10 พ.ค. 2021 เวลา 10:45 • กีฬา
ด้วยการบริหารที่ผิดพลาด และมีรอยแผลหลายจุด ทำให้ "เชฟฟิลด์ เว้นสเดย์" ทีมของคนไทย ในแชมเปี้ยนชิพ ร่วงสู่ลีกวันอย่างน่าเสียดาย ทำไมทีมนกเค้าแมวถึงไม่สามารถยืนหยัดอยู่ได้ วิเคราะห์บอลจริงจังจะเล่าให้ฟัง
2
เชฟฟิลด์ เว้นสเดย์ สโมสรฟุตบอลในอังกฤษที่มีคนไทยเป็นเจ้าของ ตกชั้นจากแชมเปี้ยนชิพไปสู่ลีกวันอย่างเจ็บปวด ท่ามกลางความโกรธกริ้วของแฟนๆ ที่ไม่รู้ว่าทีมรักของตัวเองมาอยู่จุดนี้ได้อย่างไร
ก่อนอื่นต้องเล่าว่า เส้นทางของเชฟฟิลด์ เว้นสเดย์ กับ เลสเตอร์ ซิตี้ อีกทีมที่มีเจ้าของเป็นคนไทย มีความเชื่อมต่อกันบางอย่าง
2
ในปี 2009 มิลาน มันดาริช เจ้าของทีมเลสเตอร์ ซิตี้ ขายทีมให้วิชัย ศรีวัฒนประภา เจ้าของคิงเพาเวอร์ จากนั้นเมื่อได้เงินก้อนเรียบร้อยแล้ว ในปี 2010 มันดาริช เอาเงินไปซื้อเชฟฟิลด์ เว้นสเดย์ ทีมจากลีกวัน มาบริหารต่อ
2
มันดาริชพาเชฟฟิลด์ เว้นสเดย์เลื่อนชั้นมาแชมเปี้ยนชิพ จากนั้นก็ขายต่อให้ เดชพล จันศิริ ทายาทเจ้าของบริษัท ไทยยูเนียน โฟรเซ่น โปรดักต์ (TUF) โดยไทยยูเนียน เป็นบริษัทที่ร่ำรวยมหาศาล นี่คือผู้ผลิตทูน่ากระป๋องที่ใหญ่ที่สุดในโลก บริษัทมียอดขายในระดับแสนล้านบาท สินค้าที่เราน่าจะรู้จักกันดี ก็เช่นปลาเส้นฟิชโช่ หรือ ทูน่า Sealect เป็นต้น
7
ยอดขายที่ไทยก็ประมาณหนึ่ง แต่ที่ต่างประเทศ ไทยยูเนียน ดังกว่าเยอะมาก พวกเขาคือเจ้าของแบรนด์ดัง Chicken of the sea อาหารแช่แข็งยอดขายอันดับ 3 ในอเมริกา รวมถึงเป็นเจ้าของแบรนด์ John West อาหารแช่แข็งยอดขายอันดับ 1 ในอังกฤษ ดังนั้นขึ้นชื่อว่าเป็นทายาทตระกูลจันศิริ คุณย่อมต้องมีเงินอยู่แล้ว
3
ความสำเร็จของเลสเตอร์ ซิตี้ ที่เลื่อนชั้นได้สำเร็จในปี 2014 และพัฒนาทีมจนกลายมาเป็นสโมสรที่มูลค่ามหาศาล เป็นแรงดึงดูดให้เศรษฐีต่างชาติ แห่เข้ามาลงทุนในลีกแชมเปี้ยนชิพ ลองคิดดูว่าถ้าคุณปั้นทีมขึ้นไปเล่นพรีเมียร์ลีกได้ เงินทองจะไหลมาเทมาแค่ไหน
3
ดังนั้นในเดือนมกราคมปี 2015 เดชพล จึงจ่ายเงิน 37.5 ล้านปอนด์ ซื้อเชฟฟิลด์ เว้นสเดย์จากมิลาน มันดาริช เอามาบริหารเอง
1
"ผมเชื่อว่าสโมสรแห่งนี้มีศักยภาพมาก และอยากให้แฟนๆได้มั่นใจว่าผมจะทำงานหนักเต็มที่เพื่อนำความสำเร็จกลับมาสู่สโมสรให้ได้" เดชพลกล่าวในวันแรกที่การเทกโอเวอร์เสร็จสิ้น
1
เอาจริงๆเชฟฟิลด์ เว้นสเดย์ ก็ถือเป็นทีมที่มีฐานแฟนบอลหนาแน่น มีประวัติศาสตร์ยาวนาน เคยได้แชมป์ลีกสูงสุดมาแล้ว อดีตนักเตะดังๆหลายคน ก็เคยเล่นที่สโมสรแห่งนี้ อย่างเช่น เปาโล ดิ คานิโอ, เบนิโต้ คาร์บอเน่ หรือ เดวิด เฮิร์สต์ เป็นต้น
ความตั้งใจของเดชพล คือต้องการพาทีมเลื่อนชั้นสู่พรีเมียร์ลีกให้ได้เร็วที่สุด เป้าหมายของเขาคือภายใน 2 ปี
การประกาศว่าจะเลื่อนชั้นให้ได้ใน 2 ปี เป็นความมั่นใจที่น่าทึ่ง แต่ก็ตั้งคำถามให้คนในอังกฤษเหมือนกันว่า มันจะง่ายอย่างนั้นเลยหรือ ในซีซั่น 2014-15 ปีสุดท้ายของมิลาน มันดาริช ทีมยังจบอันดับ 13 เลยนะ แล้วจะยกระดับอย่างรวดเร็วจนเลื่อนไปเล่นพรีเมียร์ลีกใน 2 ปีเนี่ยนะ มันจะทำได้จริงๆหรือ?
4
ในช่วงแรกที่เดชพลมาเทกโอเวอร์ แฟนๆเชฟฟิลด์ เว้นสเดย์ ไม่รู้จักว่าคนคนนี้คือใคร หรือมีความรู้เรื่องฟุตบอลมากแค่ไหน แต่สิ่งที่พอเห็นได้คือ "เขารวยจริง" เดชพลมีสินทรัพย์ส่วนตัว 70 ล้านปอนด์ และอย่าลืมว่าเขาคือทายาทของกลุ่มไทยยูเนี่ยน ซึ่งแม้ตัวบริษัทจะเคยออกมากล่าวว่าไม่เกี่ยวข้องกับการซื้อสโมสร แต่ก็ไม่มีใครรู้หรอกว่าแท้จริงแล้ว คุณอาจซัพพอร์ทอยู่เบื้องหลังก็ได้
3
เมื่อเป้าหมายคือการเลื่อนชั้นอย่างรวดเร็ว วิธีที่คุณใช้ ก็ย่อมเป็นการซื้อตัวนักเตะเก่งๆเข้าสู่ทีม และจ่ายค่าเหนื่อยสูงๆ เพื่อรั้งตัวดีๆไว้ไม่ให้ย้ายไปไหน
2
รายงานจากแนนซี่ ฟรอสติก นักข่าวจากดิ แอธเลติก เผยว่า เชฟฟิลด์ เว้นสเดย์ เป็นหนึ่งในทีมที่จ่ายค่าเหนื่อยแพงที่สุดในระดับแชมเปี้ยนชิพ นักเตะหลายๆคน ได้รับอยู่ที่ 25,000 -30,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ (ราว 1.03 - 1.30 ล้านบาทต่อสัปดาห์) ซึ่งเป็นตัวเลขที่เยอะมากๆแล้ว เพราะทีมในแชมเปี้ยนชิพ หลายๆสโมสร จ่ายค่าเหนื่อยนักเตะ หลักพันปอนด์ต่อสัปดาห์แค่นั้นเอง
1
ปีแรกที่เดชพลได้บริหารทีมแบบ Full Season (2015-16) เขาสร้างทีมซื้อขายขึ้นมา นำโดยเกล็นน์ โรเดอร์, อดัม เพียร์สัน, พอล ซีเนียร์ และ โจนาธาน ฮิลล์ และได้ตัวผู้เล่นที่ถือว่าดูดีมาเสริมทัพ
ไม่ว่าจะเป็นแบร์รี่ แบนแนน กองกลางทีมชาติสกอตแลนด์, เฟร์นันโด ฟอเรสติเอรี่ อดีกองหน้าทีมชาติอิตาลีชุด u-21 ,แกรี่ ฮูเปอร์ ที่เคยมีประสบการณ์ในพรีเมียร์ลีกมาแล้วกับนอริช ซิตี้ และ ยืมตัวไอเดน แม็กเกียดี้ มาจากเอฟเวอร์ตัน
2
ขณะที่ตำแหน่งผู้จัดการทีม ก็ไปดึงเอาคาร์ลอส คาร์บาฮาล ที่เคยมีประสบการณ์คุมสปอร์ติ้ง ลิสบอนมาแล้ว มาเป็นบอสคนใหม่ คือปรับโฉมกันจริงจังน่าดู จนทีมยกระดับขึ้นอย่างชัดเจน
ซีซั่น 2015-16 เชฟฟิลด์ เว้นสเดย์ จบอันดับ 6 ได้เข้าไปเล่นเพลย์ออฟ รอบรองเอาชนะไบรท์ตัน กรีธาทัพเข้าสู่รอบชิง และขอแค่พวกเขาชนะฮัลล์ ซิตี้ได้ที่เวมบลีย์ เชฟฟิลด์ เว้นสเดย์ จะได้เลื่อนชั้นสู่พรีเมียร์ลีกตั้งแต่ซีซั่นแรกของเดชพลทันที
4
อย่างไรก็ตาม น่าเสียดายที่เกมนัดชิง เชฟฟิลด์ เว้นสเดย์ แพ้ฮัลล์ไป 1-0 ทำให้ทั้งทีมต้องหอบความเจ็บช้ำกลับมาเริ่มต้นใหม่ในแชมเปี้ยนชิพ
7
เมื่อ "เกือบจะได้" แต่ไม่ได้ ทำให้เดชพลลุยต่อ มันใกล้เคียงแล้ว อีกนิดเดียวเดี๋ยวก็ได้ ในซีซั่นที่ 2 (ฤดูกาล 2016-07) คราวนี้เขาอัดเงินลงไปในตลาดซื้อขายเต็มที่ ใช้เงินราวๆ 15 ล้านปอนด์ ซื้อนักเตะหลายๆคนมาเสริมทีม ซึ่งกับทีมในแชมเปี้ยนชิพ การจ่ายเงินขนาดนี้ ถือว่าเยอะแล้ว
4
นอกจากนั้นยังยอมจ่ายค่าเหนื่อยเยอะ เพื่อเซ็นฟรีนักเตะที่หมดสัญญากับทีมอื่น เช่น สตีเว่น เฟล็ตเชอร์ กองหน้าทีมชาติสกอตแลนด์ของซันเดอร์แลนด์ หรือ เออร์บี้ เอ็มมานูเอลสัน อดีตนักเตะสารพัดประโยชน์ทีมชาติฮอลแลนด์ ที่หมดสัญญากับเวโรน่า
1
ตัวเก่าที่เก่งๆ ยังรั้งไว้ได้ แถมได้ตัวใหม่มาเพิ่มอีก คราวนี้เชฟฟิลด์ เว้นสเดย์ จบอันดับ 4 ของแชมเปี้ยนชิพได้เข้าไปเล่นเพลย์ออฟอีกหน
1
ในรอบรองชนะเลิศของเพลย์ออฟ เชฟฟิลด์ เว้นสเดย์ เจอ ฮัดเดอร์สฟิลด์ ทาวน์ ซึ่งในฤดูกาลปกติ เชฟฯเว้นส์ เอาชนะได้ทั้งเหย้าและเยือน เหมือนเป็นงูเหลือมในเชือกกล้วย แต่พอมาเล่นเพลย์ออฟจริงๆ แข่งสองนัด เสมอกันทั้งสองเกม ต้องตัดสินด้วยการดวลลูกโทษ
1
การยิงจุดโทษ ลุ้นระทึกลูกต่อลูก จนต้องไปวัดกันที่คนยิงคนสุดท้ายของ เชฟฯ เว้นส์ นั่นคือเฟร์นันโด ฟอเรสติเอรี่ ดาวซัลโวของทีม แต่ลูกนี้เขายิงไปติดเซฟแดนนี่ วอร์ด นั่นทำให้ เชฟฟิลด์ เว้นสเดย์ ตกรอบเพลย์ออฟ เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน
1
เป็นความเจ็บปวด 2 ปีติดต่อกันของเดชพล จันศิริ ที่เข้าใกล้มากๆ แต่ก็ทำไม่ได้เสียที เงินที่เขาลงทุนไป ถ้าได้เลื่อนชั้นไปพรีเมียร์ลีกล่ะก็ จะพลิกกลับมากำไรมหาศาลทันที แต่มันก็ไม่เกิดขึ้น
2
กลายเป็นว่าความตั้งใจของเขาที่จะเลื่อนชั้นให้ได้ใน 2 ปี ก็ไม่เป็นจริงแล้ว และจากนี้เป็นต้นไป เชฟฟิลด์ เว้นสเดย์ ก็กำลังเจอช่วงขาลงของสโมสร
1
มิเกล เยร่า อดีตนักเตะของเชฟฟิลด์ เว้นสเดย์ ยอมรับว่าเขาไม่สบายใจในแนวทางการทำทีมของเดชพลนัก "ผมรู้ว่าเดชพลเข้ามาสู่สโมสร และพร้อมจะลงทุนแน่นอน แต่ประเด็นคือวิธีการใช้เงินของเขาต่างหาก เพราะการจะเลื่อนชั้นไปจากแชมเปี้ยนชิพได้ คุณต้องทำให้ตัวเองเป็นทีมที่ใหญ่ขึ้น และการสร้างทีมให้ใหญ่ขึ้น คุณต้องเอาเงินไปพัฒนาระบบเยาวชน และ พัฒนาสนามซ้อมให้สมบูรณ์"
3
"ผมคิดว่าเดชพล ใช้เงินอย่างไม่ค่อยรอบคอบเท่าไหร่ โดยจ่ายเงินหนักๆไปที่การซื้อ และการต่อสัญญานักเตะ ใช่ มันเป็นหนทางที่เร็วที่สุดถ้าคุณอยากจะเลื่อนชั้นไวๆ แต่มันไม่ได้การันตีนะ ว่าคุณจะประสบความสำเร็จด้วยวิธีนี้ และที่สำคัญมันไม่ใช่วิธีทำให้สโมสรใหญ่ขึ้นแบบยั่งยืน ลองไปดูสนามซ้อมของเราสิ ยังมีสภาพเหมือนกับตอนยุค 90 ไม่มีผิดเลย"
5
การซื้อนักเตะโดยไม่พัฒนาโครงสร้างทีมโดยรวม เป็นจุดอ่อนสำคัญที่ทำให้เชฟฟิลด์ เว้นสเดย์ ไม่สามารถสร้างดาวรุ่งของตัวเองได้ เอาแต่พึ่งพานักเตะที่ซื้อเข้ามา ซึ่งก็ไม่ได้มีอะไรรับประกันเลยว่าจะเล่นได้ดี
2
อีกหนึ่งประเด็นสำคัญ คือเชฟฟิลด์ เว้นสเดย์ ไม่มีตำแหน่งผู้อำนวยการฟุตบอล โดยเดชพล จะทำหน้าที่ควบระหว่างประธานสโมสร กับผู้บริหารทีม ตำแหน่งสูงๆในสโมสร ก็จะมีแค่ จอห์น เรดเกท ที่เป็นผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน ดังนั้นทีมจึงขาดตัวเชื่อม ระหว่างผู้บริหารกับนักเตะ
1
เดชพลอธิบายว่า "ผมไม่รู้ว่าที่อังกฤษทำเหมือนกันไหม แต่ที่เอเชีย ในบริษัทที่ผมอยู่คนที่เป็นประธาน ก็ทำงานเป็นซีอีโอควบไปได้" ในประเด็นนี้ เดชพลเองก็โดนวิจารณ์เยอะ จากแฟนๆ เชฟฯ เว้นส์ ว่าเป็น Mad Dictator หรือเป็นเผด็จการบ้าอำนาจ การตัดสินใจทุกอย่าง เขาจะเลือกหมดด้วยตัวเอง โดยไม่มีทีมปรึกษาที่เก่งกาจเรื่องฟุตบอลคอยให้การซัพพอร์ทเลย
4
การต่อสัญญานักเตะหลายคนล้มเหลว เพราะปัญหาเรื่องการสื่อสาร ขณะที่การซื้อตัวก็ผิดพลาดบ่อยขึ้น จนเชฟฟิลด์ เว้นสเดย์ ถูกพูดถึงว่าเป็นสโมสรสำหรับนักเตะหมดสภาพที่ต้องการพิสูจน์ตัวเอง มากกว่าเป็นสโมสรที่มีพลังไฟจากคนหนุ่ม ดังนั้นเมื่อภาพลักษณ์ออกเป็นแบบนี้ นักเตะดีๆ อายุน้อยๆ จึงค่อยๆมองข้ามเชฟฟิลด์ เว้นสเดย์ไปเรื่อยๆ
3
ฤดูกาลที่ 3 ของเดชพล (2017-18) ผลงานย่ำแย่ในช่วงครึ่งซีซั่นแรก จนต้องไล่โค้ชคาร์บาฮาลออก แต่คนที่แต่งตั้งใหม่ ยอส ลูฮูคาย กุนซือชาวดัตช์วัย 55 ปี ก็ไม่ได้มีผลงานดีอะไร ในอดีตเขาอาจเชี่ยวชาญในบุนเดสลีกา แต่พอมาคุมทีมในอังกฤษ ก็เรียกได้ว่าไปไม่เป็น ก่อนที่เชฟฟิลด์ เว้นสเดย์ จะตกมาอยู่อันดับ 15 ของตาราง
1
ฤดูกาลที่ 4 (2018-19) เดชพลไล่ยอส ลูฮูคายออกกลางฤดูกาล แล้วแต่งตั้งสตีฟ บรูซ คุมแทน คราวนี้ผลงานเริ่มมีทรง บรูซคุมทีม 18 นัด แพ้แค่ 3 เกม พาเชฟฯ เว้นส์ จบอันดับ 12 ดีขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย เหมือนทีมจะหาโค้ชที่ใช่ได้แล้ว
2
แต่ยังไม่ทันเริ่มฤดูกาลใหม่ บรูซลาออกไปคุมนิวคาสเซิล เดชพลแต่งตั้งแกรี่ มังค์ คุมทีมแทน แล้วก็เข้าอีหรอบเดิม ในซีซั่นที่ 5 (2019-20) จบอันดับ 16 ของตาราง ไม่มีวี่แววว่าจะได้ไปเล่นเพลย์ออฟ
3
สื่ออังกฤษวิจารณ์อย่างหนักหน่วงว่า ปัญหาของเชฟฟิลด์ เว้นสเดย์ คือ "ไร้ทิศทาง" ไม่มีแผนการระยะยาว แถมสโมสรมีคนทำงานน้อยเกินไป ซีอีโอก็ยังมีความห่างเหินอีกต่างหาก
3
มีเคสหนึ่งที่น่าสนใจ ตอนที่เชฟฟิลด์ เว้นสเดย์ ปลดผู้จัดการทีม เหล่าเอเยนต์ของผู้จัดการทีมว่างงาน ต้องการยื่นใบสมัครเข้ามาเพื่อให้สโมสรพิจารณา เอเยนต์เหล่านั้น หาทางติดต่อผู้บริหารไม่ได้เลย ไม่รู้ว่าจะต้องส่งใบสมัครไปที่ไหน สุดท้ายต้องไปขอคอนแท็กต์มาจากนักข่าว
4
สตาฟฟ์รายหนึ่งที่เคยทำงานกับเชฟฟิลด์ เว้นสเดย์เล่าให้สื่อฟังว่า ตอนที่สโมสรจะไล่พนักงานออกจากตำแหน่ง บางคนโดนไล่ออกด้วยการส่งแมสเซจไปบอกทางโทรศัพท์ โดยไม่มีการแจ้งอย่างเป็นทางการแบบมานั่งคุยตัวต่อตัว ขณะที่เอกสารใดๆก็ส่งผ่านทางอีเมล์
1
ทีมการตลาดของสโมสรก็ไม่ค่อยเก่งนัก คาร์ลตัน พาล์มเมอร์ อดีตนักเตะของสโมสรชุดแชมป์ลีกคัพปี 1991 เล่าว่า "ตอนผมกลับไปที่สโมสรไม่มีประสบการณ์อะไรประทับใจ คือแฟนๆของเรายอดเยี่ยมนะ แต่คนที่ทำงานกับสโมสรไม่มีจิตวิญญาณใดๆทั้งสิ้น มันน่าเหลือเชื่อมาก"
5
"ถ้าคุณขึ้นไปที่ชั้นสามที่ฮิลส์โบโร่ ปกติจะเป็นบ็อกซ์วีไอพี ตามหลักคุณต้องเจอ ผู้บริหาร ซีอีโอ หรืออดีตนักเตะที่ทำหน้าที่ทูตของสโมสร อะไรทำนองนั้น แต่ตอนผมไปเยือนไม่เจอใครที่จะคุยด้วยได้เลย"
6
ถ้าลองนึกภาพตาม เวลาคนจ่ายเงินซื้อตั๋วแพงๆ บนบ็อกซ์วีไอพี นอกจากจะได้ดูบอลในมุมเอ็กซ์คลูซีฟแล้ว ยังคาดหวังว่าจะได้กระทบไหล่ ตำนานของสโมสร ถ้าไปดูบอลในแอนฟิลด์บนบ็อกซ์ วันดีคืนดี อาจได้เจอเซอร์เคนนี่ ดัลกลิช หรือเจอตำนานคนอื่นๆ ที่แวะมาทำกิจกรรมกับสโมสรเรื่อยๆ แต่ที่เชฟฟิลด์ เว้นสเดย์ไม่มีบรรยากาศแบบนั้น
1
ด้วยการจัดการที่ไม่ดีพอ และผลงานที่ดร็อปลง ส่งผลให้แฟนบอลเข้าสนามน้อยลง จากเฉลี่ย 27K ต่อปี ลดลงเหลือ 25K และ 24K ถอยลงมาเรื่อยๆ และมีแนวโน้มจะน้อยลงกว่านี้อีก
1
คือถามว่าเดชพลใช้เงินไหม เขาก็ใช้นะ เอาจริงๆเขาควักเงินส่วนตัวไปเยอะมากทีเดียว ถ้าสปอนเซอร์ไม่ค่อยมี เขาก็จะเป็นคนจ่ายเงินเอง
หน้าอกเสื้อของเชฟฟิลด์ เว้นสเดย์ เป็นโลโก้คำว่า CHANSIRI (จันศิริ) ซึ่งคำว่าจันศิริ ก็ไม่ใช่แบรนด์สินค้าอะไร แต่เป็นนามสกุลเจ้าของ ลองนึกภาพตามว่า ถ้าหน้าอกเสื้อเชลซี เขียนคำว่า ABRAMOVICH มันจะพิลึกไหมล่ะ หรือในเวลาต่อมาเปลี่ยนจาก Chansiri เป็น ELEV8 ถามว่า ELEV8 เป็นบริษัทอะไร? คำตอบคือ เป็นบริษัทของเดชพล ที่ตั้งใจจะผลิตเครื่องดื่มชูกำลัง แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ผลิต ไม่มีโปรดักต์อะไรเลย แต่กลับมีโลโก้บนหน้าอกเสื้อสโมสรซะงั้น
5
มันเป็นหลักฐานว่า เชฟฟิลด์ เว้นสเดย์ ไม่มีบรรยากาศที่ดีพอ ในการดึงดูดใจสปอนเซอร์ได้ เจ้าของก็เลยต้องแสดงสปิริตควักเนื้อเจ็บตัวกันไป
จะเห็นอยู่แหละ ว่าเขาใช้เงินทุ่มให้ทีมตลอด เขารักสโมสรจะตาย ขนาดเคสโทรศัพท์ยังใช้เป็นรูปเชฟฟิลด์ เว้นสเดย์เลยนะ อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องการใช้เงินนี่แหละ ที่คนวิจารณ์ว่า เขาทุ่มเทไปผิดจุดหรือเปล่า ไปอัดซื้อตัวใหม่ๆ ไปเพิ่มค่าเหนื่อย และไปเสียซะเยอะกับการฉีกสัญญาผู้จัดการทีม แต่ในส่วนที่น่าจะสำคัญมากกว่า เช่นระบบหลังบ้าน การตลาด สนามซ้อม และ โครงสร้างอะคาเดมี่ ดูเขาจะไม่ได้ใช้เงินไปกับส่วนนี้มากนัก
3
วิกฤตของสโมสรจริงๆ เริ่มต้นในฤดูกาลที่ 6 ของเดชพล (2020-21) เพราะสโมสรโดนสั่งปรับ 6 แต้ม ก่อนจะเริ่มฤดูกาล
ทำไมถึงโดนปรับ 6 แต้ม? ก่อนอื่นต้องอธิบายว่า ในแชมเปี้ยนชิพของอังกฤษ มีกฎเหล็กข้อหนึ่งคือ สโมสรห้ามขาดดุลเกิน 39 ล้านปอนด์ ในระยะเวลา 3 ซีซั่น
1
EFL ผู้จัดการแข่งแชมเปี้ยนชิพนั้นวาง Position ตัวเอง ให้เป็นลีกที่ทุกทีมสามารถต่อสู้เพื่อเลื่อนชั้นได้อย่างยุติธรรม ดังนั้นจึงมีความต่อต้าน เรื่องการอัดเงินมหาศาลจากเงินทุนข้างนอกเพื่อทำให้ทีมยกระดับอย่างรวดเร็ว คือคุณจะใช้เงินซื้อนักเตะเยอะๆก็ทำได้ แต่มีเงื่อนไขคือคุณก็ต้องหารายได้เข้าสโมสรได้มากพอจนไม่ขาดดุลด้วย
3
- ซีซั่น 2015-16 ขาดดุลไป 9.8 ล้านปอนด์
- ซีซั่น 2016-17 ขาดดุลไป 20.8 ล้านปอนด์
- ซีซั่น 2017-18 ขาดดุลไป 35.4 ล้านปอนด์
3
รวม 3 ปี ขาดดุลไป 66 ล้านปอนด์ ซึ่งทะลุจากตัวเลข 39 ล้านที่ EFL กำหนดไว้เยอะมาก ดังนั้นเดชพลจึงแก้ปัญหาด้วยการตั้งบริษัทลูกขึ้นมาชื่อ Sheffield 3 Ltd. ทำการ ซื้อสนามฮิลส์โบโร่ไปในราคา 60 ล้านปอนด์
3
คือจริงๆสนามก็ยังเป็นของเดชพลเหมือนเดิมนั่นแหละ แต่เป็นวิธีการโยกเงินจากกระเป๋าซ้ายมากระเป๋าขวา เอาเงินกำไร 60 ล้านปอนด์ มาโปะตัวเลขขาดดุล 66 ล้านปอนด์ซะ แค่นี้ก็ผ่านเกณฑ์ที่ EFL กำหนดไว้ได้แบบสบายๆแล้ว
การทำให้สโมสรพลิกจากขาดดุลมากำไรด้วยวิธีนี้ ถามว่าทำได้ไหม คำตอบคือทำได้ ดาร์บี้ เคาน์ตี้ และแอสตัน วิลล่าก็ทำ อย่างไรก็ตามปัญหาคือ เดชพลดำเนินการช้าเกินไป มันข้ามปีงบประมาณของซีซั่น 2017-18 มาแล้ว นั่นทำให้ทาง EFL ลงโทษสถานหนักด้วยการปรับ 12 แต้ม ในฤดูกาล 2020-21 แต่สุดท้ายเชฟฟิลด์ เว้นสเดย์ไปอุทธรณ์ โทษปรับเลยลดเหลือ 6 แต้ม
2
เท่ากับว่าในซีซั่นนี้ (2020-21) เชฟฟิลด์ เว้นสเดย์ ยังไม่ทันได้เริ่มแข่งกับใคร ก็มีแต้ม ติดลบ 6 แล้ว โอกาสที่จะร่วงตกชั้นถือว่ามีสูงมากจริงๆ
1
การโดนตัดแต้มก็เรื่องหนึ่ง มาในฤดูกาลนี้ ตัวเดชพลเองก็มีปัญหากระแสเงินสดเหมือนกัน จากวิกฤติโควิด-19 นั่นทำให้มีบางเดือนที่เขาจ่ายเงินไม่ตรงเวลา แม้สุดท้ายนักเตะจะได้เงินครบทุกคน แต่ก็มีบรรยากาศที่ไม่ดีนักเรื่องความมั่นคงในอาชีพการงาน
อดีตผู้เล่นเชฟฟิลด์ เว้นสเดย์ รายหนึ่งที่ไม่เปิดเผยชื่อ เล่าให้สื่อฟังว่า "ผมรู้ว่าผู้คนคงไม่เข้าใจว่านักฟุตบอลได้เงินสัปดาห์ละหลายพันปอนด์แล้วจะมาบ่นอะไร แต่นักเตะเขาก็มีภาระที่ต้องจ่ายเหมือนกัน ค่าผ่อนบ้านก็ต้องจ่ายตามกำหนดทุกเดือน มันมีนักเตะ 5-6 คนที่ได้เงินตรงเวลาครบ แต่หลายๆคน ไม่ได้เงินตรงเวลา และมันก็มีผลกระทบต่อพวกเขา"
"ตัวอย่างเช่น เช้าวันหนึ่ง ตอนที่ผมกำลังจะเข้าไปสนามซ้อม ที่จอดรถมีสตาฟฟ์คนหนึ่งถามผมว่า 'นายได้เงินเดือนหรือยัง' ผมเช็กดู เงินผมเข้าแล้ว แต่ก็มารู้ทีหลังว่าเพื่อนอีกหลายๆคนยังไม่ได้เงินเดือน ในสัปดาห์นั้นเราต้องเดินทางลงไปเตะที่ลอนดอน มีผู้เล่นบางคนพูดขึ้นมาเลยว่า ถ้าหากเรายังไม่ได้เงินที่ติดค้างไว้ เราจะไม่ไปเตะแน่ มันสับสนอลหม่านมากๆ"
2
ตัวนักเตะของเชฟฟิลด์ เว้นสเดย์ ก็ไม่ได้เก่งกาจไปกว่าคนอื่น แถมมีปัญหาจุกจิกกวนใจ นี่นั่นโน่น บวกกับโดนตัดแต้มก่อนเริ่มซีซั่น ไม่มีอะไรเป็นปัจจัยบวกให้กับสโมสรเลย
แกรี่ มังค์ กุนซือคนแรกโดนไล่ออกในเดือนพฤศจิกายน เพราะทำทีมหล่นไปอยู่โซนสีแดง จากนั้นแต่งตั้งโทนี่ พูลิส แต่คุมได้แค่ 10 เกม เดชพลก็ไล่ออก เพราะผลงานย่ำแย่มาก ต้องใช้งานนีล ทอมป์สัน โค้ชทีมชุดใหญ่มารับหน้าที่ผู้จัดการทีมเฉพาะกิจ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ทีมดีขึ้น สุดท้ายแต่งตั้ง ดาร์เรน มัวร์ ในเดือนมีนาคม เท่ากับว่าซีซั่นเดียว เดชพล ใช้ผู้จัดการทีมทั้งหมด 4 คน
นักเตะไม่ดี ปัญหาภายในเยอะ โค้ชก็เปลี่ยนบ่อย ทำให้เชฟฟิลด์ เว้นสเดย์จมดิ่งลงเรื่อยๆ ก่อนสุดท้ายจะตกชั้นในที่สุดด้วยการเป็นบ๊วยของลีก มี 41 แต้ม จาก 46 นัด
จริงๆแล้วก็ถือว่าน่าเสียดายสำหรับทีมนกเค้าแมว เพราะถ้าพวกเขาไม่โดนตัด 6 แต้ม จากมี 47 แต้ม รอดชั้นได้แบบสวยๆ แต่นี่คือผลพวงจากการที่บริหารจัดการเรื่องการเงินพลาด และมันมีอิมแพ็กต์ถึงขึ้นทำให้ทีมตกชั้นได้เลย
สรุปแล้ว การบริหารงาน 6 ปี ของเดชพล จันศิริ เขาเริ่มต้นได้อย่างเร้าใจ มีลุ้นเลื่อนชั้น 2 ปีติด แต่สุดท้ายลงเอยด้วยความเจ็บปวด เมื่อต้องร่วงไปสู่ลีกวันอย่างน่าเศร้าจริงๆ
2
สุดท้าย มีการคำนวณว่า รายได้ของเชฟฟิลด์ เว้นสเดย์ จะหายไป 7 ล้านปอนด์ เมื่อต้องลงไปเล่นในลีกวัน เพราะค่าถ่ายทอดสด และเงินรางวัลจาก EFL ก็จะได้น้อยลงกว่าเดิมมาก นั่นแปลว่า เดชพล ก็คงต้องควักเนื้อเจ็บตัวกันต่อไปอีก
1
สิ่งที่น่าสนใจคือ จากนี้ไปเขาจะ "ล้มเลิก" หรือไม่ มีข่าวลือว่า อาจมีเศรษฐีประเทศอื่นมาขอเทกโอเวอร์ต่อ ซึ่งถ้าเดชพลขายทีมไปซะ เขาก็ Cut Loss เจ็บแต่จบ จากนี้ก็เลียแผลใจกันไป
2
อย่างไรก็ตามในแถลงการณ์ของเขาที่ส่งให้แฟนเชฟฟิลด์ เว้นสเดย์ ดูเหมือนว่าจะยังไม่ยอมแพ้ง่ายๆ
6
"ในฐานะเจ้าของทีมและประธานสโมสร ผมขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับสโมสร ผมคือผู้นำทั้งในยามที่ดี และยามที่เลวร้าย ผมต้องขอโทษพวกคุณทุกคนที่สุดท้ายเราต้องตกชั้น ตอนนี้เราต้องยอมรับความจริงถึงสิ่งที่รอเราอยู่ในซีซั่นหน้า นั่นคือลีกวัน"
"ผมจะให้ทุกอย่างที่ตัวเองมี เพื่อทำให้เราเลื่อนชั้นกลับมาได้ในปีเดียว เราจะสร้างทุกอย่างขึ้นมาใหม่ตั้งแต่แรก ทั้งในสนาม และนอกสนาม เพื่อรอคอยวันที่แฟนๆจะกลับมาชมเกมในสนามได้อีกครั้ง"
"ผมขอขอบคุณแฟนบอลทุกคน สนามที่ไม่มีพวกคุณมันไร้จิตวิญญาณ ผมรู้ว่าทุกสโมสรก็เจอสถานการณ์เดียวกัน แต่สำหรับเรา เราคิดถึงแฟนบอลมากจริงๆ"
ถ้าอ่านเนื้อหาในคำแถลง ก็พอจะเห็นอยู่ว่า เดชพลจะขอ Fight ต่อ เพื่อพานกเค้าแมว กลับสู่แชมเปี้ยนชิพอีกครั้ง
2
แต่แน่นอน มันเป็นภารกิจที่ไม่ง่ายเลยสักนิดเดียว ปัญหามากมายที่มี เขาจะแก้ไขมันได้ไหม บุคลากรที่มีประสิทธิภาพเพื่อทำงานหลังบ้านจะหาได้หรือเปล่า และในสนามจะเริ่มนับหนึ่งอย่างไร นักเตะหลายคนคงหมดใจอยากย้ายทีมแล้ว การเก็บเศษซากที่แตกละเอียดมาต่อให้เป็นรูปเป็นร่างอีกครั้ง ต้องใช้ความพยายามสูงเหลือเกิน
สุดท้ายนี้ สำหรับแอดมินเอง ผมอยากเสมอที่จะเห็นคนไทยประสบความสำเร็จในเวทีโลก เวลาเห็นคนไทยต้องล้มเหลวอะไรแบบนี้ ก็เสียใจอยู่นะ
2
อย่างไรก็ตาม สัจธรรมของโลกนี้ ความผิดพลั้งใดๆ เป็นเรื่องเกิดขึ้นได้ ล้มแล้วก็ล้มไป หายเหนื่อยก็ลุกขึ้นยืนแค่นั้น
และที่สำคัญถ้าคุณเดชพลยังไม่ยอมแพ้ ผมเชื่อว่าคนไทยหลายๆคน ก็จะคอยให้กำลังใจเช่นกัน และสำหรับผมในซีซั่นหน้า สัญญาว่าทุกครั้งที่เปิดดูเว็บ Livescore จะเลื่อนลงไปดูถึงลีกวัน และดูผลการแข่งขันของเชฟฟิลด์ เว้นสเดย์ ลุ้นให้ชนะทุกสัปดาห์นะครับ
#SheffieldWednesday
2
โฆษณา