13 พ.ค. 2021 เวลา 20:48 • ปรัชญา
“โอกาสอันดีของผู้ที่จะรู้ว่าตนเองเป็นพระโสดาบันหรือไม่”
ธรรมะรุ่งอรุณ ☀️
๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๔
เป้าหมายของการปฏิบัติตามคำสั่งคำสอน อยู่ที่การหลุดพ้นจากความทุกข์เป็นเป้าหมาย ไม่ได้อยู่ที่การเจริญทางลาภสักการะต่างๆ เช่น ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นให้มียศนั้นยศนี้ ชั้นนั้นชั้นนี้ มีได้รับการรับรางวัลต่างๆ นี้ไม่ได้เป็นเป้าหมายของการปฏิบัติธรรม ปฏิบัติธรรมเพื่อดับความทุกข์ที่มีอยู่ในใจ เพราะผู้ปฏิบัติเป็นผู้ที่เห็นภัยในการเวียนว่ายตายเกิด ว่าการเวียนว่ายตายเกิดนี้เป็นแหล่งของความทุกข์ ผู้ที่ไม่เวียนว่ายตายเกิดเท่านั้น เป็นผู้ที่จะหลุดพ้นจากความทุกข์ จึงไม่ได้ต้องการอะไร ไม่ต้องการลาภสักการะจากใคร ไม่ต้องการยศไม่ต้องการตำแหน่งจากใคร ต้องการเพียงดับความทุกข์ที่มีอยู่ในใจให้หมดสิ้นไป นี่เรียกว่าญายะปฏิปันโน สามีจิปฏิปันโน ปฏิบัติอย่างถูกต้อง ไม่ปฏิบัติผิด ถึงแม้จะปฏิบัติครบแต่ถ้าปฏิบัติผิดก็ไปไม่ได้ เช่น สมาธิก็มีสัมมาสมาธิ ถ้าไปได้มิจฉาสมาธิ ก็ถือว่าปฏิบัติผิด มิจฉาสมาธิก็คือการไปติดอยู่กับอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่างๆ อันนี้ไม่ใช่ทางสู่การหลุดพ้นจากความทุกข์ เป็นทางที่จะทำให้ติดอยู่ในกองทุกข์แห่งการเวียนว่ายตายเกิด
นี่คือการปฏิบัติ ๔ ประการด้วยกัน ที่เรียกว่าปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ สุปฏิปันโน อุชุปฏิปันโน ญายะปฏิปันโน สามีจิปฏิปันโน ที่ผู้ศึกษาจำเป็นจะต้องน้อมนำเอาไปปฏิบัติให้ได้ การศึกษาเพียงอย่างเดียวก็ยังไม่ทำให้เกิดการบรรลุผลถึงธรรมขั้นต่างๆได้ และการศึกษาไม่ได้ศึกษาเพื่อเอาไปสอนผู้อื่น ซึ่งมักจะมีเกิดขึ้นในวงการของพุทธศาสนาอยู่เรื่อยๆ ผู้ที่ได้ศึกษาแล้วก็คิดว่าตนรู้ธรรมแล้ว แล้วก็เลยเอาธรรมที่ตนเองได้ศึกษาไปสอนผู้อื่นต่อ อันนี้ยังไม่ถือว่าเป็นครูอาจารย์ที่แท้จริง เพราะยังไม่ได้พิสูจน์คำสอนที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนว่า สามารถทำให้ดับความทุกข์ต่างๆ ที่มีอยู่ในใจได้ ต้องเอาไปพิสูจน์ด้วยการปฏิบัติก่อนว่า ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอน เช่นการทำทาน การรักษาศีล การนั่งสมาธิ การเจริญปัญญาทำให้ความทุกข์ที่มีอยู่ในใจนั้นดับไปได้อย่างไร และดับไปแบบไหน แบบชั่วคราวหรือแบบถาวร ถ้าไม่ได้ศึกษาไม่ได้ปฏิบัติจะไม่รู้ จะไม่รู้ความสำคัญของธรรมแต่ละขั้นว่ามีความสำคัญต่อการปฏิบัติอย่างไรบ้าง จึงต้องนำเอาไปปฏิบัติ อย่าศึกษาเพียงอย่างเดียว แล้วก็คิดว่าบรรลุแล้วจากการศึกษา การบรรลุด้วยความคิดนี้ไม่ถือว่าเป็นการบรรลุที่แท้จริง เพราะความคิดนี้ดับความทุกข์ดับกิเลสไม่ได้ ถึงแม้จะเข้าใจธรรมต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงสอน เช่น มรรค ๘ มีอะไรบ้าง อริยสัจ ๔ มีอะไรบ้าง ไตรลักษณ์มีอะไรบ้างก็ตาม แต่เป็นความคิดความเข้าใจทางความคิด ยังไม่ได้เป็นความเห็นตามความเป็นจริงที่ปรากฏขึ้นในใจ ต้องปฏิบัติเท่านั้น ถึงจะเข้าไปเห็นตัวจริงของธรรมะได้
การเรียนนี้เป็นเหมือนกับการเรียนชื่อของตัวธรรมะ ตัวกิเลสต่างๆ ตัวโลภ ตัวโกรธ ตัวหลง ว่าเป็นอย่างไร ตัวสติ ตัวสมาธิ ตัวปัญญา เป็นอย่างไร มีรูปร่างลักษณะอย่างไร อันนี้เป็นเพียงแต่การเรียนชื่อเรียนคุณลักษณะ แต่ยังไม่ได้ไปพบกับตัวจริงของจริง ต้องไปปฏิบัติ จะได้เจอของจริงตัวจริง แล้วจะได้กำจัดตัวที่เป็นทุกข์ได้ ตัวทุกข์จริงๆ นี้ไม่ได้อยู่ในหนังสือที่เราอ่านกัน ไม่ได้อยู่ในธรรมะที่เราฟังกัน ตัวทุกข์จริงๆมันอยู่ในใจของเรา เช่นตอนนี้ใจของพวกเราทุกข์กันไหม เราทุกข์กังวลกับเรื่องโรคระบาดใช่ไหม แล้วดับความทุกข์ความกังวลของความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากโรคระบาดนี้ได้หรือยัง ถ้ายังดับไม่ได้ ก็แสดงว่าเรายังปฏิบัติไม่ถึงเป้านั่นเอง ถึงแม้เราจะมาฟังเทศน์ฟังธรรมกันอยู่อย่างต่อเนื่อง รู้ว่าความทุกข์ของเราเกิดจากความอยากของเราที่ทำให้ใจเราทุกข์กัน ตอนนี้เราทุกข์กับโรคภัยไข้เจ็บใช่ไหม เพราะอะไรเราถึงทุกข์กับโรคภัยไข้เจ็บ ก็เพราะความอยากของเรานั่นแหละ ความอยากไม่ให้เรามีโรคภัยไข้เจ็บกัน อยากไม่ให้ติดเชื้อโรคหวัดกัน จึงทำให้เราวิตกทำให้เรากังวลหวาดกลัวกัน
ถ้าเราปฏิบัติธรรมจริงๆ ถ้าเราบรรลุธรรม ความวิตกกังวลความหวาดกลัว ความทุกข์ที่เกิดจากโรคระบาดนี้จะไม่เกิดขึ้นในใจอย่างเด็ดขาดอย่างแน่นอน ถ้าเกิดขึ้นก็แสดงว่ายังไม่บรรลุธรรมขั้นนั้น คือธรรมขั้นที่ทำให้เราปล่อยวางร่างกายได้ คือขั้นของพระโสดาบันนี้เอง ตอนนี้อยากเป็นโสดาบันกันเยอะแยะไปหมดใช่ไหม นี่ถึงเวลามีโอกาสแล้ว มีโอกาสพิสูจน์ว่าจะบรรลุเป็นโสดาบันได้หรือไม่ ปล่อยวางร่างกายได้หรือไม่ ยอมให้มันเจ็บไข้ได้ป่วยได้หรือไม่ ยอมให้มันตายได้หรือไม่ อันนั้นแหละพระโสดาบันท่านทำได้  พระโสดาบันท่านจะไม่ทุกข์กับความเจ็บไข้ได้ป่วยของร่างกาย ร่างกายเจ็บแต่ใจท่านไม่เจ็บ ร่างกายเป็นไข้ร่างกายปวดไปทั่วสรรพางค์กาย ร่างกายมีอาการหืดหอบหายใจไม่ออก อะไรต่างๆ นี้เกิดขึ้นได้กับร่างกายของทุกคน ของพระโสดาบันก็เกิดขึ้นได้เหมือนกัน เพียงแต่ใจของพระโสดาบันนี้จะต่างจากใจของปุถุชน ใจของพระโสดาบันไม่เดือดร้อนไม่มีความรู้สึกหวาดวิตกหวาดกลัว รู้สึกเฉยๆ มีอุเบกขา ไม่รักไม่ชังไม่กลัวไม่หลงกับโรคหวัด แต่ก็ไม่ประมาททำหน้าที่ที่พึงกระทำได้ ป้องกันได้ก็ป้องกันไป ใส่หน้ากากไปเช็ดมือล้างมือกันไป หลีกเลี่ยงที่ชุมชน ปลีกวิเวกกัน ไม่คลุกคลีกัน ก็ทำได้ ไม่ได้ว่ากลัว เพียงแต่ว่าถ้าเป็นแค่โสดาบันนี้ยังต้องปฏิบัติธรรมขั้นต่อไปอีก แล้วถ้ามาสูญเสียร่างกายไปต้องกลับมาต่อใหม่ เหมือนกับหนังขาด สมัยก่อนหนังขาด หนังเป็นฟิล์ม พอดูหนังดีๆ ขาดปุ๊บนี่หมดอารมณ์ ต้องรอให้เขามาต่อหนังใหม่ถึงค่อยจะดูต่อได้
นี่ก็เหมือนกัน ร่างกายก็เป็นเหมือนหนังที่พระโสดาบันยังต้องใช้เพื่อที่จะปฏิบัติธรรมขั้นสูงต่อไป ขึ้นจากโสดาบันก็ขึ้นไปสู่ขั้นสกิทาคามี อนาคามี ละขั้นพระอรหันต์ ถ้าร่างกายตายไปในตอนนี้ก็ต้องรอให้กลับมาเกิดใหม่ ถึงมาปฏิบัติธรรมต่อได้ นี่คือเรื่องของวิกฤตที่เราสามารถพลิกให้เป็นโอกาสได้ มีคนชอบถามเรื่อยการเป็นโสดาบันเป็นอย่างไร ตอนนี้แหละเป็นเวลาที่สามารถที่จะพิสูจน์ได้ว่าการจะเป็นพระโสดาบันนี้เป็นได้อย่างไร เมื่อก่อนมันไม่มีเหตุการณ์ ไม่มีข้อสอบให้เราทดสอบจิตใจ ตอนนี้มีข้อสอบแล้ว ถ้าเป็นนักมวยก็เป็นไฟท์บังคับแล้ว จะมาเลื่อนไม่ได้แล้ว จะมาบอกว่าขอเลื่อนไปก่อน รอให้เวลาแก่ก่อนแล้วค่อยเจ็บแล้วค่อยมาปล่อยวางร่างกายมาทำข้อสอบในตอนนั้น ตอนนี้ถูกบังคับแล้ว นักมวยเขาไม่ต้องการให้ครองแชมป์นานๆ เพราะมีคนอื่นอยากจะได้แชมป์ เขาเลยต้องมีไฟท์บังคับ ถึงเวลาต้องต่อสู้กับคู่ต่อสู้ ไม่ใช่ขออยู่เฉยๆ เป็นแชมป์ไปนานๆ ก่อน อันนี้ก็เหมือนกัน
ตอนนี้แหละเป็นโอกาสอันดีของผู้ที่จะรู้ว่าตนเองเป็นพระโสดาบันหรือไม่ จะได้พิสูจน์ได้รู้กันในตอนนี้ ว่าใจเราเฉยหรือไม่เฉยในตอนนี้ หรือว่าใจเราเครียดวิตกกังวลกินไม่ได้นอนไม่หลับ อย่างนี้ก็ไม่ใช่โสดาบันแล้ว เขาเรียก “โสเดา” มีโสดาบันกับโสเดา พวกโสเดาก็คือพวกเดากันคาดคะเนกัน เอ๊ะ ตอนนี้เราบรรลุโสดาบันหรือยัง เราเป็นโสดาบันหรือยัง เป็นนะ น่าจะเป็นนะ อย่างนี้เรียกว่าพวกโสเดา พวกโสดาบันนี้เขารู้เพราะธรรมเป็นสันทิฏฐิโก ที่ผู้ปฏิบัติสามารถพิสูจน์รู้ได้ด้วยตนเอง ว่าตนเองนั้นได้บรรลุธรรมขั้นไหน เพราะมีข้อสอบของแต่ละขั้นให้ผู้ปฏิบัติได้กระทำกัน ว่าผ่านได้หรือผ่านไม่ได้ ขั้นของพระโสดาบันนี่คือปล่อยวางขันธ์ ๕ ได้หรือไม่ ปล่อยวางรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณได้หรือไม่ รูปก็คือร่างกาย ปล่อยให้ร่างกายแก่ได้หรือไม่ ปล่อยให้ร่างกายตายได้หรือไม่ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณก็คือความรู้สึกนึกคิด เกี่ยวกับเวทนานี่เกี่ยวกับความเจ็บไข้ได้ป่วยว่าเป็นอนัตตา ความเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นอนัตตาไม่มีตัวไม่มีตน ร่างกายไม่มีตัวไม่มีตนไม่มีเราไม่ได้เป็นของเรา เวทนาก็ไม่ได้เป็นของเรา เราไปสั่งให้เวทนาสุขไม่ได้เวลาที่มันทุกข์ ไปสั่งให้เวทนาหายไปไม่ได้เวลาที่มันทุกข์ เราต้องอยู่กับมันได้หรือไม่ อยู่แบบไม่ทุกข์ได้หรือไม่ ดูตรงนั้นแหละ เวลาเกิดการเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา เวลาเกิดความรู้สึกว่าจะตายนี่ ใจเป็นอย่างไร ใจถ้าเฉยไม่รู้สึกเดือดร้อนเหมือนตอนที่ไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น นี่แหละแสดงว่าใจได้ผ่านได้เป็นโสดาบัน
ธรรมะบนเขา
วันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓
#พระจุลนายก พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
โฆษณา