4 พ.ค. 2021 เวลา 23:00 • ความคิดเห็น
ห่วงข้าวห่วงของเพราะ Endowment Effect
Daniel Kahneman นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลเคยทำการทดลองโดยสุ่มแจกแก้วกาแฟให้ผู้ร่วมเข้าทดลองประมาณครึ่งหนึ่ง
จากนั้น Kahneman ก็ถามกลุ่มที่ได้แก้วไปว่า ถ้ามีคนจะซื้อแก้วใบนี้ คุณจะยอมขายในราคาเท่าไหร่
ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้แก้ว Kahneman ก็ถามว่าจะยอมควักเงินซื้อแก้วในราคาเท่าไหร่
1
กลุ่มที่ได้แก้ว บอกว่าจะไม่ยอมขายจนกว่าจะได้ราคาอย่างน้อย $5.25
ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้แก้วนั้น บอกว่าจะยอมซื้อแก้วในราคาแค่ $2.25-$2.75 เท่านั้น
แก้วใบเดียวกัน แต่มูลค่ากลับต่างกันถึงสองเท่า เพียงเพราะว่ากลุ่มหนึ่งมีความรู้สึกเป็น “เจ้าข้าวเจ้าของ” แก้วใบนั้น
Kahneman เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Endowment Effect หรือการให้ค่ากับสิ่งที่เราเป็นเจ้าของสูงเกินความเป็นจริง
นั่นคือสาเหตุที่เราเก็บของต่างๆ เอาไว้เต็มบ้านทั้งๆ ที่เราไม่ใช่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า หนังสือ หรืออุปกรณ์บางอย่างที่กองไว้จนฝุ่นจับ
เคล็ดลับอย่างหนึ่งที่จะทำให้เราหลุดจาก Endowment Effect ได้ คือถามตัวเองว่า – If I don’t already own this item, how much would I be willing to pay for it? ถ้าเราไม่ได้มีของชิ้นนี้อยู่แล้ว เราจะยอมจ่ายเงินเท่าไหร่เพื่อให้ได้มันมา?
แล้วเราอาจจะแปลกใจที่ได้พบว่า ในหลายครั้งคำตอบก็คือ “ให้ฟรีๆ ยังไม่เอาเลย”
ทำไมเราจึงเก็บของเอาไว้ทั้งๆ ที่ไม่ได้ใช้แล้ว? หนึ่งในคำอธิบายก็คือเราถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กว่าอย่าทำอะไรสิ้นเปลือง
“ถ้าเปิดแอร์แล้วก็อย่าเปิดหน้าต่างทิ้งไว้ ไม่งั้นเปลืองไฟ”
“กินข้าวก็ต้องกินให้หมดจาน สงสารคนไม่มีจะกิน”
“จะซื้อเสื้อตัวนี้ไปทำไม อีกตัวที่ซื้อมาวันก่อนยังไม่ค่อยได้ใส่เลย”
เมื่อเราถูกปลูกฝังให้ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เราก็เลยไม่กล้าทิ้งของที่เราไม่มีโอกาสได้ใช้ไปด้วย ซึ่งถ้าใครศึกษาวิธีการจัดบ้านแบบ KonMari จะพบว่าการเก็บของที่ไม่ได้ใช้ไว้จะทำให้เราซื้อข้าวของเข้าบ้านมากกว่าเดิมเสียอีก
ลองสังเกตตัวเองดูนะครับว่าตกเป็นเหยื่อของ Endowment Effect อยู่รึเปล่า
โฆษณา