15 พ.ค. 2021 เวลา 12:30 • ท่องเที่ยว
หอไตร วัดทุ่งศรีเมือง … อุบลราชธานี
วัดทุ่งศรีเมือง .. เป็นวัดเก่าแก่ที่สำคัญของเมืองอุบลฯ ได้รับยกย่องว่ามีหอไตรที่สวยที่สุดในภาคอีสาน จัดเป็นหนึ่งในของดีประจำจังหวัด ดังมีคำกล่าวว่า “พระบาทวัดกลาง พระบางวัดใต้ หอไตรวัดทุ่ง” นอกจากหอไตร ยังมีหอพระบาทหรือโบสถ์ซึ่งสร้างยุคสมัยเดียวกัน ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงาม
พระอริยวงศาจารย์ฯ ได้สร้างหอพระพุทธบาทเพื่อประดิษฐานพระเจ้าองค์เงินใหญ่ และรอยพระพุทธบาท
ต่อมาท่านได้สั่งให้ พระสงฆ์ชาวเวียงจันทน์ ชื่อ “ญาคูช่าง” สร้างหอไตรที่สระกลางน้ำ โดยมีจุดประสงค์ ใช้เป็นที่เก็บรักษาพระไตรปิฎก คือ คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา และปรัชญาพื้นบ้าน รวมถึงตำราต่าง ๆ มากมาย ซึ่งส่วนมากเป็นหนังสือใบลานจารึกด้วยอักษรธรรมและสมุดข่อย ไม่ให้แห้งและกรอบและเพื่อกันปลวก มิให้ทำลายพระไตรปิฎกให้เสียหาย (ก่อนที่พระราชรัตนโนบลมาปกครองวัด พระไตรปิฎกได้สูญหายไปมากแล้ว
ด้านหน้าของหอไตรมีสะพานไม้เชื่อมกับฝั่ง
ลักษณะพิเศษของหอไตรแห่งนี้คือมีลักษณะสถาปัตยกรรมผสมผสานถึง 3 สกุลช่างคือ ไทย พม่า และลาว … ตัวอาคารเป็นเรือนฝาปะกน 4 ช่อง มีรูปทรงเหมือนเรือนไทยภาคกลาง โครงสร้างของหอไตรยึดต่อกันด้วยการเข้าเดือย เป็นการจำลองแบบมาจากภาคกลางมาประยุกต์ใช้ในภาคอีสานเป็นครั้งแรก และเป็นที่นิยมจนหลายวัดถือเป็นแบบในการก่อสร้างสืบมา
ส่วนหลังคาได้รับอิทธิพลจากศิลปกรรมแบบพม่าที่ส่งผ่านมาทางล้านช้าง เป็นหลังคาจั่วซ้อนกัน 5 ชั้น มีปั้นกรอบปีกนกกว้าง 2 ชั้น
หน้าบันทั้งสองด้านสลักเสลาลวดลายวิจิตรแบบศิลปะลาว เป็นรูปต้นไม้ นก และลิง โดยช่างฝีมือชั้นสูงจากเวียงจันทน์
คันทวยด้านซ้ายและด้านขวาของประตูทางเข้าสลักเป็นเทพพนม ส่วนคันทวยอื่นๆรอบหอไตรสลักเป็นรูปพญานาค ... การจำหลักคันทวยรูปนาคที่งดงาม เป็นการผสมผสานระหว่างศิลปะพื้นบ้านกับศิลปะในเมืองอย่างได้จังหวะน่าดู
ภายในหอไตรมี “ห้องเก็บพระไตรปิฎ” อยู่ตรงกลาง
ผนังด้านนอกตกแต่งด้วยลายไทยลงรักปิดทองเหมือนกันทุกด้าน เป็นลายพันธ์พฤกษาอยู่ภายในกรอบคู่ขนานลายเกลียวและลายสวัสดิกะ
ลายด้านล่างตอนบนทำเป็นลายกรุยเชิง เหนือขึ้นไปเป็นลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ริมผนังห้องวาดเป็นรูปกินนรีเหยียบยุดนาคหันหน้าเข้าหากัน ตรงกลางใกล้กรอบหน้าต่างเป็นรูปลิง ตอนบนของผนังเป็นรูปนักสิทธิ์เหาะ ส่วนกรอบลายด้านบนภาพเลือนไปจนหมด
ฝาผนังห้องเก็บพระไตรปิฎเขียนลายลงรักปิดทองทั้ง 4 ด้าน โดยเฉพาะประตูและหน้าต่างเขียนเป็นรูปทวารบาลอย่างงดงาม
บริเวณกรอบล่างของฝาปะกนสลักลวดลายโดยรอบเป็นรูปสัตว์ประจำราศี สัตว์ในป่าหิมพานต์ และคติธรรมพื้นบ้านอีสาน เช่นกินนรคู่ ช้างคู่ วัว นก ราชสีห์กับสุนัขจิ้งจอก เป็นต้น
หอไตรกลางน้ำวัดทุ่งศรีเมือง เป็นหอไตรกลางน้ำหนึ่งในไม่กี่แห่งของประเทศที่ยังสามารถหาดูได้ในปัจจุบัน ลักษณะศิลปะสถาปัตยกรรมเป็นแบบรัตนโกสินทร์ งดงามทั้งรูปทรงและองค์ประกอบ อาจกล่าวได้ว่างามที่สุดในอีสาน
เมื่อได้สร้างหอพระพุทธบาทและหอไตรกลางน้ำเสร็จแล้ว ก็ได้สร้างกุฏิเป็นที่อยู่ของพระภิกษุและสามเณร เพราะวัดนี้ตั้งอยู่ปลายทุ่ง ท่ามกลางเมืองอุบลราชธานี จึงได้ชื่อว่า ทุ่งศรีเมือง เป็นเหตุให้ทุ่งนากลางเมืองอุบลราชธานี ได้ชื่อว่า ทุ่งศรีเมืองตามไปด้วย
ในยุคสมัยสมเด็จกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์ ได้ตกลงกับเจ้าของที่ดินหลายคน ยกที่ดิน (ที่ทำนา) ให้กับทางราชการ
เมื่อ พ.ศ.2458 พระครูวจีสุนทร เจ้าคณะอำเภอม่วงสามสิบ ท่านพระครูวิโรจน์รัตโนบล เป็นเจ้าอาวาส ได้พาพระเณร ไปทำพลับพลา ตัดเสาศาลาการเปรียญที่คำน้ำแซบ วัดวารินทรารามในปัจจุบัน สมัยนั้นมีแต่ป่า ยังไม่มีบ้านเรือนคน และค่ายทหาร แต่เมื่อตัดเสาได้แล้ว ก็สร้างล้อลากลงแม่น้ำมูลข้ามมาสร้างศาลาการเปรียญ โดยในวันไหนมีการล่องมูล จะให้ชาวบ้านที่หาปลา หรือคนที่อยู่แถวนั้นมาช่วย เพราะเสาต้นใหญ่มาก บางวันต้องใช้กลองยาวตีเร้าใจ เพื่อให้จังหวะ ครั้นลากเสามาถึงวัดแล้ว ก็จัดแจงตกแต่งศาลาการเปรียญ ครั้นเตรียมการเสร็จแล้ว ก็ได้ป่าวประกาศเชิญชวนทำบุญปลูกศาลาการเปรียญ ยกศาลาและสร้างต่อจนเสร็จ
เมื่อสร้างศาลาการเปรียญเสร็จแล้ว “วัดเหนือท่า” ร้างทางราชการจะสร้างเป็นสถานีอนามัย พระเจ้าใหญ่ในศาลาการเปรียญวัดเหนือท่า ไม่มีพระสงฆ์อยู่ดูแล พระครูวิโรจน์รัตโนบลจึงได้นำญาติโยมไปอาราธนา มาเป็นพระประธานที่ศาลาการเปรียญวัดทุ่งศรีเมือง
เมืองอุบลคือศูนย์กลางของอีสาน ชีวิตคนอุบลได้พานพบสิ่งแปลกใหม่อยู่เนืองๆ แต่มิได้ละทิ้งลักษณะนิสัยครื้นเครงของคนอีสานที่มักรื่นเริง ร้องรำทำเพลงในยามว่างภารกิจ
ภาพผู้คนประกอบเรื่องราวที่ปรากฏบนภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ จึงสะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตของชาวอุบล โดยจิตรกรได้นำแบบอย่างการวาดภาพที่เห็นจากกรุงเทพมาวาดไว้ แต่ก็มิได้ทอดทิ้งภาพวิถีชีวิตความเป็นอยู่ดั้งเดิม
ภาพจิตรกรรมฝาผนังนี้มีลักษณะพื้นบ้าน ด้วยลีลาและท่วงทำนองของภาพที่ดูครึกครื้น มีชีวิตชีวา มีการระบายสีพื้นด้วยสีแดงฉ่ำตลอด ก่อให้เกิดบรรยากาศอันน่ารื่นเริงบันเทิงใจยิ่ง
ภาพชีวิตริมน้ำของชาวเมืองอุบลในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เข้าใจว่าอาจเป็นแม่น้ำมูลหรือแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมสายสำคัญ ทว่าจิตรกรผู้วาดภาพได้จัดฉากผู้คนและนาวาตามแบบอย่างภาพที่เห็นจากกรุงเทพฯ
ภาพคนต่างชาติ ต่างภาษา อาทิ จีน ฝรั่ง ไทย ไปมาหาสู่กัน อันแสดงให้เห็นว่าเมืองอุบลนั้นเป็นศูนย์กลางของการคมนาคมและการค้าขาย สมกับฉายา “อู่อารยะธรรมอีสาน ประตูสู่อินโดจีน”
ขอบคุณ : นิตยสาร คนชอบเที่ยว ปีที่ 2 ฉบับที่ 15 และ
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปกับ พี่สุ
ท่องเที่ยวทั่วโลก กับพี่สุ
ซีรีย์เที่ยวเจาะลึก ประเทศนอร์เวย์
Iceland ดินแดนแห่งน้ำแข็งและเปลวไฟ
Lifestyle & อาหารการกิน แบบพี่สุ
สถานีความสุข by Supawan
โฆษณา