4 พ.ค. 2021 เวลา 02:50 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
รัสเซีย กำลังกลับมาทวงบัลลังก์ โลกเทคโนโลยี
1
วัคซีนสปุตนิก วี (Sputnik V) เป็นวัคซีนป้องกันโควิด 19 ที่พัฒนาขึ้นโดยสถาบัน Gamaleya
ในกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย และผลิตโดยใช้เทคโนโลยีเวกเตอร์ไวรัส (Viral Vector) เป็นตัวนำสารพันธุกรรมเข้าสู่เซลล์มนุษย์
5
โดยตัว V ในชื่อ มีที่มาจากคำว่า Vaccine
ไม่ใช่สัญลักษณ์ของเลข 5 ในแบบโรมัน อย่างที่หลายคนเข้าใจผิดในช่วงแรก
6
แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ชื่อ “สปุตนิก” ของวัคซีนตัวนี้
เป็นชื่อเดียวกันกับดาวเทียมดวงแรกของโลก ที่ถูกส่งไปโคจรในอวกาศ เมื่อปี 1957
และทำให้ชาวโลกได้ประจักษ์ถึงศักยภาพทางเทคโนโลยีของสหภาพโซเวียต
3
สปุตนิก มาจากคำว่า Спутник ในภาษารัสเซีย ซึ่งมีหลายความหมาย
หนึ่งในนั้นคือ “ดาวเทียม”
3
การตั้งชื่อวัคซีนว่า “ดาวเทียม” ซึ่งเป็นตัวแทนแห่งความสำเร็จอย่างงดงามเมื่อ 60 ปีที่แล้ว
อาจเป็นสัญญาณบางอย่างที่บอกว่า นับตั้งแต่สหภาพโซเวียตล่มสลายในปี 1991
รัสเซียกำลังกลับมาทวงบัลลังก์โลกแห่งเทคโนโลยีอีกครั้ง..
3
เรื่องราวนี้ เป็นอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
2
ย้อนกลับไปช่วงทศวรรษ 1950s-1990s
สหภาพโซเวียต ถือได้ว่าเป็นประเทศอภิมหาอำนาจ หรือ Superpower เคียงคู่กับสหรัฐอเมริกา
ทั้ง 2 ประเทศ แข่งขันขับเคี่ยวกันในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง การทหาร เศรษฐกิจ เทคโนโลยี และอวกาศ เป็นที่มาของสิ่งที่ชาวโลกรู้จักกันในชื่อ “สงครามเย็น”
ผลงานด้านเทคโนโลยีอวกาศของสหภาพโซเวียตที่ทำให้ชาวโลกต้องตะลึง
ทั้งดาวเทียมดวงแรกของโลก “สปุตนิก 1” และการส่ง “ยูรี กาการิน” มนุษย์คนแรกออกไปโคจรรอบโลกได้เป็นผลสำเร็จ ในปี 1961
Cr. Sputnik News
ความก้าวหน้าเหล่านี้ มีเบื้องหลังสำคัญมาจากงบประมาณด้านวิจัยและพัฒนาของสหภาพโซเวียต ที่เคยมีสัดส่วนสูงถึงเกือบ 2% ของ GDP
1
แต่เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายและแตกออกเป็นประเทศน้อยใหญ่ถึง 15 ประเทศ
รัสเซียซึ่งเป็นประเทศใหญ่ที่สุด และรับมรดกของสหภาพโซเวียตมามากที่สุด
กลับต้องเผชิญปัญหาเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ทั้งการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การว่างงาน และการปรับตัวเข้าสู่โลกทุนนิยม ทำให้ต้องตัดทอนงบประมาณวิจัยและพัฒนาลงมาเรื่อย ๆ เพื่อมาพยุงเศรษฐกิจในภาพรวม
5
ในปี 2018 ถึงแม้รัสเซียจะติด 1 ใน 10
ประเทศที่ใช้งบประมาณด้านวิจัยและพัฒนาสูงที่สุดในโลก
แต่เมื่อเทียบสัดส่วนต่อ GDP แล้ว
พบว่ารัสเซียใช้งบประมาณด้านวิจัยและพัฒนาเพียง 1% ของ GDP
เป็นสัดส่วนที่น้อยกว่าของประเทศจีน 2 เท่า น้อยกว่าสหรัฐอเมริกา 3 เท่า
และน้อยกว่าเกาหลีใต้เกือบ 5 เท่า
3
การขาดแคลนงบประมาณ ทำให้งานวิจัยที่ถูกพัฒนาต่อยอดมาเป็นสินค้าเทคโนโลยีมีไม่มาก
รัสเซียจึงต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
สินค้าส่งออกหลัก 3 อันดับแรกของรัสเซีย ล้วนเป็นสินค้าโภคภัณฑ์
ซึ่งราคามักจะผันผวนไปตามความต้องการของตลาดโลก
1
อันดับ 1 คือ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ คิดเป็นสัดส่วน 42%
อันดับ 2 คือ แร่โลหะมีค่า เช่น ทองคำ แพลทินัม คิดเป็นสัดส่วน 9%
อันดับ 3 คือ แร่เหล็กและเหล็กกล้า คิดเป็นสัดส่วน 5%
2
ถึงแม้จะสร้างรายได้มหาศาล แต่สินค้าเหล่านี้ก็เจอกับความผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจ
ปีไหนน้ำมันราคาสูง GDP ของรัสเซียก็เพิ่มสูง เช่น ช่วงปี 2012-2013
ปีไหนน้ำมันราคาตกต่ำ GDP ของรัสเซียก็ลดลง เช่น ช่วงปี 2014-2016
เมื่อรวมกับการที่ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจดำเนินมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียหลังจากที่รัสเซียรุกรานดินแดนยูเครน ทำให้รัสเซียต้องประสบวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2014
2
ปัญหาทั้งหมดทำให้รัฐบาลรัสเซียต้องกำหนดยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจใหม่
โดยในปี 2018 ประธานาธิบดี วลาดีมีร์ ปูติน ได้อนุมัติแผนวิจัยแห่งชาติที่ยาวไปจนถึงปี 2024
ซึ่งยุทธศาสตร์ที่จะทำให้เศรษฐกิจของรัสเซียอยู่รอด และโดดเด่นบนเวทีโลกในระยะยาว
ก็คือ “การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี”
4
ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ยุคจักรวรรดิรัสเซีย
รัสเซียคือดินแดนหนึ่งที่ผลิตผลงานวิทยาศาสตร์มากมายมาประดับวงการวิชาการของโลก
ทั้งรถรางไฟฟ้าและตารางธาตุ
2
พอมาถึงยุคสหภาพโซเวียต ก็มีเหล่านักวิทยาศาสตร์มากมายที่พัฒนาทั้งเทคโนโลยีนิวเคลียร์ อาวุธ การแพทย์ และเทคโนโลยีอวกาศ
รัสเซียมีนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลถึง 17 คน (รวมสมัยสหภาพโซเวียต)
ประกอบไปด้วยสาขาฟิสิกส์ 12 คน สาขาการแพทย์ 3 คน และสาขาเคมี 2 คน
7
แต่เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลาย วิกฤติเศรษฐกิจทำให้นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากต้องตกงาน
นับหมื่นคน และต้องอพยพออกไปทำงานยังต่างประเทศ ทั้งในสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป
ส่วนที่ยังอยู่ก็ต้องเปลี่ยนอาชีพไปทำมาหากินอย่างอื่น
5
ตั้งแต่ปี 2008 รัฐบาลรัสเซีย สมัยประธานาธิบดี ดมีตรี เมดเวเดฟ
จึงเริ่มวางแผนเพื่อผลักดันนโยบายเศรษฐกิจ บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
2
เริ่มแรกคือการจัดสร้างเมืองแห่งนวัตกรรม Skolkovo ที่ชานกรุงมอสโก
ให้เป็นศูนย์รวมของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์แขนงต่าง ๆ
จัดตั้ง Skolkovo Institute of Science and Technology ในปี 2011
ให้เป็นศูนย์วิจัยชั้นนำด้านวิศวกรรม ปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีการแพทย์ พลังงานสะอาด และเทคโนโลยีควอนตัม
2
Cr. Metalocus
มีการจัดตั้ง The Russian Quantum Center ภายในเมือง Skolkovo และทุ่มงบประมาณกว่า 25,000 ล้านบาท เพื่อวิจัยด้านนี้โดยเฉพาะ
รวมถึงเพิ่มงบประมาณในการปรับปรุงห้องทดลองในสถาบันต่าง ๆ ให้เตรียมพร้อม
ทั้งสถานที่ อุปกรณ์ทำการวิจัย และบุคลากร ดึงนักวิทยาศาสตร์เก่ง ๆ กลับมาสู่รัสเซีย
ด้วยการเพิ่มทุนวิจัย เงินเดือน และสวัสดิการที่ดี
1
ลำดับต่อมา คือการเพิ่มงบสนับสนุนการทำวิจัย
มีการจัดตั้ง Russian Science Foundation (RSF) ในปี 2014
เพื่อให้เงินสนับสนุนงานวิจัยหลากหลายแขนง
1
ตัวอย่างเช่น ในด้านอวกาศ RSF ได้มอบทุนสนับสนุนงานวิจัยองค์ประกอบของชั้นบรรยากาศบนดาวอังคาร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโปรแกรม ExoMars ที่รัสเซียร่วมกับสหภาพยุโรป ในการวางแผนจะส่งยานอวกาศไปดาวอังคารภายในปี 2022
1
รวมถึงการดึงงบประมาณบางส่วนจาก Russian National Wealth Fund หรือกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ มาสนับสนุนงานวิจัยที่เร่งด่วน เช่น การพัฒนาวัคซีนโควิด 19 โดยสถาบัน Gamaleya
1
Cr. CGTN
แต่อุปสรรคของการพัฒนาเทคโนโลยีในรัสเซียก็ยังมีอยู่ไม่น้อย..
ประการแรก คือ ปัญหาคอร์รัปชันในแวดวงข้าราชการ
1
รัสเซียเป็นประเทศที่มีปัญหาการคอร์รัปชันค่อนข้างสูง
จากดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน รัสเซียถูกจัดให้อยู่ที่อันดับ 129 ของโลก จาก 179 ประเทศ
ซึ่งเป็นอันดับที่แย่กว่าประเทศไทย และเป็นอันดับท้าย ๆ ของทวีปยุโรป
1
และจากการสำรวจของ PwC พบว่า กว่า 71% ของเงินอุดหนุนและอภิสิทธิ์พิเศษต่าง ๆ
ที่รัฐบาลรัสเซียจัดให้แก่โครงการด้านวิทยาศาสตร์และธุรกิจในปี 2009
จะถูกเบียดบังไปโดยข้าราชการและตำรวจรัสเซียที่ทำการคอร์รัปชัน
1
รวมไปถึงผลการทดลองหรือผลของงานวิจัย ที่หลายครั้งถูกควบคุมจากฝ่ายรัฐบาลอย่างเด็ดขาด ทำให้ข้อมูลที่ได้ขาดความโปร่งใส และไม่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
1
ประการที่ 2 คือ ปัญหาความร่วมมือกับประเทศตะวันตก
2
เนื่องจากรัสเซียโดนคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งล้วนแต่เป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้า
1
การนำเข้าสารเคมีต่าง ๆ ที่ใช้ในกระบวนการทดลอง
รวมไปถึงอุปกรณ์วิเคราะห์จากประเทศเหล่านี้จึงใช้ระยะเวลานานมาก
ด้วยข้อจำกัดทางการค้าและการทูต จากระยะเวลาไม่กี่วันอาจยาวนานเกือบ 3 เดือน
เช่นเดียวกับหลายโครงการที่ร่วมมือกันระหว่างรัสเซียกับสหภาพยุโรป ที่ไม่ได้รับการอนุมัติ
หรือดำเนินไปอย่างล่าช้า เนื่องด้วยข้อจำกัดในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของรัสเซียที่จะพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็ยังคงดำเนินต่อไป
รัฐบาลรัสเซียตั้งเป้าไว้ว่า งบประมาณด้านวิจัยและพัฒนาของรัสเซียจะต้องเพิ่มขึ้นเป็น 1.2%
ของ GDP ให้ได้ ภายในปี 2024..
1
ก็เป็นที่น่าติดตามต่อไป ว่ารัสเซียจะกลับมาทวงบัลลังก์แห่งโลกเทคโนโลยีได้หรือไม่ ?
แต่รัสเซียก็แสดงให้เห็นว่าเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่สามารถวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด 19 ของตัวเอง
ซึ่งนับเป็นการประกาศให้โลกรับรู้ถึงศักยภาพด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ของรัสเซีย
ที่ไม่น้อยหน้าใคร และสิ่งเหล่านี้อาจถูกต่อยอดจนกลายเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของรัสเซียในอนาคต
1
Cr. The Financial Express
ตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนานของมนุษย์ มีบทพิสูจน์ชัดเจนแล้วว่า
ประเทศใดที่เป็นผู้ครองเทคโนโลยี ประเทศนั้นก็มีศักยภาพพอที่จะเป็นผู้ครองโลก
1
เวลานี้สงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน
ก็เป็นที่จับตามองของคนทั้งโลกอยู่แล้ว
และหากว่าจะมีรัสเซียเพิ่มเข้ามาอีกหนึ่งประเทศในสงครามนี้
โลกในศตวรรษที่ 21 ก็คงจะน่าตื่นเต้นขึ้นกว่าเดิม ไม่น้อยเลยทีเดียว..
2
โฆษณา