8 พ.ค. 2021 เวลา 22:55 • ท่องเที่ยว
หลายวัดสวยในประวัติศาสตร์อยุธยา
วัดหัสดาวาส
วัดหัสดาวาส .. เป็นวัดที่มีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์เช่นเดียวกับวัดหน้าพระเมรุ ในฐานะที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงใช้เป็นสถานที่เจรจาสงบศึกกับพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองเมื่อ พ.ศ. 2092
หลังจากนั้นมีเรื่องราวปรากฏในพงศาวดารอีกว่า ใน พ.ศ. 2303 ทัพพม่าที่เข้ามาล้อมกรุงศรีอยุธยาได้ตั้งปืนใหญ่ยิงพระราชวังที่วัดพระเมรุราชิการาม และวัดท่าช้าง วัดท่าช้างที่กล่าวถึงนี้ คงจะได้แก่ วัดหัสดาวาสนั่นเอง เพราะเป็นวัดที่ตั้งอยู่ในบริเวณต่อเนื่องกับวัดหน้าพระเมรุ และยังมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วัดช้าง
ไม่มีหลักฐานระบุว่าวัดนี้สร้างขึ้นแต่เมื่อใด หากยึดถือเหตุการณ์ตามพระราชพงศาวดาร ซึ่งกล่าวชื่อวัดนี้มาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ก็อาจกล่าวได้ว่า คงจะมีมาแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น ก่อนรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ หรือรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเป็นอย่างช้า
สภาพของวัดในปัจจุบันคงเหลือสิ่งก่อสร้างที่ยังคงสภาพอยู่น้อย ในจำนวนนั้นมีเจดีย์ 1 องค์ ซึ่งอาจกำหนดอายุให้อยู่ในสมัยอยุธยาตอนต้นยุคที่ 2 นับแต่รัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถลงมา นับว่าค่อนข้างจะสอดคล้องกันกับหลักฐานการกล่าวถึงในพระราชพงศาวดาร
วัดหัสดาวาสคงจะร้างมาตั้งแต่คราวเสียกรุง และสภาพคงจะเสียหายมากจนยากที่จะทำการบูรณปฏิสังขรณ์ เพราะมิฉะนั้นเมื่อพระยาไชยวิชิต (เผือก) ผู้รักษาพระนครศรีอยุธยาในรัชกาลที่ 3 มาทำการปฏิสังขรณ์วัดหน้าพระเมรุซึ่งตั้งอยู่ติดกัน ก็น่าจะได้สงเคราะห์ทำการปฏิสังขรณ์วัดนี้เสียด้วยแล้ว
แต่กระนั้น เมื่อเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรทำการสำรวจทำผังวัดนี้เมื่อ พ.ศ. 2500 วัดนี้ก็ยังมีซากปรักหักพังของเจดีย์ขนาดเล็ก นอกเหนือเจดีย์ที่ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นเจดีย์ขนาดใหญ่อีก 4 องค์ (รวมเป็นเจดีย์ 6 องค์) และซากมณฑปอีก 2 องค์
Ref : Wikipedia
พระพุทธไสยาสน์โลกยสุธา
วัดโลกยสุธาราม สันนิษฐานว่าได้สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง ในรัชสมัยสมเด็จพระนครินทราธิราช พระราชบิดาเจ้าสามพระยา ราว พ.ศ. 1995
วัดนี้มีพระพุทธไสยาสน์ ปางไสยาสน์ ที่ใหญ่ที่สุดในเกาะเมืองอยุธยา ประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง ก่ออิฐถือปูน มีความยาว 42 เมตร และสูง 8 เมตร
พระเศียรหันไปทางทิศเหนือ พระพักตร์หันไปทางทิศตะวันตก พระบาทหันไปทางทิศใต้ ด้านหลังเป็นทิศตะวันออก ที่พระเศียรมีดอกบัวรองรับ พระบาทซ้อนกันเป็นมุมฉาก นิ้วพระบาทยาวเท่ากัน มีดอกบัวเกยซ้อนรองรับพระเศียรแทนพระเขนย
สันนิษฐานว่าแต่เดิมเป็นพระพุทธรูปไม่ทรงเครื่อง แต่การบูรณะใน พ.ศ. 2499 คงมีการแก้พระเศียรเป็นอย่างพระพุทธรูปทรงเครื่อง รอบองค์พระมีเสาอิฐ 8 เหลี่ยม รวม 24 ต้น ซึ่งแต่เดิมคงจะมีการสร้างวิหารครอบพระพุทธไสยาสน์ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้พังทลายลงเมื่อใด
พระพุทธไสยาสน์องค์นี้ได้รับการขุดแต่งโดยโรงงานสุรา ร่วมกับกรมศิลปากร เมื่อปี พ.ศ. 2497 และต่อมาในปี พ.ศ. 2532 คุณหญิงระเบียบ ธำรงนาวาสวัสดิ์ และครอบครัว ได้บูรณะพระพุทธไสยาสน์เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ นาย ธำรง และ พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี
Ref : Wikipedia
วัดวรเชษฐาราม .. อนุสรณ์ถวายแด่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
วัดวรเชษฐาราม (ร้าง) นอกเกาะ ตำบลบ้านป้อม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สันนิษฐานว่าเจดีย์ของวัดวรเชษฐ์เป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่ง สมเด็จพระเอกาทศรถ สร้างเป็นอนุสรณ์แด่พี่ชายผู้ประเสริฐ เดิมวัดนี้ชื่อ วัดเจ้าเชษฐ์
วัดวรเชษฐารามได้รับการกล่าวถึงในคำให้การชาวกรุงเก่า ระบุว่า เคยเป็นที่ตั้งค่ายรอบกรุงค่ายหนึ่งของพม่าทางด้านทิศตะวันตกของตัวเมือง เรียกว่า "ค่ายวัดวรเชษฐ์ ค่ายบ้านป้อม" ซึ่งสอดคล้องกับร่องรอยของป้อมริมกำแพงวัด
วัดมีรูปบบสถาปัตยกรรม ราวสมัยอยุธยาตอนกลาง และได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยอยุธยาตอนปลายอีกครั้งหนึ่ง โดยมีการสร้างปรางค์เป็นประธานของวัดทางด้านทิศตะวันตก
หลังปรางค์ประธานเป็นที่ตั้งของพระอุโบสถ ส่วนพระวิหารตั้งอยู่เยื้องออกไปทางด้านทิศใต้ของเจดีย์ประธาน ทางด้านทิศเหนือขององค์ปรางค์ประธานมีเจดีย์รายทรงปราสาท ซึ่งมีลวดลายปูนปั้นประดับองค์ปรางค์ มีศิลปะเกี่ยวเนื่องกับลายพันธุ์พฤกษาในศิลปะล้านนาซึ่งแพร่หลายมากในศิลปะสมัยอยุธยาตอนกลาง
Ref : Wikipedia
วัดวรโพธิ์
วัดวรโพธิ์ จ.พระนครศรีอยุธยาเดิมชื่อ วัดระฆัง เป็นวัดสำคัญมาแต่อดีตโดยเป็นวัดที่ประทับของพระสังฆราชในสมัยอยุธยา ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างที่แน่ชัด
แต่มีชื่อวัดปรากฏในพงศาวดารว่า พระศรีศิลป์ (ภายหลังได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็น พระเจ้าทรงธรรม) ได้ผนวชที่วัดแห่งนี้ โดยได้สมณศักดิ์เป็น พระพิมลธรรมอนันตปรีชา
ต่อมาในสมัย พระเจ้าบรมโกศ ได้มีการปลูกต้นโพธิ์ ซึ่งได้จากเกาะลังกา คราวที่คณะสงฆ์ได้เดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา และได้เปลี่ยนชื่อวัดเป็น วัดวรโพธิ์ นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ปรางค์ประธานที่ส่วนยอดพังทลายหายไปหมด คงเหลือมองเห็นแค่ฐานมณฑปพระพุทธบาท ซึ่งเป็นฐานย่อมุมไม้สามสิบหก มองไกลๆดูคล้ายกับพีรามิดของชาวมายา
เจดีทรงป้อมๆขนาดย่อมหลังวิหารใหญ่ คล้ายแบบพม่า
ป้อมเพชร
ป้อมเพชร .. ตั้งอยู่ที่ถนนอู่ทอง ตำบลหอรัตนไชย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่ใกล้กับ วัดสุวรรณดาราราม และตรงข้ามกับวัดพนัญเชิง
ป้อมเพชร .. เป็นป้อมปราการป้อมเดียวที่ยังเหลืออยู่จากเดิมที่มีอยู่ 29 ป้อม รูปทรงป้อมแบบหกเหลี่ยม ผนังก่อด้วยอิฐสลับด้วยศิลาแลง
กำแพงของป้อม มีช่องเชิงเทินก่อเป็นรูปโค้งซึ่งเป็นที่ตั้งของปืนใหญ่ประจำป้อม สร้างในสมัย พระมหาจักรพรรดิ์ (กษัตริย์องค์ที่15) เพื่อป้องกันข้าศึกที่จะมาทางน้ำ
บริเวณนี้เป็นที่บรรจบระหว่างแม่น้ำป่าสักและแม่น้ำเจ้าพระยา และเป็นท่าเรือสินค้าที่สำคัญในอดีต รวมทั้งเป็นย่านที่พักอาศัยของพ่อค้าชาวจีน ฮอลันดาและฝรั่งเศส
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปกับ พี่สุ
ท่องเที่ยวทั่วโลก กับพี่สุ
ซีรีย์เที่ยวเจาะลึก ประเทศนอร์เวย์
Iceland ดินแดนแห่งน้ำแข็งและเปลวไฟ
Lifestyle & อาหารการกิน แบบพี่สุ
สถานีความสุข by Supawan
โฆษณา