่อนาที ในขณะที่อัตราปรกติของการหายใจคือ 13.8-19.4 ครั้งต่อนาที
1
การหายใจที่ยาวและลึกจะส่งผลดีต่อระบบหลอดเลือดหัวใจ ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงหากฝึกหายใจให้ช้าและลึกวันละประมาณ 15 นาที ติดต่อกันนานประมาณ 2 เดือน ค่าความดันโลหิตจะลดลงมากกว่าผู้ที่ไม่ได้เข้ารับการฝึกหายใจ
นั่นเพราะการหายใจช้าและลึกมีผลกระตุ้นปลายประสาทที่สัมพันธ์กับระบบการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงความดัน การเต้นของหัวใจ และการไหลกลับของเลือดเข้าสู่หัวใจ ซึ่งจะเป็นผลต่อเนื่องกับความดันที่ลดลงและความต้านทานภายในหลอดเลือดทั่วร่างกาย
ด้วยเหตุนี้หากเรามีสติกับการหายใจ หรือพยายามฝึกฝนปรับลมหายใจให้ยาวขึ้นและช้าลง ก็จะช่วยผ่อนคลายนำไปสู่ความสงบ
การหายใจที่ถูกวิธียังทำให้โรคหลายโรคมีอาการดีขึ้น ถ้าเราควบคุมลมหายใจของเราได้ เราก็สามารถควบคุมร่างกายและจิตใจของเราให้ฟิตแอนด์เฟิร์มได้เช่นกัน
โฆษณา