26 เม.ย. 2021 เวลา 14:22 • หุ้น & เศรษฐกิจ
📌เจาะลึก Dow Jones, S&P500, NASDAQ, VIX Index, Fear & Greed Index, US 10-Yr Bond Yield และมาตั้ง Watchlist กัน📌
วันนี้เราจะพามาเจาะลึก 3 ดัชนีสำคัญของสหรัฐฯ และดัชนีความกลัวที่ควรติดตามกันค่ะ
🎯ทำไมดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ และดัชนีความกลัว ถึงสำคัญ?
เคยสงสัยกันมั้ยคะว่าทำไมตอนเช้าหลายสำนักข่าวต้องรายงานดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ พวก Dow Jones, S&P 500, NASDAQ ก่อนเป็นอันดับแรก? คำตอบก็คือดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ถือเป็นตัวแปรที่มีอิทธิพลต่อการซื้อขายในตลาดหุ้นทั่วโลก หรือพูดง่ายๆ ว่า แต่ละวันถ้าหากไม่มีเรื่องสำคัญในแต่ละประเทศแล้ว ส่วนมากตลาดหุ้นทั่วโลกก็มีแนวโน้มที่จะบวกหรือลบตามดัชนีของสหรัฐฯ นั่นเอง ในปัจจุบันนอกจากดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ควรติดตามแล้วก็ยังมีดัชนีความกลัว เช่น VIX Index, Fear & Greed และดัชนีพันธบัตรสหรัฐฯ 10 ปีที่เราควรติดตามเพื่อดูว่านักลงทุนมีมุมมองต่อตลาดอย่างไรด้วยค่ะ
📍เนื่องจากในสัปดาห์นี้จะมีการประกาศงบการเงินของบริษัทเทคฯ หลายแห่ง เช่น Tesla วันที่ 26, Microsoft Alphabet วันที่ 27, Apple Facebook วันที่ 28, Amazon วันที่ 29 ซึ่งถือเป็นหุ้นสำคัญๆ ในดัชนี NASDAQ นอกจากนี้จะมีการประชุม Fed ในวันที่ 27-28 นี้ด้วย วันนี้ #เด็กการเงิน จึงขอมาอธิบาย Index ที่สำคัญพวกนี้ เพื่อช่วยให้นักลงทุนเข้าใจตลาดมากขึ้น และลองไปตั้ง Watchlist ดูการเคลื่อนไหวของดัชนีพวกนี้กันค่ะ
🎯ติดตามดัชนีสำคัญนี้ได้ช่วงเวลาใดบ้าง?
เวลาเทรดทั้ง 3 ตลาดคือ 9.30 – 16.00 น.ตามเวลาของสหรัฐฯ หรือ 20.30-3.00 น. ตามเวลาไทย (สหรัฐฯ ช้ากว่าไทย 11 ชม.) แต่ถ้าหากเป็นช่วงเดือน ธค - กพ ซึ่งเป็นหน้าหนาว เขาจะปรับเวลาให้นานขึ้นอีก 1 ชั่วโมง ดังนั้นจะเท่ากับเวลาในไทยคือ 21.30-4.00 น. ถ้าเราตั้ง Watchlist ตอนนี้ เราก็จะเริ่มเห็นว่าดัชนีมีการเคลื่อนไหวแล้วนะคะ และพรุ่งนี้เช้าเปิดเข้าไปดูอีกทีก็จะเห็นว่าตลาดปิดบวกหรือลบค่ะ
2
ทั้งนี้ถ้าเราเห็นว่าพรุ่งนี้เช้าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดปรับตัวลดลง แล้วจะเข้าไปซื้อกองทุนหุ้นสหรัฐฯ เพราะถือว่าตลาดปิดลบแล้วเราจะได้ราคาถูกลง ใช่หรือไม่? คำตอบก็คือไม่ใช่นะคะ ถ้าซื้อพรุ่งนี้เช้า เราต้องไปรอลุ้นว่าคืนพรุ่งนี้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะเป็นอย่างไรค่ะ
📌หลายคนคงพอจะเข้าใจว่าเราควรติดตามตลาดหุ้นสหรัฐฯ ตอนไหน และเห็นความสำคัญของตลาดหุ้นสหรัฐฯ แล้วใช่มั้ยคะ ตอนนี้ก็ไปดูรายละเอียดของแต่ละ Index กันเลยค่ะ
1️⃣ Dow Jones Index (DJIA - Dow Jones Industrial Average) เป็นดัชนีหุ้นใหญ่แบบ Price-weighted Index 30 บริษัทที่จดทะเบียนอยู่ใน New York Stock Exchange (NYSE) และ NASDAQ ซึ่งถือเป็นตัวแทนหลักของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เพราะแต่ละบริษัทนั้นมีขนาดใหญ่และเป็นผู้นำในกลุ่มอุตสาหกรรมซึ่งถือเป็นตัวแทนหุ้น Blue Chip ที่มีผลกำไรมั่นคงอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ดัชนีแบบ Price-weighted เป็นดัชนีที่ถ่วงน้ำหนักด้วยราคาหุ้น พูดง่ายๆ ว่า หุ้นตัวใดมีราคาสูง ก็จะมีสัดส่วนในดัชนีนั้นมากกว่าหุ้นที่มีราคาต่ำ
หุ้น 30 ตัวแรกของ DJIA (23 Apr 2021) เรียงจากราคาสูงสุดไปต่ำสุด ได้แก่ UnitedHealth, Goldman Sachs, Home Depot, Microsoft Corp, Amgen, Boeing, McDonald's, Salesforce.com, Caterpillar, Visa Inc, Honeywell International, 3M, Walt Disney, Johnson & Johnson, Travelers Cos, JPMorgan Chase, American Express, International Business Machines Corp, Walmart, Apple, Procter & Gamble, NIKE, Chevron, Merck & Co, Dow Inc, Intel, Verizon Communications, Coca-Cola, Walgreens Boots Alliance, Cisco Systems Inc/Delaware
2️⃣ S&P500 Index เป็นดัชนีที่คำนวณจากหุ้นใหญ่ 500 บริษัทชั้นนำ ซึ่งจดทะเบียนอยู่ใน New York Stock Exchange (NYSE) และ NASDAQ เรียงตาม Market-cap weighted ซึ่งหุ้นใหญ่ 500 ตัวนี้มีมูลค่าประมาณ 80% ของมูลค่าตลาดหุ้นทั้งหมด
ทั้งนี้ดัชนีแบบ Market-cap weight เป็นดัชนีที่ถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าตลาด ซึ่งมูลค่าตลาดมาจากราคาหุ้นคูณด้วยจำนวนหุ้น ดังนั้นหุ้นที่มี Market-cap สูง จะมีผลให้ดัชนีเปลี่ยนแปลงสูง และจะเห็นว่าคำนวณแตกต่างกับ Dow Jones Index ซึ่งเป็น Price-weighted นอกจากนี้ S&P500 ยังเป็น Float-weighted Index คือมีการปรับด้วยจำนวนหุ้นที่ซื้อขายในกลุ่มนักลงทุนทั่วไปเท่านั้น
1
ดัชนี S&P500 ก็สำคัญไม่แพ้ Dow Jones ซึ่งสามารถสะท้อนทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ดี เนื่องจากครอบคลุมในภาพรวมถึง 500 บริษัท
1
น้ำหนักของแต่ละ Sector ที่อยู่ในดัชนี (31/3/2021) ประกอบด้วย Tech 26.6%, Health Care 13%, Consumer discretionary 12.45%, Finance 11.32%, Commerce 10.93%, Industrials 8.87%, Consumer staple 6.15%, Energy 2.8%, Materials 2.7%, Utilities 2.7%, Real Estate 2.46%
4
หุ้น Top 10 (31/3/2021) ได้แก่ Apple, Microsoft, Amazon, Facebook, Alphabet (class A shares), Alphabet (class C shares), Tesla, Berkshire Hathaway, JPMorgan Chase & Co, Johnson & Johnson
3️⃣ NASDAQ Composite เป็นดัชนีที่จดทะเบียนในตลาด NASDAQ ซึ่งมีบริษัทอยู่มากกว่า 3,000 แห่ง จริงๆ แล้วการตั้ง NASDAQ ในตอนแรกจัดตั้งเพื่อเป็นแหล่งระดมทุนของบริษัทขนาดเล็กที่มี Tangible asset (สินทรัพย์ที่มีตัวตน) ต่ำกว่าเกณฑ์ ทำให้ไม่สามารถจดทะเบียนใน NYSE ได้ บริษัทในกลุ่มนี้ก็คือบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่ง ต่อมาบริษัทพวกนี้ก็กลายมาเป็นบริษัทแนวหน้าระดับโลก ก็คือหุ้นเทคฯที่เราคุ้นหูในทุกวันนี้นั่นเอง ดังนั้นดัชนี NASDAQ จึงถือว่าเป็นตัวแทนดัชนีหุ้นเทคฯ ไปแล้ว อย่างที่เราได้ยินข่าวในช่วงที่ผ่านมาว่าหุ้นเทคฯ ลงหนัก ซึ่งเราก็ดูผ่านดัชนี NASDAQ นี่เองค่ะ ทั้งนี้ดัชนี NASDAQ ก็ใช้วิธี Market-cap weighted เช่นเดียวกับ S&P 500
3
น้ำหนักของแต่ละ Sector ที่อยู่ในดัชนี (31/3/2021) ประกอบด้วย Computer 46.89%, Industrial 30.61%, Health Care 10.4%, Telecom 4.46%, Other Financial 3.45%, Bank 2.03%, Transportation 1.47%, Insurance 0.69%
หุ้น Top 20 (TD Ameritrade 2/4/2021) ได้แก่ Apple, Microsoft, Amazon, Facebook, Alphabet (class A shares), Alphabet (class C shares), Tesla, NVIDIA, PayPal, ASML, Intel, Comcast, Netflix, Adobe, Cisco systems, PepsiCo, Broadcom, Texas Instrument, Pinduoduo, T-Mobile US
1
เพิ่มเติมให้สำหรับ NASDAQ Composite 100 ซึ่งเป็นดัชนีหุ้น 100 บริษัทจดทะเบียนในตลาด NASDAQ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่มีหุ้นในกลุ่มสถาบันการเงินทั้งในและนอกประเทศเลย เรียกได้ว่าเน้นในกลุ่มเทคโนโลยี Hardware, Software, Telecom, Chips ทั้งนี้ดัชนี NASDAQ 100 ก็ใช้วิธี Market-cap weighted เช่นเดียวกัน
ทีนี้มาดูฝั่งสัญญาณความกลัวกันบ้างค่ะ
4️⃣ VIX Index (Volatility Index, S&P 500 VIX) เป็นดัชนีที่แสดงถึงความกังวลของนักลงทุนต่อตลาด โดยคำนวณมาจากความผันผวนจากการซื้อขายในตลาดอนุพันธ์ Chicaco Board Options Exchange (CBOE) ซึ่งเป็นการซื้อขาย Options ของ S&P 500 ในอีก 30 วันข้างหน้า ตลาด Options เป็นการซื้อขายสัญญาล่วงหน้า Call และ Put ซึ่งถือว่าเป็นการป้องกันความเสี่ยงแบบหนึ่ง การที่นักลงทุนจะซื้อ Call หรือ Put ก็เนื่องมาจาก
ถ้านักลงทุนมีมุมมองว่าตลาดจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ก็จะซื้อ Call Option เพราะถ้าอีกหน่อยราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้น เราจะได้ซื้อหุ้นที่ราคาถูก (ราคาที่ตกลงกันไว้ตอนนี้)
ถ้านักลงทุนมีมุมมองว่าตลาดจะปรับตัวลดลง ก็จะซื้อ Put Option เพราะถ้าอีกหน่อยราคาหุ้นปรับตัวลดลง เราจะได้ขายหุ้นที่ราคาสูง (ราคาที่ตกลงกันไว้ตอนนี้)
ดังนั้น ถ้าหากมีสัญญา Put option มากแสดงว่านักลงทุนมีความกังวลว่าตลาดจะปรับตัวลดลง ส่งผลให้ VIX Index เพิ่มสูงขึ้นนั่นเอง ซึ่งเมื่อ VIX พุ่งสูง แสดงว่าตลาดหุ้นผันผวนมาก แต่ถ้า VIX ต่ำๆ ตลาดหุ้นผันผวนน้อย มีโอกาสทำกำไรได้
ล่าสุดดัชนี VIX อยู่ที่ 17.33 (23/3/2021)
52-week high อยู่ที่ 44.44 (15/06/2020)
52-week low ที่ 15.38 (14/04/2021)
ถ้าหาก VIX Index สูงกว่า 20 แสดงว่าตลาดมีความผันผวนมาก
5️⃣ Fear & Greed Index เป็นดัชนีที่พัฒนาโดย CNN Money ของสหรัฐฯ เป็นการดูว่าในปัจจุบันนักลงทุนส่วนมากมีอารมณ์อย่างไรในตลาด มีความกลัวหรือความโลภขนาดไหนตามชื่อดัชนีเลยค่ะ ข้อมูลจะบอกว่าในช่วงเวลาปัจจุบัน ในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา 1 เดือนที่ผ่านมา และ 1 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนมีความกลัวหรือโลภขนาดไหน โดยมีระดับตั้งแต่ 0-100 โดยที่ 0 คือกลัวมาก และ 100 คือโลภมาก ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ที่ผ่านมา ดัชนีอยู่ที่ 61 ซึ่งค่อนไปทางโลภค่ะ
สามารถดูดัชนีตัวนี้ผ่านลิ้งค์นี้ได้ค่ะ https://money.cnn.com/data/fear-and-greed/
ทาง CNN Money สร้างดัชนีนี้ขึ้นมาจาก 7 ปัจจัย ดังนี้
1. Safe Haven Demand เป็นการเปรียบเทียบผลตอบแทนของหุ้นและตราสารหนี้ ซึ่งปกติแล้วหุ้นจะ outperform ตราสารหนี้ แต่ถ้าเมื่อไรหุ้น underperform ตราสารหนี้แสดงว่านักลงทุนขายหุ้นออกไปเพราะกลัวความเสี่ยง
2. Junk Bond Demand เป็นการเปรียบเทียบ yield spread ของ Junk Bonds (ตราสารหนี้เสี่ยงสูงสำหรับเก็งกำไร) และ Investment Grade Bonds (ตราสารหนี้เสี่ยงต่ำอยู่ในระดับดี) โดยปกติแล้วนักลงทุนจะต้องการ return จาก Junk bond มากกว่า Investment grade bond ที่ประมาณ 2% (เพราะ Junk bond เสี่ยงกว่า) ถ้าหาก yield spread นี้ลดลงแสดงว่า นักลงทุนเริ่มที่จะยอมรับความเสี่ยงสูงขึ้น เรียกได้ว่ามีความโลภขึ้นนั่นเอง
3. Market Momentum เป็นการเปรียบเทียบดัชนี S&P 500 กับ Moving Average 125 วันของตัวเอง ถ้าสูงกว่าแสดงว่ามีความโลภขึ้นนั่นเอง
4. Stock Price Strength เป็นการดูจำนวนหุ้นที่ขึ้นสูงกว่าราคา 52-week เทียบกับจำนวนหุ้นที่ลงต่ำกว่าราคา 52-week ในตลาด New York Stock Exchange (NYSE)
5. Market Volatility เป็นการนำ VIX Index ที่เรากล่าวถึงไปแล้วมาพิจารณาด้วย
6. Put and Call Options เป็นการนำเอาปริมาณการซื้อ Put Option หารด้วย Call Option ในตลาด CBOE เฉลี่ยในช่วง 5 วันที่ผ่านมา มาพิจารณาด้วย ถ้าหากอัตราส่วนนี้สูง แสดงว่านักลงทุนมีความกลัวนั่นเอง
7. Stock Price Breadth เป็นการเปรียบเทียบปริมาณการซื้อหุ้นกับปริมาณการขายหุ้น โดยดูจาก McClellan Volume Summation Index ถ้าหากมีปริมาณการซื้อหุ้นมาก แสดงว่าตลาดหุ้นมีความโลภ
ตัวสุดท้ายเป็นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของรัฐบาล ซึ่งเราก็ควรดูเนื่องจากถ้าผลตอบแทนระหว่างพันธบัตร และตลาดหุ้นไม่ต่างกันมากนัก นักลงทุนก็จะหันไปลงทุนในพันธบัตรแทนเพราะถือว่าไม่มีความเสี่ยงนั่นเอง
6️⃣ US 10-Yr Bond Yield เป็นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ที่เราได้ยินข่าวบ่อยๆ ในช่วงนี้ เนื่องจากการปรับตัวขึ้นของ Bond yield จะทำให้ผลตอบแทนที่คาดหวังในการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นมีความน่าสนใจน้อยลง และเมื่อ Bond yield ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้นักลงทุนมีความกังวลว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และผลประกอบการของบริษัทต่างๆ ในอนาคตอาจจะไม่ดีเนื่องจากจะมีต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น อย่างข่าวก่อนหน้านี้ที่เราได้ยินมาว่าเมื่อ Bond yield ปรับตัวสูงขึ้นมากๆ หุ้นเทคฯ ถูกเทขายหนักสุด ก็เพราะว่าก่อนหน้านี้หุ้นเทคฯ ได้ปรับตัวขึ้นมาสูงมากแล้ว บวกกับตอนนี้คนหันไปเล่นหุ้นกลุ่ม Cyclical ที่ได้ประโยชน์จากการเปิดเมืองนั่นเองค่ะ ดังนั้นการติดตาม US 10-Yr Bond Yield ก็จะพอบอกเราได้ว่าตลาดจะเป็นอย่างไร ถ้าหาก Bond Yield ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากก็ทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงค่ะ
สุดท้ายมาตั้ง Watchlist กันค่ะ ในตัวอย่างแอดตั้งผ่านแอพ investing และ CNBC
สำหรับ Fear&Greed Index 👉 https://money.cnn.com/data/fear-and-greed/
โฆษณา