16 พ.ค. 2021 เวลา 03:50 • ธุรกิจ
การเปลี่ยนศัตรูให้กลายเป็นพันธมิตรในแบบ เบนจามิน แฟรงคลิน
1
เชื่อว่า ทุกคนอาจจะมีศัตรูหรือคู่อริที่ไม่ค่อยชอบเราสักเท่าไร
เพียงแค่เดินผ่านกันชั่วขณะ..
เราก็สามารถรับรู้ได้ถึงกิริยาท่าทางหรือสีหน้าของเขาที่ทำให้เรารู้เลยว่า เรากับเขานั้นอยู่ร่วมกันไม่ได้อย่างแน่นอน
แต่ถ้าโชคชะตากลับเล่นตลกกับเรา ทำให้เราบังเอิญต้องมาทำงานกลุ่มร่วมกับคนคนนี้
หรือยิ่งไปกว่านั้นก็คือเรากลับต้องมาทำงานในบริษัทเดียวกันกับเขา
แน่นอนว่าเมื่อเสือสองตัวอยู่ในถ้ำเดียวกัน ย่อมอยู่ร่วมกันไม่ได้และอาจเกิดปัญหามากมายตามมา
แล้วถ้าเราไม่ทำอะไรสักอย่าง เรื่องลำบากใจเรื่องนี้อาจจะกระทบกับหน้าที่การงานของเราก็เป็นได้
หากเป็นอย่างนั้น เราควรจะแก้ปัญหากับเรื่องลำบากใจเรื่องนี้อย่างไรดี ?
วันนี้ THE BRIEFCASE จะแนะนำหนึ่งในวิธีการหาทางออก เมื่อต้องทำงานกับคนที่เราไม่ลงรอย
ด้วยกลยุทธ์การเปลี่ยนศัตรูให้กลายเป็นพันธมิตร ที่ “เบนจามิน แฟรงคลิน” หนึ่งในผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกา นำมาใช้ เมื่อเขาต้องทำงานร่วมกับคนที่ไม่ชอบเขา
ด้วยความที่เขาเป็นทั้งนักการเมือง นักการทูต นักปรัชญา นักเขียน และยังทำสิ่งอื่น ๆ อีกมากมาย
จึงทำให้เขาได้บันทึกเรื่องราวของตัวเองลงในอัตชีวประวัติของเขาเอง
โดยส่วนหนึ่งในอัตชีวประวัติของเขาได้มีบันทึกว่าในช่วงที่เขาทำงานในสภานิติบัญญัติ
เขาต้องพบเจอกับคนที่ไม่ค่อยถูกใจเขาเท่าไร และคนคนนี้ก็พยายามที่จะเห็นตรงกันข้ามกับเขาเสมอ
ทำให้เขาทำงานได้อย่างยากลำบากและยังต้องลำบากใจที่รู้ว่ามีคนไม่ชอบเขาอีกด้วย
โดย THE BRIEFCASE ขอสมมติให้ชื่อ “ปีเตอร์สัน” เป็นชื่อของคนที่ไม่ชอบเบนจามิน แฟรงคลิน
ถึงแม้ว่าเขาจะไม่รู้สาเหตุที่ทำไมปีเตอร์สันถึงไม่ชอบเขา
แต่เขาก็พยายามที่จะหาทางออกเพื่อแก้ปัญหาที่ค้างคาใจเขาครั้งนี้
แทนที่เขาจะเดินไปพูดคุยกับปีเตอร์สันโดยตรง หรือพยายามที่จะเอาคืนปีเตอร์สันจากการที่ชอบขัดแข้งขัดขาเขาอยู่บ่อยครั้ง แต่เขากลับใช้วิธีการทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นและไปขอยืมหนังสือจากปีเตอร์สัน
ด้วยความที่ เบนจามิน แฟรงคลิน ทราบมาว่าปีเตอร์สันเป็นคนที่รักการอ่านหนังสือมาก และชอบพูดคุยเกี่ยวกับหนังสือ และยังมีหนังสือที่หายากมากอยู่ในครอบครองอีกด้วย จึงทำให้เขาเขียนจดหมายไปหาปีเตอร์สันเพื่อที่จะขอยืมหนังสือเล่มนี้
แทนที่ปีเตอร์สันจะทำเป็นไม่สนใจ เพราะปีเตอร์สันไม่ชอบคนที่ชื่อ เบนจามิน แฟรงคลิน
แต่เรื่องก็กลับกลายเป็นว่าปีเตอร์สันให้เขายืมหนังสืออย่างหน้าตาเฉย
หลังจากที่ เบนจามิน แฟรงคลิน อ่านหนังสือเล่มนี้จบก็ได้นำหนังสือเล่มนี้ไปคืน
พร้อมกับแนบกระดาษที่เขาเขียนขอบคุณปีเตอร์สันและเขียนบรรยายถึงความรู้สึกที่มีต่อหนังสือเล่มนี้และปีเตอร์สันอย่างสุดซึ้งอีกด้วย
หลังจากนั้น เมื่อทั้งสองคนได้เจอกัน กลับกลายเป็นว่าทั้งคู่ได้มีการพูดคุยกันในทางที่ดีขึ้น
หลังจากนั้นปีเตอร์สันก็ไม่ได้ขัดแข้งขัดขาเขาอีกเลย และทั้งคู่ก็ได้กลายเป็นเพื่อนกันในที่สุด
หลังจากนักวิจัยและนักจิตวิทยาได้อ่านอัตชีวประวัติของ เบนจามิน แฟรงคลิน
จึงทำให้พวกเขาเรียกวิธีที่ เบนจามิน แฟรงคลิน ใช้ว่า “Ben Franklin Effect”
1
โดยล่าสุดก็ได้มีนักวิจัยมากมายทำการศึกษาเกี่ยวกับ Ben Franklin Effect
และได้ข้อสรุปว่า คนที่ตกอยู่ในปรากฏการณ์นี้ มักจะตกอยู่ในสภาวะขัดแย้งภายในตัวเอง
หรือที่เรียกว่า Cognitive Dissonance ซึ่งเป็นอาการที่ทัศนคติ ความคิด และการกระทำไม่สอดคล้องกันนั่นเอง
1
อย่างในกรณีคู่อริของ เบนจามิน แฟรงคลิน ที่กำลังเกิดความสับสนภายในตัวเองอยู่
เพราะถึงแม้ปีเตอร์สันจะไม่ชอบ เบนจามิน แฟรงคลิน สักเท่าไร แต่พอเป็นเรื่องหนังสือแล้วละก็
เขากลับไม่ติดที่จะพูดคุยเรื่องนี้ และก็ยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือทุกคน ถึงแม้ว่าจะเป็นคนที่ไม่ชอบหน้าก็ตาม
และเมื่อ เบนจามิน แฟรงคลิน ได้เริ่มแผนการผูกมิตรกับปีเตอร์สัน โดยใช้ความโปรดปรานของปีเตอร์สันในการเริ่มบทสนทนา นี่จึงเปรียบเสมือนเป็นการตอบโต้ปีเตอร์สันจากการที่เขาโดนขัดแข้งขัดขาอยู่เสมอ
แต่การตอบโต้ของเขานั้นไม่ใช่การเอาคืนแต่อย่างใด แต่เป็นการเปลี่ยนศัตรูให้กลายเป็นมิตรนั่นเอง
แล้วถ้าเราต้องการนำวิธีการของ เบนจามิน แฟรงคลิน มาประยุกต์ใช้ในการเปลี่ยนศัตรูให้กลายเป็นมิตร
และทำให้เรากลายเป็นที่รักของคนอื่น ๆ บ้างต้องทำอย่างไร ?
คุณ Barry Davret นักเขียนชื่อดังจากเว็บไซต์ Medium ได้สรุปเทคนิคที่จะทำให้เราสามารถนำวิธีการของ เบนจามิน แฟรงคลิน มาประยุกต์ใช้ได้ดังนี้
1. เรียนรู้เกี่ยวกับคนคนนั้น
สมมติว่าเราเป็นคนที่ไม่ชอบให้ใครมาพูดตะคอกใส่เรา แต่เพื่อนของเราก็ชอบมาตะคอกใส่ ทำให้เราเริ่มรู้สึกไม่พอใจ และเริ่มออกห่างจากเพื่อนคนนั้น
เช่นเดียวกัน ถ้าเราอยากจะเป็นที่รักของใคร หรือต้องการที่จะเปลี่ยนศัตรูของเราให้กลายเป็นมิตร
เราจึงจำเป็นต้องเข้าใจเขาคนนั้น
และถ้าเรารู้มาว่าคนคนนั้นชอบอะไร เราก็อาจจะใช้เรื่องนี้ในการเข้าหาเขา
อย่างในกรณีของ เบนจามิน แฟรงคลิน ที่ทราบมาว่าปีเตอร์สันนั้นชอบเกี่ยวกับหนังสือมาก
จึงทำให้เขาเปิดประเด็นกับปีเตอร์สันเกี่ยวกับหนังสือ ทำให้ทั้งคู่สามารถเริ่มบทสนทนากันได้นั่นเอง
2. ลองขอความช่วยเหลือจากคนคนนั้น
การขอความช่วยเหลือในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงการขอยืมเงินจากคนที่เราอยากรู้จัก หรือคนที่เป็นคู่อริกับเรา
หรือขอให้เขาช่วยทำงานให้เรา ถ้าเราขอความช่วยเหลือแบบนี้กับพวกเขา สิ่งนี้จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับคู่อรินั้นอาจจะดูแย่ลงไปอีก และคนที่เราอยากจะรู้จักคนนั้นคงจะไม่อยากรู้จักกับเราอีกเลย
1
แต่การขอในที่นี้หมายถึง การขอคำแนะนำจากพวกเขา เพราะการขอคำแนะนำจากพวกเขานี้เอง
จะทำให้พวกเขาคิดว่า เรามองพวกเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ
เช่น ถ้าเราอยากรู้จักใครคนหนึ่ง แล้วเราไปตามสืบมาว่าคนคนนั้นมีความชอบและกำลังสนใจในเรื่องการลงทุน
แล้วถ้าเราอยากเปิดประเด็นกับคนคนนั้นโดยการขอคำปรึกษาในเรื่องการลงทุน นอกจากจะทำให้เขารู้สึกดีที่มีคนคิดว่าเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญในระดับหนึ่งแล้ว ยังทำให้เรามีเรื่องที่จะคุยกับพวกเขาได้อีกด้วย
หรือในกรณีของ เบนจามิน แฟรงคลิน ที่ทราบมาว่าปีเตอร์สันนั้น รักในการอ่านหนังสือมาก
จึงทำให้เขาใช้เรื่องหนังสือในการเปิดประเด็นและเริ่มต้นสนทนา จึงทำให้ปีเตอร์สันมีความภูมิใจที่ได้นำเสนอในสิ่งที่ปีเตอร์สันเชี่ยวชาญ และให้ความช่วยเหลือเขาโดยการให้ยืมหนังสือ
3. กล่าวขอบคุณแบบแซนด์วิช
ทำไมต้องกล่าวขอบคุณแบบแซนด์วิช เพราะแซนด์วิชเป็นอาหารที่มีขนมปัง 2 แผ่นประกบกับไส้ที่อยู่ตรงกลาง ซึ่งเปรียบเสมือนกับการกล่าวขอบคุณ 2 ครั้ง และใส่ความรู้สึกของเราที่ได้รับความช่วยเหลือจากคนคนนั้น
2
อย่างในกรณีของ เบนจามิน แฟรงคลิน ที่หลังจากได้รับหนังสือจากปีเตอร์สันแล้ว เขาก็ได้เขียนโน้ตไปถึงปีเตอร์สัน โดยเริ่มต้นจากขอบคุณในครั้งแรกก่อน และตามด้วยความรู้สึกหลังจากที่อ่านหนังสือเล่มนี้และความรู้สึกที่มีต่อปีเตอร์สัน ในที่นี้อาจจะเป็นการชมเชยถึงความเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องหนังสือ และก็ปิดท้ายด้วยการขอบคุณอีกครั้งหนึ่ง
ถ้าเป็นในชีวิตจริง เราไม่จำเป็นต้องเขียนโน้ตเหมือนกับคนในสมัยก่อนก็ได้
แต่เราสามารถใช้หลักการขอบคุณแบบแซนด์วิชโดยการทักแช็ตส่วนตัว
หรือพูดขอบคุณต่อหน้าก็ได้ด้วยเช่นกัน
1
สุดท้ายแล้ว การที่เรามีคนชอบมากกว่าคนที่ไม่ชอบเรานั้นย่อมเป็นเรื่องที่ดีกว่า
และถ้ามีใครคนหนึ่งไม่ชอบเราถึงขั้นเป็นคู่อริกับเรา การที่เราต้องเป็นฝ่ายเริ่มเข้าหาคู่อริคนนั้นก่อนเพื่อที่จะปรับความเข้าใจ ก็ไม่ได้ถือเป็นเรื่องที่น่าเสียหายแต่อย่างใด
มิหนำซ้ำการกระทำเช่นนี้ยังทำให้เรารู้สึกดีกับตัวเอง ที่นอกเหนือจากตัวเราเองสามารถเปลี่ยนคู่อริให้กลายเป็นมิตรได้แล้ว ยังรู้สึกดีกับตัวเองที่เป็นคนกล้าเผชิญกับทุกปัญหาที่เข้ามาในชีวิตเราอีกด้วย
เรื่องนี้ไม่ได้เป็นผลดีเพียงแค่ตัวเราเอง แต่ยังเป็นผลดีต่องานที่เราได้รับมอบหมายให้ทำคู่กับอดีตคู่อริคนนั้นให้ออกมาดีอีกด้วยเช่นกัน..
โฆษณา