6 พ.ค. 2021 เวลา 13:07 • ท่องเที่ยว
วัดสมณโกฏฐาราม อยุธยา
“วัดสมณโกฏฐาราม” … แต่เดิมชื่อ “วัดสมโณโกฎิ” ไม่ปรากฏผู้สร้าง แต่น่าจะสร้างมาตั้งแต่ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา … ตามพระราชพงศาวดารเหนือ ระบุว่าพระบรมราชา พระราชบิดาของพระเจ้าอู่ทอง ทรงผนวชที่ วัดสมโณโกฎินี้ แต่นักวิชาการหลายท่านยังเชื่อว่าพงศาวดารเหนือมีข้อผิดพลาด น่าจะเป็นพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) มากกว่าที่ทรงผนวชวัดนี้
ต่อมา “พระยาโกษาธิบดี (เหล็ก)” และ “พระยาโกษาธิบดี (ปาน)” ได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดนี้ขึ้นเพื่อเป็น “วัดประจำตระกูล” จึงมีชื่อเรียกต่อๆ กันมาว่า “วัดพระยาพระคลัง” หรือวัดคลัง
ในจดหมายเหตุ “แกมป์เฟอร์” ซึ่งบันทึกโดย นายแพทย์เอนเยลเบิร์ต แกมป์เฟอร์ (Engelbert Kaempfer) หมอชาวเยอรมัน ซึ่งทำงานในบริษัทอีสต์อินเดียของฮอลันดาเดินทางเข้ามากรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2233 ในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา
เขาได้บันทึกไว้ว่า .. ห่างจากตัวเมืองไปทางตะวันออกมีวัดที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งเรียกว่า “วัดพระยาคลัง” และได้วาดแผนที่กรุงศรีอยุธยาเอาไว้ โดยแผนผังที่นายแกมเฟอร์เขียนประกอบไว้ปรากฏว่าเป็น วัดกุฎีดาว และ วัดพระยาพระคลัง โดยด้านหลังของวัดพระยาพระคลังติดกับหลังวัดกุฎีดาว มีเพียงคลองกั้นกลาง … จึงมีผู้สันนิษฐานว่า “วัดกุฎีดาว” และ “วัดพระยาพระคลัง” อาจเป็นวัดเดียวกันมาแต่เดิมก็เป็นได้
นอกจากนี้ในบันทึกยังระบุว่าสมเด็จพระเพทราชาได้เสด็จไปที่วัดนี้เพื่อราชทานเพลิงศพเจ้าแม่ดุสิตซึ่งเป็นมารดาของเจ้าพระยาโกษา (เหล็ก) และเจ้าพระยาโกษา (ปาน) และยังเป็นพระแม่นมของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเมื่อ พ.ศ. 2233
... อย่างไรก็ดียังคงมีผู้เชื่อว่าวัดที่พระราชทานเพลิงศพเจ้าแม่วัดดุสิต คือ วัดดุสิตาราม
“วัดพระยาพระคลัง” รกร้างไปนาน … กระทั่งปี พ.ศ. 2502 พระอาจารย์เจริญได้รับอาราธนามาปฏิสังขรณ์วัด กระทั่งวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510 ก็ได้รับการพระราชทานวิสุงคามสีมาและเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดสมโณโกฏฐาราม” ทั้งนี้ทางวัดได้สร้างเสนาสนะขึ้นใหม่อยู่ทางทิศใต้ของส่วนที่เป็นโบราณสถาน และมีพระสงฆ์จำพรรษาตั้งแต่นั้นมา
สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด
พระอุโบสถ ... เป็นพระอุโบสถสมัยอยุธยาก่ออิฐถือปูน ลักษณะตกท้องสำเภา มีหน้าต่างซึ่งมีบันแถลงพร้อมร่องรอยการประดับกระจกสี ด้านข้างมีประตูเข้าออก 4 ด้าน .. เป็นพระอุโบสถที่ได้รับการอนุรักษ์เอาไว้เป็นอย่างดี สามารถเข้าไปข้างในได้
ภายในของโบสถ์นอกจากจะได้รับการบูรณะจนดูใหม่มาก ... ประดิษฐานพระพุทธปฏิมากรสำคัญ คือ ‘พระศรีสมณโกฎบพิตร’ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปหินทราย ปางมารวิชัย ได้รับการบูรณะหลายครั้งและหลายวิธี เช่น ฉาบปูนทาสีขาว จนปี พ.ศ. 2549 จึงบูรณะโดยการปิดทอง พระศรีสมณโกฏบพิตรจึงเป็นทองทั้งองค์ดังเช่นในปัจจุบัน
ภาพของเจ้าพระยาโกษา (เหล็ก) และเจ้าพระยาโกษา (ปาน) ภายในพระอุโลสถ
วิหารโบราณ ... ตั้งอยู่ด้านหน้าของวัด ปัจจุบันเหลือเพียงซากปรักหักพังและฐานเสา ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย พร้อมด้วยพระโมคัลลานะและพระสารีบุตร อยู่ในสภาพค่อนข้างดี โดยพระพุทธรูปปางมารวิชัยนี้เป็นพระพุทธรูปหินทรายขาว มีพระนามว่า ‘พระพิชิตมารโมฬี’ หรือหลวงพ่อขาว
พระปรางค์ ... ปัจจุบันเหลือแต่ฐานเท่านั้น แต่ซากที่เหลืออยู่แสดงให้เห็นว่าเป็นปรางค์ปรางค์ขนาดใหญ่ล้อมรอบด้วยระเบียงคต
กรมศิลปากรเชื่อว่าพระปรางค์สร้างขึ้นสมัยอยุธยาตอนกลาง จากการบูรณะจึงทราบว่าพระปรางค์องค์นี้สร้างครอบทับเจดีย์ทรงระฆังกลม ศิลปะอยุธยาตอนต้น บนลานประทักษิณเอาไว้ โดยเจดีย์นี้แต่เดิมเชื่อมโยงกับเจดีย์ประจำมุมทั้งสี่ ล้อมด้วยกำแพงแก้วอีกชั้นหนึ่ง
เจดีย์ระฆัง ... มีขนาดใหญ่ตั้งอยู่ระหว่างพระปรางค์และพระอุโบสถ สันนิษฐานว่าน่าจะมีมาแต่แรกเริ่มการสร้างวัดตามลักษณะของเจดีย์และลวดลายที่ประดับอยู่บนบัลลังก์ ซึ่งโบราณสถานเหล่านี้ได้สร้างทับรากฐานอาคารเดิมอันเป็นงานที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น
วิหารด้านหลังพระอุโบสถ ... ด้านในเป็นที่สักการะ สมเด็จพระเจ้าตากสิน
ตรามหาเดช .. สลักถ้อยคำว่า ตรามหาเดช เครื่องหมายแห่งชัยชนะ เป็นดวงตราปักไว้บนธงนำทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสิน มีรูปพญาครุฑทรงจักร อัญเชิญเพชรเปล่งรัศมี ตรงกลางของเพชรมีอุณาโลม
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปกับ พี่สุ
ท่องเที่ยวทั่วโลก กับพี่สุ
ซีรีย์เที่ยวเจาะลึก ประเทศนอร์เวย์
Iceland ดินแดนแห่งน้ำแข็งและเปลวไฟ
Lifestyle & อาหารการกิน แบบพี่สุ
สถานีความสุข by Supawan
โฆษณา