2 พ.ค. 2021 เวลา 10:11 • การศึกษา
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปี 2564 >>>
พรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (บังคับใช้เป็นปีที่ 2)
30 มิถุนายน 2564 วันสุดท้ายของการชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ประจำปี 2564 หากชำระล่าช้ามีเบี้ยปรับ 10-40% ของภาษีที่ค้างชำระ และมีเงินเพิ่ม 1% ต่อเดือนของภาษีที่ค้างชำระ
ซึ่งตอนนี้ เข้าใจว่า ทาง อปท.น่าจะเริ่มทยอยส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ประจำปีภาษี 2564 (ภ.ด.ส.6) กันแล้ว เนื่องจากตามพรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ต้องดำเนินการแจ้งการประเมินให้แล้วเสร็จภายในเดือน เมษายน 2564 (ขยายออกมา 2 เดือน เนื่องจากผลกระทบโควิด ตามปกติ ภายในเดือน กุมภาพันธ์ ของทุกปี)
ว่าแต่ใครกันบ้างที่ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
1. ผู้เป็นเจ้าของที่ดิน (ถือกรรมสิทธิ์ตามโฉนด)
2. ผู้เป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้าง
(มีชื่อเป็นเจ้าของอยู่ในวันที่ 1 มกราคมของปีใด ผู้นั้นมีหน้าที่เสียภาษีสำหรับปีนั้น)
ฐานภาษีที่ใช้ในการจัดเก็บ
1. ที่ดิน ให้ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน
2. สิ่งปลูกสร้าง ให้ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์สิ่งปลูกสร้าง
3. ห้องชุด (คอนโด) ให้ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ห้องชุด
ราคาประเมินทุนทรัพย์ คือ ราคาประเมินของอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่กรมที่ดิน
http://property.treasury.go.th/pvmwebsite/ (เว็บไซต์สำหรับค้นหาราคาประเมิน) หากค้นหาแล้วไม่พบ ในทางปฎิบัติ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจะเทียบเคียงราคาประเมินกับโฉนดแปลงใกล้เคียง
กรณีที่ดินมีสิ่งปลูกสร้างด้วย ฐานภาษี จะคำนวณจาก ราคาประเมินที่ดิน + ราคาประเมินสิ่งปลูกสร้างสุทธิ (ราคาประเมินสิ่งปลูกสร้างสุทธิ= ราคาประเมินสิ่งปลูกสร้างแต่ละประเภทซึ่งราคาประเมินไม่เท่ากัน เช่น สิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่อยู่อาศัย โรงจอดรถ ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น แบ่งประเภทย่อยอีกเป็น ตึก ครึ่งตึกครึ่งไม้ ไม้ ราคาประเมินก็ไม่เท่ากัน และอายุสิ่งปลูกสร้างจะเป็นตัวที่จะนำมาหักออกจากราคาประเมินสิ่งปลูกสร้างเพื่อคำนวณหาราคาประเมินสิ่งปลูกสร้างสุทธิ)
อัตราภาษี 2 ปีแรก (ปี 2563 และ 2564) แบ่งเป็น
1. ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อการเกษตรกรรม ร้อยละ 0.01 ถึง ร้อยละ 0.1 ของราคาประเมิน
2. ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของที่เป็นบุคคลธรรมดา ใช้เป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ร้อยละ 0.03 ถึง ร้อยละ 0.1 ของราคาประเมิน
3. สิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของที่เป็นบุคคลธรรมดา ใช้เป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ร้อยละ 0.02 ถึง ร้อยละ 0.1
4. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของที่เป็นบุคคลธรรมดา ใช้เป็นที่อยู่อาศัย แต่ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน เช่น บ้านหลังที่ 2 หรือ เจ้าของเป็นนิติบุคคล ร้อยละ 0.02 ถึง ร้อยละ 0.1 ของราคาประเมิน
5. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่ได้ใช้เพื่อการเกษตรกรรมและเป็นที่อยู่อาศัย ร้อยละ 0.3 ถึงร้อยละ 0.7 ของราคาประเมิน
6. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้รกร้างว่างเปล่า ไม่ทำประโยชน์ ร้อยละ 0.3 ถึง ร้อยละ 0.7 ของราคาประเมิน (เสียเพิ่ม 0.3% ทุก 3 ปี แต่รวมแล้วไม่เกิน 3%)
(ตาม พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มาตรา 94)
ข้อยกเว้นในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
1. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง เพื่อการเกษตรกรรม ที่เจ้าของกรรมสิทธิ์เป็นบุคคลธรรมดา หากราคาประเมินไม่เกิน 50 ล้านบาท ให้ได้รับยกเว้นภาษี (ตาม พรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มาตรา 40)
2. ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย ที่เจ้าของกรรมสิทธิ์เป็นบุคคลธรรมดาและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ในวันที่ 1 มกราคม ของปีนั้น หากราคาประเมินไม่เกิน 50 ล้านบาท ให้ได้รับยกเว้นภาษี (ตาม พรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มาตรา 41)
3. สิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย ที่เจ้าของกรรมสิทธิ์เป็นบุคคลธรรมดาและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ในวันที่ 1 มกราคม ของปีนั้น หากราคาประเมินไม่เกิน 10 ล้านบาท ให้ได้รับยกเว้นภาษี (ตาม พรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มาตรา 41 วรรคสอง)
ช่วง 3 ปีแรกของการจัดเก็บภาษี (ปี 2563-2565) ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง เพื่อการเกษตรกรรม ที่เจ้าของกรรมสิทธิ์เป็นบุคคลธรรมดา ให้ได้รับยกเว้นภาษี (ความหมาย คือ บุคคลธรรมดาที่ราคาประเมินที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างเกิน 50 ล้านบาท จะได้รับประโยชน์ในการได้รับยกเว้นภาษี 3 ปี หลังจากนั้นต้องเสียภาษีส่วนที่เกิน 50 ล้านบาท) (ตาม พรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มาตรา 96)
ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง เพื่อการเกษตรกรรม ต้องเป็นไปตาม ประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม เช่น ปลูกกล้วยหอม ขั้นต่ำ 200 ต้น/ไร่ ปลูกมะพร้าวอ่อน 20 ต้น/ไร่ หรือเลี้ยง กระบือ (ถ้าเป็นคอก 7 ตรม.ต่อตัว หรือ เป็นที่ดิน 1 ตัวต่อ 5 ไร่) เป็นต้น
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปี 2564 ลดลง 90% จะยังคงเสียภาษีแค่ 10% (ตามพระราชกฤษฎีกาลดภาษี สำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2564)
#ที่ปรึกษาภาษี #สยามลอว์ #SIAMLAW
เพจ VI Style by MooDuang (Partner SIAMLAW)
โฆษณา