14 พ.ค. 2021 เวลา 20:31 • ปรัชญา
“หน้าที่ของนักบวชก็คือปฏิบัติเพื่อมรรคผลนิพพาน”
ธรรมะรุ่งอรุณ ☀️
๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๔
 
เราต้องศึกษาก่อนแล้วค่อยปฏิบัติ ไม่ศึกษาก่อนเดี๋ยวปฏิบัติผิดปฏิบัติถูก ผลก็ผิดๆ ถูกๆ ได้ ต้องศึกษาให้รู้ก่อนว่าปฏิบัติอะไร ก็ศึกษาแล้วเย็นก็ปัดกวาด ดื่มน้ำปานะ แล้วก็ทำวัตรค่ำ นั่งสมาธิ ฟังเทศน์ฟังธรรม ก็ถูกต้องแล้ว นี่คือแนวทางของการปฏิบัติ อย่างที่เราทำกันนี่ก็เป็นแนวทางที่ครูบาอาจารย์ท่านนำพามา แต่อาจจะต่างกันบ้างบางอย่าง ถ้าอยู่อย่างสำนักของหลวงตานี้ท่านไม่นิยมให้มารวมกันทำวัตร ไหว้พระสวดมนต์ ท่านเน้นการปลีกวิเวก ท่านว่าได้ประโยชน์มากกว่าการที่จะมารวมกัน เพราะการรวมกันมันก็เป็นการขาดตอนของการปลีกวิเวก เพราะต้องมารวมกัน กำลังเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิ กำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม อ้าว ถึงเวลาต้องมาทำวัตรเย็นทำอะไรกัน งั้นท่านจะเน้นให้ปฏิบัติตามลำพังกันมากกว่า แต่ท่านต้องคอยเดินตรวจวัดอยู่เรื่อยๆ ว่าปฏิบัติหรือเปล่า เพราะว่าถ้าไม่คอยเดินแล้ว แทนที่ปฏิบัติอาจจะไปจับกลุ่มคุยกัน ไปดื่มน้ำชากาแฟกัน หลวงตานี่ท่านจะคอยเดินตรวจวัดอยู่เรื่อยๆ ตอนค่ำคืน ดูว่าพระเณรนี้ปฏิบัติกันหรือว่าจับกลุ่มกัน แต่ท่านเน้นเรื่องของการปลีกวิเวก แต่นี่จะเหมาะกับพวกที่ภาวนาเป็น พวกที่อยู่คนเดียวได้ ภาวนาตามลำพังได้ นั่งสมาธิได้ ไหว้พระสวดมนต์ตามลำพังได้
แต่พวกที่ยังเป็นเรือพ่วงอยู่ เป็นพวกที่ไม่มีเครื่องอยู่ในเรือ ต้องอาศัยเรือที่มีเครื่องฉุดลากไป ก็ต้องอาศัยการรวมกันไปทำวัตรที่พร้อมกันในศาลา เพราะถ้าอยู่คนเดียวมันจะไม่มีความเพียรพอที่จะบังคับตัวเองให้ไหว้พระสวดมนต์ให้นั่งสมาธิเอง ก็เลยต้องอาศัยผู้อื่น เช่น ครูบาอาจารย์ดึงไป เรียกไปประชุม เรียกไปนั่งสมาธิ เรียกไปไหว้พระสวดมนต์นั่งสมาธิกัน แต่สำหรับวัดป่าบ้านตาดนี้หลวงตาท่านจะเลือกแต่พระที่มีเครื่อง ถ้าเป็นพระเรือพ่วงท่านจะไม่รับ ท่านจะให้ไปอยู่ที่อื่น ท่านจะดูว่าพระนี้มีความเพียรพอที่จะปฏิบัติตามลำพังได้หรือเปล่า ท่านจะรู้ว่าใครมีไม่มี เพราะคนที่ปฏิบัติตามลำพังไม่ได้มักจะไปเกาะรูปนั้นรูปนี้ จะต้องไปสุงสิงกับพระรูปนั้นพระรูปนี้ พอท่านเห็นท่านก็จะรู้ว่าพระนี่ยังไม่มีความเพียรพอที่จะบังคับตัวเองให้ปฏิบัติเองได้ ท่านก็บอกให้ไปอยู่ที่อื่นดีกว่า เพราะว่าท่านจะเน้นการปฏิบัติแบบปลีกวิเวก ไม่ให้มารวมกัน แม้แต่พาไปทำวัตรนี่ท่านก็ไม่ไป เราอยู่วัดป่าบ้านตาดมา ๙ พรรษานี้ ไม่เคยไปทำวัตรกับครูบาอาจารย์ที่ไหนเลย เพราะว่าท่านว่ามันได้ประโยชน์แล้วมันก็เสียประโยชน์ มันได้ก็คือได้ธรรมเนียม ได้ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดี มีการแสดงความเคารพนับถือครูบาอาจารย์ และอาจจะได้ฟังเทศน์ฟังธรรมจากท่าน แต่สิ่งที่เสียก็คือความวิเวก เพราะเวลาไปก็ต้องเดินทางไปกันเป็นกลุ่ม แล้วเวลาเดินทางไปก็อาจจะต้องไปเห็นนู่นเห็นนี่ระหว่างทาง เพราะจะต้องเดินผ่านบ้านผ่านเมือง เห็นผู้เห็นคนเห็นอะไรต่างๆ มันก็อาจจะมาเป็นนิวรณ์ได้ ผลิตกามฉันทะขึ้นมาได้ ความยินดีในรูปเสียงกลิ่นรสต่างๆ ได้ พอไปทำวัตรกลับมา ตอนออกไปจิตยังสงบดีอยู่ พอกลับมาไม่สงบแล้วซิ เพราะสัญญาอารมณ์มันเกิดติดอยู่ในใจ เห็นภาพคนนั้นเห็นรูปคนนั้นเห็นเสียงคนนี้ ได้ยินเสียงคนนั้นมันติดฝังอยู่ในใจ พอกลับมาที่วัดมันไม่ยอมพุทโธแล้วซิ มันไม่ยอมดูลมแล้ว มันจะไปคิดถึงรูปเสียงที่ได้ไปเห็นได้ยินมา หลวงตาท่านเลยไม่นิยมให้พระออกจากวัด แม้แต่กิจนิมนต์นี่ท่านก็ไม่ให้ไป
ที่วัดป่าบ้านตาดนี้ ถ้าท่านจะรับนิมนต์จริงๆ ท่านจะไปองค์เดียว แต่ท่านจะไม่ให้พระไป เพราะท่านเห็นภัยจากการที่ออกไปข้างนอก ออกไปข้างนอกแล้วมันจะไปเห็นแสงสีเสียง เห็นรูปเสียงกลิ่นรสต่างๆ แล้วมันจะทำให้เกิดสัญญาอารมณ์เกิดกามฉันทะขึ้นมา เกิดนิวรณ์ขึ้นมา ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการบำเพ็ญภาวนา การทำจิตให้สงบ งั้นตอนที่ไปอยู่วัดป่าบ้านตาดนี้เลยไม่ต้องไปรับกิจนิมนต์ ไม่ไปไหน ไม่ไปทำวัตรกับครูบาอาจารย์ต่างๆ ซึ่งสมัยนั้นมีครูบาอาจารย์เยอะแยะไปหมด หลวงตาท่านไปองค์เดียว ท่านไปทำวัตรแทนพระทั้งวัด ท่านไปกราบหลวงปู่ขาว หลวงปู่ฝั้น ครูบาอาจารย์ต่างๆ ที่ท่านเคารพนับถือ ท่านจะไปเองแต่ท่านไม่พาพระเณรไปด้วย เพราะว่าธรรมะท่านก็มีเหมือนกัน ไปหาครูบาอาจารย์ท่านก็พูดธรรมะแบบที่หลวงตาท่านจะพูดอยู่แล้ว ไปคิดว่าจะได้ธรรมะมันก็ไม่ได้เพราะหลวงตาให้ธรรมะอยู่ในวัดอยู่แล้ว งั้นจะเสียก็เสียความวิเวกไปเสียความสงบไป ออกไปแล้วกลับมาจิตใจฟุ้งซ่านได้ กว่าจะทำให้มันสงบนี้อาจจะเสียเวลาไปหลายวันก็ได้ กว่าจะสงบกลับมาเหมือนตอนก่อนที่ออกไปข้างนอก นี่คืออาจจะต่างกันตรงนี้ เราเลยไม่เคยลงทำวัตร มีแต่เดินจงกรม นั่งสมาธิ ถ้าอยากจะสวดมนต์ก็สวดอยู่ในกุฏิคนเดียวไป
การสวดก็เป็นการภาวนานี่เอง เป็นการฝึกสติ เพราะเวลาสวดมนต์เราจะได้ไม่ไปคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ ถ้าเราไม่สวดเดี๋ยวเราอดคิดไม่ได้ เคยคิดถึงใคร คิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้มันก็จะคิดไป พอคิดแล้วมันก็จะทำให้จิตฟุ้งซ่าน จิตเกิดกามารมณ์ขึ้นมา แล้วจะทำให้ผ้าร้อนใจร้อนขึ้นมา แล้วอยากจะสึกกัน อันนี้คือปัญหาของพระ ที่สึกกันก็เพราะว่าทนกับความอยากในกามฉันทะไม่ได้ ก็เลยต้องพยายามหามาตรการคอยกำจัด นี่วันบวชนี้พระอุปัชฌาย์ท่านก็ต้องสอนกัมมัฏฐาน ๕ แล้ว “กัมมัฏฐาน ๕” คืออาการ ๕ อย่างของร่างกาย เพื่อให้พระบวชใหม่นี้ไปศึกษา เพราะถ้าได้ศึกษาอาการของร่างกายแล้ว จะเห็นความไม่สวยงามของร่างกาย และจะทำให้กามารมณ์ไม่เกิด จะทำให้ไม่ร้อนใจ ผ้าไม่ร้อน จะทำให้อยู่ในผ้ากาสาวพัสตร์ได้ แต่ถ้าไม่พิจารณาร่างกาย ที่ท่านสอนเพียง ๕ อาการก็เพราะว่าเป็นพิธีเท่านั้นเอง ความจริงท่านต้องการให้เราเรียนทั้ง ๓๒ อาการเลย เห็นทั้ง ๓๒ อาการ “อะยังโข เมกาโย” กายของเรานี้แล เคยสวดกันหรือเปล่า ตั้งแต่ศีรษะลงไป ตั้งแต่เท้าขึ้นมา มีผมมีขนมีเล็บมีฟันมีหนัง มีเนื้อมีเอ็นมีกระดูก มีเยื่อในกระดูก มีม้ามมีตับมีไตมีลำไส้ มีอะไรต่างๆ เหล่านี้ ให้เราศึกษาความจริงของร่างกาย ให้เห็นมันครบ อย่าเห็นแต่เฉพาะเพียงภายนอก เพราะเห็นภายนอกนี้จะเกิดความหลงเกิดความรักเกิดกามารมณ์ขึ้นมา แต่ถ้าเห็นทะลุเข้าไปใต้ผิวหนังแล้วมันจะ มันไม่มีหรอก กามารมณ์มันเกิดไม่ได้ ถ้าเห็นลำไส้ของคน เห็นลำไส้ของนางงามจักรวาลไหม จะเป็นนางงามขนาดไหนมันก็ลำไส้ดีๆ นี่เอง เห็นโครงกระดูกก็เห็นเป็นโครงกระดูกทั้งนั้นแหละ
 
นี่คือสิ่งที่พระบวชใหม่ที่ต้องเรียนกันนี่ ท่านถึงต้องสอนตั้งแต่วันบวชเลย ตั้งแต่ที่อยู่ในโบสถ์ อุปัชฌาย์รูปไหนบวชพระโดยไม่สอนกัมมัฏฐาน ๕ นี้ ท่านจะถูกปรับอาบัติ ถูกลงโทษ ถูกกล่าวโทษว่าไม่ทำหน้าที่ของอุปัชฌาย์ที่สมบูรณ์ เป็นอุปัชฌาย์นี้ต้องสอนกัมมัฏฐาน ๕ ให้กับผู้มาบวช เพราะเป็นเหมือนเครื่องมือที่จะรักษาผ้าเหลืองไว้ จะไม่มีใครมาปล้นผ้าเหลืองไปได้ ถ้ามีกัมมัฏฐาน ๕ ถ้ามีกัมมัฏฐาน มีอาการ ๓๒ ถ้าเห็นอาการ ๓๒ ของร่างกาย ต่อให้ใครสวยงามขนาดไหน พอพิจารณาอาการ ๓๒ ปั๊บความสวยงามที่อยู่ข้างนอกมันจะหายไป ความรักความใคร่ก็จะหายไป แล้วมันก็จะทำให้ใจเย็นผ้าเย็น ไม่คิดที่อยากจะไปสึก แต่ถ้าไม่มีกัมมัฏฐานไม่พิจารณาร่างกายอยู่เรื่อยๆ เดี๋ยวไปบิณฑบาต เดี๋ยวไปเจอคนนั้นคนนี้ เห็นคนนั้นคนนี้ เดี๋ยวมันก็เอามาคิด ยิ่งสมัยนี้ทุกคนก็อยากจะแต่งสวยๆ งามๆ ล่อตาล่อใจกัน พอเห็นแล้วนี้ความอยากที่มันเคยฝังอยู่ในใจมันจะผุดออกมาทันที ดังนั้น เราจึงต้องมาสร้างเครื่องมือเบรกความอยาก เครื่องมือที่จะเบรกความอยากของพระของนักบวชก็คือ นี่แหละการพิจารณาร่างกาย พิจารณาอาการ ๓๒ หรือถ้าอยากจะให้มันดุเดือดกว่านั้น ก็พิจารณาซากศพไปเลย ดูว่าร่างกายของคนทุกคนไม่ช้าก็เร็วเดี๋ยวก็ต้องกลายเป็นซากศพ ตอนนี้ก็เป็นซากศพ เพียงแต่ยังหายใจได้เท่านั้นเอง พอไม่หายใจแล้วก็กลายเป็นซากศพที่จะเน่าเปื่อยต่อไป ต้องพิจารณาซากศพ ๑๐ ชนิดด้วยกัน
 
สมัยพุทธกาลเวลาคนตาย เขาไม่เอาไปเผาไม่ไปฝัง เขาเอาไปทิ้งในป่าให้มันเน่าให้มันเปื่อยให้มันผุมันพังไป งั้นเวลาพระไปเยี่ยมป่าช้าในสมัยก่อน ถึงจะเห็นซากศพ ๑๐ ชนิดด้วยกัน เห็นศพตายใหม่เห็นศพที่เน่าพองขึ้นมา ขึ้นอืดพองขึ้นมา เห็นศพที่มีหนอนมีอะไรมาไชตามร่างกาย เห็นศพที่ถูกสัตว์กัด เห็นศพที่กระจายไปเป็นชิ้นเป็นส่วน เห็นศพที่ถูกตัดบ้าง ตัดเป็นท่อนๆ จนกระทั่งเห็นศพที่แห้งกลายเป็นกระดูกไป นี่คือการพิจารณาร่างกาย เพื่อรักษาผ้าเหลืองรักษาใจให้สงบ ถ้าไม่พิจารณาอย่างนี้ถึงเวลาไปเห็นของสวยๆ งามๆ แล้วมันจะไม่สามารถที่จะเอากัมมัฏฐานนี้มาช่วยได้ เพราะเราไม่ฝึกไว้ก่อนไม่ซ้อมไว้ก่อน ถ้าเป็นเหมือนนักมวยก็ไม่ซ้อมชกไว้ก่อน พอขึ้นเวทีเจอคู่ต่อสู้เขาต่อยเราๆ ก็ไม่รู้จักวิธีต่อยกลับ งั้นเราต้องเป็นเหมือนนักมวยซ้อมต่อยกลับก่อน เวลาเกิดกามารมณ์ขึ้นมานี้ต้องรีบควักเอาอาการ ๓๒ ควักซากศพขึ้นมาดูทันที ให้มันโผล่ขึ้นมาในใจ พอโผล่ขึ้นมาปั๊บกามารมณ์มันก็จะระงับไปทันที ความรักความใคร่มันก็จะระงับไปทันที นี่คือความสำคัญว่าทำไมเวลาบวชถึงต้องมีการสอนกัมมัฏฐาน ๕ กัมมฐาน ๕ นี้เป็นเพียงคล้ายๆ เป็นส่วนย่อของอาการ ๓๒ เวลาบวชจะให้คนบวชท่องทั้ง ๓๒ อาการมันจำไม่ได้ เขาก็เลยเอาแค่ ๕ อาการก่อน งั้นเวลาบวชต้องขานนาคกัน “เอสาหัง ภันเต” แล้วก็ต้องไปท่องศีล ๑๐ ก็ต้องมาท่องกัมมัฏฐาน ๕ ถ้าให้ไปท่อง ๓๒ อาการนี้มันจะมากเกินไป ก็เลยเอาแค่ ๕ ก่อน แล้วเวลาบวชเสร็จแล้วก็เอาไปขยายเป็น ๓๒ ต่อไป ให้หมั่นพิจารณาอยู่เนืองๆ ทุกเวลานาที อย่าปล่อยให้ใจไปคิดเรื่องสวยๆ งามๆ ต่างๆ แล้วใจจะไม่ร้อน ใจจะเย็นใจจะสงบจะมีความสุขกับการอยู่ในผ้าเหลือง จะได้สามารถที่จะได้ฝึกปฏิบัติให้เข้าสู่ธรรมขั้นสูงต่อไปได้
นี่คือสิ่งที่นักบวชต้องพยายามปฏิบัติกัน ก็คือต้องมีอาวุธไว้รักษาใจ เขาเรียกว่า “อารักขากัมมัฏฐาน” มีอันหนึ่งก็คือการพิจารณาอสุภะ ความจริงมันมีอยู่ ๔ อันด้วยกัน อารักขากัมมัฏฐาน การรักษาใจให้สงบ ที่มีเหตุที่จะมาทำใจให้ไม่สงบเป็นการเสื่อมศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บางทีตอนใหม่ๆ เราบวชมีศรัทธา พอมาบวชแล้วไม่เป็นไปดังที่เราคิด เราก็จะเสื่อมศรัทธาขึ้นมา ก็ให้เราระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ผู้ที่เป็นพระที่แท้จริง ผู้ที่เราสามารถยึดถือเป็นแบบฉบับในการดำเนินการปฏิบัติของเรา ให้คิดถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ แล้วมันจะทำให้เราเสื่อมศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่เสื่อมศรัทธาในการบวชของเรา แต่ถ้าไปเห็นรูปอื่น เห็นอะไรอย่างอื่นที่มันทำให้เราเสื่อมศรัทธาขึ้นมา เราก็อาจจะเกิดความเบื่อหน่าย ไม่อยู่ดีกว่า สึกดีกว่า ให้ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่เป็นหลักที่แท้จริงของศาสนา ที่เป็นพระที่แท้จริงของพระพุทธศาสนาก็คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พวกเรานี้ยังไม่ถือว่าเป็นพระที่แท้จริง เพราะเรายังเป็นพระสมมุติอยู่ “สมมุติสงฆ์” อยู่ พวกเรายังมีกิเลสตัณหาเต็มหัวใจ ยังไม่มีจิตใจที่สะอาดบริสุทธิ์เหมือนกับพระพุทธเจ้าเหมือนกับพระอรหันตสาวกทั้งหลาย งั้นเราดูพวกเราเป็นตัวอย่างไม่ได้ ถ้าดูแล้วมันจะทำให้เราเสื่อมศรัทธาขึ้นมา อย่าไปมองพระด้วยกัน เอ๊ย ทำไมพระรูปนี้ปฏิบัติไม่ดี ทำไมพระรูปนี้ทำตัวอย่างนั้นทำตัวอย่างนี้ ถ้าเราไปมองอย่างนี้แล้วเดี๋ยวเราจะเสื่อมศรัทธา ให้ไปมองที่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มองที่พระพุทธเจ้าหรือมองที่คำสั่งคำสอนของพระพุทธเจ้า หรือมองที่พระอริยสงฆ์สาวก ศึกษาประวัติของครูบาอาจารย์ต่างๆ พระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ แล้วจะทำให้เราไม่เสื่อมศรัทธาในการบวชของเรา อันนี้เรียกว่า “อารักขากัมมัฏฐาน”
ข้อที่ ๑ ศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถ้าเกิดการสั่งสอนนี้ต้องเจริญพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ต้องมองพระพุทธเจ้า มองพระอริยสงฆ์สาวก ต้องศึกษาธรรมะคำสั่งคำสอน แล้วเราจะได้ไม่เสื่อมศรัทธา อันที่ ๒ ก็คือความโกรธ ปัญหาบางทีอยู่ร่วมกันก็จะโกรธกัน อาจจะมีความเห็นไม่ตรงกัน อาจจะทำอะไรขัดกัน แล้วก็จะโกรธขึ้นมา พอโกรธแล้วมันก็จะร้อน ร้อนแล้วมันก็ไม่อยากจะอยู่ ก็ต้องหัดเจริญแผ่เมตตา ต้องมีการแผ่เมตตาต่อกัน อยู่ร่วมกันต้องมีความเมตตาต่อกัน ต้องให้อภัยกัน คิดว่าเราเป็นเหมือนลิ้นกับฟัน อยู่ด้วยกันอาจจะมีกระทบกระทั่งกันบ้าง อาจจะพูดพลั้งเผลอไปบ้างเพราะเรายังไม่เป็นพระที่สมบูรณ์ด้วยสติ บางทีก็เกิดความคึกคะนองอาจจะพูดแหย่กันล้อกันไปเล่นกันมา เดี๋ยวก็ไปทำให้คนอื่นเขาสะเทือนใจขึ้นมา เขาก็อาจจะโกรธเรา แต่ถ้าคิดว่า เออ เราต้องอยู่ร่วมกันอย่างสันติ อยู่ร่วมกันอย่างสงบ อยู่ร่วมกันอย่างรักกัน เราก็ต้องมองกันว่าเป็นเหมือนพี่เหมือนน้อง อย่าไปถือโกรธเคืองกัน อย่าไปอาฆาตพยาบาทกัน “อเวรา โหนตุ” อย่างจองเวรจองกรรมกัน “อัพยาปัชฌา โหนตุ” อย่าเบียดเบียนกัน อย่าเอารัดเอาเปรียบกัน “อนีฆา โหนตุ” อย่าทำร้ายร่างกายและจิตใจของกันและกัน “สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ” ให้ความสุขต่อกัน นี่ก็คือ “อารักขากัมมัฏฐาน”
องค์ที่ ๒ คือการให้ความเมตตาต่อกัน แล้วจะทำให้ไม่มีความโกรธเคือง ไม่มีการอาฆาตพยาบาท จะอยู่กันอย่างมีความรักสามัคคีกัน พร้อมเพรียง ดูแลกันช่วยเหลือกันไปตามอัตภาพ
อันที่ ๓ ก็คือ “อสุภกัมมฐาน” ต้องให้ฝึกอสุภกัมมฐานอยู่เรื่อยๆ แล้วกามารมณ์จะไม่เกิด
 
อันที่ ๔ ก็คือ “มรณานุสสติ” บางทีเราอาจจะเกิดความประมาท ลืมไปว่าเราจะต้องตาย เราอาจจะเกิดความคึกคะนอง อาจจะไปทำอะไรที่ไม่ควรจะทำ แทนที่จะมาบำเพ็ญกิจของเรา อาจจะไปทำกิจอย่างอื่น ก็ให้มาคิดถึงความตายอยู่เรื่อยๆ เราจะได้ไม่ประมาท จะได้รีบปฏิบัติให้หลุดพ้นก่อนที่จะตาย เพราะถ้ายังไม่หลุดพ้นเดี๋ยวจะต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก ถ้าไปทำกิจอย่างอื่นไปสร้างเจดีย์ ไปสร้างโบสถ์อะไรทำนองนี้ ถึงแม้ว่าจะเป็นประโยชน์ แต่มันไม่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ยังไม่หลุดพ้น การสร้างโบสถ์สร้างเจดีย์เหมาะกับผู้ที่เขาหลุดพ้นแล้ว เขาเสร็จงานของเขาแล้ว แล้วค่อยไปทำกิจอย่างอื่น พระพุทธเจ้าบอก “จงยังประโยชน์ตนก่อน แล้วค่อยไปทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นต่อไป” ถ้าเรายังไม่หลุดพ้นนี้เราต้องมาขวนขวาย มาปฏิบัติธรรมของเราก่อนให้เราได้บรรลุธรรมก่อน ให้ได้หลุดพ้นก่อน วิธีที่จะทำให้เราไม่เกียจคร้านไม่หลงทาง ก็ให้เราระลึกถึงความตายอยู่เรื่อยๆ ว่าเดี๋ยวเราก็ไม่ช้าก็เร็วก็ตาย หายใจเข้าแล้วไม่หายใจออกก็ตาย หายใจออกแล้วไม่หายใจเข้าก็ตาย นี่คือวิธีให้ พระพุทธเจ้าบอกวิธีที่จะทำให้เราไม่ประมาท ก็ต้องระลึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก พระพุทธเจ้าถามพระอานนท์ว่า “ อานนท์ วันหนึ่งเธอระลึกถึงความตายสักกี่ครั้ง” อานนท์บอกว่า “วันละ ๔ – ๕ ครั้ง เช้า กลางวัน เย็น ก่อนนอน” พระพุทธเจ้าบอก “เธอยังประมาทอยู่ วิธีที่เธอจะไม่ประมาทก็คือ ทุกครั้งที่เธอหายใจเข้า เธอต้องบอกว่าถ้าไม่หายใจออกก็ตาย ทุกครั้งที่เธอหายใจออกแล้วไม่หายใจเข้าก็ตาย” นี่ความตายมันอยู่แค่ปลายจมูกของเรานี่เอง แต่เราลืมมันเราก็เลยประมาทกัน ไม่มาทำกิจที่เราควรจะกระทำกัน
ตอนนี้เรามีกิจหน้าที่อะไรก็ทำกิจนั้นไป ตอนนี้ต้องเรียนหนังสือก็เรียนไป เพราะเรายังไม่รู้วิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง ก็ต้องทำไป ต้องลงทำวัตรเช้าวัตรเย็น เพื่อฝึกสติฝึกสมาธิก็ทำไป อันนี้อย่าขาด อย่าขาดภารกิจของเรา ทำไปเพราะภารกิจต่างๆ นี้จะเสริมส่งให้การปฏิบัติของเราเจริญก้าวหน้ารุ่งเรือง เพื่อกำจัดความเกียจคร้านต่างๆ ได้ นี่คือสิ่งที่เราควรจะคิดพิจารณากันและสร้างมันขึ้นมา คือ “อารักขากัมมัฏฐาน” รักษาศรัทธาด้วยการระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ กำจัดความโกรธด้วยการแผ่เมตตา เจริญเมตตาภาวนา แล้วกำจัดกามราคะด้วยการเจริญ “อสุภกัมมัฏฐาน” พิจารณาอาการ ๓๒ พิจารณาซากศพ แล้วก็กำจัดความเกียจคร้าน ความหลงไปทำกิจที่ไม่พึงกระทำ ให้มาทำกิจที่พึงกระทำ ด้วยการระลึกถึงความตายอยู่เรื่อยๆ ให้รู้ว่าหน้าที่ของเราในฐานะที่เป็นนักบวช ก็คือเพื่อปฏิบัติเพื่อมรรคผลนิพพานนี่เอง สมัยพุทธกาลที่เขาบวชกันนี่ เขาไม่ได้บวชเพื่อมาสร้างโบสถ์สร้างเจดีย์สร้างวัด มาเป็นเจ้าอาวาส เป็นเจ้าฟ้าเจ้าคุณอะไรทั้งนั้น เขาบวชเพื่อมรรคผลนิพพาน เขาบวชเพื่อบรรลุเป็นโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี เป็นอรหันต์กัน สมัยพุทธกาลนี้จึงมีพระอริยบุคคลเต็มไปหมด แต่สมัยนี้มันแทบจะหาไม่ได้ ขอให้ท่านทั้งหลายได้นำเอาไปพินิจพิจารณา เพื่อที่จะได้รักษาเพศ รักษาหน้าที่ของท่าน เพื่อประโยชน์สุขอันสูงสุดที่จะตามมาต่อไป
โฆษณา