8 พ.ค. 2021 เวลา 05:05 • ท่องเที่ยว
วัดไชยวัฒนาราม อยุธยา
วัดไชยวัฒนาราม ... ตั้งอยู่ปลายเขตทุ่งประเชต ที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามกับพระตำหนักสิริยาลัย
ตามพงศาวดารกล่าวว่าสร้างขึ้นในศักราช 992 ปีมะเมียศก พ.ศ. 2173 ในรัชสมัยของประเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. 2173 - 2198) กษัตริย์องค์ที่ 24 ของกรุงศรีอยุธยา ณ บริเวณบ้านเดิมของพระราชมารดา ..
สันนิษฐานว่าพระเจ้าปราสาททองสร้างวัดนี้เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแก่พระราชชนนี ตามโบราณราช ด้วยมีลักษณะสถาปัตยกรรมและแผนผังตามคติการสร้างพระเมรุมาศไม้เพื่อการถวายพระเพลิงศพ ผสมผสานกับคติการสร้างพระอาราม
วัดไชยวัฒนาราม .. เป็นวัดที่มีแผนผังจำลองภาพจักรวาลตามความเชื่อโบราณ เหมือนกับจะเป็นการสื่อว่า สมเด็จพระเจ้าปราสาททองคือกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่.. เป็นผู้สร้างจักรวาล
จักรวาล .. ความเชื่อในอดีต .. จักรวาล ตามความเชื่อของศาสนาพุทธ ประกอบไปด้วยสิ่งต่างๆมากมาย ล้อมรอบไว้ด้วยภูเขา จักรวาล แกนกลางของจักวาลคือภูเขาที่มีขนาดสูงใหญ่ที่สุด ชื่อว่า ‘เขาพระสุเมรุ’ บนยอดเป็นสวรรค์ชั้นดาวน์ดึง เป็นสถานที่ตั้งของสิ่งศักดิ์สิทธิ์หลายอย่าง เช่น พระเจดีย์จุฬามณี ซึ่งประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วและพระเกศาของพระพุทธเจ้า และยังเป็นสวรรค์ชั้นที่ประทับของพระอินทร์ ผู้ปกครองดูแลจักรวาล
รอบเขาพระสุเมรุ มี “นทีสีทันดร” หรือแม่น้ำ 7 สาย และ “สัตตบริภัณฑ์” หรือภูเขา 7 ลูก ล้อมสลับกัน 7 ชั้น ถัดออกไปที่ทิศทั้ง 4 มีทวีปใหญ่ๆตั้งอยู่ .. “ชมภูทวีป” ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ คือที่อยู่ของมนุษย์
วัดไชยวัฒนาราม ... ได้จำลองภาพจักรวาล ด้วยการออกแบบให้พระปรางค์ประธานเป็นเขาพระสุเมรุ ปรางค์เล็กๆ 4 องค์ อาจเป็นเขาสัตตบริภัณฑ์ หรือทวีปทั้งสี่ และระเบียงคดก็คือภูเขาจักรวาล
ความสวยงามของวัดนี้อยู่ที่ปรางค์ศรีรัตนมหาธาตุ ซึ่งเป็นปรางประธานของวัด สูง 35 เมตร ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจตุรัส และที่มุมฐานมีปรางค์ทิศประจำทั้งสี่มุม ที่แปลกไปคือ มีการนำเอาศิลปะเขมรมาใช้ออกแบบด้วย เพราะในยุคนั้นได้เขมรมาอยู่ใต้อำนาจการปกครอง
ส่วนบนของปรางค์ประธาน อาจจะเคยประดิษฐานพระเจดีย์ขนาดเล็กบรรจุพระบรมธาตุไว้ภายใน สื่อแทนพระเจดีย์จุฬามณีบนยอดเขาพระสุเมรุ .. ปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดเล็ก ให้ผู้คนที่มาเยือนได้กราบไหว้
ระเบียงวิหารล้อม (ระเบียงคด) และอาคารก่อสร้างตรงกลางระเบียงและตรงมุม (ปราสาททิศ) นั้น มีลักษณะเดียวกันกับคติจักรวาทิน ทั้ง 8 ทิศ คล้ายคลึงกับการจัดวางผังของปราสาทนครวัด เดิมสันนิษฐานว่ามีหลังคาคลุม ภายในระเบียงประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย รวมทั้งสิ้น 120 องค์ เป็นเสมือนกำแพงกั้นเขตศักดิ์สิทธิ์เอาไว้ ..
พระพุทธรูปทุกองค์ปราศจากเศียร เรียงรายอยู่รอบๆระเบียงคด .. ยังคงมีพุทธลักษณะที่งดงาม ชวนให้คิดว่า หากพระพุทธรูปอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ จะสวยงาม มลังเมลืองสักแค่ไหน .. แต่ในขณะที่เรามองไปในวันนั้น ความเศร้าใจแล่นเข้ามาในความรู้สึกมากมาย
พระอุโบสถอยู่ด้านหน้า ด้านทิศตะวันออกนอกระเบียงคด ใบเสมาของพระอุโบสถทำจากหินสีค่อนข้างเขียว จำหลักเป็นลายประจำยาม และลายก้านขด .. ปัจจุบัน พระอุโบสถพังทลายลงมาหมดแล้ว เหลือเพียงฐาน
ด้านบนพระอุโบสถมีพระพุทธรูป 2 องค์ ที่ถึงแม้จะยังมีพระเศียร .. แต่ก็มีร่องรอยของการชำรุด ทรุดโทรมอย่างเห็นได้ชัด ..
ด้านหน้าพระอุโบสถมีเจดีย์ 2 องค์ กว้าง 12 เมตร สูง 12 เมตร เป็นเจดีย์คู่ .. เชื่อกันว่าอาจเป็นเจดีย์ที่บรรจุอัฐิ หรือถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระราชชนกและพระราชนนีของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
เมรุทิศเมรุราย .. ตั้งล้อมรอบพระปรางค์ หรือปราสาทประธาน มีทั้งสิ้น 8 หลัง นับเป็นปราสาทบริวารในคติเขาพระสุเมรุ ลักษณะภายนอกเป็นปราสาทยอดหลดหลั่น ที่เรียงขึ้นไป 6 ชั้น ยอดบนสุดทำเป็นเรือนธาตุทรงปรางค์ รวมทั้งหมดเป็น 7 ชั้น
ภายในพระเมรุทิศเมรุราย เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่อง 12 องค์ ทุกองค์ประดับด้วยปูนปั้นเป็นรูปเครื่องทรงอย่างกษัตริย์ อาจสื่อถึงพระพุทธเจ้าจำนวนมากมาย หรืออาจหมายถึงความเป็นพุทธราชาของพระมหากษัตริย์ที่แผ่ไปทั่วจักรวาล ..
ภายในซุ้มเรือนแก้วล้วนลงรักปิดทอง ที่ฝ้าเพดานทำด้วยไม้ประดับลวดลายลงรักปิดทองเช่นกัน รวมถึงมีจิตรกรรมรูปใบไม้ลายกนก แต่ปัจจุบันลบเลือนไปมากแล้ว ...
นักโบราณคดี อธิบายว่า เท่าที่ผ่านมายังไม่เคยพบอาคารก่ออิฐที่มีลักษณะเช่นนี้มาก่อน ที่สำคัญคืออาคารที่เรียกว่า “เมรุทิศเมรุราย” นี้ มีลักษณะเหมือนพระเมรุมาศไม้ ที่ใช้ในการถวายพระเพลิงพระศพเจ้านาย เลยชวนให้คิดว่า สมเด็จพระเจ้าปราสาททองคงสร้างอาคารเช่นนี้ เพื่อระลึกถึงพระราชชนนีที่สิ้นพระชนม์ไปก่อนที่พระองค์จะขึ้นครองราชย์ได้ไม่นาน ประหนึ่งว่าทรงสร้างพระเมรุมาศถวายอย่างสมพระเกียรติ
ผนังด้านนอกของเมรุทิศเมรุราย มีภาพปูนปั้นที่อาจจะแนวคิดเลียนแบบภาพสลักนูนน้ำผนังด้วนในของปราสาทมณฑปทิศของปราสาทนครวัด ที่มีภาพสลักในเรื่องราวต่าง ๆ ตามคติศาสนาฮินดู .. เพียงแต่ที่นี่อยู่ด้านนอกคูหา
ภาพปูนปั้นบนผนังด้านนอกของเมรุทิศเมรุราย ... เป็นเรื่องราวของพุทธประวัติตอนสำคัญอันเป็นมหามงคลในคติเถรวาท ที่ถูกเลือกมา 12 ตอน โดยเมรุประจำแต่ละทิศจะมีภาพปูนปั้นองค์ละ 1 ภาพ เมรุตรงมุมระเบียงมีภาพปูนปั้น 2 ภาพใน 2 มุม ลักษณะการวางภาพปูนปั้นบนผนังแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนบน ส่วนกลางและส่วนล่าง ซึ่งจะเป็นเรื่องราวพุทธประวัติตอนเดียวกัน โดยปั้นเส้นลวดแบบหยักและเส้นสินเทาตามแบบภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นเส้นแบ่ง
ภาพปูนปั้นเริ่มตั้งต้นจากเมรุทิศตะวันออกติดกับพระอุโบสถ ซึ่งถือเป็นด้านหน้าสุด แล้วไล่เรื่องไปตามการเดินทักษิณาวรรตลงไปทางทิศใต้
เริ่มจากภาพปูนปั้นผนังแรก เป็นพุทธประวัติตอน “เหล่าเทวดาอัญเชิญพระโพธิสัตว์ “สันดุสิตเทวราชโพธิสัตว์” บนสวรรค์ชั้นดุสิตเพื่อลงมาประสูติเป็นพระพุทธเจ้า” งานปูนปั้นชำรุดไปจนเกือบหมด คงเหลือเพียงร่องรอยเป็นภาพต้นไม้ ปราสาทขนาดใหญ่ในส่วนล่าง ส่วนกลางภาพบุคคลแสดงอัญชลี ภาพฉัตร ภายส่วนบน เป็นบุคคลใกล้กึ่งกลางมี 4 แขนที่หมายถึงพระพรหมและพระอินทร์ บนสุดเป็นรูปเทพยดาที่มีรัศมีมาร่วมชุมนุมสาธุการ ในท่ามกลางดอกไม้สวรรค์ “มณฑารพ” ที่โปรยลงมา
ภาพปูนปั้นผนังที่ 2 ฝั่งทิศตะวันออกของเมรุมุมตะวันออกเฉียงใต้ เป็นพุทธประวัติตอน “พระราชพิธีอภิเษกสมรสของพระเจ้าสุทโธทนะกับพระนางสิริมหามายา” ปูนปั้นฝั่งนี้กะเทาะหายไปเช่นเดียวกัน ปรากฏร่องรอยของภาพบุคคลนั่งเรียงแถวอยู่ทั้งสามชั้น ชั้นบนสุดเป็นรูปปราสาทยอดแหลม
ภาพปูนปั้น ผนังที่ 3 ฝั่งทิศใต้ของเมรุมุมตะวันออกเฉียงใต้ รูปปูนปั้นหลุดหายไปจนเกือบหมด เหลือเป็นรูปของใบไม้ ต้นไม้ สันนิษฐานตามขนบแบบแผนการวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังที่พบในยุคสมัยเดียวกัน ภาพนี้จึงควรเป็นภาพพุทธประวัติตอนประสูติ ณ ป่าลุมพินีวัน ครับ
ภาพปูนปั้นผนังที่ 4 เมรุทิศใต้ เป็นภาพพุทธประวัติ ตอน “ตัดสินพระทัยเสด็จออกบรรพชา” ปูนปั้นที่เหลืออยู่แสดงให้เห็นเพียงภาพของปราสาทด้านล่าง หัวช้าง และภาพบุคคลนั่งในอาคารในส่วนกลางเท่านั้น
ภาพปูนปั้นผนังที่ 5 ผนังฝั่งทิศใต้ของเมรุมุมตะวันตกเฉียงใต้ เป็นภาพพุทธประวัติตอน “เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์” ถึงภาพปูนปั้นที่ผนังฝั่งนี้จะหายไปจนเกือบหมด แต่ภาพบุคคลเหาะเหินต่อเนื่อง ก็เป็นภาพในขนบแบบแผนสำคัญทางศิลปะของพุทธประวัติตอนนี้โดยตรงครับ
ภาพปูนปั้นผนังที่ 6 ฝั่งตะวันตกของเมรุมุมตะวันตกเฉียงใต้ เหลือเพียงปูนปั้นเป็นภาพของป่าและบัลลังก์ ซึ่งสันนิษฐาน ตามเนื้อเรื่องที่เรียงต่อกันมาตามขนบภาพจิตรกรรมฝาผนังในยุคเดียวกัน ควรจะเป็นพุทธประวัติตอน “เจ้าชายสิทธัตถะทรงตัดพระเมาฬี และ บำเพ็ญทุกรกิริยา”
ภาพปูนปั้นผนังที่ 7 เมรุทิศตะวันตก เหลือปูนปั้นเป็นเพียงเส้นลวดคั่นภาพ สันนิษฐานไปตามขนบการดำเนินเรื่องพุทธประวัติตามภาพจิตรกรรมว่าเป็นตอน “นางสุชาดาเตรียมถวายข้าวมธุปายาส”
ภาพปูนปั้นผนังที่ 8 ผนังฝั่งทิศตะวันตกของเมรุมุมตะวันตกเฉียงเหนือ ไม่ปรากฏภาพปูนปั้นใด ๆ เหลืออยู่เลย สันนิษฐานว่าเป็นพุทธประวัติตอน “มารผจญ” ตามเนื้อเรื่องที่เรียงต่อกันมาตามขนบภาพจิตรกรรมฝาผนัง ครับ
ปูนปั้นผนังที่ 9 ผนังฝั่งทิศเหนือของเมรุมุมตะวันตกเฉียงเหนือ ก็ไม่ปรากฏภาพปูนปั้นใด ๆ เหลืออยู่เลยเช่นกันครับ สันนิษฐานว่าเป็นภาพพุทธประวัติตอน “ปฐมเทศนา”
ปูนปั้นผนังที่ 10 ผนังเมรุทิศเหนือ เป็นภาพพุทธประวัติตอน “ยมกปาฏิหาริย์” ปูนปั้นที่เหลืออยู่แสดงเป็นภาพของป่าไม้และสัตว์ป่าในส่วนล่าง ภาพส่วนกลางแสดงภาพบุคคลนั่งพนมมือหลายแถว ส่วนของฐานบัลลังก์และเปลวรัศมี เป็นภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่บนฐานมีเปลวรัศมีโดยรอบ
ปูนปั้นผนังที่ 11 ฝั่งทิศเหนือของเมรุมุมตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นภาพพุทธประวัติตอน “เสด็จโปรดพระเจ้าสุทโธทนะ พระประยูรญาติพระนางพิมพาและพระโอรส ที่กรุงกบิลพัสดุ์” ปูนปั้นผนังนี้ ยังเหลือให้เห็นอยู่มากก็จริง แต่ส่วนล่างเหลือเพียงแค่รูปต้นไม้ ภาพบุคคลและรูปโค้งคล้ายร่ม ที่หมายถึงขบวนของคณะทูต 10 คณะที่เดินทางไปทูลอาราธนาอัญเชิญพระพุทธเจ้ากลับวัง ส่วนกลางเป็นภาพของเหล่าพระญาติพระวงศ์แสดงอัญชลีเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ส่วนบนเป็นภาพพระพุทธเจ้าในปราสาท 7 ชั้น ยอดปรางค์ แบบเดียวกับสถาปัตยกรรมของพระเมรุ (ปราสาททิศ) ในมุขปีกของปราสาทเป็นภาพบุคคลชายหญิง 2 ข้าง เหนือหลังคามุขประดับด้วยฉัตรที่แสดงความเป็นบุคคลสำคัญ
ปูนปั้นผนังที่ 12 ผนังฝั่งทิศตะวันออกของเมรุมุมตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นภาพพุทธประวัติตอน “เสด็จลงจากดาวดึงส์” ภาพปูนปั้นส่วนล่าง เป็นภาพภาพบุคคลจำนวนมากรอรับเสด็จในวันเทโวโรหนะ ส่วนกลางเป็นภาพพระพุทธเจ้าที่มีพวยรัศมีแบบเปลวเพลิงอยู่โดยรอบกำลังเสด็จลงมาจากสวรรค์ แวดล้อมด้วยพระพรหม ( 4 พักตร์) และเหล่าเทพยดาเหาะเกินตามเสด็จลงมาจำนวนมาก
ส่วนบนสุด ถึงจะไม่เหลือปูนปั้นอยู่แล้ว แต่ก็ปรากฏรอยแตกที่แสดงให้เห็นว่าเป็นภาพบุคคลนั่งอยู่ทางฝั่งซ้าย เป็นภาพตอนที่พระพุทธเจ้ากำลังแสดงเทศนาโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
Ref : EJeab Academy
เราไม่ได้เดินรอบเป็นวงกลม จึงถ่ายภาพมาเพียงบางชิ้นงาน ..
ตามพงศาวดารกล่าวว่า .. เมื่อปี พ.ศ. 2310 พม่าล้อมกรุงศรีอยุธยา วัดไชยวัฒนาราม ถูกดัดแปลงเป็นค่ายรบ หลังจากนั้นก็ถูกทิ้งร้าง
มีคนร้ายขโมยเศียรพระ ลักลอบขุดหาสมบัติ และขนอิฐไปขาย
ความสำคัญทางประวัติศาสตร์อีกอย่างหนึ่งก็คือ วัดนี้เป็นที่ฝังพระศพกวีเอกแห่งกรุงศรีอยุธยา ผู้ซึ่งเชี่ยวชาญการประพันธ์บทร้อยกรอง ผลงานของพระองค์ยังคงเป็นที่รู้จักจนถึงปัจจุบัน .. เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศน์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) และเจ้าฟ้าสังวาลย์
เชื่อกันว่า .. ภายหลังได้มีการนำพระศพขึ้นมาถวายพระเพลิง แล้วนำพระอัฐิบรรจุลงในพระเจดีย์ทรงระฆัง ด้านข้างของระเบียงคด .. อย่างไรก็ตามประเด็นนี้ยังไม่มีการสรุปที่แน่ชัด
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาที่วัดนี้ถึง 4 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2534 ล้นเกล้าฯทั้งสองพระองค์ได้สนพระทัยเป็นพิเศษ พร้อมมีรับสั่งให้บูรณะปฏิสังขรณ์ ทำให้หน่วยงานหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมแรง ร่วมใจกันพัฒนา จนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระชนม์มายุ 60 พรรษา ของ สมเด็จพระนางเจ้าฯสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ปี พ.ศ. 2535
เราอยู่ที่วัดไชยวัฒนารามจนเวลาล่วงเข้ายามเย็น .. ฉันนั่งมองพระพักตร์พระพุทธรูปยามตะวันกำลังจะกล่าวลาโลก และมวลหมู่สรรพสัตว์น้อยใหญ่ ..
เส้นแสงสีส้มทองอมชมพู สาดส่อง ..พาดผ่านองค์ปรางค์ประธานและพระปฏิมา .. สิ่งต่างๆรอบๆตัวดูสงบ สร้างความสุข ให้ก่อเกิดภายในดวงใจอย่างน่าอัศจรรย์ .. เหมือนจะสอนใจดวงน้อย ให้ตระหนักว่า .. เราทุกคนต่างเดินออกมาจากกล่องแคบๆ มายืนอยู่ใต้ขอบฟ้าที่กว้าง ที่มีทั้งดวงจันทร์ ดวงดาว ..
ธรรมชาติที่เตือนให้เราสำนึกว่า ตัวเรานั้นเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตเล็กๆที่ดำรงอยู่ในโลกที่กว้างใหญ่นี้ .. อย่าไปหลงไหลได้ปลื้ม หรือยึดติดกับรางวัล วัตถุ หรือผู้คนให้มากจนเกินพอดี …
ขอบคุณ .. ข้อความบางส่วนจากหนังสือ อยุธยา
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปกับ พี่สุ
ท่องเที่ยวทั่วโลก กับพี่สุ
ซีรีย์เที่ยวเจาะลึก ประเทศนอร์เวย์
Iceland ดินแดนแห่งน้ำแข็งและเปลวไฟ
Lifestyle & อาหารการกิน แบบพี่สุ
สถานีความสุข by Supawan
โฆษณา