26 เม.ย. 2021 เวลา 11:07 • ท่องเที่ยว
วัดพระศรีสรรเพชญ์ .. ณ กรุงเก่า เล่าอดีตความรุ่งโรจน์ของอยุธยา
ก่อนการเขียนบทความนี้ .. ฉันเดินทางไปที่อุทยานประวัติศาสตร์อยุธยาหลายครั้ง และแต่ละครั้งที่ไปเยือน ได้ใช้เวลานานมากในการนั่งเงียบๆ ซึมซับ และสร้างจินตนาการตามทุกสิ่งที่หนังสือหลายเล่มที่อ่านที่ได้บรรยายเอาไว้
ฉันนั่งนิ่งๆภายในร่มเงาของต้นไม้ .. สายตาและจินตนาการ ได้พาฉันกลับไปในช่วงเวลาหลายร้อยปีก่อน เหมือนได้มองเห็นผู้คนโบราณเดินกันขวักไขว่ .. บ้านเรือนทรงไทยโบราณ เรียงรายบนถนนดิน ..
เสียงประโคมสังข์ แตร ลอยมาตามสายลมอ่อน ในยามขับกล่อมเจ้านายในวังให้ทรงสำราญ .. ภาพขบวนพยุหยาตรา พรั่งพร้อมด้วยพระมหากษัตริย์ ขุนนาง และไพร่พล แห่แหนในพระนครที่ยอดปราสาทสูงเสียดฟ้า
2
.. ขบวนเรือพระที่นั่งในคุ้งน้ำ สื่อถึงอารยะธรรมที่รุ่งเรืองถึงขีดสุด ..วัดวาอารามที่ยิ่งใหญ่ อร่ามเรืองรองดังทองทา ด้วยแรงศรัทธาอันแรงกล้าของไพร่ฟ้า .. ราชธานีที่มั่งคั่งไปด้วยสถาปัตยกรรมอและศิลปกรรม อันรังสรรค์มาด้วยแรงศรัทธา และฝีมืออันละเอียดอ่อน สวยงาม อลังการ ดังชะลอสรวงสวรรค์ชั้นฟ้ามาตั้งบนผืนแผ่นดินทองของอยุธยา .. ในช่วงยามที่บ้านเมืองสุขสงบ สร้างสมมานานกว่า 417 ปี
พลันฉากของการต่อสู้ผ่านเข้ามาในห้วงนึก .. เสียงสั่งการในการเตรียมต่อสู้กับข้าศึกที่มาประชิดเมือง .. เสียงช้างศึก ม้าศึก ที่ควบทะยานออกไปยันทัพหงสา .. เสียงหวีดร้องของผู้คน
.. พระราชวัง วัดวาอาราม บ้านเรือนไพร่ฟ้า มลายไปในแสงโชติช่วงของเปลวไฟ ที่กำลังไหม้โหมอย่างเมามัน
.. ภาพบรรพบุรุษผู้กล้าที่สู้ยิบตา สละชีวิตเพื่อรักษาแผ่นดินนี้ให้อยู่คู่กับไทย .. ชีวิตนับพัน นับแสนชีวิตที่สูญเสีย ทั้งเจ้านาย ไพร่ฟ้า ข้าแผ่นดิน ไม่มีเว้น
.. จินตนาการแจ่มชัดอยู่เบื้องหน้า เหมือนจะจับต้อง และรับรู้ถึงความเจ็บปวดได้ .. ในมโนนึก
วันนี้ .. ฉันมาเดินบนแผ่นดินผืนเดียวกัน .. ทุกก้าวย่าง .. ใต้ฝ่าเท้าคือแผ่นดินที่เคยโชลมด้วยเลือดไทย และเป็นสุสานทั้งของบรรพกษัตริย์ และนักรบผู้กล้า .. ย่ำอยู่บนแผ่นดินที่บรรพกษัตริย์ และบรรพบุรุษของเราใช้ชีวิตและเลือดเนื้อพยายามรักษาไว้ให้ลูกหลานไทย ..
วัดพระศรีสรรเพชญ์ ..เป็นวัดสำคัญสูงสุดในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีฐานะเป็นวัดประจำพระราชวัง และวัดส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ สร้างอยู่ในเขตพระราชฐานโดยไม่มีพระสงฆ์จำวัด ถือเป็นต้นแบบของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
เชื่อว่า เริ่มสร้างขึ้นในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ เพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์สำคัญ คือ “พระศรีสรรเพชญ์” รวมถึงเพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญ เกี่ยวกับศาสนาและอาณาจักร และน่าจะเป็นที่เก็บพระบรมอัฐิของพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ด้วย
วัดพระศรีสรรเพชญ์ .. ตั้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก การวางผังเป็นแบบซ้ายขวาเท่ากัน มีพระมหาธาตุเจดีย์สามองค์เป็นประธานของวัด โดยมีระเบียงคตล้อมรอบ
ด้านหน้าพระมหาธาตุเจดีย์มีพระวิหารหลวงขนาดใหญ่เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปพระศรีสรรเพชญ์
ด้านซ้ายพระวิหารหลวงเป็นพระวิหารที่ประดิษฐานพระโลกนาถ
ส่วนวิหารด้านขวาของพระวิหารหลวงเป็นวิหารที่ประดิษฐาน พระพุทธรูปปรางปาลิไลยก์
พระอุโบสถตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวนออกเฉียงใต้ของพระวิหารหลวง
ตรงหน้าพระวิหารหลวงมีหอระฆัง 1 หอ ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นที่ตั้งพระที่นั่งจอมทอง
บริเวณรอบ ๆ ติดกับกำแพงแก้ว มีเจดีย์รายสลับกับพระวิหารรายขนาดเล็กโดยรอบอาคารต่าง ๆ ที่กล่าวมาปัจจุบันมีสภาพปรักหักพังเป็นส่วนใหญ่
พระมหาธาตุเจดีย์ ... พระเจดีย์สามองค์ทรงระฆัง ตั้งอยู่บนฐานไพทีรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีความเชื่อกันว่า ฐานไพทีนี้เป็นฐานพระที่นั่ง เมื่อคราวสถาปนากรุงศรีอยุธยา โดยลักษณะของเจดีย์ประกอบด้วยฐานเชียงกลมซ้อนกันสามชั้น เหนือขึ้นไปเป็นฐานปัทม์ 1 ชั้น รองรับมาลัยเถา เหนือชั้นมาลัยเถาเป็นฐานปัทม์อีกชั้นหนึ่ง
ถัดขึ้นไปเป็นองค์ระฆังทรงลังกาที่นิยมสร้างกันในสมัยสุโขทัย เหนือองค์ระฆังเป็นบนลังก์รูปสี่เหลี่ยมจตุรัสทำเป็นฐานปัทม์ ระหว่างปล้องไฉนซึ่งเป็นส่วนยอดกับบัลลังก์มีเสาหานรองรับแกนก้านฉัตร
ข้างองค์พระเจดีย์ทำเป็นซุ้มทิศทั้งสี่ทิศ มีบันไดทางขึ้นเหนือซุ้มประดับด้วยเจดีย์ทรงกลม ซึ่งได้รับอิทธิพลของศิลปะในสมัยศรีวิชัย ระหว่างองค์พระเจดีย์มีพระมณฑปองค์ด้านทิศตะวันออกประดิษฐานรอยพระพุทธบาท .. ปัจจุบันพระเจดีย์พังทลายลงเหลือเพียงฐาน
สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงให้ความเห็นว่า เจดีย์ทั้งสามองค์น่าจะใช้บรรจุพระบรมอัฐิของพระมหากษัตริย์ 3 พระองค์ โดยสร้างคนละคราวกัน ไล่เรียงจากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตก
พระเจดีย์สององค์แรกทางทิศตะวันออก สร้างเมื่อ พ.ศ.2035 ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถพระราชบิดา และองค์ที่สองคือองค์กลางเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 พระบรมเชษฐา ส่วนเจดีย์องค์ที่ 3 ทางทิศตะวันตก สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 พระราชโอรสได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2
“พระวิหารหลวง” ของวัดพระศรีสรรเพชญ์
ในวัดพระศรีสรรเพชญ์มีพระวิหาร ทั้งวิหารหลวง และวิหารราย ... แต่ส่วนใหญ่มีรูปแบบโครงสร้างลักษณะเดียวกัน คือใช้เสากลมขนาดใหญ่ รับน้ำหนักโครงหลังคา ใช้ฝาผนังก่ออิฐหนารับน้ำหนักชายคา และใช้เสานางเรียงรับน้ำหนักชายคาปีกนก ซึ่งเป็นรูปแบบของอาคารที่นิยมสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น
“พระศรีสรรเพชญ์” ...ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ได้กล่าวถึงการสร้างพระศรีสรรเพชญ์เอาไว้ว่า
“... ศักราช 862 วอกศก (พ.ศ. 2043) สมเด็จพระรามาธิบดีเจ้า แรกให้หล่อพระพุทธเจ้าศรีสรรเพชญ์ แลแรกหล่อในวัน 186 ค่ำ ครั้นเถิงศักราช 865 กุนศก (พ.ศ. 2046) 11 ค่ำ เดือน 8 ฉลองพระพุทธเจ้าพระศรีสรรเพชญ์ คณนาพระพุทธเจ้านั้น แต่พระบาทเถิงยอดพระรัศมีนั้น สูงได้ 8 วา (16 เมตร) พระพักตร์นั้นยาวได้ 4 ศอก (2 เมตร) กว้างพระพักตร์นั้น 3 ศอก (1.5 เมตร) แลพระอุระนั้นกว้าง 11 ศอก (5.5 เมตร) แลทองหล่อพระพุทธเจ้านั้นหนัก 5 หมื่น 3 พันชั่ง (3,480 กิโลกรัม) ทองคำหุ้มนั้นหนักสองร้อยแปดสิบหกชั่ง (343 กิโลกรัม) ข้างหน้านั้นทองเนื้อ 7 น้ำสองขา ข้างหลังนั้นทองเนื้อ 6 น้ำสองขา...”
ในเอกสารคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม ฉบับหอหลวง ได้กล่าวถึงพระมหาพุทธปฏิมากรที่มีพระพุทธานุภาพเปนหลักกรุงศรีอยุธยา สืบมาแต่โบราณ 8 องค์ พระศรีสรรเพชญ์ถูกระบุไว้ว่า".... พระพุทธศรีสรรเพชรดาญาณยืนสูง 8 วา หุ้มทองคำทั้งพระองค์ อยู่ในพระมหาวิหารวัดพระศรีสรรเพชร...."
บันทึกของ “บาทหลวงฟร็องซัว-ตีมอเลอง เดอ ชัวซี” (François-Timoléon de Choisy) ผู้ช่วย “มองสิเออร์ เลอ เชอร์วาเลีย เดอ โชมอง" (Chevalier de Chaumont) ราชทูตฝรั่งเศสที่เข้ามากรุงศรีอยุธยาในช่วงเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2228 ได้กล่าว่า "...มองสิเออร์ คอนสตันซ์ (Constance Phaulkon - คอนสแตนติน ฟอลคอล) ได้นำคณะบาดหลวงเข้าชมภายในวัดพระศรีสรรเพชญ เมื่อวันอังคารที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2228....
....เราพากันเดินต่อไปอีกสักพักใหญ่ก็ไปถึงพระอารามหลวง (วัดพระศรีสรรเพชญ์) พอเดินย่างเข้าไปข้าพเจ้าก็คิดว่าเป็นโบสถ์อย่างของเรานั่นเอง ที่ระเบียงโบสถ์มีเสากลมใหญ่เป็นอันมาก แต่ไม่มีลวดลายพิสดารอะไรเลยเสาใหญ่ ๆ ตามทางเดินและที่ชานระเบียงปิดทองตลอดทั้งต้นทุก ๆ ต้น ส่วนกลางในที่ใกล้กับแท่นอันประดิษฐานพระพุทธรูปนั้น ประดับประดางดงามมาก บนฐานมีพระพุทธรูปทองคำอยู่ 3 องค์ ขนาดเท่าคนธรรมดา นั่งอยู่ในท่าที่ชาวเมืองชอบนั่งกันเสมอเป็นนิจ (เห็นจะนั่งขัดสมาธิ,ไม่ใช่นั่งพับเพียบ) มีเพชรเม็ดใหญ่ประดับอยู่ที่พระนลาฏและที่นิ้วพระหัตถ์ เทวรูปองค์ที่ตั้งอยู่ทางซ้ายมือเมื่อขาเข้ามานั้นเป็นที่เคารพบูชาของชนชาวสยามทั่วไป เป็นสมมุติเทวรูปแห่งเทพยดาของชาวสยาม ซึ่งเมื่อสองหรือสามพันปีมาแล้วอยู่ที่เกาะลังกา ต่อมาประเทศอื่นๆ ที่ใกล้เคียงได้ไปรักษาไว้ และในที่สุดพระเจ้ากรุงสยามมีชัยชนะในการสงคราม จึงอัญเชิญเทวรูปนั้นมาประดิษฐานไว้ที่พระอารามนี้ บรรดาพระเจ้าพระสงฆ์ชาวบ้านชาวเมืองโจษกันว่าเทวรูปองค์นี้บางทีแสดงปาฏิหาริย์ออกไปนอกพระราชวัง ในเมื่อนึกอยากจะออกไป...
...ส่วนกลางพระอารามแห่งนี้ค่อนข้างจะคับแคบและมืดไปสักหน่อย มีชวาลาจุดตามประทีปไว้ 50 ดวง พอไปถึงที่สุดตอนกลางพวกเราก็รู้สึกประหลาดใจเป็นอันมาก ด้วยได้เห็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่หุ้มด้วยทองคำหนาถึง 3 นิ้วฟุตทั้งองค์พระพุทธรูปองค์นี้สูงประมาณ 42 ฟุต (6 วา 2 ศอก ประมาณ 13 เมตร) ส่วนกว้าง (ฐาน) ประมาณ 13 – 14 ฟุต (ประมาณ 4.2 เมตร) เขาพูดกันว่าทองคำที่หุ้มนั้นมีน้ำหนักถึง 12400,000 ปอนด์ฝรั่งเศส...
...นอกจากนี้ เรายังได้เห็นพระพุทธรูปทองคำในโบสถ์อื่น ๆ ในพระอารามหลวงอีกหลายองค์ สูง 17 - 18 ฟุตเท่านั้น (5.4 เมตร) ขนาดเท่าคนก็มี และแทบทุกองค์มีอัญมณีประดับอยู่ที่พระนลาฏและนิ้วพระหัตถ์ ข้าพเจ้ารับรองว่านิ้วพระหัตถ์นั้นเป็นทองคำแท้ทีเดียว พวกเราลองจับและลูบคลำดูทุกคน ส่วนพระพุทธรูปองค์ใหญ่นั้นข้าพเจ้ามิได้แตะต้อง เป็นแต่ยืนห่าง แต่ก็เชื่อแน่นอนว่าคงเป็นทองคำเช่นเดียวกันกับพระพุทธรูปองค์อื่นๆเหมือนกัน เพราะลักษณะและสีสันวรรณะเท่าที่แลเห็นนั้นก็เป็นอย่างเดียวกันทั้งสิ้น นอกจากพระพุทธรูปเหล่านี้แล้ว ยังมีพระพุทธรูปซึ่งประดับเครื่องทองคำอีก 30 องค์เศษ และยังมีอีก 3 องค์สูง 25 ฟุต (7.6 เมตร) และอีก 150 องค์ ขนาดเท่าคนธรรมดา (ในระเบียงคด) พระพุทธรูปเหล่านี้มีอยู่ 3 - 4 องค์ที่หุ้มทองคำ ข้าพเจ้าเห็นพระพุทธรูปเงิน 2 องค์เท่านั้น และที่เป็นทองสัมฤทธิ์ก็มีบ้าง ท่านอยากจะรู้จักชื่อพระพุทธรูปองค์ใหญ่ไหม ? พระพุทธรูปองค์ใหญ่นั้นมีชื่ออย่างเดียวกับพระอาราม (วัดพระศรีสรรเพชญ์) ....
....พระพุทธรูปบางองค์สูงสูงเพียง 2 ฟุต ก็มี ทำด้วยทองคำและทองแดงประสมกัน (นาก) มีรัศมีอร่ามสุกใสยิ่งเรียกว่าทองคำแท้ ๆ เรียกว่า “พระธรรมภาค” (Tambaqne) ข้าพเจ้าไม่เห็นว่าจะสวยงานสมจริงดังคำเล่าลือเลย บางทีจะทำด้วยแร่ทองขาวก็เป็นได้ พระพุทธรูปองค์นี้อนุสาวรีย์ สมมุติกันว่าเป็นโซโลมอน (Salomon) ข้าพเจ้าได้สังเกตดูต้นไม้ที่ตั้งไว้เป็นพุทธบูชานั้น ต้นลำกิ่งก้านและใบทำด้วยทองคำอย่างประณีต ต้นไม้ทองคำเหล่านี้เป็นเครื่องราชบรรณาการซึ่งเจ้าประเทศราชอันเป็นเมืองขึ้นของสยามประเทศส่งมาถวายพระเจ้ากรุงสยาม เมื่อได้ดูทองคำเสียจนจุใจลานตาแล้ว เราก็เลยพากันไปชมปืนใหญ่มหึมา ...
บาทหลวงกี ตาชาร์ด (Guy Tachard) หนึ่งในคณะบาทหลวงที่ได้เข้าไปในวัดพระศรีสรรเพชญพร้อมกับบาทหลวงเดอชัวสี บันทึกว่า “...ตอนเช้าราว 8 นาฬิกา จึงได้เข้าไปในพระราชวังหลวง ซึ่ง มองสิเออร์ คอนสตันซ์ คอยรับอยู่ที่นั่น หลังจากที่ผ่านลานไปสักแปดหรือเก้าแห่งแล้วก็ถึงพระอุโบสถหลังหนึ่ง (พระวิหารหลวง) ซึ่งงดงามและเป็นที่เลื่องชื่อมากของราชอาณาจักร หลังคานั้นมุงด้วยแผ่นตะกั่วถ้ำ อันเป็นโลหะสีขาวชนิดหนึ่งระหว่างดีบุกกับตะกั่วเป็นหลังคา เหลื่อมกันถึงสามชั้นซ้อน ตรงหน้าประตูทางเข้าพระอุโบสถนั้น มีรูปปั้นพระโคอยู่ด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งเป็นรูปสัตว์ประหลาดหน้าตาน่ากลัว พระอุโบสถนี้มีความยาวมากแต่ค่อนข้างแคบ และเมื่อเข้าไปข้างในก็มีแต่ทองคํา ไปเสียทั้งนั้นทั้งต้นเสา ผนัง ลายกระหนกบนเพดาน และปฏิมากรต่าง ๆ ล้วนหุ้มทองไว้อย่างแนบเนียนราวกับว่าปิดทองคําเปลวไปทั่วทุกสิ่ง ตัวพระอุโบสถนั้นก็เหมือน ๆ กับโบสถ์ฝรั่งของเรา คือค้ำจุนหลังคาไว้ด้วยเสาต้น ใหญ่ ๆ เมื่อล่วงลึกเข้าไป มีแท่นคล้ายแท่นบูชาเป็นที่ประดิษฐานปฏิมากร อยู่สามหรือสี่องค์ ล้วนเป็นทองทึบทั้งสิ้น สูงขนาดเท่าตัวคน บ้างก็ยืน บ้างก็นั่งขัดสมาธิตามแบบคนสยาม ลึกเข้าไปมีแท่นยกพื้น คล้ายเวทีที่คณะร้องเพลงสวดในโบสถ์ฝรั่ง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปอันมีค่ามากของราชอาณาจักร เขาให้ชื่อวัดตามชื่อพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ภายใน....
... พระพุทธรูปองค์นี้สร้างแบบประทับยืน ยอดพระเศียรจรดหลังคาพระอุโบสถ มีความสูงราว 45 ฟุต (ประมาณ 13.7 เมตร) และกว้างราว 7 หรือ 8 ฟุต (2 – 2.4 เมตร) สิ่งที่น่าอัศจรรย์ก็คือเป็นทองทึบทั้งองค์ พระพุทธรูปขนาดนี้น่าจะต้องใช้ทองคําหนักไม่ต่ำกว่าร้อยหาบ (Pic) และจะต้องมีมูลค่าประมาณสิบสองล้านห้าหมื่น livres ทีเดียว เขาว่ากันว่าพระพุทธรูปขนาดมหึมานี้ได้รับการหล่อหลอมตรงที่ประดิษฐานนั่นเอง แล้วจึงสร้างพระอุโบสถขึ้นครอบต่อภายหลัง เราไม่เข้าใจเลยว่าประชาชนพลเมืองที่ค่อนข้างยากจนเหล่านี้ ไปได้ทองคํามาจากที่ไหนมากมายถึงเท่านี้ แต่ก็ไม่สามารถหักห้ามมิให้รู้สึกประทับใจได้เลยเมื่อ ได้เห็นพระพุทธรูป ซึ่งเพียงองค์เดียวเท่านั้นก็มีมูลค่ากว่าศีลศักดิ์สิทธิ์ (Fabernacle) ทุกแห่งในโบสถ์ฝรั่งทั้งหลายของทวีปยุโรปรวมกันเสียแล้ว ใน ที่ใกล้เคียงกันนั้นยังมีพระพุทธรูปขนาดย่อมลงมาอีกหลายองค์ ล้วนเป็นทองคําและประดับด้วยอัญมณี พระอุโบสถหลังนี้มิใช่หลังงามที่สุดในกรุงศรีอยุธยา เป็นความจริงที่ว่าแห่งอื่นมิได้มีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ถึงเท่านี้ แต่ก็มีอยู่หลายแห่งทีเดียวที่มีพระพุทธรูปที่ได้สัดได้ส่วน ประกอบด้วยพุทธลักษณะอันงดงาม อันมีพระอุโบสถอยู่หลังหนึ่งซึ่งควรจะได้บรรยายไว้ ณ ที่นี้ด้วย....
บันทึกของ นิโกลาส์ แชร์แวส (Nicolas Gervaise) ที่เข้ามาพร้อมนักบวชเพื่อเผยแพร่ศาสนาในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2224 – 2229 ได้พรรณนาถึงเรื่องทรัพย์สมบัติของพระมหากษัตริย์ภายในพระราชวังหลวงและในส่วนของวัด จากคำบอกเล่าโดยที่ไม่ได้เข้าไปเห็นด้วยตัวเอง ในบันทึกภาคที่ 4 บทที่ 6 ว่า “... ในพระเจดีย์ (Le Pagode) ที่อยู่ในวังหลวงนั้นมีทรัพย์สมบัติมากมายเป็นที่รับรู้กันของชาวต่างประเทศในกรุงศรีอยุธยา เล่ากันว่าภายในวัดมีรูปทองคำบริสุทธิ์ (Idole d'or, tout pur,) สูงประมาณ 13 เมตร (42 ฟุต - quarantc-deux pieds) หล่อขึ้นตรงบริเวณที่ประดิษฐาน แล้วจึงสร้างวิหารครอบขึ้นภายหลัง....”
Ref : ขอบคุณบทความบางส่วนจาก : พระศรีสรรเพชญ์ พระพุทธรูปหุ้มทองคำแห่งราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา https://www.facebook.com/EJeab.Academy
*** จากหลักฐานที่สอดรับกัน ยืนยันว่ามีพระพุทธรูปยืนหุ้มด้วยทองคำ “หนา” 3 นิ้วฟุต (Pouce) น้ำหนักทองคำ 286 ชั่ง ประดิษฐานเป็นประธานภายในวิหารหลวงวัดพระศรีสรรเพชญ์ ทองคำที่หุ้มมีจำนวน 343 กิโลกรัม เท่ากับน้ำหนักทองคำในปัจจุบัน 22,295 บาท จะเป็นราคาในปัจจุบันจะเท่าไหร่ ก็ต้องลองคำนวนดูนะคะ
ภายหลังจากเหตุการณ์เสียกรุงครั้งที่ 2 วัดพระศรีสรรเพชญ์ถูกปล่อยให้ทิ้งร้าง ทั้งวิหารและตัวองค์พระศรีสรรเพชญ์ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ... พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 มีแนวคิดที่จะบูรณะองค์พระขึ้นมาใหม่อีกครั้ง แต่สุดท้ายเมื่อเห็นว่ากระทำได้ยาก จึงได้ตัดสินใจนำชิ้นส่วนต่างๆขององค์พระศรีสรรเพชญ์ที่เสียหายมาเก็บรวบรวมไว้ใน”เจดีย์ศรีสรรเพชญดาญาณ” ณ วัดโพธิ์ จนถึงในปัจจุบัน แล้วตั้งชื่อตามพระพุทธรูปที่บรรจุไว้ภายในว่า “เจดีย์ศรีสรรเพชญดาญาณ”
ลวดลายที่ยังคงปรากฏให้เห็นภายในพระอารามหลวง ..
ซากวิหารหลวงวัดพีระศรีสรรเพชญ์ ... ด้านหลังคือพระมหาเจดีย์ 3 องค์
พระที่นั่งจอมทอง ... เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมสามหลังแผด ก่ออิฐถือปูน ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบันดูแต่ส่วนผนังของอาคารภายในมีพระพุทธรูปหินทราย ( ชำรุด ) ประดิษฐานอยู่สองสามองค์ สันนิษฐานกันว่า สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ให้พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่บอกหนังสือพระสงฆ์ หรืออาจเป็นหอมณเฑียรธรรม หรือหอเก็บพระพุทธรูป
พระอุโบสถ .. ในส่วนของพระอุโบสถนั้นมีลักษณะเช่นเดียวกับพระวิหาร ปรากฏใบเสมาแกะสลักจากหินชนวนขนาดใหญ่หนา รูปใบเสมาไม่มีลวดลาย เป็นแบบที่พบตามพระอุโบสถที่สร้างในสมัยอยุธยาตอนต้นทั่วไป
หอระฆัง .. หอระฆังเป็นหอระฆังก่ออิฐถือปูน ฐานรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสย่อมุม ตั้งอยู่ด้านหน้าพระวิหารหลวง
วิหารจตุรมุข ... ตั้งอยู่ทางด้านหลังของพระเจดีย์สามองค์ คือ ทางด้านทิศตะวันตก มุขทั้งสี่ของพระวิหารจตุรทิศประดิษฐานพระพุทธรูปนั่ง นอน ยืน เดิน อันเป็นอิทธิพลการสร้างพระพุทธรูปในสมัยสุโขทัย ที่แพร่กระจายลงมาในช่วงนี้
ตรงกลางพระวิหารจตุรทิศ ปรากฏซากสถูป 1 องค์ ข้าง ๆ สถูปทั้งสี่ด้าน ทำเป็นช่องบรรจุอัฐไว้หลายช่อง ซึ่งสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า สมเด็จพระบรมราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทได้ทรงเอาแบบอย่างมาสร้างพระเจดีย์ทองขึ้นที่วัดมหาธาตุ อันเป็นวัดที่พระองค์ทรงสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวง ในกรุงเทพมหานคร และวัดมหาธาตุนี้เคยมีนามว่า วัดพระศรีสรรเพชญ์มาก่อน (บริบาลบุรีภัณฑ์ . 2511 : 28)
พระพุทธรูปในอดีตที่ได้รับความเสียหายจากกาลเวลา
พระเจดีย์ราย ... เป็นพระเจดีย์รายรอบวัดพระศรีสรรเพชญ์นั้นเป็นที่สำหรับบรรจุอัฐิของเจ้านายในพระราชงงค์ มีพระอัฐิบรรจุไว้ทุกองค์ (เฉลิม สุขเกษม. 2514 . 107)
ลักษณะของพระเจดีย์เป็นเจดีย์ทรงลังกาทั้งหมด มีสี่องค์ ที่แตกต่างไปจากองค์อื่น ๆ ได้แก่องค์มุมกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออก 2 องค์ และมุมกำแพงด้านทิศตะวันตก 2 องค์ ถือได้ว่าเป็นรูปแบบของเจดีย์ทรงกลมในสมัยอยุธยาตอนกลาง
บรรยากาศของโบราณวัตถุต่างๆรายรอบตัวที่มองเห็น .. วัดวาอาราม โบสถ์ วิหาร พระราชวังที่พังทลายลงเป็นส่วนใหญ่ คงเหลือแต่เศษซากทางประวัติศาสตร์ .. พระพุทธรูปที่ปราศจากพระเศียร .. ทำให้รู้สึกหดหู่ใจอย่างช่วยไม่ได้
อดคิดไม่ได้ว่า ... จะมีคนไทยสักกี่คนนะที่ซึมซับถึงคุณค่าความหมาย ความสำคัญของโบราณสถานเหล่านี้
หรือ ... ทุกอย่างที่นี่ เป็นเพียงคุณค่าที่ถูกเมิน และความสวยงามที่มองผ่าน ..
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปกับ พี่สุ
ท่องเที่ยวทั่วโลก กับพี่สุ
ซีรีย์เที่ยวเจาะลึก ประเทศนอร์เวย์
Iceland ดินแดนแห่งน้ำแข็งและเปลวไฟ
Lifestyle & อาหารการกิน แบบพี่สุ
สถานีความสุข by Supawan
โฆษณา