28 เม.ย. 2021 เวลา 00:28 • ธุรกิจ
ประสบการณ์การทำธุรกิจในแดนมังกร ตอนจบ
หลังจากที่ท่านธนากรฯ กล่าวจบ ก็ตามมาด้วยคำถามมากมายตามมา ผมขอสรุปคำถามและสาระของคำตอบดังนี้ครับ ...
ต่อประเด็นข้อห่วงใยว่า เมื่อจีนเป็นมหาอำนาจแล้ว จีนจะเป็นนักเลงโตรายใหม่ของโลกหรือไม่นั้น ท่านธนากรฯ เห็นว่า จากประวัติศาสตร์ของจีน ชาวฮั่นไม่เคยไปรุกรานใคร ในยุคที่ไปขยายอาณาเขตถึงยุโรป ก็เป็นชาวมองโกล และในอนาคต
จีนมีจุดยืนที่ชัดเจนว่าจะไม่ไปรุกรานใคร แต่ก็จะไม่ยอมให้คนอื่นมารุกรานหรือรังแกดังเช่นในอดีตเช่นกัน การประชุมที่เมืองแองเคอร์เรจ รัฐอลาสก้า ก็สะท้อนจุดยืนในเรื่องดังกล่าว
เมื่อถามถึงโอกาสทางธุรกิจของไทยในจีน ท่านธนากรฯ แนะนำให้ประมินความพร้อมของตัวเราเองก่อน ควบคู่ไปกับการศึกษาตลาดจีนให้ถ่องแท้
โอกาสในพื้นที่ทางตอนใต้และจงหยวนที่เกริ่นไปก่อนหน้านี้ก็น่าสนใจมาก และหากเราจะเข้าไปบุกตลาดในพื้นที่ที่มีความเจริญอย่างเซี่ยงไฮ้ เทียนจิน หังโจว ที่มีรายได้เฉลี่ยมากกว่าไทยราว 5 เท่า ก็คือ บริการ ซึ่งคนไทยเราเก่งมาก อาทิ ร้านอาหาร การท่องเที่ยว และการอำนวยความสะดวก
ปัจจุบัน จีนมีผู้สูงอายุอยู่ราว 250 ล้านคน รุ่นลูกมีฐานะดี แต่ไม่มีเวลาดูแลพ่อแม่ ถ้าพร้อม เราก็อาจทำธุรกิจศูนย์สุขภาพ โดยร่วมมือกับจีน
ธุรกิจจีนยังจะต้องการหุ้นส่วนและบุคลากรที่มีความรู้เรื่องกฎหมาย และวัฒนธรรมไทยอยู่อีกมาก และการมาลงทุนในไทยในอนาคตจะไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะกิจการขนาดใหญ่เท่านั้น “ไม่ใช่แค่ยักษ์ใหญ่จะมาไทย แต่ยักษ์เล็กก็จะมา”
การให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ควรใส่ใจ การทำล้งผลไม้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่คนจีนอยากควบคุมคุณภาพการส่งออก หรือการว่าจ้างคนจีนช่วยตรวจสอบคุณภาพชิ้นส่วนจักรยานยนต์ที่ผลิตในจีนก่อนส่งไปเมียนมา
ต่อประเด็นเรื่องการพัฒนางานของโรตารี่และองค์กรไม่แสวงหากำไรกับจีน ท่านธนากรฯ ออกตัวก่อนว่า ท่านมีความรู้เรื่องนี้น้อยมาก แต่ก็ให้ข้อคิดเห็นที่น่าสนใจว่า โอกาสในการพัฒนาความร่วมมือมีอยู่ แต่ต้องระวังอย่าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมือง เพราะรัฐบาลจีนถือเป็นเรื่องที่อ่อนไหวต่อความรู้สึกมาก
นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมสัมมนาก็ยังกังวลใจว่า ไทยจะได้รับประโยชน์จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีและอื่นๆ อะไรจากจีน เพื่อสร้างงานและสร้างอาชีพให้แก่คนไทยบ้าง
ซีพีร่วมมือกับ SAIC ผลิตรถยนต์ MG มาราว 7 ปี เราก็เห็นตรงกันว่า ชิ้นส่วนหรืองานอะไรที่คนไทยทำได้ ก็ให้คนไทยทำ เพื่อลดต้นค่าใช้จ่าย และเสริมสร้างความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งดีกว่าการให้บริษัทร่วมทุนเอามาทำเอง เพราะมีความยุ่งยากมาก ทั้งเรื่องทัศนคติ และวัฒนธรรม
แต่ก็มีบางกรณี ที่กิจการขนาดเล็กของจีน “เสี่ยวเหลาปั่น” เข้ามาแบบตีหัวเข้าบ้าน ทำให้จีนเสียภาพลักษณ์ แต่ในกรณีของรัฐวิสาหกิจของจีนอย่าง SAIC ที่เป็นรายใหญ่และมาพร้อมกับหน้าตาของประเทศ จึงไม่กล้าทำอะไรไม่ดี สะเปะสะปะ
กิจการรายใหญ่เหล่านี้มีเงินทุนหนา และพัฒนาขีดความสามารถอย่างจริงจัง อาทิ ภายหลังการเทคโอเวอร์กิจการจากอังกฤษ MG ก็ทุ่มทุนก่อสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาในเซี่ยงไฮ้ถึงกว่า 20,000 ล้านหยวน และให้ทีมงานเดินทางไปมาระหว่างเซี่ยงไฮ้และอังกฤษเพื่อต่อยอดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
การเลี้ยงไก่ของซีพีในจีนก็เช่นกัน ซีพีก็ไม่ได้ทำเองทั้งหมด แต่เปิดให้คนจีนมาร่วมมือกัน จึงแนะนำว่าคนไทยควรตั้งใจและศึกษาเรียนรู้เทคโนโลยีให้มาก ซึ่งจะทำให้มีโอกาสทางธุรกิจอีกมากในอนาคต
คำถามสำคัญก็คือ ที่ผ่านมา นักธุรกิจไทยที่ไปลงทุนในจีน ส่วนใหญ่ขาดทุนตลอด มองไม่ออกว่าจะลงทุนด้านไหนดี หรือจะร่วมลงทุนได้อย่างไร
ท่านธนากรฯ ให้ข้อคิดว่า เราต้องใช้แมวจีนจับหนูจีน หรือว่าจ้างคนจีนช่วยดูแลกิจการให้เราในการลงทุนที่จีน
ถ้าได้คนที่สื่อสารภาษาจีนได้ จะทำให้งานสะดวกมากขึ้น เพราะบางเรื่องพูดผ่านล่ามไม่ได้ อย่างซีพีมีพนักงาน 120,000 คนในจีน มีเพียงไม่ถึง 300 คนเท่านั้นที่เป็นคนไทย ซึ่งช่วยดูแลสองส่วนงานสำคัญ คือ ด้านการเงินและบัญชี และด้านวิชาการและเทคนิค
การจะดึงดูดคนเหล่านี้ให้ทำงานอยู่กับกิจการร่วมทุนของเราก็เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเราใช้วิธีให้ผลตอบแทนที่สูงมาก
อย่างในมณฑลเสฉวน ก็หาคนเก่งยากมาก ครั้นจ้างคนมาเลเซีย หรือสิงคโปร์ที่มีความเข้าใจในวัฒนธรรมและภาษาจีน แต่ครั้นอยู่ 2-3 ปี เริ่มเข้าใจงานก็จะขอย้ายกลับบ้าน เราก็ต้องหาคนใหม่อีก
ดูเหมือนเวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่งแห่งคุณภาพผ่านไปอย่างรวดเร็วจริงๆ เพราะตลอดการบรรยาย และตอบคำถาม ทุกคนตั้งใจฟังอย่างใจจดจ่อ และผมเชื่อว่ายังมีอีกหลายคำถามที่ผุดขึ้นในหัวผู้เข้าร่วมสัมมนา
หลังช่วงเวลาของการถามตอบสิ้นสุดลง ผู้เข้าร่วมสัมมนาก็พร้อมใจกันลุกขึ้นปรบมืออย่างยาวนาน เหมือนอยากจะขอให้ท่านธนากรฯ บรรยายต่อก็ไม่ปาน ...
#ธนากร เสรีบุรี
#สมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน
#ซีพี
#MG
#แมวจีนจับหนูจีน
โฆษณา