25 เม.ย. 2021 เวลา 10:50 • ธุรกิจ
4 กับดัก ของการพูดสร้างแรงบันดาลใจ ที่เสียหายทั้งคนพูด และคนฟัง
3
หลายคนอยากเป็นนักพูดที่ทรงพลัง จนสะกดคนฟังให้หยุดนิ่งได้ดั่งมีเวทมนตร์
ทำให้บางคนพยายามลอกเลียนกลเม็ดการพูด จากนักพูดชื่อดังบนเวที
จนนำไปสู่ความเข้าใจผิด และทำอะไรที่ชวนให้ผู้ฟังอึดอัดอีกหลายข้อ
ดังนั้นการเป็นนักพูดที่ดี จนสามารถสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดในใจของคนฟังได้
เราต้องเรียนรู้ว่าอะไรคือ “กับดัก” ของคำพูดหรือวิธีการพูดของเราด้วย
และนี่คือกรณีศึกษาจาก คริส แอนเดอร์สัน ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ TED
ที่จะมาช่วยบอกเราว่า การพูดแบบไหนเป็นกับดัก ที่ทำให้เสียหายต่อตัวเอง และทำให้คนฟังเสียเวลา
1. พูดเพื่อขายของ
บางคนพูดเพื่อฉกฉวยโอกาสจากผู้ฟัง โดยไม่ได้ตั้งต้นว่าจะเป็น “ผู้ให้”
โดยคริส แอนเดอร์สัน กล่าวว่า ในขณะที่เขากำลังคัดเลือก TED Talks เขาได้เจอกับคนคนหนึ่งที่เป็นทั้งที่ปรึกษาทางธุรกิจและนักเขียนชื่อดัง
ซึ่งเมื่อคนคนนี้มาถึง เขาก็เริ่มพูดถึงองค์กรต่าง ๆ ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด และได้ให้เหตุผลว่า ที่บริษัทเหล่านั้นเติบโตได้ดี เพราะมา “ขอคำปรึกษาจากเขา”
หลังจากพูดไปได้เพียงห้านาที ผู้ฟังแต่ละคนเริ่มมีสีหน้าท่าทางไม่ดี ทำให้คริส แอนเดอร์สัน ต้องขัดจังหวะ
แล้วขอให้เขาเล่าวิธีคิด ที่คุณแนะนำให้องค์กรเหล่านั้นทำ ว่ามีวิธีการทำงานอย่างไร
เมื่อผู้ฟังส่งเสียงเชียร์ ในที่สุดเขาก็เริ่มเล่าความรู้บางอย่าง ที่ทุกคนสามารถนำไปใช้ได้
จึงทำให้ความรู้สึกของผู้ฟังเปลี่ยนไปและบรรยากาศกลับมาดีในที่สุด
ดังนั้นหลักสำคัญคือ ผู้พูดควร “ให้” บางสิ่งแก่ผู้ฟัง ไม่ใช่ “ขอ” อะไรจากพวกเขา
เพราะในบางสถานการณ์ คนฟังต้องการความรู้ หากไม่ได้รับสิ่งที่เขาต้องการ
เขาจะหาพื้นที่ปลอดภัย เช่น หยิบมือถือมาเล่น เพื่อหลีกหนีสถานการณ์ชวนอึดอัด
2. พูดเรื่อยเปื่อย
ในการประชุม TED Talks ครั้งหนึ่ง มีผู้พูดคนหนึ่ง ที่มาถึงก็เริ่มต้นด้วยการเล่าเรื่องระหว่างทาง
ว่า กว่าที่ตนเองจะขับรถมาถึงที่งาน ก็นั่งคิดอยู่บนรถว่าจะพูดอะไรดี..
ซึ่งเรื่องราวที่เขาพูดไม่มีอะไรที่เข้าใจยาก ไม่มีอะไรเป็นเรื่องแย่ แต่ก็ไม่มีความคิดอะไรที่ทรงพลัง
ไม่มีข้อสังเกตที่ทำให้คนรู้สึกได้รับไอเดียไปต่อยอด ไม่มีแม้กระทั่งข้อคิดให้คนกลับไปคิด
คริส แอนเดอร์สัน บอกว่า เขาโกรธจนควันออกหู เพราะนอกจากผู้พูดคนนี้จะเตรียมตัวมาไม่ดีแล้ว
ยังอวดว่า “นี่ขนาดผมเตรียมตัวมาไม่ดีนะเนี่ย” โดยพูดอย่างภาคภูมิใจหลังได้รับเสียงปรบมือตอนจบ
ซึ่งการทำเช่นนี้ถือเป็นการดูถูกผู้ฟัง ทำเหมือนเวลาของพวกเขาไม่มีค่า และงานประชุมนี้ไม่มีความหมาย
4
ดังนั้นผู้พูดควรเตรียมตัวและมีทิศทางการพูดที่ชัดเจน ไม่ใช่การพูดไปเรื่อยโดยไม่ได้เตรียมตัวมา
แล้วหลอกตัวเองว่า การยืนสำรวจความคิดตัวเองบนเวทีแบบสด ๆ ได้ คือเรื่องที่เจ๋งมาก
3. สาธยายเรื่ององค์กรตัวเอง
การที่ผู้พูดคนหนึ่ง ทำงานในองค์กรที่ตัวเขาชื่นชอบ เขาอาจจะมีความภาคภูมิใจ
หรือมองว่ามันน่าตื่นเต้น แต่อย่าลืมว่ามันอาจจะน่าเบื่อสุด ๆ สำหรับผู้ฟังก็ได้
การพูดวนไปมาเกี่ยวกับประวัติองค์กร โครงสร้างที่ซับซ้อนขององค์กร หรือเล่าว่ามีแต่พนักงานที่หน้าตาดี
ทั้งหมดนี้จะทำให้ผู้ฟังเผลอหลับ เพราะคนฟังไม่ได้ทำงานที่เดียวกับคุณ
1
ดังนั้นหากอยากพลิกความสนใจ ควรพูดถึงลักษณะงานที่คุณทำและพลังความคิดที่อยู่ในงานนั้น
ไม่ใช่ที่ตัวองค์กรหรือผลิตภัณฑ์
ยกตัวอย่างเช่น
“ในปี 2015 เราตั้งแผนกใหม่ในอาคารดัลลัส (เปิดภาพความสวยงามของตึกกระจก) เพื่อศึกษาว่า เราจะลดต้นทุนค่าพลังงานอย่างไร ผมจึงมอบหมายให้นาย A รองประธานบริษัทจัดการงานนี้..”
เทียบกับประโยคนี้
“เมื่อปี 2005 เราค้นพบบางอย่างที่น่าประหลาดใจ คือ โดยเฉลี่ยแล้วสำนักงานต่าง ๆ สามารถลดต้นทุนด้านพลังงานได้ถึงร้อยละ 60 โดยประสิทธิภาพของงานก็ไม่ลดลงด้วย วิธีการนั้นก็คือ..”
จะเห็นได้ว่ามีรูปแบบหนึ่งที่สามารถดึงความสนใจ กับอีกรูปแบบหนึ่งคือการอวยตัวเอง
4. การแสดงเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ
ผู้พูดหลายคนอยากได้แรงเชียร์หรือเสียงปรบมือ เมื่อเขากำลังเดินลงจากเวที
ซึ่งนี่คือความคิดที่จะเป็นกับดักใหญ่ในการพูดเลยทีเดียว
เพราะทำให้บางคนไปศึกษาปาฐกถาของนักพูดสร้างแรงบันดาลใจ แล้วพยายามลอกเลียนแบบ
ซึ่งอาจได้มาแค่เปลือก โดยบางคนทำการบ้านมาดีมาก บุคลิกดูดี มีประโยคที่น่าทึ่ง
มีภาพประกอบที่สื่อถึงเรื่องราว
แต่แล้วการทำเช่นนี้ของบางคนกลับสร้างความน่าอึดอัดให้กับผู้ฟัง
เพราะมักจะมีสเตปการพูดที่แปลก เช่น พูดไปสักพัก แล้วก็หยุด เพื่อรอฟังเสียงปรบมืออยู่บ่อย ๆ
หรือเค้นเสียงเพื่อให้ได้เสียงปรบมือหรือเสียงหัวเราะ
สิ่งที่แย่ที่สุดในการที่ผู้พูดโฟกัสแต่เสียงเชียร์ ทำให้ผู้พูดละเลยประเด็นที่แท้จริงของสิ่งที่ต้องการจะสื่อสาร
และกลายเป็นเรื่องราวที่ดูไร้แก่นสาร และพานทำให้การบรรยายในรูปแบบนี้เสื่อมเสียตามไปกันหมด
ซึ่งทำให้ผู้ฟังไม่เปิดใจรับฟังเมื่อมีคนมาพูดสร้างแรงบันดาลใจ
แล้วการพูดแบบไหนคือการพูดสร้างแรงบันดาลใจที่ดี หรือการพูดที่ทรงพลังจริง ๆ ?
คริส แอนเดอร์สัน กล่าวว่า การจะสร้างแรงบันดาลใจให้คนฟัง คุณต้องลงมือทำอะไรบางอย่าง
ที่แลกมาด้วยเลือด หยาดเหงื่อ และน้ำตา
ซึ่งสิ่งเหล่านี้เริ่มต้นจากการมีความฝันที่ยิ่งใหญ่ ที่ไม่ได้จะหามาได้ง่าย ๆ
ดังนั้นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้การพูดสร้างแรงบันดาลใจนั้นมีพลังก็คือ
การเล่าสิ่งที่ตัวเองเคยทำ แล้วประสบความสำเร็จมาแล้วอย่างแท้จริง
โดยเล่าอย่างนอบน้อม ด้วยความจริงใจและความกล้าหาญ
และสิ่งเหล่านี้เองที่จะสร้างสิ่งที่มหัศจรรย์ให้กับตัวคนพูดและคนฟังได้นั่นเอง..
Reference
-หนังสือ TED TALKS เจาะลึกศาสตร์การสื่อสารอย่างทรงพลัง จากผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ TED เขียนโดย Chris Anderson แปลโดย ทิพย์นภา หวนสุริยา
โฆษณา