5 พ.ค. 2021 เวลา 11:50 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ทำไม สถานีบริการน้ำมัน ยังทำกำไรได้ แม้ราคาน้ำมันลดลง
หลายคนอาจมีความเข้าใจมาตลอดว่า
ถ้าสถานีบริการน้ำมันปรับราคาขายน้ำมันเพิ่มขึ้น จะทำให้ได้กำไรเพิ่มขึ้น
และในทางกลับกัน ถ้าราคาขายน้ำมันลดลง ก็จะทำกำไรได้ลดลง
1
ความเข้าใจแบบนี้ ไม่ถูกต้องเสมอไป
เพราะบางครั้งสถานีบริการน้ำมันก็อาจทำกำไรเพิ่มขึ้นได้ แม้จะปรับราคาขายน้ำมันลดลง
4
กลไกของเรื่องนี้เป็นอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
1
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า โครงสร้างราคาน้ำมัน 1 ลิตรของไทยนั้น ประกอบด้วยต้นทุนอะไรบ้าง
1. ต้นทุนราคาน้ำมันสำเร็จรูปจากหน้าโรงกลั่น
ต้นทุนส่วนนี้จะสะท้อนต้นทุนในการกลั่นของโรงกลั่น และยังได้รับผลจากการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ตามกลไกอุปสงค์-อุปทานน้ำมัน ณ ขณะนั้น
2. ภาษีและเงินส่งกองทุนต่าง ๆ ประกอบด้วย
- ภาษีเทศบาล เป็นภาษีที่ภาครัฐเก็บเพื่อนำไปพัฒนาพื้นที่จังหวัดที่โรงกลั่นน้ำมันตั้งอยู่
2
- ภาษีสรรพสามิต ภาษีที่ภาครัฐเก็บจากสินค้าประเภทฟุ่มเฟือยที่ผลิตหรือนำเข้า ซึ่งก็รวมถึงน้ำมัน โดยภาษีนี้จะถูกนำไปเป็นงบประมาณของภาครัฐ
2
- เงินส่งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งกองทุนนี้ จัดตั้งเพื่อนำเงินไปรักษาเสถียรภาพราคา โดยในช่วงที่ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น รัฐจะใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจ่ายชดเชยเพื่อไม่ให้ราคาปลีกในประเทศสูงขึ้นมาก และในช่วงที่ราคาน้ำมันลดลง กองทุนนี้ก็จะเก็บเงินค่าชดเชยกลับมาเข้ากองทุน
3
- กองทุนอนุรักษ์พลังงาน กองทุนที่จัดตั้งเพื่อนำเงินไปใช้ขับเคลื่อนงานด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน รวมไปถึงการนำเงินกองทุนไปใช้พัฒนาระบบขนส่ง สร้างถนน และการให้ทุนการศึกษาด้านพลังงานด้วย
1
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT 7%) เป็นภาษีที่เก็บโดยภาครัฐจากการขายสินค้าและบริการทุกชนิด เพื่อนำมาเป็นงบประมาณของภาครัฐ
3. ค่าการตลาด
คือส่วนต่างระหว่างราคาขายปลีกน้ำมันหน้าสถานีบริการ กับต้นทุนที่ได้น้ำมันมาขาย
หรือพูดง่าย ๆ คือ ค่าการตลาด เป็นกำไรจากการขายน้ำมัน ที่สถานีบริการน้ำมันทำได้
1
Cr. Bangchak Member Club
แล้วต้นทุนสามข้อที่ว่ามา มีสัดส่วนในโครงสร้างต้นทุนน้ำมันอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะลองยกตัวอย่าง ราคาน้ำมันดีเซล B7 ณ ราคา 26.49 บาทต่อลิตร
- ต้นทุนราคาน้ำมันจากหน้าโรงกลั่น 14.76 บาท คิดเป็น 56%
- ภาษีและเงินส่งกองทุนต่าง ๆ 9.42 บาท คิดเป็น 36%
- ค่าการตลาด 2.31 บาท คิดเป็น 8%
2
จะเห็นว่า ต้นทุนกว่าครึ่งเป็นต้นทุนที่เกิดจากราคาหน้าโรงกลั่น
และเมื่อนำต้นทุนจากราคาหน้าโรงกลั่น บวกกับ ภาษีและเงินส่งกองทุนต่าง ๆ จะคิดเป็น 92% ของราคาขาย
1
ส่วนอีก 8% จะมาจากค่าการตลาด ซึ่งกำไรของสถานีบริการน้ำมันจะมาจากค่าการตลาดเป็นหลัก จะไม่ได้เกี่ยวกับการขึ้นลงของราคาน้ำมัน
1
ถ้าเราสังเกตให้ดี ในความเป็นจริงแล้ว ราคาขายปลีกน้ำมันหน้าสถานีบริการน้ำมันจะมีระยะเวลาปรับตัว ทำให้ยังไม่ปรับตามราคาน้ำมันดิบและราคาหน้าโรงกลั่นที่ปรับตัวขึ้นหรือลงในทันที ซึ่งช่องว่างตรงนี้ เรียกว่า “Lag time”
2
ซึ่ง Lag time ที่ว่านี้ ก็ส่งผลต่อค่าการตลาด
ที่เป็นตัวทำกำไรจากการขายน้ำมันของสถานีบริการน้ำมันต่าง ๆ
ซึ่งค่าการตลาดนั้น ก็คิดจาก ส่วนต่างระหว่างต้นทุนน้ำมันที่ซื้อจากโรงกลั่น ภาษีและเงินส่งเข้ากองทุนต่าง ๆ กับราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปที่สถานีบริการน้ำมัน
2
ตัวอย่างเช่น ถ้าในช่วงราคาน้ำมันดิบลดลง แต่ถ้าการปรับราคาขายน้ำมันหน้าสถานีบริการ ปรับลดลงช้ากว่าราคาขายหน้าโรงกลั่น กรณีนี้ สถานีบริการน้ำมันก็จะกำไรเพิ่มขึ้นได้ จากค่าการตลาดที่ปรับตัวขึ้น..
1
ลองมาดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2563 ที่เพิ่งจบไปกัน
การแพร่ระบาดของโควิด 19 ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำ
และทำให้ในปี 2563 ความต้องการใช้น้ำมันทั้งโลกลดลง
ราคาน้ำมันดิบทั่วโลกจึงปรับตัวลดลง
1
Cr. Posttoday
ในกรณีของประเทศไทยที่นำเข้าน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางเป็นส่วนใหญ่ จึงใช้ราคาน้ำมันดิบดูไบ (ที่นำมาซื้อขายกันที่ตลาดสิงคโปร์ ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายน้ำมันขนาดใหญ่ใกล้ไทย) เป็นราคาอ้างอิงต้นทุนการนำเข้าน้ำมันดิบของประเทศ
2
สิ้นปี 2563 ราคาน้ำมันดิบดูไบในตลาดสิงคโปร์ ลดลงไปประมาณ 24% จากปีก่อนหน้า
พอเรื่องเป็นแบบนี้ จึงทำให้ราคาขายปลีกเฉลี่ยน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศไทย ปรับตัวลดลงตามไปด้วย
1
แต่รู้ไหมว่า แม้ว่าทั้งราคาน้ำมันดิบและราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปเฉลี่ยจะลดลง
แต่ค่าการตลาด กลับปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า
ค่าการตลาดเฉลี่ยของน้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ และน้ำมันเบนซิน
- ปี 2562 ค่าการตลาดเฉลี่ย 1.98 บาทต่อลิตร
- ปี 2563 ค่าการตลาดเฉลี่ย 2.30 บาทต่อลิตร
2
แม้ว่าค่าการตลาดเฉลี่ย จะปรับเพิ่มจากปีที่ผ่านมาเพียง 0.32 บาทต่อลิตร ซึ่งดูเหมือนไม่มาก
1
แต่ลองนึกภาพว่า ถ้าสถานีบริการน้ำมันนั้น ขายน้ำมันกว่า 3,000 ล้านลิตรต่อปี ก็หมายความว่า กำไรจากการขายน้ำมันของสถานีบริการ จะเพิ่มไปถึง 960 ล้านบาทเลยทีเดียว..
เราจึงเห็นว่า บริษัทที่ทำธุรกิจสถานีบริการน้ำมันบางแห่งในปีที่แล้ว มีผลกำไรเพิ่มขึ้น แม้ว่าราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปเฉลี่ยจะลดลงนั่นเอง
2
Cr. MMThailand.com
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ธุรกิจสถานีบริการน้ำมันนั้น ไม่ได้มีอัตรากำไรที่สูง
อย่างในส่วนของค่าการตลาดนั้น เมื่อนำไปหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้ว ถึงจะเป็นกำไรของผู้ประกอบการ ซึ่งบางสถานีบริการน้ำมัน ถ้าบริหารต้นทุนได้ไม่ดี ก็มีขาดทุนได้เหมือนกัน
1
และในอนาคต บริษัทที่ทำธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน
ก็คงต้องเจอความท้าทายที่มากขึ้นไปอีก
โดยเฉพาะเรื่องของการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มลดลง
จากปริมาณการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้า ที่น่าจะเป็นเมกะเทรนด์ในอนาคตอันใกล้
1
รวมไปถึง เรื่องต้นทุนต่าง ๆ โดยเฉพาะต้นทุนน้ำมันดิบที่ผันผวนตามตลาดโลก
รวมไปถึงภาษีและเงินนำส่งต่าง ๆ ที่ทั้งหมดนี้เป็นต้นทุนที่ทั้งบริษัทและผู้ประกอบธุรกิจสถานีบริการน้ำมันไม่สามารถควบคุมเองได้
2
ดังนั้น เราจึงเห็นหลายบริษัทในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พยายามมุ่งเป้าที่จะขยายธุรกิจไปทำธุรกิจที่ไม่ได้มาจากน้ำมัน (Non-Oil Business) มากขึ้น
เช่น ปั้นแบรนด์ร้านกาแฟ ให้เช่าพื้นที่ขายของ สถานีบริการชาร์จไฟฟ้า และธุรกิจอื่น ๆ เพื่อผันตัวเองให้เป็น One Stop Service ให้แก่ผู้มาใช้บริการ
1
ซึ่งพวกเขาก็คงหวังว่า จุดแข็งเรื่องการเป็นสถานีบริการน้ำมัน ที่คนเดินทางต้องแวะใช้บริการ
คงเป็นใบเบิกทางสู่ธุรกิจอื่น ที่สร้างอัตรากำไรที่สูงกว่า และมีความผันผวนน้อยกว่าการขายน้ำมัน นั่นเอง..
โฆษณา