26 เม.ย. 2021 เวลา 01:12 • ธุรกิจ
ประสบการณ์การทำธุรกิจในแดนมังกร ตอน 4
เราไปไขความลับกันถึงโอกาสทางเศรษฐกิจของไทยในจีน และการแก้ไขปัญหาเรื่องคนกันต่อเลยครับ ...
เมื่อถามถึงว่าพื้นที่ใดในจีนที่เหมาะสมสำหรับการเข้าไปลงทุน ท่านธนากรฯ ก็พูดถึง 2 พื้นที่สำคัญของจีน
หนึ่ง บริเวณภาคใต้ของจีน อันได้แก่ ฉงชิ่ง เสฉวน ยูนนาน กวางสี และกุ้ยโจว ซึ่งมีประชากรรวมราว 250 ล้านคน และมีขนาดใหญ่กว่าไทยราว 3-4 เท่าในเชิงภูมิศาสตร์
วัฒนธรรมของคนในพื้นที่นี้กับไทยก็ใกล้เคียงกัน และมีความต้องการสินค้าและบริการคล้ายคลึงกันอีกด้วย
นอกจากนี้ ภาคใต้ของจีนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ถึง 2.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือใหญ่กว่าไทยราว 4 เท่า และมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ทำให้มีกำลังซื้อสูงขึ้นไปด้วย
1
ท่านธนากรฯ เปรยว่า คนจีนที่อาศัยอยู่บริเวณนี้เดินทางไปปักกิ่งลำบากและนานกว่ามาไทยเสียอีก ดังนั้น เมื่อโครงข่ายเส้นทางความเร็วสูงที่เชื่อมโยงจีน-ลาว-ไทย-มาเลเซีย-สิงคโปร์ สร้างเสร็จ จะนำความเจริญมาให้อย่างมากมาย ทั้งการท่องเที่ยว การค้า และการลงทุน ขอเพียงรถไฟความเร็วสูงสร้างเสร็จ ก็จะเป็นโอกาสของเรา
หลายคนกลัวว่าเมื่อรถไฟความเร็วสูงสร้างเสร็จ เราจะยิ่งเสียเปรียบ จีนจะมาโกยความมั่งคั่งของไทยไปหมด
แต่ท่านธนากรฯ มีมุมมองเชิงบวกในเรื่องนี้ โดยแนะนำว่า ในด้านหนึ่ง กิจการของจีนก็มาบุกตลาดที่ไทย นักธุรกิจไทยก็ควรกล้าที่จะรับมือกับคู่แข่งรายใหม่จากจีน และรู้จักการประเมินตน
หากประเมินแล้วคิดว่าไม่สามารถต่อสู้กับคู่แข่งรายใหม่จากจีนได้ จีนก็ต้องการหุ้นส่วนที่ดีในไทย ผู้ประกอบการไทยจึงควรหาโอกาสร่วมมือกับธุรกิจจีนเพื่อเติบโตไปด้วยกัน
ในอีกด้านหนึ่ง นักธุรกิจไทยควรกล้าที่จะไปบุกตลาดจีน ไปเอาประโยชน์จากฐานะที่ดีขึ้นของคนจีน จีนมีตลาดใหญ่มากที่ต้องการสินค้าไทย โดยควรเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมที่จะส่งออกหรือไปลงทุน
“ทำไมเราไม่คิดไปโกยที่เมืองจีนกลับมา ผมไปโกยมา 40 ปีแล้ว จีนทำได้ เราก็ต้องทำได้” นายกสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน กระตุกความคิด
จงหยวนเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่เติบโตเร็ว และมีศักยภาพสูง ซึ่งมีประชากรมากกว่าไทย 2-3 เท่า เฉพาะลั่วหยางก็มีนักท่องเที่ยวถึงปีละ 120 ล้านคนที่ไปเยือนสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมมากมายในแถบนั้น รวมทั้งเทศกาลดอกโบตั๋นที่โด่งดัง จึงเป็นตลาดที่ใหญ่มาก
ในช่วงที่ผ่านมา เจิ้งโจวถูกกำหนดเป็นศูนย์กลางการพัฒนาในย่านนั้น โดยได้พัฒนาโครงข่ายการขนส่งออกไปเชื่อมโยงกับพื้นที่ภายนอกไม่ใช่แค่ 4 ทิศ แต่มากถึง 8 ทิศ รวมทั้งยังเป็นชุมทางของเส้นทางสายไหมที่เชื่อมต่อไปยังยุโรปอีกด้วย
การลงทุนพัฒนาเส้นทางรถไฟเชื่อมจีนและยุโรปตามนโยบายเส้นทางสายไหมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สร้างประโยชน์ให้กับจีนหลายด้า
ประการแรก ประโยชน์ในด้านการส่งออก จีนจะได้รับความสะดวกอย่างมากในการเคลื่อนย้ายสินค้าไปยังตลาดเป้าหมาย โดยสามารถขนส่งสินค้าไปยุโรปโดยใช้เวลา 14 วัน เทียบกับการขนส่งทางทะเลอ้อมแหลมมลายูที่ใช้ถึง 40-45 วัน
ประการที่สอง ประโยชน์ในเชิงยุทธศาสตร์ จีนให้ความสำคัญกับพื้นที่แถบนี้ ยกตัวอย่างเช่น การนำเข้าน้ำมันจากตะวันออกกลางถึงปีละ 500 ล้านตัน ซึ่งมากที่สุดในโลก ดังนั้น จีนจึงทำรถไฟเส้นหนึ่งจากจีนไปตะวันออกกลาง
นอกจากนี้ จีนยังต้องการเชื่อมลงมาทางตอนใต้ จีนลงทุนเดินท่อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเข้าเมียนมา โดยเชื่อมจากจ้าวผิ่ว เข้ามามัณฑะเลย์ และเชื่อมมาถึงรุ่ยลี่ มณฑลยูนนาน ซึ่งจะช่วยลดสี่ยงของการขาดแคลนพลังงาน
อย่างไรก็ดี ท่านธนากรฯ มองว่า ในการเข้าไปทำธุรกิจในจีน กิจการของไทยเสียเปรียบในเรื่องภาษา และหลักการบริหารแบบใหม่
ในอดีต การแสวงหาคนไทยที่มีความรู้ความชำนาญในด้านนี้ค่อนข้างยาก การให้ผลตอบแทนสูงถึง 2 เท่าก็อาจไม่จูงใจ
คนไทยมีลักษณะนิสัยที่รักบ้าน และกลัวลำบาก จึงไม่ชอบไปใช้ชีวิตในต่างประเทศ ทำให้ในอดีต ซีพีต้องไปหาคนไต้หวัน คนฮ่องกง และคนจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์มาช่วยงาน
แต่ท่านธนากรฯ ก็มองว่า ปัญหานี้จะลดลงในอนาคต เพราะในวันนี้จีนเจริญขึ้นมามาก ไม่ลำบากเหมือนสมัยก่อน และมีเด็กไทยไปศึกษาต่อในจีนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ดี ประเทศไทยก็ควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านภาษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาอังกฤษ และภาษาจีน เมื่อจีนเปิดประเทศ และรถไฟสร้างเสร็จ จะได้เป็นโอกาสของไทย
ท่านธนากรฯ ยังเปิดเผยอีกว่า ในช่วงหลายปีหลัง ซีพีให้ความสำคัญกับการผลิตบุคลากรที่มีความชำนาญในด้านภาษาและวัฒนธรรมจีน ผ่านสถาบันการศึกษา และองค์กรไม่แสวงหากำไรอื่นในไทย
ลองนึกดูว่า ถ้าช่างเทคนิคไทยที่สามารถสื่อสารภาษาจีนเบื้องต้นได้ก็จะสามารถได้รับค่าจ้างในอัตราที่สูงขึ้น และมีความมั่นคงในอาชีพการงาน
1
ในทางกลับกัน ซีพีก็เชิญให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปร่วมมือกับ Shanghai International Studies University (SISU) จัดทำหลักสูตรภาษาไทยในจีน เพื่อให้คนจีนได้เรียนรู้ภาษาไทย ซึ่งวันนี้ก็มีศิษย์เก่ากว่า 100 คนแล้ว
ท่านธนากรฯ เชื่อมั่นว่า การค้าและการลงทุนระหว่างไทย-จีนจะเพิ่มขึ้นอีกมากในอนาคต แน่นอนว่า บุคลากรที่พัฒนาขึ้นเหล่านี้จะสร้างความสะดวกและเป็นประโยชน์ต่อกิจการของไทยที่เข้าลงทุนในจีน และกิจการจีนที่จะเข้ามาลงทุนในไทย
หลังจากที่ท่านธนากรฯ กล่าวจบ ก็ตามมาด้วยคำถามมากมายตามมา ผมขอนำเอาแง่มุมจากประเด็นคำถามของผู้เข้าร่วมสัมมนาไปเล่าต่อในคราวหน้านะครับ ...
#ธนากร เสรีบุรี
#สมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน
#ซีพี
#จงหยวน
#การพัฒนาคน
โฆษณา