30 เม.ย. 2021 เวลา 03:17
ทางรอดของทุกวิกฤต
คือ การเรียนรู้ความจริงของชีวิต
Photo by Oliver Sjöström from Pexels
ทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส
โอกาสที่เกิดคุณประโยชน์สูงสุด
คือ การเรียนรู้ความเป็นจริงของธรรมชาติ
ทำไม การเจริญอริยมรรคมีองค์แปดเพื่อรู้แจ้งอริยสัจ ๔
จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งยวด
เพราะ มันคือโอกาสทองในการรอดพ้นจากทุกวิฤตของชีวิต
การทำสมาธิภาวนามีมาก่อนพระพุทธเจ้าจะตรัสรู้
อรูปฌาน ๘ ถือเป็นสมาธิที่ลึกที่สุด ก็ยังไม่ใช่คำตอบ
การพยายามมองโลกในแง่บวก
ตัดความวุ่นวายรำคาญใจออกไป
เป็นเพียงการแก้ปัญหา
ชนิด หินทับหญ้า
ช่วยได้ชั่วคราวเท่านั้น
ไม่ได้แก้ไปที่รากเหตุที่เป็นต้นตอของทุกปัญหา
ต้องพัฒนาจนเกิดปัญญาให้ได้
ปัญญาที่ว่านี้ ก็คือ การรู้แจ้งอริยสัจ ๔
สรรพสิ่งล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
มีสภาพ ทุกขัง ถูกบีบคั้นให้แตกทำลายอยู่ตลอดเวลา
ที่มันไม่เคยมีตัวตนอยู่ "จริง"
เพราะ ทุกอย่างจะต้องเสื่อมสลายไป
ไม่วันใดก็วันหนึ่ง
จนไม่เหลือสภาพเดิม
มันเคยมีอยู่จริงแค่ใน "ความรู้สึก"
เหลือไว้เพียงความทรงจำ
และ "ความรู้สึก" นี้แหละ
ที่เป็นเหตุแห่งทุกข์ในใจ
เจ็บกว่าการ "ไม่มี"
คือ การ "เคยมี"
ถามว่าเคยมีที่ไหน
เคยมีในความรู้สึก
เมื่อยึดถือเอาไว้
ย่อมสร้างความทุกข์ใจให้แก่ตัวเอง
สภาพของอนัตตา
จึงเป็นสภาพของการ "มี" ใน "ไม่มี"
"ไม่มี" ใน "มี"
ถามว่ามีมั้ย
มี แต่ไม่มีตัวตนที่ถาวร
เป็นสภาพว่างจากตัวตน
สิ่งใด ๆ ในโลกจึงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น
เพราะ ยึดเอาไว้ ก็จะส่งผลเป็นความทุกข์ใจ
ต่อให้ภาวนายังไง
คลื่นชีวิตแต่ละลูก ไม่มีวันที่จะหมดไป
จะต้องดิ้นรนไปอีกนานแค่ไหน
เกิดทุกข์ขึ้นมาที ก็หาทางแก้ปัญหากันที่ปลายเหตุ
ต้องย้อนไปดับที่ต้นเหตุให้ได้
ใจเหนื่อยล้ามามากแล้ว
ต้องให้ใจเกิดปัญญาในการเรียนรู้ความเป็นจริงให้ได้
มันอาจจะเหนื่อย
อาจจะท้อ
มองไม่เห็นหนทาง
แต่ทุกเช้าที่พระอาทิตย์ขึ้น
ความมืดก็ดับลงไปเอง
เมื่อเกิดความรู้แจ้งเห็นจริงด้วยปัญญาอันยิ่ง
ก็ไม่ต้องคอยไล่ดับอะไร
ผู้ที่เจริญรอยตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกคน
ต้องเจริญอริยมรรคมีองค์แปด เพื่อรู้แจ้งอริยสัจ ๔
ย่อลงมาคือ ศีล สมาธิ ปัญญา
สัมมาวายามะ สัมมาสติ และ สัมมาสมาธิ
ในหมวดของสมาธิ
เป็นไปเพื่อการถอดถอนความยึดมั่นถือมั่น
ในกายในใจนี้
ไม่ใช่เพื่อความสงบ วิเวก เพียงอย่างเดียว
ความสงบของใจ
เป็นเพียงบันไดที่จะต้องก้าวผ่านไปให้ได้
แม้ว้าจะไม่ใช่ตัวหลัก
แต่เป็นตัวที่มีความสำคัญมาก
ในการต่อยอดให้เกิดปัญญา
ตัวที่เป็นพระเอก คือ ปัญญา
จริง ๆ แล้ว ทุกองค์ประกอบในอริยมรรคมีองค์แปด
สำคัญเท่ากันทุกองค์
แต่ที่เน้นปัญญา เป็นพิเศษ
เพราะเป็นสิ่งที่ยากที่สุด
ทุกคนในโลกไม่คุ้นเคยมากที่สุด
ศีล กับสมาธิ แบบชาวโลก
สามารถพบเห็นได้โดยทั่ว ๆ ไป
แม้สมาธิที่ว่านี้จะเป็นไปเพื่อจุดมุ่งหมายที่ต่างกัน
ไม่ได้เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์อย่างถาวร
แต่ก็มีความคล้ายคลึงกันเป็นอย่างมาก
ทำให้ในสมัยพุทธกาล
คนจำนวนไม่น้อย
แค่เพียงฟังธรรมกันประโยค สองประโยค
ก็สามารถบรรลุธรรมได้
เพราะ มันแค่พลิกนิดเดียว
ขาดปัญญาอีกแค่นิดเดียวกันทั้งนั้น
แต่กว่าจะเกิดปัญญา
มันต้องผ่านการปฏิบัติภาวนาอย่างเข้มงวดมาแล้ว
บางคนในชีวิตประจำวันก็เกิดการพัฒนาไปด้วย
อย่างเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว
แม้ตอนแรกศีล สมาธิ ปัญญายังไม่เต็มรอบ
เมื่อได้ฟังธรรม จึงเกิดปัญญา
ทำให้ปัญญา ศีล สมาธิ บริบูรณ์กันขึ้นมาได้
ฝั่งของการบรรลุธรรมแบบเซ็นก็เช่นกัน
ระหว่างทางก่อนจะเกิดปัญญาอย่างฉับพลัน
ก็ผ่านการขัดเกลาด้วย ศีล และสมาธิ ปัญญามาอย่างหนัก
ความยิ่งใหญ่ของอริยสัจ ๔
จึงหมายถึงการพ้นทุกข์ได้อย่างถาวร
เป็นทางรอด เพียงทางเดียวของทุกวิกฤต ...
"ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก
เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด
บอกทางแก่คนหลงทางหรือตามประทีปในที่มืด
ด้วยหวังว่าผู้มีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ ฉันใด
พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย
ฉันนั้นเหมือนกัน
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ
ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค
พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ
ขอพระโคดมผู้เจริญจงทรงจำข้าพระองค์
ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต
ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป."
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๓
สุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ หน้าที่ ๒๘๕ข้อที่ ๓๙๘ - ๓๙๙

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา