7 พ.ค. 2021 เวลา 13:17 • ธุรกิจ
อาชีพขายหนังสือมือสองออนไลน์
นิตยสารทำอาหารเก่ามีราคากลายเป็นของล้ำค่า
ซื้อหนังสือในเฟสบุ๊คอย่างไร?..ไม่ให้ถูกหลอก!
ร้านหนังสือมือสองของคุณจีรนันท์
...ถึงคุณผู้อ่านที่รัก...
ฉันเป็นคนหนึ่งชอบซื้อหนังสือเกี่ยวกับการทำอาหาร และสะสมมาตั้งแต่สมัยเรียนคหกรรม ไม่ว่าจะเป็นนิตยสารเกี่ยวกับอาหาร หนังสือทำอาหารสมัยใหม่ หรือตำราอาหารรุ่นเก่า ฉันก็พยายามเสาะหามาทีละนิดทีละหน่อย
ซื้อมาแล้วอ่านครบทุกเล่มมั้ย?
" ป๊าววว!.....(เสียงสูงพร้อมส่ายหน้าแรงๆ)
มันเป็นความสุขทางใจอย่างหนึ่ง ฉันชอบเปิดดูภาพอาหารสวยๆก่อนนอน หรืออ่านประวัติศาสตร์เรื่องอาหารการกินเล็กๆน้อยๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้ฉันนอนหลับสบายในยามค่ำคืน
สมัยเมื่อประมาณ 10กว่าปีที่แล้ว เราจะไปหาซื้อหนังสือมือสองกันที่ตลาดนัดจตุจักร หรือไม่ก็แถวๆสะพานควาย อีกที่หนึ่งในตำนานก็น่าจะเป็นย่านเยาวราช ฉันคิดถึงบรรยากาศการเลือกซื้อที่คึกคัก และผู้คนต่างเดินกันให้ควั่กเสียเหลือเกิน
ปัจจุบันร้านค้าหนังสือมือสองก็พากันปรับตัวด้านการขายให้เข้ากับยุคสมัย พวกเขานำหนังสือมาขายผ่านทางออนไลน์กันทั้งนั้น มันสะดวกตรงที่ลูกค้าไม่ต้องเสียเวลาเดินทางมาที่ร้าน เพียงแต่แจ้งชื่อหนังสือที่อยากได้ โอนเงินเสร็จคนขายก็ไปหามาส่งให้ถึงบ้าน
แต่ส่วนตัวฉันชอบอยู่ท่ามกลางกองหนังสือเก่ามากมายที่เคล้าด้วยกลิ่นกระดาษจางๆ หยิบเล่มโน้นเล่มนี้มาพิจารณาเห็นเนื้อหาด้านใน บางครั้งเราก็จะเจอหนังสือดีๆที่เราไม่เคยเห็นติดไม้ติดมือมาด้วย
"ฉันไม่ชอบซื้อหนังสือผ่านทางออนไลน์สักเท่าไหร่"
ยิ่งมีโควิด 19ระบาด จะเดินทางไปไหนมาไหนก็ลำบาก หยิบจับอะไรต้องระมัดวังตัวอีก เฮ้ยย!..(ถอนหายใจ)
ก่อนหน้านี้ประมาณสัก 3-4 ปีที่แล้ว นิตยสารต่างๆยังคงวางแผงเฉิดฉายประชันโฉมกันบนชั้นขายหนังสือทุกแห่ง ตอนนั้นฉันคิดว่านิตยสารเป็นเพียงหนังสือรายปักษ์รายเดือนที่อ่านแล้วจบกันไป แล้วรอคอยอ่านเล่มใหม่ ไม่ได้มองเห็นคุณค่ามากนักเพราะรู้ว่ายังไงๆก็มีออกมาให้อ่านเป็นประจำอยู่แล้ว ฉันจะให้ความสำคัญกับนักเขียนและหนังสือที่นานๆจะออกมาสักครั้งมากกว่า
ดังนั้นฉันจึงเก็บนิตยสารเหล่านี้บ้างไม่เก็บบ้าง
ตามแต่สถานการณ์อำนวย
ต่อมาไม่นานสำนักพิมพ์ต่างปิดตัวลง นิตยสารก็พลอยจากหายไปด้วย คราวนี้แหละที่ฉันรู้สึกมีอาการเหมือนคนอกหักเข้าอย่างจัง!
" ต่อไปนี้ไม่มีใครผลิตนิตยสารทำอาหารสวยๆอีกต่อไปแล้วล่ะสิ"
ฉันเริ่มทำการเสาะหานิตยสารทำอาหารและตำราเก่าๆ ที่ฉันได้พลาดไป โดยการหาซื้อผ่านทางเว็บไซต์ขายหนังสือ ,ทางLazada, และShopee
การเข้ามาหาซื้อนิตยสารในโลกออนไลน์ ทำให้รู้ว่าตอนนี้ราคาหนังสือเหล่านี้ราคาสูงขึ้นจากสมัยก่อนมาก และราคาสูงกว่าราคาในร้านหนังสือมือสองอีกต่างหาก... แต่ก็นะ! ถ้าบวกลบคูณหารกันแล้ว ซื้อทางนี้ก็ประหยัดเวลา ประหยัดพลังงานไปมากโข ทั้งยังไม่ต้องเสี่ยงกับโควิดอีกด้วย
"คุณผู้อ่านทราบไหมคะว่าทำไมนิตยสารทำอาหารเก่าและตำราทำอาหารเก่า จึงมีราคาและเป็นที่ต้องการแก่กลุ่มคนที่รักการทำอาหาร ไม่ว่าจะเป็นเชฟหรือแม้กระทั่งคุณครูสอนทำอาหาร?"
นิตยสารและหนังสือเหล่านี้จะมีเนื้อหาเชิงวัฒนธรรมการกินอยู่ ที่สะท้อนให้เห็นถึงเหตุการณ์ยุคสมัยนั้นๆ มีสูตรอาหารที่รวบรวมจากยอดฝีมือหลากหลายสูตร พร้อมเรื่องราวที่ถ่ายทอดได้อรรถรส และมีภาพประกอบที่สวยงามชวนน้ำลายไหล เปรียบเสมือนว่าเป็นจดหมายเหตุที่บอกเล่าเรื่องราวเอาไว้อย่างละเอียด
ภาพนิตยสารครัว
ตำราทำอาหารที่พิมพ์เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว ร้านSujeelux ใน Shopee
เล่มนี้ไม่มีผลิตออกมาใหม่แล้ว ฉันสั่งในshopee ร้าน bookbookforyou
ภาพจากร้านหนังสือมือสองคุณจีรนันท์
หลังจากดูภาพประกอบแล้วเรามาคุยกันต่อค่ะ!
จากประสบการณ์การซื้อหนังสือมือสองผ่านทางออนไลน์มาอย่างโชกโชนและเสียเงินไปมิใช่น้อย
ประสบการณ์ทำให้ฉันเริ่มจะฉลาดขึ้นมาหน่อย
วันดีคืนดีฉันได้รู้จักกับกลุ่มซื้อขายแลกเปลี่ยนหนังสือมือสองในเฟสบุ๊ค ที่นี่มีสมาชิกเข้าร่วมกว่าแสนคน มีทั้งผู้ขายและผู้ซื้ออยู่ในนั้น
ตัวอย่างผู้ใช้งานท่านหนึ่ง
เพียงฉันโพสต์ประกาศไปปุ๊บ!
...ว่ากำลังหาหนังสืออะไร
แป๊บบบเดียวเท่านั้นแหละค่ะ!
มีคนนำหนังสือที่ฉันต้องการมานำเสนอทันที
บรรยากาศเหมือนประมูลการขายยังไงอย่างงั้น
เพราะมีหลายเจ้ามานำเสนอ ราคาก็ถือว่าถูกกว่าที่อื่นมากๆ
ต่างจากการเข้าไปหาเองในเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่นต่างๆ เนื่องจากจะต้องใช้เวลาค้นหาอยู่หลายชั่วโมง เผลอๆใช้เวลาเกือบทั้งวัน ข้อดีคือการซื้อขายในเว็บไซต์, แอปพลิเคชั่นLazada และshopeeนั้น ค่อนข้างจะปลอดภัยพอสมควร
แต่!!!.. ถึงการซื้อขายในกลุ่มนี้จะรวดเร็วกว่าในเว็บไซต์ ความเสี่ยงที่จะถูกหลอกลวงก็มากเรื่องเอาการอยู่ มีลูกค้าถูกหลอกให้โอนเงินไม่เว้นแต่ละวัน บางรายโอนไปหลักหมื่น ถูกแม่ค้าพ่อค้าชิ่งหนีไม่ส่งของให้ก็มี
ฉันยังไม่เคยมีประสบการณ์เลวร้ายเช่นนี้ ส่วนใหญ่แล้วจะเจอคนขายที่ดีๆและน่ารักๆทั้งนั้น
( ก็ไม่แน่อาจจะเจอดีเข้าสักวัน)
ฉันได้รับคำแนะนำจากพ่อค้าขายหนังสือทางเฟสบุ๊คคนหนึ่ง เขาเป็นมืออาชีพในด้านการหาหนังสือมือสองหายาก ไม่ว่าฉันอยากได้หนังสืออะไรเขาก็สามารถหามาให้จนได้ แต่ราคาจะค่อนข้างแพงกว่าร้านอื่นๆในกลุ่มเฟสบุ๊ค
พี่ท่านนี้แนะนำว่า... ก่อนที่จะโอนเงินหรือตกลงซื้อหนังสือ จะต้องให้คนขายจัดหนังสือที่เราต้องการ พร้อมถ่ายรูปเอาบัตรประชาชนและสมุดบัญชีของผู้ขายแนบมาด้วย
( ในกรณีที่ต้องซื้อเป็นเงินจำนวนมากๆ เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับความไว้ใจและตกลงกันทั้งสองฝ่าย)
**บัตรประชาชนและสมุดบัญชีจะต้องเป็นเจ้าของคนเดียวกัน เพื่อใช้เป็นหลักฐานที่ดีที่สุดในการซื้อขาย และผู้ขายก็แสดงความซื่อสัตย์และจริงใจกับลูกค้า เมื่อมีการส่งของเรียบร้อยแล้วก็แจ้งใบเสร็จแสดงหมายเลขพัสดุเพื่อติดตามสินค้าต่อไป
การซื้อหนังสือเหล่านี้ส่วนใหญ่เค้าจะซื้อกันในราคาหลักร้อยจนถึงหลักหมื่นเลยทีเดียว ถ้าถูกคนขายเบี้ยวและล่ะก็! ลูกค้าก็นั่งร้องไห้น้ำตาตก หรือไม่ก็ต้องไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ... (ซึ่งแจ้งไปก็เท่านั้น ทางที่ดีป้องกันไว้ก่อน)
"ก็อย่างว่าแหละค่ะ ซื้อขายอะไรๆในโลกออนไลน์ก็ล้วนมีความเสี่ยง แต่อย่างน้อยก็สามารถผ่อนหนักเป็นเบาได้"
อาชีพขายหนังสือมือสอง เดี๋ยวนี้เขาไม่ได้แค่มีสินค้าในร้านมาขายอย่างเดียวนะคะ คนขายจะต้องรับบทนักสืบเสาะด้วย เพราะหนังสือที่เหล่าบรรดาลูกค้าต้องการ ส่วนใหญ่ก็เป็นตำราเก่าแก่หายากทั้งนั้น
ยิ่งหายากก็ยิ่งราคาสูงคนอยากได้ก็ยอมจ่าย เพราะฉะนั้นอาชีพนี้ไม่ธรรมดาเลย
"ถึงแม้ทุกวันนี้จะมีความรู้ดีๆฟรีๆมากมายผ่านทางหน้าจอ แต่ความรู้ที่เจาะลึกด้วยเนื้อหาอันเข้มข้น พร้อมอ้างอิงถึงแหล่งที่มา หนังสือนี่แหละของแท้ของจริงเป็นสิ่งไม่ตาย"
โปรดติดตามตอนต่อไป
"มดดี้"

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา