17 พ.ค. 2021 เวลา 10:50 • ไลฟ์สไตล์
วิธีลบคำว่า “ไม่มีเวลา” ออกไปจาก คำแก้ตัว
เคยไหม เวลาที่เราทำงานไม่เสร็จหรือวางแผนที่จะทำบางสิ่งแต่ก็ไม่ได้ลงมือทำเสียที
เพราะเราเอาแต่บอกว่า “เรามีเวลาน้อยเกินไป”
ชีวิตก็เปรียบเสมือนกับดวงอาทิตย์ที่เริ่มต้นวันใหม่พร้อมกับแสงแดดที่ส่องมายังผิวโลก
และพอตกเย็นที่แสงแดดค่อย ๆ เลือนรางออกไป ซึ่งเป็นสัญญาณของการจบวันวันนั้น
แต่กลับกลายเป็นว่า บางครั้งงานที่เราจะต้องรับผิดชอบอาจจะทำไม่เสร็จพร้อมกับการตกของดวงอาทิตย์
หรือบางทีเราอาจจะวางแผนไว้ว่าอยากจะไปออกกำลังกาย แต่ก็ไม่ได้ลงมือทำ
ด้วยเหตุผลสุดคลาสสิกว่า “ไม่มีเวลา” หรือไม่ก็ “มีเวลาน้อยเกินไป”
ถ้าเป็นเช่นนี้ แสดงว่าเรากำลังตกอยู่ในภาวะ Time Anxiety
หรือภาวะวิตกกังวลเกี่ยวกับการจัดการเวลาของเรา
คุณ Alex Lickerman ซึ่งเป็นผู้เขียนหนังสือ The Undefeated Mind ได้นิยามความหมายของภาวะ Time Anxiety ว่าเป็นภาวะที่ทำให้เรารู้สึกว่าไม่เคยมีเวลาพอในการทำสิ่งต่าง ๆ
และรู้สึกว่าแต่ละสิ่งที่เรากำลังทำนั้นอาจจะหนักเกินไปสำหรับเรา
1
ยิ่งไปกว่านั้น ความรู้สึกดังกล่าวจะทำให้เราเคยชินกับการไม่เคยทำอะไรสำเร็จ และยังทำให้เรากลายเป็นคนที่โทษทุกสิ่งทุกอย่างยกเว้นตัวเราเอง สุดท้ายชีวิตของเราก็จะอยู่ที่จุดเดิม และไม่ได้มีการเติบโต
สิ่งที่เราควรทำเป็นอย่างแรกก็คือควรเปลี่ยนกรอบความคิดที่เรามีต่อเวลา
โดยให้เราเชื่อเสมอว่า เรามีเวลาเพียงพอเสมอ แต่ที่สถานการณ์ทำให้เรารู้สึกว่าเรามีเวลาน้อยเกินไป
นั่นเป็นเพราะว่าเราไม่ได้มีการจัดการเวลาอย่างมีประสิทธิภาพต่างหาก
แล้วเราควรจัดการกับเวลาอย่างไร เพื่อที่จะไม่ให้เราอ้างว่าไม่มีเวลา
1. จัดลำดับความสำคัญของงานแต่ละอย่าง
บางทีสาเหตุที่ทำให้เวลาการทำงานของเราดูน้อยเกินไป อาจเป็นเพราะเราให้ความสำคัญกับงานแต่ละอย่างผิดไปก็ได้
โดยคุณ Stephen Covey ที่เป็นผู้เขียนหนังสือ The 7 Habits of Highly Effective People
ได้อธิบายเกี่ยวกับการเรียงลำดับความสำคัญของงานออกเป็น 4 ส่วน ดังนี้
- สิ่งที่เร่งด่วนและสำคัญ
- สิ่งที่เร่งด่วนและไม่สำคัญ
- สิ่งที่ไม่เร่งด่วนและสำคัญ
- สิ่งที่ไม่เร่งด่วนและไม่สำคัญ
คนส่วนมากมักจะใช้เวลาในการทำงานที่เร่งด่วนเป็นลำดับแรก ๆ ถึงแม้ว่างานนั้นจะสำคัญ หรือไม่สำคัญก็ตาม ส่วนงานที่ไม่เร่งด่วนถึงแม้ว่าจะสำคัญก็ตามก็จะถูกลดความสำคัญและผลัดไปเรื่อย ๆ เพราะเป็นงานที่ไม่จำเป็นต้องรีบทำ
แต่ในความเป็นจริงแล้ว คุณ Stephen Covey แนะนำว่าเราควรที่จะให้ความสำคัญกับงานที่ไม่เร่งด่วนแต่สำคัญก่อนเป็นลำดับแรก ๆ หลังจากเคลียร์งานที่สำคัญและเร่งด่วนเสร็จแล้ว
การกระทำเช่นนี้จะช่วยให้เราสามารถที่จะโฟกัสกับงานประเภทนี้ได้อย่างสุดความสามารถ เพราะด้วยเวลาที่ไม่ด่วน เราจึงสามารถใช้เวลารังสรรค์ผลงานออกมาได้อย่างดีที่สุด
ตัวอย่างเช่น การวางแผนเกษียณอายุการทำงานเป็นเรื่องที่สำคัญมาก แต่ถ้าเราเป็นเด็กจบใหม่ที่มีอายุ 20 ปีต้น ๆ การวางแผนดังกล่าวจึงดูไม่ต้องเร่งรีบเท่าไร เพราะยังเหลือเวลาอีกตั้ง 40 ปี
1
นี่จึงเปรียบเสมือนเป็นงานที่ไม่เร่งด่วนแต่มีความสำคัญ แต่ถ้าเราคิดว่าการวางแผนเกษียณอายุการทำงานยังไม่จำเป็นต้องรีบทำและผลัดไปเรื่อย ๆ สุดท้ายการวางแผนเกษียณนี้ก็จะกลายเป็นงานด่วนในช่วงที่เรามีอายุที่มากขึ้นและมีเวลาเตรียมตัวที่น้อยลง
2. โฟกัสกับสิ่งที่เรากำลังทำ
ในระหว่างที่เรากำลังทำงานอยู่นั้น เราควรที่จะโฟกัสกับงานที่อยู่ตรงหน้า
เพราะนั่นคือหน้าที่หลักที่เราควรสนใจเป็นลำดับแรก
แต่บางทีก็มีสิ่งรบกวนมากมายที่ดึงดูดความสนใจของเรา ทำให้เราไม่สามารถโฟกัสกับงานได้อย่างเต็มที่
สิ่งรบกวนที่ว่านี้หมายถึงสิ่งที่ขโมยสมาธิในการจดจ่อกับงานของเรา
ไม่ว่าจะเป็นโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook หรือ Instagram ที่ทำให้เราอยากที่จะดูสตอรีของคนที่เราชอบ
หรืออาจจะเป็นใน YouTube ที่ศิลปินที่เราชอบออกเพลงใหม่ จึงทำให้เราต้องหยุดงานตรงหน้าชั่วคราวแล้วไปสนใจศิลปินคนนั้น
ถึงแม้ว่าในเวลาทำงาน เราอาจจะแอบเล่นโทรศัพท์มือถือในเวลาที่ไม่นาน
แต่ถ้าในเวลาไม่นานที่เราแอบเล่นโทรศัพท์มือถือนี้สะสมไปเรื่อย ๆ ก็จะเป็นเวลาที่มากเช่นกัน
เช่น ถ้าเราเล่นโทรศัพท์มือถือในเวลางานทุก ๆ 1 ชั่วโมง เป็นเวลาชั่วโมงละ 5 นาที ตลอดการทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวันของเรา
นั่นเท่ากับว่า เราจะเสียเวลางานไปแล้วประมาณ 40 นาที ซึ่งเวลาดังกล่าวนี้อาจจะทำให้เราทำงานเสร็จไปแล้วงานหนึ่งก็เป็นได้
แน่นอนว่าเราไม่สามารถที่จะปิดโทรศัพท์มือถือได้ เพราะเราอาจจะต้องใช้โทรศัพท์มือถือในการทำงานด้วยเช่นกัน ซึ่งถ้าการไม่เล่นโทรศัพท์มือถือในเวลางานมันยากเกินไปสำหรับเรา ก็อาจจะเปลี่ยนโดยการฝึกลดระยะเวลาการเล่นโทรศัพท์มือถือลงทีละน้อยก่อนก็ได้
สุดท้ายแล้ว เวลาเป็นสิ่งที่มีค่ามากกว่าเงินทองเสียอีก เพราะถึงแม้ว่าเราจะเสียเงินทองไป เราก็สามารถหาเมื่อไรก็ได้ แต่ถ้าเราเสียเวลาไปแล้ว เราจะไม่สามารถนำเวลาส่วนนั้นกลับคืนมาได้อีก
ทุกคนมีเวลา 24 ชั่วโมงต่อวันเท่ากัน แต่ทำไมบางคนถึงสามารถใช้เวลาพัฒนาตัวเอง และสร้างอะไรต่าง ๆ มากมาย ในขณะที่บางคนยังมีชีวิตแบบย่ำอยู่กับที่
จะเห็นว่า การจัดการเวลาอย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นหนึ่งในกุญแจหลักที่ทำให้ชีวิตใครบางคนเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น ถ้าเราเป็นคนที่ทำงานไม่เสร็จในระยะเวลาที่กำหนด หรือเรายังไม่ได้เริ่มต้นลงมือทำอะไรเสียที
ก็อย่าโทษเวลาที่มีให้เราน้อยเกินไป
เพราะเวลาก็ทำหน้าที่เดินไปข้างหน้าตามกฎของธรรมชาติอยู่แล้ว
ก็อยู่ที่ว่า เราในฐานะ “เจ้าของเวลาของตัวเอง” จะจัดการกับมันอย่างเต็มที่..
โฆษณา