15 พ.ค. 2021 เวลา 09:51 • การศึกษา
กรมสรรพากรปรับวงเงินตัดลูกหนี้เป็นหนี้สูญทางภาษีอากร >>>
"ตัดลูกหนี้เป็นหนี้สูญทางภาษี"
กรมสรรพากร ออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 374 มาแก้ไขเพิ่มเติม กฎกระทรวง ฉบับที่ 186 โดยมีสาระสำคัญของการแก้ไข เปลี่ยนแปลง ดังนี้ (ผู้เขียนขอกล่าวถึงเฉพาะกรณีธุรกิจทั่วๆ ไป ไม่รวม ธุรกิจกลุ่มสถาบันการเงิน) นะคะ
1. ปรับยอดลูกหนี้ในการจำหน่ายหนี้สูญ 3 ช่วง คือ
(1) ลูกหนี้ไม่เกิน 1 แสนบาท เป็นลูกหนี้ไม่เกิน 2 แสนบาท โดยมีเงื่อนไขแบบเดิม คือ ต้อง มีหลักฐานติดตามทวงถามให้ชำระหนี้ตามสมควร แต่ไม่ได้รับชำระหนี้ และหากจะฟ้องลูกหนี้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายไม่คุ้ม
หมายเหตุ : ขยายความคำว่าตามสมควร ในทางปฏิบัติ ที่ สรรพากร ยอมรับ คือ มีหนังสือติดตามทวงถามอย่างน้อย 2 ครั้ง
(2) ลูกหนี้เกิน 1 แสนบาท แต่ไม่เกิน 5 แสนบาท เป็น ลูกหนี้เกิน 2 แสนบาท แต่ไม่เกิน 2 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขแบบเดิมคือ ต้องมีหลักฐานติดตามทวงถามตามสมควร แต่ไม่ได้รับชำระหนี้ และ ดำเนินการฟ้องลูกหนี้และศาลมีคำสั่งรับคำขอหรือคำฟ้องนั้นแล้ว และกรรมการหรือหุ้นส่วนผู้จัดการ ต้องมีคำสั่งอนุมัติให้จำหน่ายลูกหนี้เป็นหนี้สูญ
หมายเหตุ : 1.คำสั่งอนุมัติให้จำหน่ายลูกหนี้เป็นหนี้สูญ ให้กระทำภายใน 30 วันนับแต่วันสิ้นรอบปีบัญชี (เฉพาะรอบบัญชีที่เริ่มในหรือหลัง 1 ม.ค.63 แต่ไม่เกิน 31 ธ.ค.63 ให้มีคำสั่งอนุมัติภายใน 60 วันนับแต่วันสิ้นรอบปีบัญชี หรือภายใน 60 วันนับแต่วันที่กฎกระทรวง ฉ.374 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา)
2. กฎกระทรวง ฉ.374 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564
(3) ลูกหนี้เกิน 5 แสนบาท เป็นลูกหนี้เกิน 2 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขแบบเดิม คือ ต้องมีหลักฐานติดตามทวงถามตามสมควร และได้ดำเนินการฟ้องลูกหนี้ และได้มีคำสั่งของศาลมาแล้วตามแต่ละกรณี แต่ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์ใดๆ ที่จะชำระหนี้ หรือถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลาย เป็นต้น
2. กฎกระทรวง ฉ.374 ยอมรับการดำเนินการฟ้องลูกหนี้ ตามอำนาจของกฎหมายต่างประเทศ โดยเอกสารหลักฐานทางกฎหมายจะต้องถูกแปลเป็นภาษาไทย ตามระเบียบของกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการรับรองเอกสาร ซึ่ง จากแต่เดิม สรรพากร จะไม่ยอมรับ การดำเนินการฟ้องลูกหนี้ตามกฎหมายต่างประเทศ ทำให้เมื่อเกิดหนี้สูญ จึงไม่สามารถตัดเป็นหนี้สูญทางภาษีได้
(กฎกระทรวง ฉ.374 ให้ใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลัง 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป)
สรุป ของสรุป
1. ปรับเพิ่มมูลหนี้ของลูกหนี้ในแต่ละช่วง
# ไม่เกิน 100,000 บาท เป็น ไม่เกิน 200,000 บาท
# เกิน 100,000 บาท ไม่เกิน 500,000 บาท เป็น เกิน 200,000 บาท ไม่เกิน 2,000,000 บาท
# เกิน 500,000 บาท เป็น เกิน 2,000,000 บาท
2. จากไม่ยอมรับผลการฟ้องร้องหรือการตัดสินของศาลในต่างประเทศ เป็นยอมรับผลการฟ้องร้องและคำตัดสินของศาลในต่างประเทศ
จะเห็นได้ว่า การตัดหนี้สูญทางภาษี จะต้องใช้ผู้มีวิชาความรู้ 3 ด้าน คือ 1.ด้านบัญชี 2.ด้านกฎหมายภาษี และ 3.ทนายความ (ทนายความ คือ บุคคลสำคัญที่จะต้องจัดเตรียมเอกสาร หลักฐานเพื่อใช้ตัดลูกหนี้เป็นหนี้สูญทางภาษี และไว้สำหรับชี้แจงและส่งมอบต่อกรมสรรพากร เมื่อบริษัทถูกตรวจสอบ)
สามารถอ่านรายละเอียดของกฎหมายเพื่มเติมได้ตาม link ด้านล่างนะคะ
บทความนี้ลงครั้งแรกที่ เพจ สยามลอว์
เพจ และ Photo by VI Style by MooDuang
โฆษณา