9 พ.ค. 2021 เวลา 02:50 • หุ้น & เศรษฐกิจ
สหรัฐอเมริกา ทำ QE อย่างหนัก แต่ทำไมเงินไม่เฟ้อ ในปีที่ผ่านมา
1
Quantitative Easing หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า QE
เป็นเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญ ที่ธนาคารกลางทั่วโลกหยิบมาใช้
อธิบาย QE แบบง่าย ๆ ก็คือ การอัดฉีดเงินเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ระบบเศรษฐกิจ
2
โดยหลักการแล้ว การเพิ่มปริมาณเงินเข้าสู่ระบบจำนวนมาก
สิ่งที่มักจะตามมาก็คือ การเกิด “ภาวะเงินเฟ้อ”
ที่น่าสนใจคือ ในปีที่ผ่านมาธนาคารกลางสหรัฐ หรือ FED (Federal Reserve)
ได้ทำ QE อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบการเงินจำนวนมหาศาล
แต่รู้ไหมว่า.. อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกาในปี 2020 ที่ผ่านมา กลับลดลง
ทำไมเรื่องนี้ ถึงสวนทางความเข้าใจของหลายคน ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด 19
ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ FED ได้อัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินด้วยการซื้อพันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้รัฐบาลท้องถิ่น และตราสารหนี้เอกชน เพื่อให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมีสภาพคล่อง มีเงินไปกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และอัดเข้าสู่ระบบต่อไป
ซึ่งกระบวนการที่กล่าวมานี้คือ สิ่งที่เราเรียกกันสั้น ๆ ว่า QE
1
เราลองมาดูจำนวนเงินที่ FED ใช้สำหรับมาตรการ QE ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
- ปี 2019 จำนวนเงินที่ใช้สำหรับมาตรการ QE เท่ากับ 131 ล้านล้านบาท
- ปี 2020 จำนวนเงินที่ใช้สำหรับมาตรการ QE เท่ากับ 228 ล้านล้านบาท
1
โดยปีที่ผ่านมา ปริมาณเงินที่ FED อัดฉีดเข้าสู่ตลาดการเงินนั้นมีมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่า 97 ล้านล้านบาท ซึ่งมูลค่านี้มากพอ ๆ กับ GDP ของสหราชอาณาจักร
โดยเป้าหมายของ FED ก็เพื่อที่จะเพิ่มปริมาณเงินในมือของภาครัฐและภาคเอกชน จนส่งผลให้เกิดการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ การเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลของ FED นั้น ยังเป็นการกดให้ Yield หรือผลตอบแทนของพันธบัตรลดต่ำลงมา ซึ่งจะส่งผลไปยังดอกเบี้ยในตลาดการกู้ยืมให้ลดลง จนเกิดแรงจูงใจให้ภาคเอกชนมากู้ยืมเงินไปลงทุนและจ้างงานในระบบเศรษฐกิจต่อไป
4
อย่างไรก็ตาม ความกังวลที่มาพร้อมกับการใช้มาตรการ QE
ก็คือ อัตราเงินเฟ้อ ที่อาจเพิ่มสูงขึ้น จากปริมาณเงินที่ถูกอัดฉีดเข้าสู่ระบบอย่างมหาศาล
1
แล้วที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกา ปรับเพิ่มขึ้นไหม ?
2
- สิ้นปี 2019 อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกา 1.81%
- สิ้นปี 2020 อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกา 1.25%
3
เห็นแบบนี้หลายคนอาจจะแปลกใจว่า ทำไมผลที่ออกมาไม่ตรงตามทฤษฎี
ทำไม FED อัดฉีดเข้าสู่ตลาดการเงินจำนวนมาก
แต่อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกากลับลดลง ในช่วงปี 2020 ที่ผ่านมา
 
ที่เป็นแบบนี้ ปัจจัยสำคัญก็คือ “ความเปราะบางทางเศรษฐกิจ”
โดยตัวเลขที่ชี้ให้เห็นเรื่องนี้ได้ดี ก็อย่างเช่น อัตราการว่างงาน
7
Cr. PennLive.com
หลังการระบาดหนักของโควิด 19 ในสหรัฐอเมริกา
อัตราการว่างงานในสหรัฐอเมริกา เคยขึ้นไปแตะระดับสูงสุดที่ 14.7% ในเดือนพฤษภาคม ปีที่ผ่านมา
ซึ่งเป็นอัตราที่สูงสุด นับตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในช่วงปี 1930
1
อัตราการว่างงานที่สูง ทำให้กำลังซื้อของชาวอเมริกันลดลงอย่างมาก
อีกประเด็นคือ ความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ชาวอเมริกันเอาเงินไปฝากธนาคารมากขึ้น เพื่อเก็บเงินสดไว้ใช้ แม้แทบจะไม่ได้ดอกเบี้ยเลยก็ตาม
ซึ่งเรื่องนี้ สะท้อนได้จาก การเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ของสหรัฐอเมริกา
โดยในช่วงมีนาคมถึงพฤษภาคม 2020 เงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ของสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นกว่า 62 ล้านล้านบาท
6
เมื่อคนเก็บเงินมากขึ้น รวมถึงคนที่มีกำลังซื้อลดลงจากการไม่มีงานทำ
ก็ย่อมหมายถึงการใช้จ่ายในประเทศที่ลดลง
1
พอคนใช้จ่ายลดลง ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในภาพรวม ก็ลดลงตามไปด้วย
จึงเป็นที่มาให้ อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกาในช่วงปี 2020 ลดลงนั่นเอง
2
ซึ่งตัวชี้วัดหนึ่งของเรื่องนี้ก็คือ “Output Gap”
Output Gap คือส่วนต่างระหว่างมูลค่า GDP ที่เกิดขึ้นจริง เทียบกับ ค่าคาดการณ์ หรือมูลค่าที่ควรจะเป็น ของ GDP ในช่วงเวลานั้น ๆ
1
- ถ้าค่า Output Gap เป็นบวก หมายความว่า มูลค่า GDP ที่เกิดขึ้นจริงในช่วงนั้น ดีกว่า ศักยภาพที่ควรเป็น
1
- ถ้าค่า Output Gap เป็นลบ หมายความว่า มูลค่า GDP ที่เกิดขึ้นจริงในช่วงนั้น แย่กว่า ศักยภาพที่ควรเป็น
3
ซึ่งถ้าลองมาดู Output Gap ของสหรัฐอเมริกาในปี 2020
- ไตรมาส 1/2020 Output Gap -0.55%
- ไตรมาส 2/2020 Output Gap -9.90%
- ไตรมาส 3/2020 Output Gap -3.48%
- ไตรมาส 4/2020 Output Gap -2.77%
จะเห็นว่าทั้ง 4 ไตรมาสในปี 2020 เปอร์เซ็นต์ Output Gap ของสหรัฐอเมริกา ติดลบต่อเนื่อง
หมายความว่า เศรษฐกิจของประเทศ ยังไม่ฟื้นตัวมาอยู่ในระดับที่ควรจะเป็น
ซึ่งมันก็สะท้อนได้ถึง การจ้างงานและการจับจ่ายของภาคเอกชน ที่ยังไม่ฟื้นตัวดี ซึ่งนี่ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ยังกดดันอัตราเงินเฟ้อให้ไม่สูงขึ้นด้วยนั่นเอง
6
Cr. The Denver Post
สรุปแล้ว ที่สหรัฐอเมริกาทำการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบมหาศาล แต่เงินยังไม่เฟ้อนั้น
ปัจจัยสำคัญเพราะ เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกายังคงเปราะบาง
การจ้างงานในประเทศในปีที่ผ่านมายังไม่ฟื้นตัวกลับมาเหมือนเดิม
1
และแม้ภาครัฐจะพยายามอัดฉีดเงินช่วยเหลือ และกระตุ้นให้คนเอาเงินออกมาใช้ แต่คนในประเทศจำนวนมาก ก็ยังคงเลือกเก็บเงินสดจำนวนมากเอาไว้เผื่อยามจำเป็น
1
กำลังซื้อที่ยังไม่ค่อยฟื้นตัว บวกกับคนไม่ค่อยกล้าเอาเงินออกมาใช้
ก็เลยทำให้อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกาในช่วงปลายปี 2020 ยังไม่ได้สูงขึ้น
แม้ธนาคารกลางจะอัดเงินเข้าระบบอย่างหนัก นั่นเอง
อย่างไรก็ตามมีหลายคนคาดการณ์ว่า ในปี 2021 เป็นต้นไป เงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกาจะค่อย ๆ ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว จากการที่ประชากรได้ฉีดวัคซีนกัน และสามารถควบคุมโรคระบาดได้แล้ว..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
แม้ว่า การทำ QE ของ FED จะไม่ได้ทำให้อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกาปรับตัวขึ้นมาก
แต่สภาพคล่องในส่วนนี้ กลับไหลไปทำให้ราคาสินทรัพย์การเงินหลายตัว ปรับตัวขึ้นอย่างมาก จนนำไปสู่ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “Asset Price Inflation”
 
References:
2
โฆษณา