14 พ.ค. 2021 เวลา 01:30 • ไลฟ์สไตล์
เคยไหมเวลาเจอเรื่องยากๆ ให้ต้องตัดสินใจ ตอนแรกก็คิดว่าเราเลือกดีแล้ว แต่สุดท้ายมักกลับมาเสียดายสิ่งที่เลือกไปซะอย่างนั้น?
.
ในชีวิตคนเรามักมีเรื่องมากมายถาโถมเข้ามาอย่างไม่รู้จบ มีเรื่องให้ต้องคิดและตัดสินใจอยู่นับไม่ถ้วน ซึ่งคงจะดีไม่น้อย หากเรามีทักษะการตัดสินใจที่ดี โดยไม่อิงกับอารมณ์ชั่วขณะ แต่ให้ความสำคัญกับหลักเหตุผลและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
.
วันนี้ Career Fact ขอนำเสนอหลักการตัดสินใจ 10-10-10 ที่คิดค้นขึ้นโดย ซูซี เวลค์ (Suzy Welch) ผู้เขียนหนังสือ 10-10-10: A Life-Transforming Idea
.
.
#หลักการ10-10-10คืออะไร?
.
หลักการ 10-10-10 คือ การที่เราถามตัวเอง 3 คำถามก่อนตัดสินใจ เมื่อต้องพบกับปัญหาหรือสถานการณ์ ที่ไม่ว่าจะเลือกทางไหน ก็ดูจะไม่ใช่ทางออกที่สร้างความพอใจกับทุกฝ่ายได้ โดยทั้ง 3 คำถามนั้นคือ
.
เราจะรู้สึกอย่างไรในอีก 10 นาที?
เราจะรู้สึกอย่างไรในอีก 10 เดือน?
เราจะรู้สึกอย่างไรในอีก 10 ปี?
.
.
#หลักการ10-10-10ดีอย่างไร?
.
เพราะหลายครั้ง คนเรามักใช้อารมณ์นำเหตุผล การที่เราสามารถนำ 3 คำถามนี้มาถามตัวเองก่อนจะตัดสินใจในเรื่องๆ หนึ่ง จะช่วยให้เราได้หยุดคิด และทบทวนกับตัวเองก่อนว่า การตัดสินใจในครั้งนี้จะส่งผลต่อตัวเราหรือคนรอบข้างของเรา ในระยะสั้นและระยะยาวอย่างไรบ้าง
.
การที่เราได้ทบทวนและวิเคราะห์หาทางเลือกที่ดีที่สุด สำหรับทั้งระยะสั้นและระยะยาว จะทำให้เราได้มองเห็นภาพรวมของสิ่งที่เกิดขึ้น มากกว่าการที่เราด่วนตัดสินใจเพียงเพราะอารมณ์ ณ ขณะนั้น โดยคิดไปเองว่าทางเลือกนี้คือทางเลือกที่ดีที่สุดแล้ว เพราะบางครั้งตัวเลือกที่ดูเหมือนว่าจะดีในตอนนี้ อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุดในระยะยาวก็เป็นได้
.
.
#ตัวอย่างการใช้หลัก10-10-10
.
เวลค์ได้เล่าว่าหลักการนี้ได้ช่วยชีวิตเธอมาหลายต่อหลายครั้ง อีกทั้งมันยังช่วยทำให้เธอได้เห็นว่าอะไรคือสิ่งที่เธอให้ความสำคัญในชีวิต
.
วันเสาร์วันหนึ่ง เธอได้รับความไว้วางใจจากหัวหน้า ให้นำเสนองานต่อหน้าคณะผู้บริหารระดับสูง ซึ่งเป็นงานที่อาจเพิ่มโอกาสให้เธอได้เลื่อนตำแหน่ง แต่ทว่าวันนั้นกลับเป็นวันเดียวกันกับการสอบคาราเต้สายดำของลูกชายของเธอ ที่ใช้เวลา 4 ปีเต็มในการฝึกซ้อมอย่างหนัก
.
เมื่อเธอพบกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด และยากที่จะตัดสินใจ เพราะไม่ว่าเธอจะหันไปทางไหน ก็ดูจะไม่มีทางออกที่น่าพอใจ เธอจึงได้นำหลักการ 10-10-10 มาประยุกต์ใช้
.
เธอจะรู้สึกอย่างไรในอีก 10 นาที? : ในอีก 10 นาที ทางเลือกทั้งสองดูไม่ใช่ทางเลือกที่ดีทั้งคู่ เพราะลูกชายของเธอคงรู้สึกไร้ซึ่งกำลังใจ เพราะแม่ตัวเองไม่มาเชียร์เขาในวันสำคัญเช่นนี้ ส่วนหัวหน้าของเธอคงจะผิดหวังในตัวเธอ และเธอจะต้องพลาดโอกาสในการแสดงศักยภาพที่เธอมีให้กับคณะผู้บริหาร
.
เธอจะรู้สึกอย่างไรในอีก 10 เดือน? : ในอีก 10 เดือน หากเธอไม่ไปหาลูกชายของเธอ เธอคงรู้สึกผิด และคงประคบประหงมลูกชายเพื่อให้เขายกโทษให้ และถ้าหากเธอไม่เข้านำเสนองานให้กับคณะผู้บริหาร เธออาจมีโอกาสอื่นที่เธอจะได้แสดงความสามารถ และได้รับการเลื่อนตำแหน่งเหมือนกัน
.
เธอจะรู้สึกอย่างไรในอีก 10 ปี? : ในอีก 10 ปี งานของเธอคงจะไม่มีผลอะไรต่อชีวิตเธอในตอนนั้นแล้ว ส่วนลูกชายของเธอคงโต และออกไปใช้ชีวิตของเขาเอง แต่สิ่งที่จะติดอยู่ในใจของเขาคือ ครั้งหนึ่ง แม่ของเขาเห็นงานสำคัญมากกว่าลูกชายตัวเอง และนั่นคือสิ่งที่เธอจะไม่มีวันให้อภัยตัวเองได้ หากเธอทำให้ลูกชายของเธอรู้สึกเช่นนั้น
.
เมื่อเธอวิเคราะห์เหตุการณ์มาอย่างดีแล้ว เธอจึงเลือกที่จะไปหาลูกชายเธอแทนการเข้านำเสนองานต่อผู้บริหารระดับสูง และถึงแม้งานนั้นจะส่งผลดีต่อหน้าที่การงานเธอ ณ ขณะนั้นมากเพียงใด แต่ผลลัพธ์ในระยะยาวนั้นคงจะร้ายแรงยิ่งกว่า หากกองเชียร์ที่ยืนเชียร์ลูกชายของเธอในวันนั้นไม่มีเธอ
.
.
จะเห็นได้ว่าหลักการ 10-10-10 สามารถช่วยให้เราได้มองการณ์ไกล และไม่ปล่อยให้อารมณ์ชั่วขณะเข้ามาเป็นนายเรา และแม้ว่าหลักการนี้อาจไม่ได้เหมาะกับทุกสถานการณ์ชีวิต แต่หากเราสามารถปรับใช้ได้ สถานการณ์ที่ดูยากอาจกลายเป็นง่ายได้อย่างคาดไม่ถึง
.
เพราะท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าชีวิตของเราจะออกมาเป็นอย่างไร ก็ล้วนเกิดจากการตัดสินใจเล็กๆ น้อยๆ ในแต่ละวันของเรานั่นเอง
.
.
#careerfact #cariber
………………
Career Fact เพราะทุกอาชีพ... มีเรื่องราว
ติดตาม Career Fact ทุกช่องทางได้ที่ https://linktr.ee/careerfact
เรียนรู้จากคนที่ประสบความสำเร็จในแต่ละแวดวงได้ที่ https://www.cariber.co/ แพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงความรู้และประสบการณ์จากผู้นำองค์กรและผู้เชี่ยวชาญในทุกแวดวง ไร้ข้อจำกัดด้านสถานที่และเวลา
โฆษณา