27 เม.ย. 2021 เวลา 14:53
Languishing เมื่อเรารู้สึกว่างเปล่า ไม่มีเป้าหมาย และไม่ยินดียินร้ายกับเรื่องรอบตัว
.
.
เคยสังเกตไหมว่าตอนนี้ในแต่ละวัน “เรารู้สึกอย่างไร”?
.
แม้ทุกวันจะยังตื่นเช้าแต่เราก็เริ่มอ้อยอิ่งอยู่บนเตียงนานขึ้น ไม่สนุกกับภาพยนตร์เรื่องโปรดเหมือนเคยแต่ก็ยังคงดูต่อไปอย่างนั้น ไม่ได้เบิร์นเอาต์แต่ไม่อยากทำงาน หรือไม่ได้ซึมเศร้าแต่รู้สึกว่างเปล่า อาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณกำลังมีภาวะ ‘Languishing’
.
.
#Languishingคืออะไร
.
Languishing คือ ภาวะการรู้สึกเฉี่อยชาและว่างเปล่า ซึ่งคาดว่าผู้ที่ประสบภาวะนี้มีจำนวนสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการระบาดของโควิด-19 แม้ในช่วงแรกของการระบาดหลายคนดูจะตื่นตัวไปจนถึงตื่นตระหนก แต่นั่นเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะตอนนั้นเราต้องเผชิญกับโรคร้ายที่ไม่คาดฝันโดยไม่ได้มีการเตรียมตัวเตรียมใจ การจะรู้สึกกลัวและเสียใจนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเป็นกลไกการแสดงออกโดยปกติของมนุษย์
.
อย่างไรก็ตาม หลังประจันกับโควิดมาได้ปีกว่า หลายคนเริ่มรู้สึกหมดแรง เพราะไม่ว่าจะพยายามเท่าไหร่ คนตัวเล็กๆ ก็ไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด เมื่อเกิดการระบาดครั้งที่สองสามสี่ บางคนจึงเริ่มรู้สึก ‘ช่างมัน’ และใช้ชีวิตไปวันๆ หวังเพื่อให้รอดพ้นจากเรื่องร้อยพันประการต่างๆ ในชีวิตโดยไม่ยินดียินร้ายกับสิ่งต่างๆ อีกต่อไป จนเกิดเป็นภาวะ Languishing
.
ปกติแล้วนักจิตวิทยาจะแบ่งสภาพสุขภาวะทางจิตออกเป็นสองด้านคือ ‘Flourishing’ หรือจุดสูงสุดของการมีความสุข และ ‘Depression’ ที่เป็นอาการป่วย ซึ่งปัจจุบันผู้คนในสังคมจำนวนมากกำลังประสบกับภาวะนี้
.
ขณะที่ Languishing นั้นอยู่ประมาณกึ่งกลางระหว่างทั้งสอง ไม่ได้มีความสุขในชีวิต ขณะเดียวกันก็ไม่ได้รู้สึกป่วย แต่คุณรับรู้ได้ว่า ณ ตอนนี้คุณกำลังอยู่ในสภาวะที่คุณไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างเต็มร้อย ขาดซึ่งแรงบันดาลใจ ไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งใด ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ควรกังวล เพราะอาการที่กล่าวไปข้างต้นคือ อาการเบื้องต้นของโรคซึมเศร้าที่อาจนำไปสู่ความเสี่ยงของการเกิดภาวะป่วยทางจิตอื่นๆ หากไม่ได้รับการบำบัดรักษา
.
ผลสรุปจากงานวิจัยของนักสังคมวิทยานาม ‘Corey Keyes’ ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ผู้คนที่มีภาวะ Languishing ในตอนนี้ ต่อไปในอนาคตจะประสบกับภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวลในรูปแบบที่แตกต่างออกไป อีกทั้งงานวิจัยจากอิตาลียังกล่าวว่า ผู้ที่ประสบภาวะ Languishing มีโอกาสที่จะเกิด Post-Traumatic Stress (PTSD) มากกว่าคนอื่นๆ ถึง 3 เท่า
.
ภาวะ Languishing นั้นสังเกตได้ค่อนข้างยาก เพราะคุณอาจไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองกำลังเบื่อหรือหมดกำลังใจเนื่องจากภาวะนี้ค่อยๆ เกิดจากการสะสม ในเมื่อเราไม่รู้ว่าเรากำลังทุกข์ การจะแก้ทุกข์หรือขอความช่วยเหลือนั้นก็ดูจะเป็นเรื่องที่ยากขึ้นเรื่อยๆ
.
.
#มีวิธีรักษาอาการLanguishingไหม
.
ในขณะนี้ยังไม่มีวิธีการรักษาภาวะนี้อย่างจริงจัง ดังนั้น แนวคิด ‘Flow’ หรือการน้อมรับเรื่องต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตและปล่อยให้ลื่นไหลไปตามสภาวะจึงถูกนำมาใช้ สภาวะ Flow ไม่ใช่การปล่อยให้ทุกอย่างผ่านไปโดยไม่สนใจ แต่เป็นการทำกิจวัตรหรืองานของเราให้เปี่ยมด้วยพลังและอารมณ์ที่สดใส เพื่อที่เราจะได้รู้สึกสนุก มีความสุข และรู้สึกว่าตัวเรานั้นมีคุณค่า
.
ทว่าเรายังคงจำเป็นต้องมีขอบเขตของการทำงานสิ่งต่างๆ เพราะการทำอะไรที่มากเกินไปก็อาจส่งผลเสียได้เช่นกัน ทำงานมากเกินก็ก่อให้เกิดความเครียด ขี้เกียจมากเกินไปก็จะใช้ชีวิตลำบาก แม้ว่าจะทำสิ่งเหล่านั้นแล้วรู้สึก Flow ก็ต้องกำหนดขอบเขตของการทำแต่ละอย่างให้พอดี
.
อย่างไรก็ดี ต่อให้เราดูแลตัวเองดีแค่ไหน หากสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยแล้วล่ะก็ คงเป็นการยากที่เราจะหลุดพ้นจากสภาวะ Languishing ได้จริงๆ เพราะสิ่งต่างๆ รอบตัวเรา ไม่ว่าจะเพื่อนบ้าน หัวหน้า ผู้บริหาร ที่อยู่อาศัย ที่ทำงาน โรคระบาดที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ข่าวสารที่เต็มไปด้วยเรื่องที่ทำให้ทุกข์ สิ่งต่างๆ ที่เราไม่สามารถควบคุมหรือแก้ไขได้เพราะอยู่นอกอำนาจของเรานั้น สามารถส่งผลให้เกิดภาวะ Languishing ได้ทั้งหมด
.
.
เรากำลังอาศัยอยู่ในสภาพสังคมที่ก่อให้เกิด Languishing ทำให้เราเจ็บป่วยทางใจ และเป็นสังคมที่ยอมรับได้กับการเจ็บป่วยทางกาย แต่ปฏิเสธความเจ็บป่วยทางจิตใจ การบอกว่า “ไม่ได้เบิร์นเอาต์แสดงว่ายังมีไฟ” หรือ “ไม่ซึมเศร้าแสดงว่าไม่เป็นอะไร” นั้น #ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง เพราะการเจ็บป่วยทางใจนั้นส่งผลกระทบต่อทุกช่วงของการใช้ชีวิต การรับรู้และเข้าใจว่า ณ ตอนนี้เราและคนอื่นๆ ในสังคมกำลังเผชิญกับอะไร คือก้าวแรกของการยอมรับในปัญหาและลุกขึ้นมาส่งเสียงให้ผู้อื่นรับรู้ถึงความผิดปกตินี้ เพื่อบุคคลที่ทำหน้าที่ดูแลสังคมจะได้เห็นถึงเรื่องที่เกิดขึ้นและแก้ไขมันเสีย
.
.
แปลและเรียบเรียงจาก:
4
อ่านเพิ่มเติม:
#MissionToTheMoonPodcast
โฆษณา